'สนิม' ปลียอดทองคำองค์พระธาตุฯ สัญญาณเตือนหลุดตีตรา...มรดกโลก

ที่มา: หนังสือพิมพ์ คม ชัด ลึก วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556









ที่มาภาพ:

http://travelatsouthofthailand.wordpress.com/%E0%B8%AA%E0%B8%96%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B9%83%E0%B8%95/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%98%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B8%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2/

http://www.mcot.net/site/content?id=5195a23e150ba00d26000366#.UZpb3Mp-T4w





แนว "สนิม" ที่เยิ้มเป็นเป็นทางเหนือ "ปลียอดทองคำ" องค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เริ่มขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ นั้น สร้างความไม่สบายใจแก่พุทธศาสนิกชน และบรรดานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เกรงว่าสนิมจะกัดกร่อนจนปลียอดทองคำเสียหาย ที่สำคัญอาจส่งผลต่อการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)

ปรากฏการณ์สำคัญครั้งนี้ก่อตัวขึ้นหลังจากฝนหลงฤดูถล่มเมืองคอนเมื่อเดือนเมษายน จากนั้นคราบคล้ายสนิมที่เยิ้มลงมาจากปลียอดทองคำองค์พระธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชก็ขยายวงกว้างมากขึ้น จนเกิดคำถามขึ้นมากมาย โดยเฉพาะทองคำบนปลียอดองค์พระบรมธาตุเจดีย์แห่งนี้ เพราะร่องรอยดำคล้ำบนกลีบบัวคว่ำบัวหงายทองคำ ที่เป็นส่วนรองรับปลียอดทองคำ เหตุใดจึงดำคล้ำได้ขนาดนั้น

ทั้งนี้ ภาพกลีบบัวทองคำทางด้านฝั่งตะวันตกมีสีดำคล้ำจนสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า แม้ว่า "ช่างสิบหมู่" จะเข้าตรวจสอบโดยการส่องกล้องทีโอโดไลท์ความคมชัดสูง แต่ยังไม่สามารถระบุถึงสาเหตุได้ชัดเจน ต้องรอขึ้นตรวจสอบด้วยการก่อสร้างนั่งร้านขึ้นไปจนถึงปลียอด ถึงจะสามารถระบุได้ ส่วนความเคลื่อนไหวจากทางจังหวัดนครศรีธรรมราช เตรียมสร้างนั่งร้านขึ้นไปตรวจสอบ แต่ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการ

หากย้อนดูประวัติศาสตร์การบูรณะองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ได้มีการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา โดยปลดเอาทองคำทั้งหมดมาชั่งรวมได้ 216 กิโลกรัม พบแท่นจารึกทองคำ 74 รายการ อ่านแปลไปแล้ว 40 รายการ ทั้ง "อักษรขอม" และ "อักษรไทย" ระบุถึงการซ่อมน้ำหนักทอง นามและถิ่นที่พำนักของผู้ซ่อม จารึกที่เก่าแก่ที่สุดคือปี พ.ศ. 2155 ตรงกับสมัยอยุธยาช่วงรัชกาลสมเด็จพระเอกาทศรถ หลังจากนั้นมีจารึกตามมาอีกหลายแผ่นตั้งแต่ปี 2159 จนถึง 2377 โดยแผ่นจารึกยิ่งเก่าแก่จะยิ่งอยู่ตอนบนขึ้นไป แสดงให้เห็นว่ามีการซ่อมบำรุงตลอดมา

สิ่งสำคัญที่สุดคือ จารึกบนแกนโลหะรอบแกนปลีเป็นหลักฐานชัดว่า ยอดพระบรมธาตุเจดีย์เคยชำรุดหักลงมาแล้วได้มีการซ่อมสร้างขึ้นใหม่เมื่อปี 2190 ดังคำจารึกว่า "พุทธศักราชได้สองพันร้อยเก้าสิบพระพรรษาเศษได้สี่วัน เมื่อยอดพระเจ้าหัก วันจันทร์ เดือนหก แรมสี่ค่ำ ปีมะเมีย เพลาชายแล้วสองยาม สร้างตรลบหกสู่ยอดเจ้าหั้นแล เมื่อได้ทำการนั้นเดือนสิบ วันศุกร์ เวลาเช้าขึ้นถึงสิบชั้นเป็นสุดเอย" จารึกนี้ถูกจารลงในแผ่นทองคำ เป็นหลักฐานสำคัญที่ถูกค้นพบเมื่อกว่า 25 ปีก่อน

แน่นอว่า... ทุกสิ่งย่อมที่จะเกิดขึ้น คงอยู่ และดับไป ถือเป็นสิ่งปลูกสร้างที่สามารถล่วงเลยกาลเวลาผ่านการบูรณะซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยพลังแห่งศรัทธาของมวลพุทธศาสนิกบรรพบุรุษของชาวนครศรีธรรมราชอย่างยาวนานหลายร้อยปีล่วงมาถึง 2556 เมื่อปรากฏการณ์เช่นนี้ กรณีรอยสนิมจึงสร้างความวิตกกังวลให้แก่ทุกฝ่าย

"มีการส่องกล้องขึ้นไปดูร่องรอยความชำรุด หลายคนถึงกับบอกว่าไม่น่าจะใช่ทองคำ รอยคราบเยิ้มที่เกิดขึ้นนั้นเป็นความผิดปกติ อยากให้ทางราชการ ผู้ที่เกี่ยวข้อง เร่งเข้าตรวจสอบบูรณะอย่างเร่งด่วน ขณะนี้ใกล้เข้าสู่การเป็นมรดกโลกเข้าไปทุกวัน อย่าให้ได้ชื่อว่าทางการทอดทิ้งไม่เหลียวแลปูชนียสถานในวัดวาอารามที่มีมาแต่โบราณแห่งนี้" นริศ น้อยทับทิม มัคคุเทศก์ชาวนครศรีธรรมราช สะท้อนด้วยความห่วงใย

ส่วนแนวทางการบูรณะ ผศ.ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช ประเมินว่า น่าจะใช้งบประมาณซ่อมแซมถึงหลักล้านบาทขึ้นไป แต่ทางกรมศิลปากร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อ สามารถใช้งบฉุกเฉินของทางรัฐบาลได้ ถ้าปล่อยไว้เหมือนกับการบั่นทอนความเชื่อมั่นของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปเรื่อยๆ เสมือนหนึ่งว่าไม่ได้สนใจต่อการแก้ปัญหาเบื้องต้น จะมีคนพูดต่อได้ว่า หากองค์พระบรมธาตุเจดีย์นี้ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จะปล่อยให้สิ่งสำคัญนี้เกิดขึ้น และนิ่งดูดายอย่างนั้นหรือ เพราะฉะนั้นต้องรีบดำเนินการทันที

เช่นเดียวกับ สัมพันธ์ ทองสมัคร อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช ระบุว่า กราบพระธาตุทุกครั้งทุกวัน  ผมสาปแช่งพวกคิดคดทำร้ายองค์พระบรมธาตุทุกวัน เมื่อพูดถึงมรดกโลก หากคณะกรรมการมรดกโลกเขาถามว่าคราบเยิ้มย้อยพวกนั้นคืออะไร ผู้เกี่ยวข้องจะตอบเขาว่าอย่างไร แต่โบราณมาการบูรณะของศักดิ์สิทธิ์ที่บรรพบุรุษปู่ย่าตาทวดสร้างกันมาเป็นร้อยเป็นพันปีจะต้องถูกครรลอง ผมยังคิดไม่ออกว่า สนิมที่มีมานั้นมีได้อย่างไร พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ มอบทองคำมา 12 บาท มาร่วมบูรณะด้วย

"ครั้งนั้นทางกรมศิลป์ได้ใช้สเตนเลสอย่างดีเป็นโลหะสำคัญขึ้นไปบูรณะ มาวันนี้กรมศิลป์ต้องเร่งรัด ช้าไม่ได้ ทองบนยอดนั้นผมคิดว่าถ้าเป็นทองคำจริงมันไม่ดำแน่ กรมศิลป์ต้องตอบให้ได้ว่าที่ดำนั้นดำเพราะอะไร โดยเฉพาะกลีบบัวคว่ำบัวหงาย ทองคำบนองค์พระบรมธาตุเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ก่อนการบูรณะครั้งใหญ่เคยปลิวไปตกในชุมชนมุสลิม เขาเก็บมาคืน แม้ว่าเขาจะเป็นมุสลิมเขารู้ถึงความสำคัญขององค์พระบรมธาตุ" สัมพันธ์กล่าว

ขณะที่ อาณัติ บำรุงวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช บอกว่า ทางจังหวัดนครศรีธรรมราชกำลังเร่งดำเนินการว่าจ้างเอกชนเข้าก่อสร้างนั่งร้านขึ้นไปตรวจสอบ โดยทราบว่ามีการว่าจ้างไปแล้ว ซึ่งมีข้อกำหนดว่า จะต้องติดตั้งเป็นเวลา 180 วัน เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญขึ้นไปตรวจสอบ ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญคือนายช่างสิบหมู่ ขณะนี้มีความพร้อมมาตั้งแต่หลังเทศกาลแห่ผ้าขึ้นธาตุแล้ว เมื่อติดตั้งเสร็จ ช่างสิบหมู่จะสามารถขึ้นตรวจสอบได้อย่างชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น ชำรุดเสียหายอย่างไร มากน้อยแค่ไหน และสภาพทางกายภาพทั้งหมดเป็นอย่างไร ทุกอย่างจะชัดเจน

นอกจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นบนแผ่นทองคำ รวมถึงคราบคล้ายสนิมนับวันจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเวลาเดียวกับที่ภาคประชาชนได้ผลักดันการนำองค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชขึ้นเป็นมรดกโลก หรือมรดกของมวลมนุษยชาติ โดยมีคุณสมบัติเด่นคือ "ปูชนียสถานที่มีชีวิตมาอย่างยาวนานคู่กาลเวลา" กรณีที่เกิดขึ้นจึงเป็นประเด็นที่ไม่สามารถมองข้ามไปได้



กฤษณะ ทิวัตถ์สิริกุล






=======================================================================================


ลุ้น 'ยูเนสโก' ขึ้นทะเบียนปี 2557

เมื่อกลางปีที่ผ่านมา โสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร ในฐานะคณะกรรมการมรดกโลก ระบุว่า หลังจากกระทรวงวัฒนธรรมส่งชื่อวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ไปที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเสนอไปที่ศูนย์มรดกโลกของยูเนสโก พิจารณาเข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมในอนาคตนั้น

ต่อมา เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2555 เว็บไซต์ศูนย์มรดกโลกได้ประกาศชื่อวัดพระมหาธาตุฯ เข้าสู่บัญชีดังกล่าว โดยขั้นตอนต่อจากนี้ คณะกรรมการของจังหวัดจะต้องจัดทำรายละเอียดข้อมูลที่เรียกว่า "นอมมิเนชั่น" คุณสมบัติต่างๆ และความโดดเด่นของวัดพระมหาธาตุฯ ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2556 ส่งไปยังศูนย์ดังกล่าว เข้าไปสู่ขั้นตอนสุดท้ายของการพิจารณา ซึ่งจะต้องใช้เวลา 1 ปีครึ่ง จากนั้นจะบรรจุเข้าการประชุมสมัยสามัญครั้งที่ 38 หรือสมัยที่ 39 ระหว่างปี 2557-2558 เพื่อให้คณะกรรมการมรดกโลกพิจารณาประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลก

ทั้งนี้ วัดพระมหาธาตุฯ เข้าหลักเกณฑ์ 3 ข้อของทั้งหมด 10 ข้อตามคุณสมบัติจะเป็นมรดกโลก ดังนี้

หลักเกณฑ์ข้อ 1 เป็นตัวแทนผลงานของการสร้างจากอัจฉริยะของมนุษย์ แสดงถึงการออกแบบอาคารและการออกแบบแผนผังของสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนา โดยพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้มีสถูปทรงกลมขนาดใหญ่ มีต้นแบบมาจากสถูปในศิลปะลังกา และปลียอดทรงดอกบัวตูมที่ประดับด้วยลูกปัดแก้ว ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะสุโขทัย จึงเป็นการออกแบบสถาปัตยกรรมชั้นเลิศที่สร้างจากอัจฉริยภาพของศิลปิน

หลักเกณฑ์ข้อ 2 แสดงถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคุณค่าของมนุษย์ตามกาลเวลา หรือในวัฒนธรรมด้านใดด้านหนึ่งของโลกในการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือทางเทคโนโลยีศิลปะสถาปัตยกรรมโบราณ การออกแบบผังเมือง หรือการออกแบบภูมิทัศน์ โดยพระบรมธาตุเจดีย์ฯ แสดงถึงการสืบทอดคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนา พัฒนาการสถาปัตยกรรม การก่อสร้าง และแผนผัง ที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างศิลปะของคาบสมุทรไทยตอนบนกับศิลปะลังกา นอกจากนี้ ยังเป็นสถานที่รับพุทธศาสนาลัทธิเถรวาทจากศรีลังกา และเผยแผ่ไปยังอาณาจักรสุโขทัยและอยุธยาที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของอาณาจักรศรีวิชัย ที่ปรากฏเจดีย์ทรงระฆังในอาณาจักรเหล่านี้

สุดท้าย หลักเกณฑ์ข้อ 6 มีความสัมพันธ์โดยตรง หรือเห็นได้ชัดเจนกับเหตุการณ์ หรือประเพณีที่ยังคงอยู่ หรือความคิด ความเชื่อ งานศิลปกรรม และวรรณกรรมที่มีความสำคัญโดดเด่นเป็นสากล ประเพณีพิธีกรรมประจำปีที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมธาตุองค์นี้คือ ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ มีความสัมพันธ์กับพุทธศาสนิกชนในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับโลก ในฐานะสัญลักษณ์แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นพุทธศาสนสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก มีพุทธศาสนิกชนจำนวนมหาศาลเดินทางเข้ามาร่วมพิธีกรรมปีละหลายครั้ง
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่