รถชนเป็นฝ่ายผิด โดนเรียกค่าเสียหายมากเกินไป ประกันครอบคลุมไม่หมด ต่อสู้ยังไงดีครับ

ให้ลูกน้องขับรถไปปฏิบัติงาน แล้วเกิดอุบัติเหตุขึ้นโดยที่เราเป็นฝ่ายผิด

อุบัติเหตุที่เกิดเป็นเหตุค่อนข้างร้ายแรง มีคู่กรณีหลายคัน

ค่าเสียหายรวมๆแล้วสามล้านบาท และประกันออกให้แค่หกแสนบาท(สูงสุดแล้ว)

ซึ่งค่าเสียหายทั้งผมดมากเกินไปครับ อย่างเช่นค่าซ่อมรถคันหนึ่งแปดแสนบาท (ราคามือสองรุ่นปีเดียวกันอยู่ที่ เจ็ดแสน) ค่าเสียโอกาสวันละหกพัน คิดเต็มๆสามเดือน อะไรประมาณนี้อ่ะครับ

ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นการไปตกลงกันครั้งแรกที่โรงพักครับ  จะมีการไปคุยกันอีกครั้งสิ้นเดือนนี้

ผมสามารถที่จะต่อสู้อย่างไรได้บ้างในกรณีนี้ครับ ผมยินดีรับผิดชอบแต่ว่าค่าสินไหมที่เรียกมามันสูงเกินไปมากๆ

แล้วในกรณีนี้เกิดจากเหตุประมาทของคนขับ เราสามารถให้มารับผิดชอบด้วยได้ไหม (อันนี้ไม่ได้หวังอะไรมากครับ)

รบกวนด้วยครับ ขอบคุณครับ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 4
เป็นเรื่องลูกน้องทำละเมิด กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วย
และตามกฎหมาย เมื่อนายจ้างชดใช้แล้ว ก็ไล่เบี้ยเอากับลูกจ้างได้  (แม้ไม่หวังอะไรมากก็ตาม)
ค่าเสียหาย ประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมแทน ไม่เกินทุนประกัน กรณีนี้ทุนประกัน 6 แสนบาท ประกันก็ชดใช้เพียงเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 2 ล้านเศษ ผู้ทำละเมิด(ลูกจ้าง)และนายจ้างก็ต้องร่วมรับผิด

ค่าสินไหมทดแทนจะใช้เท่าใดนั้น ขึ้นกับว่าจะตกลลงกันได้หรือไม่ ถ้าตกลงกันได้ ก็ใช้ได้ตามที่ตกลง
แต่หากเห็นว่าฝ่ายหนึ่งเรียกร้องมาสูงเกินไป  และตกลงต่อรองกันไม่ได้ ก็ต้องไปศาล

กรณีที่คู่กรณีมีการตกลงกันแล้วที่โรงพักว่ายินยอมชดใช้กันเท่าไร โดยมีบันทึกประจำวันเป็นหลักฐาน   กรณีเช่นนี้เมื่อคู่กรณีไม่ปฏิบัติตามสัญญา  อีกฝ่ายหนึ่งก้จะต้องฟ้องศาลซึ่งจะเป็นการฟ้องคดีเพื่อบังคับตามข้อตกลงกันนั้น ซึ่งเป็นการฟ้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความ  โดยศาลจะบังคับให้ตามสัญญา โดยไม่มีเรื่องเรียกค่าเสียหายในมูลละเมิดอีก

กรณีที่คู่กรณียังไม่ตกลงกัน หรือตกลงกันไม่ได้  เมื่อฟ้องศาล จะฟ้องเรียกค่าเสียหายมูลละเมิด
การพิสูจน์ค่าเสียหายก็เป็นภาระของฝ่ายที่เรียกร้องที่ต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ให้ศาลเห็น โดยอีกฝ่ายหนึ่งก็สามารถโต้แย้งคัดค้านได้  เช่นส่วนค่าซ่อมรถ 8 แสนบาท  โจทก์ก็ต้องแสดงพยานหลักฐานว่าซ่อมอะไหล่กี่รายการ ตัวใดบ้าง แต่ละตัวราคาเท่าไร ค่าแรงช่างเท่าไร  ค่าเคาะพ่นสีเท่าไร  ค่าเสื่อมราคาเท่าไร ฯลฯ  ส่วนจำเลยก็สามารถแสดงพยานหลักฐานโต้แย้งคัดค้านได้ว่า อะไหล่แต่ละตัว ราคาเท่าไร ค่าแรงเท่าไร
    ค่าเสียโอกาส โจทก์ต้องมีภาระพิสูจน์ว่า  การไม่ได้ใช้รถคันนี้เสียโอกาสอะไร จึงคิดเป้นวันละ 6 พันบาท  ทำนองเดียวกัน จำเลยก็สามารถแสดงพยานหลักฐานได้ว่า การเช่ารถคันอื่นใช้ระหว่างซ่อม ก็ไม่ทำให้เสียโอกาสตามที่เรียกร้อง  ทำนองนี้
แล้วศาลจะใช้ดุลพินิจพิพากษาคดีว่าควรได้ค่าเสียหายเต็มตามฟ้องหรือไม่ หรือควรได้เท่าไร

ดังนั้นหาก จขกท.เห็นว่าคู่กรณีฝ่ายอื่นเรียกร้องสูงเกินไป ก็ให้ต่อรองลงมา หากตกลงกันได้ ก็เป้นการประนีประนอมยอมความกัน
แต่หากตกลงกันไม่ได้  คู่กรณีก็ต้องฟ้องศาล แล้วจึงไปตกลงกันที่ศาล หากตกลงกันได้ ก็จบ  หกาตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องพิสูจน์ตามกระบวนการต่อไป

สวัสดีครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่