[CR] [สปอยล์]แว่วกริ่งกังสดาล 2: ดนตรีไทยไร้รสหรือ?

(หมายเห็ด: "ดนตรีไทยไร้รสหรือ?" เป็นรายการประจำที่โรงละครแห่งชาติค่ะ อ่านแว่วกริ่งแล้วนึกถึงรายการนี้)

สมกับที่รอคอยมานานแสนนานกับ "แว่วกริ่งกังสดาล" เล่ม 2 หลังจากที่เล่ม 1 ไปคว้ารางวัลมังหงะอวอร์ดที่ญี่ปุ่นมา เข้าใจแล้วว่าทำไมถึงออกช้า เพราะนอกจากข้อมูลดนตรีไทยที่ต้องทำการบ้านหนักแล้ว งานภาพก็สาหัสสากรรจ์ไม่น้อยที่เดียว อ่านแล้วไม่ผิดหวังเลยค่ะ ใครเป็นเด็กสายดนตรีไทยอาจจะฟินเป็นพิเศษ นับเป็นการ์ตูนไทยที่ถือว่านำเอาศิลปวัฒนธรรมมาเล่นได้ลงตัวในรูปแบบมังหงะสมัยใหม่ (การ์ตูนฮาเร็ม 555)

งานด้านภาพของพี่โกสินทร์นับว่ากินขาด เก็บรายละเอียดดนตรีไทย ฉาก ตัวละคร เวทีลิเก (กระทั่งฉากท้องพระโรงก็เนี้ยบมากๆ) เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ คือดูแล้วรู้สึกว่าทำการบ้านด้านภาพมาดีมาก รีเสิร์ชอย่างแน่น ข้อมูลดนตรีไทยก็แน่น อ่านแล้วบางครั้งรู้สึกเหมือนอ่านการ์ตูนความรู้ค่ะ (แต่เข้าใจว่าเป็นความรู้เฉพาะด้านที่ต้องการการหมายเหตุเยอะ) ภาพตอนเล่นโหมโรงไอยเรศที่มีภาพช้างหรือมีออร่า หรือการรัวระนาดแบบต่างๆ อารมณ์ท่าไม้ตายนี่ชอบมากค่ะ อยากเห็นอะไรไทยๆ สำแดงแบบนี้มานานแล้ว 555 แล้วก็เป็นการ์ตูนไทยที่รู้สึกว่ามีบรรยากาศไทยแบบไม่ยัดเยียดจัดๆ มากนักน่ะค่ะ จากเสื้อผ้า ข้าวของ สถานที่ แม้จะดูเป็นไทยแต่ก็มีความร่วมสมัยอยู่ในที ประมาณนั้น

ด้านตัวละคร มีความหลากหลายมาก ทั้งแม่นางเอกลิเกจอมเพ้อ น้องสามก็น่ารัก น้องสองก็ซึน พี่หนึ่งก็น่าหมั่นเขี้ยวดี แม่สาวแก่นกะโหลก หนุ่มรูปหล่อมีออร่า (โดยส่วนตัวชอบชื่อการะเวกมาก เข้าใจตั้งชื่อค่ะ มันสื่อออกมาในแนวๆ นักดนตรีสุดๆ) นักเลงระนาดผู้ไม่ยอมใคร พ่อขุนเงินผู้กินเด็ก (?) คือตัวละครเหล่านี้มารวมกันมากๆ เข้ามันสร้างสีสันให้เรื่องได้ดี แม้ว่าเนื้อหาดนตรีไทยในเล่มนี้จะหนัก แต่ด้วยความหลากหลายนี้แหละมันก็เลยช่วยให้ไม่เป็นการ์ตูนความรู้จนเกินไปมากนัก

ด้านงานเรื่อง ดูมีปม มีปริศนา (ความสัมพันธ์ของการะเวกกับแม่หญิง) การพัฒนาของขุนทองที่ก้าวกระโดดจนเกินไปหน่อยโดยเฉพาะซีนที่ตีระนาดลิเก เดี๋ยวจะไว้รายละเอียดอีกทีด้านล่างค่ะ ที่เห็นชัดเจนสุดๆ คือบรรยากาศของวงดนตรีไทยที่บรรเลงตามงานมงคล งานปี่พาทย์ลิเก การประชันระนาดแบบดูเชิงกัน - ตรงนี้เคยไปถามครูดนตรีไทย ถามว่าแล้วจะรู้ได้ยังไงว่าเวลาบรรเลงจะไฝ้ว์กันแบบไหน ดูชั้นเชิงยังไงออก ครูดนตรีไทยก็ตอบว่า "พวกปี่พาทย์เหมือนกันจะรู้" 5555 คือต้องคนดนตรีไทยถึงจะดูเชิงกันออกน่ะค่ะ ทีนี้การ์ตูนไม่มีเสียง แต่บรรยากาศค่อนข้างให้ การดูเชิงกันในการ์ตูนจึงน่าจะกระตุกต่อมอยากรู้ของคนอ่านให้ไปฟังดนตรีประชันกันจริงๆ ไปอีกต่อหนึ่งค่ะ

โดยสรุปคือเรื่องนี้บรรยากาศให้มากและลงตัวกลมกล่อมพอดี สบอัธยาศัยคนชอบอะไรทางนี้สุดๆ

ทีนี้อยากจะบอกนิดนึงเกี่ยวกับข้อมูลลิเกในเรื่อง 5555 อยากบอกว่ารีเสิร์ชทางปี่พาทย์แน่นมาก แต่รีเสิร์ชลิเกยังไม่ถูกตามความจริงเท่าไหร่นักค่ะ แอบอยากให้อุดช่องโหว่เหล่านี้ ถ้าเกิดว่าจะเขียนซีนลิเกอีก ดังนี้ค่ะ

-ลิเกนั้นจะแต่งชุดลิเกเป็นอันดับสุดท้ายค่ะ สิ่งที่ทำก่อนคือแต่งหน้า เกล้าผม ซึ่งมงกุฎลิเกที่วาดไม่ได้เอาไว้ตรงกลางหัวแบบที่คาดผม มันจะคล้อยหลังลงไปหน่อย แล้วจริงๆ เขาติดกิ๊บแน่นมาก โดนตบหัวโดนกระชากถ้าไม่แรงจริงจะไม่หลุด บนหัวแต่ละนางนี่กิ๊บหลายตัวแน่นอนค่ะ และจากประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยใส่กระโปรงสุ่มลิเก กระโปรงสุ่มมันบาน มีโครง แล้วมันหนักมาก ใส่เดินเฉิดฉายตอนไม่ได้แสดงนี่มันเป็นภาระสุดๆ ดังนั้นถ้าจะวาดซีนแต่งหน้าหลังโรง ควรจะวาดเป็นว่าใส่เสื้อเชิ้ตผ่าหน้า กางเกงขาสั้น แล้วก็ไปจัดเต็มตรงใบหน้าและทรงผมแทน (นางเอกลิเกในสภาพไม่เรียบร้อยมันโมเอะมากค่ะ แนะนำๆๆๆ)

-ขนนกลิเกไม่ได้เสียบอยู่ตรงกลางหัวมอญค่ะ แต่มันเสียบอยู่ข้างท้าย เดาว่าตอนรีเสิร์ชคงอิงจากภาพถ่ายด้านหน้า เลยดูคล้ายๆ ว่าขนนกลิเกเสียบอยู่กลางหัวมอญ

-ปี่พาทย์ที่เป็นปี่พาทย์บรรเลงให้ลิเก ไหวพริบต้องดีมากและสามารถรับลูกกับลิเกได้ทันควัน เพลงในหัวมันต้องหลากหลายประมาณนึง โดยเฉพาะพวกเพลงลูกทุ่ง คือมันเป็นอีกสกิลนึงที่โดยส่วนตัวเราว่าแล้วขุนทองไม่น่าจะตีได้ด้วยซ้ำ คือบรรเลงในงานพิธีขุนทองทำได้ แต่สำหรับการแสดงลิเกแล้วของจริงสกิลของขุนทองไม่น่าถึง คือลิเกไม่มีสคริปต์บทว่าต้องถึงไหนยังไง คนระนาดต้องเซนส์เอาอย่างเดียว จู่ๆ ตัวโจ๊กมันจะเกิดเล่นมุกกลางอากาศนี่เราก็ต้องตีให้ทัน อะไรเงี้ย เคยมีประสบการณ์เล่นลิเกกับปี่พาทย์เฉพาะกิจที่ไม่ใช่ปี่พาทย์ลิเกแท้ ปรากฏว่าเขาเซนส์อะไรบนเวทีไม่ได้เลยค่ะ รับส่งกันไม่ได้

-ท่ารำลิเกวงรำแข็งมาก (แต่เข้าใจ วาดรำไทยนี่ปราบเซียน T T) การรำไม่ได้วาดแค่มือสองข้าง แต่มันหมายถึงการยิ้มวตัวมั่ง ยิ้มวคอมั่ง สายตา การวางขา มันจะสอดรับกันหมด ไม่ใช่แค่มือสองข้างค่ะ ซึ่งยากจริงๆ แหละ T T

-ท่าเต้นออกแขกยังไม่ถูก ถ้าจะออกแขกหน้าม่านมันจะมีท่าเต้นของมันอยู่ค่ะคือ "แขกรดน้ำมนต์" สมัยก่อนคนเป็นแขกต้องถือเทียนออกมาให้พรคนดู แล้วท่ามันต้องถือเชิงเทียน ปัจจุบันเชิงเทียนไม่มีแล้ว แต่เหลือแต่ท่าจับผ้าไว้เอานิ้วโป้งชี้ขึ้นค่ะ ซึ่งท่าออกแขกในแว่วกริ่งดูฟรีสไตล์เกินไปนิส

จากจุดที่เห็นจากในลิเกในเรื่อง อยากให้จัดรีเสิร์ชจริงๆ จังๆ ไปเลยจะดีมากค่ะ อาจจะต้องทำมากกว่าการหาข้อมูลจากหนังสือ เช่นเช็คกับผู้รู้จะแน่นอนกว่า (ครูดนตรีไทยนี่แหละ ไปล้วงๆ แคะๆ เล่าเกร็ดโน่นนี่ออกมาเขียนได้เยอะนะ ตอนไปหาครูลิเกเราก็ได้ข้อมูลจากวิธีนี้ค่ะ เกร็ดที่ไม่มีในหนังสือเยอะมาก) งานภาพงานเรื่องและงานข้อมูลแน่นขนาดนี้แล้ว อยากให้พัฒนางานยิ่งๆ ขึ้นไป ดูจากความตั้งใจทั้งเล่มนี้แล้วรู้สึกว่าสามารถไปได้อีกค่ะ คิดว่าแว่วกริ่งกังสดาลเป็นการ์ตูนเรื่องหนึ่งที่เน้นย้ำเรื่องความสำคัญของการรีเสิร์ช ถ้ารีเสิร์ชดี งานจะมีพลังและมีความน่าสนใจ ดูจากเรื่องนี้เป็นตัวอย่างได้เลย มันชวนให้คิดว่าดนตรีไทยมันมีหลายอย่างที่น่าสนใจมากๆ ไม่ได้จืดชืดไร้รสชาติเหมือนที่เราเคยคิดๆ กัน มันมีทั้งการประชัน การดูเชิง มีศิลปะที่น่าเรียนรู้

แว่วกริ่งกังสดาลทำจุดนี้ถึงมากๆ ค่ะ.
ชื่อสินค้า:   แว่วกริ่งกังสดาล 2
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่