Game of Thrones : มหาศึกชิงบัลลังก์ คิดการใหญ่ไม่มีทางเลี่ยง "มือเปื้อนเลือด"

จากมติชนออนไลน์

คอลัมน์ "หนังช่างคิด" โดย OLDBOY บางคูวัด

อยากอินเทรนด์ตามกระแส  "คุณชาย" กับเขามั่ง(แต่จนใจดูแล้วไม่อิน) "หนังช่างคิด" ขบวนนี้เลยเปลี่ยนบรรยากาศจากภาพยนตร์มาเสพ "หนังชุด" ซีรี่ย์ ฝรั่งฝั่งอเมริกาบ้าง

ภูมิใจนำเสนอพร้อมคำเตือนแบบ ซีเรียส จริงๆ สำหรับ Game of Thrones มินิซีรี่ส์ที่ผลิตฉายทาง HBO จนถึงขณะนี้ ล่วงเข้ามา ซีซั่นที่ 3 หรือปีที่ 3 แล้ว

ที่ต้องเตือนเพราะประสบชะตากรรมกับตัวเองมาแล้วว่า เมื่อถลำใจได้ดูต่อเนื่องจนเริ่มปะติดปะต่อเรื่องได้ จะเกิดอาการเสพติดอย่างรุนแรง เฝ้ารอตอนใหม่อย่างกระวนกระวายจริงๆ

เรียกว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ HBO อีกรายการหนึ่งก็คงไม่ผิดนัก เพราะนอกจากจะกวาดรางวัลจากสถาบันต่างๆ อาทิ Emmy,  Golden Globe ฯลฯ นับกันไม่ไหวแล้ว ยังโกยเรตติ้ง และได้รับเสียงวิจารณ์ด้านบวกจากสื่อในสหรัฐไม่ว่าจะเป็น วอชิงตัน โพสต์ หรือ ไทม์ ที่พร้อมใจกันชื่นชมองค์ประกอบต่างๆ ของ Game of Thrones

ไม่ว่าจะเป็นงานสร้างหรือโพรดักซ์ชั่นขั้นเทพที่ทุ่มทุนกันแบบไม่เม้ม การคัดเลือกผู้แสดงและฝีมือการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครต่างๆ เสื้อผ้าหน้าผม การกำกับภาพ ควบคุมโทนของแต่ละบรรยากาศ ฯลฯ

ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์โปรเจ็กต์นี้ทั้ง David Benioff และ D. B. Weiss ได้รับการยอมรับอย่างสูงแต่ก็ต้องไม่ลืมว่าทั้งหมดทั้งมวลล้วนมาจาก ต้นเรื่องนั่นคือ หนังสืออันเป็นบทประพันธ์แสนสนุกและซับซ้อน ด้วยฝีมือการเขียนของ George R. R. Martin

แล้วปัจจัยอะไรเล่าที่ผลักดันให้ Game of Thrones ได้รับคำชื่นชมเชิงคุณภาพพร้อมกับได้รับความนิยมถล่มทลาย(ได้เรตติ้งสูงลิ่วในอเมริกา และถูกนำไปฉายในอีกกว่า 70 ประเทศทั่วโลก)

ในความเห็นส่วนตัวตอบได้เลยว่า เพราะความสนุก เข้มข้น ครบเครื่อง ว่าด้วยเรื่องการต่อสู้ ช่วงชิงอำนาจ การทรยศ หลอกลวง ความรัก ความแค้น ความดีงาม ด้านมืดของมนุษย์ ฯลฯ

แน่นอนนี่มิใช่เรื่องราวที่แสนมหัศจรรย์แบบ The Lords of the Ring ไม่มีไสยเวทย์อภินิหารเหมือนพ่อมด Harry Potter ไม่ได้รบกันแหลกเละเลือดสาดเหมือน กลาดิเอเตอร์-สปาตาคัส ..

แถม Game of Thrones ยังเต็มไปด้วยฉากดราม่า บทสนทนามากมาย ดำเนินเรื่องสลับไปมาชวนให้งงกับตัวละครอีกนับไม่ถ้วน... หากนั่นกลับเป็นเสน่ห์ที่ชวนให้คนดูสนุกสนาน  สะใจ ประหลาดใจ ลุ้นระทึกไปกับเหตุการณ์และความพลิกผันที่เกิดขึ้นอยู่ตลอด

พร้อมกันความคลุมเครือที่ไม่มีความแน่ชัดว่า ฝ่ายใดคือผู้ร้าย คนเลว ไร้ศีลธรรม หน้าไหว้หลังหลอก หรือยอมใช้ทุกวิธีการเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ

ซีซั่นแรกเปิดฉากให้เห็นถึง 2 อาณาจักร วิเทอร์เฟล หัวเมืองด้านเหนือ (อารมณ์ประมาณเชียงใหม่หรือล้านนา) กับ คิงส์แลนดิ้ง อันเปรียบเสมือนเมืองหลวง(น่าจะเปรียบเป็น อโยธยา) เกิดปัญหา หักเหลี่ยม หักหลังกัน

หลังจาก "คิงส์โรเบิร์ต" กษัตริย์แห่งตระกูล "บะราเธียน" ชวน "เน็ต สตาร์ค" จากตระกูลสตาร์คประมุขแห่ง วินเทอร์เฟล มาเป็นมือขวาของกษัตริย์  แล้วทั้ง 2 กลับจบชีวิตลง

กลายเป็น คิงส์จอฟฟรี เด็กหนุ่มจากตระกูล "แลนนิสเตอร์" ก้าวขึ้นมาครองอำนาจโดยมีคนอยู่เบื้องหลังค้ำบัลลังก์มากมายหลายฝ่าย

ลำพังแค่ศึก 3 ตระกูล บะราเธียน-สตาร์ค-แลนนิสเตอร์ ก็ดุเดือดซับซ้อนซ่อนเงื่อนสาหัสอยู่แล้ว แต่ภาพรวมของ Game of Thrones เป็นการเล่าเรื่องความขัดแย้งของ 7 เมือง หรือ 7 ตระกูล ที่เกี่ยวดอง เป็นเครือญาติ มีลูกหลานแต่งงานกัน ทว่าก็รบพุ่งแย่งชิงอำนาจกันมาโดยตลอด

เรื่องราวยังเชื่อมโยงไปถึงตัวละครในอีก 4 ตระกูลคือ ตระกูล "ทาร์เกเรียน" ตระกูล "เกรย์จอย", ตระกูล "ทูลลี่ส์" และ ตระกูล "ไทเรล"

ซึ่งทุกตระกูลก็แอบหวังว่าจะก้าวขึ้นมามีอำนาจเหนืออีก 6 ตระกูลและครอบครองอาณาจักรทั้งหมด พร้อมที่จะผูกมิตรกับอีกฝ่ายหนึ่งหากได้ประโยชน์ หักหลัง โจมตี ปล้นชิงฝ่ายใดก็ตามที่อ่อนแอและหมดประโยชน์

ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น สงครามความแตกแยะระหว่าง 7 อาณาจักรยังถูกคุกคามด้วยตัวแปรใหม่นั่นคือ กองทัพปีศาจจากดินแดนน้ำแข็งที่เคยแยกกันอยู่เหมือนคนละโลก แต่วันหนึ่งก็ก้าวข้ามเส้นผ่านแนวสกัดที่เรียกกันว่า เดอะ วอลล์ และกองกำลัง "ไนท์วอทช์ "  เข้ามาได้

บนความขัดแย้ง แย่งชิงผลประโยชน์ หรือกล่าวอ้างความสำคัญของครอบครัว ตระกูล ชนเผ่า ฯลฯ เราจะเห็นการวางเกม กำหนดกลยุทธ์ การใช้ระบบสื่อสาร งานข่าวกรอง ที่ถูกนำมาเป็นปัจจัยประกอบสำหรับความสำเร็จหรือล้มเหลว ความรักและห่วงใยภายในครอบครัวที่อาจต้องสละเพื่อการศึก ปรารถนา กามารมณ์อันเป็นสัญชาติญาณดิบ กับภาระหน้าที่/ความรับผิดชอบ ฯลฯ

และนำมาซึ่งคำถามสำคัญว่า หากมีเป้าหมายที่จะยิ่งใหญ่ เป็นที่ยอมรับ ยำเกรง จะอย่างไรเสียก็ต้องพร้อมที่จะแลกมาด้วยความเด็ดขาด เหี้ยมโหด และต้อง "มือเปื้อนเลือด" ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

หลังจากดู Game of Thrones  ตอนที่ 7 ของซีซั่น 3 จบ พร้อมๆ กับอ่านงานของ "ธเนศวร์ เจริญเมือง" ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือน พฤษภาคม 2556 เรื่อง " ๑๑๐ ปีแห่งรัก : หมะเมียะ-เจ้าน้อยสุขเกษม (พ.ศ.๒๔๔๖-๒๕๕๖)

เกิดความสนุกและได้อรรถรสในการมองประวัติศาสตร์ด้วยมิติที่แตกต่างออกไปอีก เพราะแง่มุมที่ "ธเนศวร์ เจริญเมือง" หยิบมาใช้วิเคราะห์ไม่ได้มองเพียงแค่ความมีอยู่จริงของตำนานรัก หมะเมียะ หรือจริงแค่ไหนเท่านั้น หากยังมองถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจและการเมืองระหว่าง รัฐสยามกับรัฐเชียงใหม่หรือล้านนาในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย

จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะขีดเส้นตัดสินความถูกผิดในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างรัฐในอดีต แต่ก็อาจเป็นอีกมุมหนึ่งที่น่าคิด หากจะพิจารณาบริบท และองค์ประกอบเหล่านั้นอย่างรอบด้าน(เช่นเดียวกับที่รัฐปาตานีก็มีความสัมพันธ์ในลักษณะหนึ่งกับสยามมาก่อน)

แม้โดยเนื้อแท้ Game of Thrones  ทั้งที่เป็นหนังสือนิยายและถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ชุดทางโทรทัศน์ จะผูกโยงเรื่องขึ้นจากจินตนาการ เป็นบทประพันธุ์ที่มิได้อ้างอิงเรื่องจริง เหตุการณ์/สถานที่จริง แต่อย่างใด

น่าแปลกที่ชมแล้วเรากลับสนุกและชวนให้เชื่อว่า จะยุคสมัยดังกล่าว หรือล่วงมาจนถึงปัจจุบัน การช่วงชิงอำนาจ ผลประโยชน์ ก้าวไปสู่ความสำเร็จหรือเป็นผู้ชนะนั้น ยังคงดำเนินไปบนวิถีแบบเดิมๆ นั่นแหละ เพียงแต่วิธีการและรายละเอียดปลีกย่อยเท่านั้นที่เปลี่ยนไป
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่