ขอคำแนะนำการศึกษาต่อ ป.โท เกี่ยวกับวรรณคดีไทย (มก.) และวรรณคดีเปรียบเทียบ (จุฬาฯ)

สวัสดีค่ะทุกท่าน  เราจบ ป.ตรี สาขาวิชาภาษาไทย จาก ม.ต่างจังหวัดมา  มีพื้นฐานทางภาษาพอสมควร แต่ความรู้ทางวรรณคดีน้อยมาก  มีความสนใจอยากเรียนต่อ ป.โท ทางด้านวรรณคดีไทย หรือ วรรณคดีเปรียบเทียบ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และอยากเรียนรู้ชีวิตมนุษย์จากวรรณกรรม แต่ภาษาอังกฤษของเรายังไม่ดีเท่าไร และความรู้ทางด้านวรรณกรรมทั้งไทย และต่างประเทศก็น้อย ตอนนี้เรากำลังเตรียมตัวสอบ CU-TEP และ TOEFL เพื่อเตรียมยื่นสอบสาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ จุฬา


   เรียนจบภาษาไทยมา ก็มีความถนัดทางด้านการเขียนบทความ สารคดีค่อนข้างดีพอสมควร ความจริงก็อยากเรียนสาขาที่เกี่ยวกับงานสื่อสิ่งพิมพ์ แต่อีกใจก็อยากเรียนวรรณกรรมมากกว่า เพราะชอบอ่านวรรณกรรมสมัยใหม่ (แม้ไม่ค่อยจะขยันอ่านหนังสือเท่าไร) ในโอกาสที่มีเวลาหลายเดือนในการเตรียมสอบนี้ ก็เลยอยากจะลองปรับตัวใหม่ และอ่านหนังสือให้มากขึ้นกว่าตอนเรียน ป.ตรี (ตอนนั้นเรียนทั้งงานการเรียน, กิจกรรม ฯลฯ เยอะไปหมด เวลาส่วนใหญ่ทุ่มไปกับรายงานและงานวิชาเรียนต่างๆ  ขนาดซื้อหนังสือวรรณกรรมที่ชอบมา ก็อ่านจบเป็นบางเล่ม)


   อยากลองเปิดโอกาสให้ตัวเอง และปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่ให้กับการเรียนที่สูงกว่าเดิม แม้ว่าพื้นฐานตัวเองทั้งภาษาและวรรณคดียังไม่ค่อยดี แต่ครั้งหนึ่งในชีวิตก็อยากลองกันสักตั้ง ว่าจะชนะตัวเองได้ไหม  และก็พยายามหาข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรและการเตรียมตัวต่างๆ แล้ว ก็อดมาถาม มาปรึกษาทุกท่านไม่ได้ เผื่อจะมีคำแนะนำดีๆ ที่ให้เราได้ปรับปรุง และเตรียมตัว


   เราอยากเรียนวรรณคดีเปรียบเทียบ ของจุฬา เพราะเป็นศาสตร์ที่ท้าทายสำหรับเรา (ตอนเรียนวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ ตอน ป.ตรี สนุกมาก แม้จะไม่ค่อยรู้เรื่องในบางแง่ แต่เรียนแล้วรู้สึกอยากค้นคว้าต่อให้ลึกกว่านี้  และอาจารย์ก็สอนสนุกมาก เลยได้รับแรงบันดาลใจจากอาจารย์ในการเรียนทางด้านวรรณคดีต่อเพราะอาจารย์มีทัศนคติที่ดี  มองโลกด้วยความเข้าใจ ฯลฯ)  


   อยากขอคำแนะนำจากทุกท่านในการเตรียมตัว "สมัครสอบ - สอบข้อเขียน - สอบสัมภาษณ์"  รวมไปจนถึง "ชีวิตการเรียน" และการเขียน หรือ "ร่างวิทยานิพนธ์" ในอนาคตสำหรับสาขาวรรณคดีเปรียบเทียบ (จุฬา)  และสาขาวรรณคดี - สาขาวรรณคดีไทย (ม. เกษตรศาสตร์) ค่ะ  โดยเฉพาะรุ่นพี่ที่เคยสอบ - กำลังศึกษา หรือ ศึกษาจบแล้วในสาขาดังกล่าวแนะนำด้วยค่ะ  และขอเรียนถามไปถึงโอกาสความก้าวหน้าทางการงานเกี่ยวกับการเรียนสายวรรณคดีในอนาคต รวมถึงประสบการณ์การสอบ ป.โท ในสายอักษรศาสตร์ - ศิลปศาสตร์ แนะนำด้วยค่ะ




ขอขอบคุณทุกท่านค่ะ


ยิ้ม
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 1
พี่จบจากภาคภาษาไทย (วรรณคดี) ที่จุฬาฯ นะคะ แต่มีเพื่อนๆ เรียนจบวรรณคดีเปรียบเทียบ และการเรียนระดับโท-เอกที่อักษรก็ค่อนข้างคล้ายกัน เลยขออนุญาตแนะนำนะคะ

สำหรับการเรียนวรรณคดีเปรียบเทียบที่จุฬาฯ นั้น
๑) ต้องใช้ภาษาอังกฤษเยอะมาก (วรรณคดีไทยก็เหมือนกันค่ะ) เพราะต้องอ่านตำรับตำราทางวรรณคดี และทฤษฎีวรรณคดีที่เป็นภาษาอังกฤษเยอะมาก แต่นี่ถือเป็น "จุดแข็ง" ของการเรียนวรรณคดีที่อักษรฯ ค่ะ
๒) ต้องขยันและมีวินัยมาก เพราะต้องอ่านเยอะ เวลาปลายเทอมเขียนภาคนิพนธ์๋กันทีนี่...จะขาดใจตายเอาอ้ะค่ะ ส่วนวิทยานิพนธ์ก็ต้องมีประเด็นที่ชัดเจน มีระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้อง ต้องแม่นข้อมูล และศึกษาออกมาให้ได้องค์ความรู้ใหม่ที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่สักแต่รวบรวมข้อมูลหรือวิเคราะห์อะไรแบบ plain อ้ะค่ะ อาจารย์จะเข้มงวดมากๆๆๆๆๆ ในเรื่องนี้ ไม่แน่ใจจะไม่ให้ผ่านตั้งแต่หัวข้อเลยค่ะ (ตอนป.โท. พี่สอบหัวข้อ ๒ หนค่ะกว่าจะผ่าน)

สำหรับการใช้ชีวิต...อาจจะต้องขยันนิดหน่อยค่ะ แต่บรรยากาศจะดีมาก ครูบาอาจารย์ท่านเมตตามาก ช่วยเหลือนิสิตเต็มที่จริงๆ แล้วที่สำคัญ คือ ไม่ว่าครูหรือเพ่ือนจะไม่มีการเหยียดหรือเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะจบที่ไหนมา ครูก็จะถือว่าเป็นลูกศิษย์ รักและเมตตาเท่ากันหมด ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง เพื่อนก็เหมือนกันค่ะ ที่สำคัญ คือ ไม่มีใครแข่งกันเรียน แต่เรียนกันแบบเป็นทีม แบ่งปันความรู้ คอยพูดคุยปรับทุกข์ ช่วยเหลือกันสารพัดจริงๆ นะคะ

เรื่องการสอบเข้า พี่แนะนำว่าให้ไปสอบ CU-TEP เก็บไว้นะคะ คะแนนป.โท กำหนดไว้ ๔๕๐ แล้วก็อ่านงานวิจัยทางวรรณคดีเปรียบเทียบ ทั้งงานประเภทตำรา บทความวิชาการของอาจารย์ แล้วก็วิทยานิพนธ์ของนิสิต เพราะบางทีข้อสอบอาจถามเรื่องงานวิจัยได้ค่ะ...และก็ไม่จำกัดว่าต้องเป็นตำราของอาจารย์จุฬาฯ เท่านั้นนะคะ ของนักวิชาการเก่งๆ ต่างสถาบัน อย่างอ.เจตนา นาควัชระ อ.กุสุมา รักษมณี (ม.ศิลปากร) อ.สรณัฐ ไตลังคะ (ม.เกษตร) ฯลฯ หรืองานของนักวิชาการต่างประเทศก็ต้องอ่านค่ะั...ตอนพี่สอบเข้าป.โทและป.เอกก็เตรียมตัวประมาณนี้

ขอให้น้องโชคดีค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่