บทเรียนยุทธการกระชับวงล้อม : บทความต้องห้ามที่กองทัพบกขอสงวน !!!

วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เวลา 21:27:25 น.

พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก (ทบ.)   เปิดเผย ถึงกรณีมีการเผยแพร่บทความในวารสารเสนาธิปัตย์ฉบับเมื่อปลายปี 53 เรื่อง "บทเรียนยุทธการกระชับวงล้อม 7 พื้นที่ราชประสงค์" และฉบับเมื่อต้นปี 54 เรื่อง "บทเรียนการปฏิบัติการข่าวสาร : 7 กรณี ป.ป.ส.ในเมือง" ขอเรียนว่าผู้เขียนเป็นนักวิชาการ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่ร่วมในการปฏิบัติภารกิจในเหตุการณ์เมื่อปี 53 เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการหรือบทวิเคราะห์ส่วนบุคคลที่อาศัยข้อมูลที่ได้รับมาจากสื่อในช่วงเวลานั้น หรืออาจมีการเทียบเคียงกับสถานการณ์ที่ผ่านมาในอดีตทั้งในประเทศและต่างประเทศ เสมือนเป็นความคิดเห็นในทางวิชาการที่ได้แสดงออกถึงความหลากหลายในแนวทางความคิดบทวิเคราะห์ ยังไม่น่าเป็นข้อมูลบทสรุปอย่างเป็นทางการที่หน่วยงานได้รับรองแล้ว เพื่อให้นำไปใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในโอกาสใดๆได้

"ข้อมูลใดๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในอดีตเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมีผลกระทบต่อความรู้สึกของสังคมในวงกว้าง ไม่อยากให้นำไปขยายผลต่อในทางใดทางหนึ่ง เพราะเกรงจะไปสร้างรอยร้าวและความสับสนให้กับสังคมมากยิ่งขึ้น เพราะขณะนี้กระบวนการแก้ไขปัญหาในอดีตได้เดินหน้าไปแล้ว ขอให้ทุกฝ่ายได้ยึดถือและเชื่อมั่นเพื่อให้ประเทศชาติได้เดินหน้าต่อไป" รองโฆษกกล่าว


............................

บทความดังกล่าว เป็นของ พ.อ.บุญรอด ศรีสมบัติ นายทหารปฏิบัติการ ประจำกรมยุทธศึกษาทหารบก ซึ่งได้มีการปรับปรุงเนื้อหาจาก "บทเรียนยุทธการกระชับวงล้อม 7 พื้นที่ราชประสงค์ 14-19 พฤษภาคม 2553" ที่ตีพิมพ์ในวารสารเสนาธิปัตย์ ฉบับกันยายน-ธันวาคม 2553 ภายหลังจากได้ข้อมูลใหม่และศึกษารายละเอียดเอกสารต่างๆ อย่างเป็นทางการรอบด้านมากขึ้น โดยใช้ชื่อบทความชิ้นนี้ว่า

"บทเรียนการปฏิบัติการข่าวสาร : 9 กรณี ป.ป.ส. (มีนาคม-พฤษภาคม 2553)" ลงตีพิมพ์ในวารสารเสนาธิปัตย์ ฉบับมกราคม-มีนาคม 2554

การชุมนุมทางการเมืองของกลุ่ม นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ตั้งแต่ 12 มีนาคมถึง 19 พฤษภาคม 2553 ได้เพิ่มความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกือบจะเป็น"สงครามกลางเมือง" โดยที่กลุ่ม นปช.หรือกลุ่มคนเสื้อแดงมีการระดมมวลชนจำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติการต่อสู้ทางการเมืองของไทย โดยกระทำผ่านสื่อสารมวลชนทุกประเภท ได้แก่ วิทยุชุมชน โทรทัศน์ การสื่อสารผ่านดาวเทียม การสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต และเวทีปราศรัยถาวร ทั้งพื้นที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศและสี่แยกราชประสงค์ ได้เกิดเป็นกระแสมวลชนคนเสื้อแดงที่พร้อมจะทำอะไรก็ได้ แม้กระทั่งการยึดเมืองเพื่อทำลายศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ ในการต่อรองทางการเมืองกับรัฐบาล สุดท้ายได้มีกลุ่มมวลชนจัดตั้งหัวรุนแรงสร้างสถานการณ์ด้วยการก่อเหตุจลาจล

"เผาบ้านเผาเมือง" ในต่างจังหวัดก็มีการเผาศาลากลางจังหวัด โดยมิได้มีการเกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง


รัฐบาลโดยศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ได้ดำเนินการเพื่อควบคุมการชุมนุมให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่ก็ต้องพบกับความล้มเหลวมาหลายครั้งเพราะการบังคับใช้กฎหมายไร้ประสิทธิภาพ เช่น กรณี 10 เมษายน 2553 ในขณะเดียวกัน ศอฉ.ซึ่งมีส่วนกำลังจัดตั้งหลักเป็นส่วน "กองทัพบก" ก็ได้ประยุกต์การปฏิบัติการทางทหารรูปแบบหนึ่งที่เรียกว่า "การปฏิบัติการข่าวสาร" (Information Operations: IO) หรือที่เรียกกันติดปากว่า "ไอโอ"

งานไอโอทางทหาร หมายถึง การดำเนินการที่มุ่งโจมตีต่อระบบควบคุมบังคับบัญชา และสร้างอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจ ข่าวสาร และระบบสารสนเทศของฝ่ายตรงข้าม โดยที่จะดำเนินการป้องกันการที่ฝ่ายตรงข้ามจะกระทำไอโอต่อฝ่ายเราเช่นกัน ซึ่งในระหว่างการชุมนุมทางการเมือง ศอฉ.ได้ปฏิบัติการไอโอเต็มรูปแบบ และที่โดดเด่นที่สุดก็คือ โฆษก ศอฉ. คือ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด (เสธ.ไก่อู) ที่ได้รับการชื่นชมในความรู้และความสามารถที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวที่สามารถทำหน้าที่เป็นโฆษกได้ตลอดรอดฝั่ง ทั้งๆ ที่สถานการณ์หลายครั้งอยู่ในสภาพสิ้นหวังหมดกำลังใจ และก็สามารถก้าวพ้นวิกฤตของประเทศได้มาเปลาะหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามการปฏิบัติการข่าวสารอย่างประยุกต์ในครั้งนี้ของ ศอฉ.ควรได้มีการจัดทำเป็นเอกสารอย่างประยุกต์ในครั้งนี้ของ ศอฉ. ควรได้มีการจัดทำเป็นเอกสารไว้เป็นบทเรียน เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติในโอกาสข้างหน้าต่อไป

เรื่องราวในบทนี้จะได้นำเสนอความหมายและองค์ประกอบของการปฏิบัติการข่าวสาร ความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ ยุทธการ และยุทธวิธีของการปฏิบัติการข่าวสาร ทั้งนี้ภายใต้ความสำเร็จเหล่านั้นยังมีจุดบกพร่อง จุดแก้ไขหรือข้อสังเกต ซึ่งจะได้มีการกล่าวถึงในประเด็นข้อเสนอแนะทั้งทางยุทธศาสตร์ ยุทธการ และยุทธวิธีต่อไป

องค์ประกอบของการปฏิบัติการข่าวสาร ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบหลัก 5 องค์ประกอบสนับสนุน และ 2 กิจกรรมเสริม ดังนี้

- องค์ประกอบหลัก ได้แก่ การรักษาความปลอดภัยในการปฏิบัติการ การลวงทางทหาร การปฏิบัติการจิตวิทยา การสงครามอิเล็กทรอนิกส์ และการปฏิบัติการเครือข่ายคอมพิวเตอร์

- องค์ประกอบสนับสนุน ได้แก่ การทำลายทางกายภาพ การต่อต้านข่าวกรอง การต่อต้านการลวง การต่อต้านการโฆษณาชวนเชื่อ และการรักษาความปลอดภัย กิจกรรมเสริม ได้แก่ การประชาสัมพันธ์ การปฏิบัติการกิจการพลเรือน

จากองค์ประกอบของ "ไอโอ" จะเห็นได้ว่า ทั้งความหมายและองค์ประกอบของการปฏิบัติการข่าวสารนี้เป็นเรื่องการปฏิบัติทางทหารล้วนๆ ดังนั้นเมื่อต้องนำกระบวนการวิธีคิดและการปฏิบัติการข่าวสารมาใช้ในการป้องกันและปราบปรามการก่อความไม่สงบในเมือง จึงได้มีการปรับเปลี่ยนแนวทางปฏิบัติไปทั้งยุทธศาสตร์ ยุทธการ และยุทธวิธีให้สอดคล้องกับจุดอ่อนไหวเชิงสังคมจิตวิทยาเพราะฝ่ายตรงข้ามนั่นไม่ใช่ใครอื่น พวกเขาก็คือคนไทยด้วยกัน

ยุทธศาสตร์หลักของการปฏิบัติการข่าวสาร

การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การปฏิบัติการข่าวสารสามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งสามารถแบ่งยุทธศาสตร์การปฏิบัติการครั้งนี้ได้ 5 ยุทธศาสตร์หลักตามห้วงระยะเวลาดังนี้

- ยุทธศาสตร์ป้องปรามการก่อความไม่สงบ เป็นช่วงเวลาตั้งแต่ 11 มีนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นการประกาศแถลงการณ์ฉบับแรกของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ ศอ.รส. มีเป้าหมายงานไอโอเพื่อการชี้แจงสกัดกั้น ยับยั้งมิให้กลุ่ม นปช.ต่างจังหวัดมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ ด้วยจำนวนมหาศาล มากกว่าทุกครั้งที่มีการชุมนุมทางการเมือง ขั้นนี้แม้ว่าดูจะล้มเหลวในการปฏิบัติ เพราะกลุ่มคนเสื้อแดงสามารถผ่านด่านจุดตรวจของทหารและตำรวจได้อย่างง่ายดาย แต่ก็เป็นการชิมลางว่า การชี้แจงแถลงการณ์ตาม พ.ร.บ.ความมั่นคงนั้นไม่สามารถหยุดยั้งเป้าหมายการเคลื่อนพลของมวลชนสีแดงได้

- ยุทธศาสตร์การตอบโต้การก่อการร้ายและเปิดเผยเครือข่ายล้มเจ้า เป็นช่วงหลังเหตุการณ์ 10 เมษายน ภายหลังสำนักข่าวอัลจาซีร่าห์ลงคลิปการปรากฏตัวของกลุ่มคนชุดดำได้ปฏิบัติการก่อการร้ายเป็นครั้งแรก เป้าหมายของงานไอโอก็ได้เปลี่ยนไปเป็นการล็อกเป้าผู้ก่อการร้ายทันที นั่นถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ (Turning Point) ของงานไอโอที่นำไปสู่ความสำเร็จในการเอาชนะกลุ่ม นปช.ได้ โดยเพิ่มความน่าสะพรึงกลัวขึ้นไปอีก จากการที่มีการเชื่อมโยงของกลุ่มก่อการร้ายกับกลุ่มเครือข่ายล้มเจ้า

- ยุทธศาสตร์การกระชับวงล้อม เป็นช่วง 14-19 พฤษภาคม พ.ศ.2553 งานไอโอช่วงนี้ถือว่าเป็นการดำเนินการทั้งเชิงรับและเชิงรุกอย่างเต็มรูปแบบทางทหารเลยทีเดียว โดยมีการตอบโต้ด้วยภาพคลิปหรือเรียกว่าทำ "สงครามคลิปรายวัน" เลยก็ว่าได้ เป้าหมายสำคัญคือ ให้ภาพการปฏิบัติทางทหารที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่ภาพของการสลายการชุมนุมด้วยกำลังทหาร และต้องแสดงให้เห็นว่าทหารมิได้ฆ่าประชาชน จากนั้นมีการบีบบังคับให้แกนนำกลุ่ม นปช.ยอมสลายการชุมนุม ด้วยการกำหนดห้วงเวลาที่ปฏิบัติการขั้นเด็ดขาดเป็นระยะๆ

- ยุทธศาสตร์การตอบโต้การก่อจลาจล เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ ซึ่งเป็นสุญญากาศของการนำมวลชนคนเสื้อแดงเนื่องจากแกนนำได้ยอมมอบตัว ก่อให้เกิดเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองโดยไม่คาดคิด ช่วงนี้ งานไอโอถือเป็นไฮไลต์เลยทีเดียว มีการนำภาพคลิปวิดีโอตัดต่อการปราศรัยตามสถานที่ต่างๆ ของแกนนำกลุ่ม นปช.ที่มีการปลุกเร้า ยุยง ให้มวลชนคนเสื้อแดงเตรียมอุปกรณ์เผาบ้านเผาเมืองซึ่งมีการเตรียมการและไตร่ตรองไว้ก่อนล่วงหน้าแล้วมีการกระทำการเป็นขบวนการ และมีการสนับสนุนจากกลุ่มผู้ก่อการร้ายอีกด้วย

- ยุทธศาสตร์ปิดแผนยุทธการกระชับวงล้อมและรายงานผลการปฏิบัติ ช่วงนี้ถือว่าเป็นการเสี่ยงที่ได้ใคร่ครวญแล้ว เพราะต้องมีการจัดภาพความสมดุลระหว่างการแถลงแผนยุทธการกระชับวงล้อมกับงานไอโอไปพร้อมๆ กัน เช่นต้องชี้ให้เห็นว่ากลุ่มการ์ด นปช.นั้นมีอาวุธสงครามร้ายแรง และพร้อมยิงสวนกลับกองกำลังทหารและตำรวจได้ตลอดเวลา ทั้งนี้ ก็แถลงข่าวการใช้อาวุธ M-79 การก่อวินาศกรรม การใช้เด็กเป็นโล่มนุษย์หลังปราการยางรถยนต์ การก่อการจลาจลมีการทำลายร้านสะดวกซื้อ ตู้ ATM ธนาคาร และโรงไฟฟ้าย่อยคลองเตย สิ่งเหล่านี้ถ้านำมาใช้ขยายผลเพื่องานไอโอโดยไม่มีการวิเคราะห์ให้รอบคอบ ก็จะกลายเป็นการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้กระแสมวลชนพลิกกลับมาต่อต้านรัฐบาลและกองทัพเสียเอง

สงครามคลิปงานใหญ่ระดับยุทธศาสตร์

สงครามคลิป (Cilps) ภายใต้กรอบงานไอโอระดับยุทธศาสตร์ที่จับต้องได้ที่สุด คือการนำเสนอภาพคลิปวิดีโอของโฆษก ศอฉ. ซึ่งต้องใช้ทักษะของการตอบโต้กลุ่ม นปช.และต้องทำความเข้าใจกับสังคมไทยและสายตานานาชาติไปพร้อมๆ กัน ฝ่ายรัฐบาลได้คัดสรรภาพและสรรหาคำอธิบายที่จะสามารถสร้างความชอบธรรมให้แก่ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ทันเวลา ตัวอย่างสงครามคลิปวิดีโอที่น่าสนใจได้แก่ ภาพเหตุการณ์การบุกสำนักงาน กกต. การบุกรัฐสภา เป็นคำอธิบายว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องทวงคืนคำว่า "นิติรัฐ" จากกลุ่มมวลชนคนเสื้อแดง ทำให้รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ภาพเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน ทั้งภาพที่ทหารถูกโจมตีอาวุธสงครามจากผู้ก่อการร้ายไอ้โม่งชุดดำ และภาพความสูญเสียของทหารอย่างหนัก การไล่ตีทหารที่บาดเจ็บจนเสียชีวิต การที่คนเสื้อแดงถูกลอบยิงจากข้างหลัง ภาพการใช้ M-79 หลังรถตู้สีขาว การพูดของคนเสื้อแดงที่มองเห็นคนใส่เสื้อสีฟ้ายิงปืนหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ภาพเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน ที่ทหารถูกยิงด้วยสไนเปอร์จนเสียชีวิต และภาพคนเสื้อแดงถืออาวุธปืนพกสั้นบนเกาะกลางถนนวิภาวดี ตรงบริเวณอนุสรณ์สถาน ภาพการบุกยึดโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ที่เป็นภาพคลิปอีกชุดหนึ่งที่รัฐบาลยิ่งมีความชอบธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการที่จะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดเพื่อจัดการกับกลุ่มก่อการร้ายที่แฝงตัวอยู่ในมวลชนคนเสื้อแดง ซึ่งส่วนใหญ่ก็ทำหน้าที่เป็นการ์ด นปช.

ต่อมาโฆษก ศอฉ.ได้ทำหน้าที่เผยแพร่และตอบโต้ภาพคลิปอีกหลายภาพที่เชื่อได้ว่าสังคมไทยในยามวิกฤตขณะวิกฤตนั้น ส่วนใหญ่จะเชื่อว่าเป็นความจริง เช่น กรณีภาพการพยายามจุดไฟเผารถน้ำมัน แต่ถูกยิงสกัดที่ขา ภาพคนเสื้อดำเผายางรถยนต์ที่บริเวณพื้นที่บ่อนไก่คลองเตยและสี่แยกดินแดง โดยบุคคลกลุ่มนั้นมีการแต่งกายเลียนแบบทหาร ใส่เสื้อสกรีน "ARMP" มีการติดต่อสื่อสารด้วยวิทยุมือถือ ภาพการขนยางรถยนต์มาวางเป็นระบบและมีเครือข่ายการส่งต่ออย่างเห็นได้ชัด ภาพการยิงกระสุน M-79 จากใต้สะพานข้ามแห่งหนึ่ง ภาพการลอบยิงทหารของคนเสื้อสีดำแล้วยิงปืนเข้าใส่ฝูงชน ภาพการวางถังแก๊สผูกต่อสายชนวนเพื่อการจุดระเบิดอย่างมืออาชีพ ภาพทหารถูกยิงตายบนเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ (ตัดต่อจากเหตุการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้) ภาพประชาชนถูกยิงตายนอนอยู่บนถนนในซอยรางน้ำ และภาพสุดท้ายเป็นการแถลงข่าวการยึดอาวุธยุทโธปกรณ์จำนวนมากจากพื้นที่การชุมนุมราชประสงค์ถือว่าเป็นการปิดฉากสำคัญในการแสดงผลของการปฏิบัติทั้งมวล ทั้งนี้ ภาพคลิปต่างๆ ที่นำเสนอได้ผ่านการกลั่นกรองจากคณะทำงานไอโอวงเล็กและวงใหญ่ของ ศอฉ.แล้ว และเมื่อมีการชี้แจงตามลักษณะเฉพาะตัวของโฆษก ศอฉ.มืออาชีพ ภาพทุกภาพจึงเป็นความคืบหน้าของสถานการณ์และความคืบหน้าของความชอบธรรมของรัฐบาลในการที่จะปฏิบัติการเพื่อควบคุมสถานการณ์การก่อความไม่สงบ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่