เกร็ดความรู้กฎหมายประจำวัน....จอดรถไม่เปิดไฟ...ไม่ทำก็ผิดได้

เกร็ดความรู้กฎหมายประจำวัน....จอดรถไม่เปิดไฟ...ไม่ทำก็ผิดได้

คำว่าการกระทำนั้น ตามหลักกฎหมายแล้ว ไม่ได้หมายถึงเพียงแต่การลงมือกระทำเพียงอย่างเดียว แต่หมายความรวมถึงการงดเว้นการกระทำ ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำ โดยมีเจตนาเพื่อป้องกันผลที่จะเกิดจากการไม่กระทำนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการงดเว้นโดยเจตนา หรือว่างดเว้นโดยประมาทก็ตาม ซึ่งในกรณีเกี่ยวกับคดีจราจรโดยส่วนมากแล้วจะเป็นเรื่องของการกระทำโดยประมาท

เราลองมาพิจารณาแนวคิดและหลักกฎหมายนี้จากคำพิพากษาศาลฎีกากันครับ



ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

คำพิพากษาฎีกาที่ 2210/2544 แม้จุดที่จำเลยจอดรถ และเกิดเหตุชนกัน อยู่ในไหล่ทางด้านซ้ายของถนน ในลักษณะไม่กีดขวางทางจราจรก็ตาม แต่การที่จำเลยจอดรถในเวลากลางคืน โดยไม่ได้เปิดไฟ หรือใช้แสงสว่างตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้ขับขี่มองเห็นรถที่จอดอยู่ จนเป็นเหตุให้ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์พุ่งเข้าชนท้ายรถคันที่จำเลยจอด ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นผลจากความประมาทของจำเลย แม้ผู้ตายมีส่วนประมาทอยู่ด้วยก็ตาม เหตุที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย เกิดเพราะความประมาทของจำเลยด้วย จึงเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากความประมาทของจำเลย ที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น

ตามที่ยกตัวอย่างฎีกาไป อาจจะยังไม่ได้รายละเอียดมากเท่าไร ทีนี้เราลองมาพิจารณาคำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยไปในแนวเดียวกัน และมีการอธิบายที่ละเอียดมากขึ้น และมีการกลับคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ด้วยครับ




ขอบคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  3284/2552

          จำเลยจอดรถยนต์บรรทุกพ่วงล้ำเข้าไปในช่องเดินรถช่องซ้ายโดยไม่เปิดไฟหรือใช้แสงสว่างของรถหรือให้สัญญาณใดๆ ในขณะที่ที่เกิดเหตุมืด เป็นเหตุให้ ค. ซึ่งขับรถยนต์บรรทุกหกล้อมาทางด้านหลังไม่สามารถมองเห็นรถยนต์บรรทุกพ่วงที่จำเลยจอดไว้ในระยะห่างเพียงพอที่ ค. จะหยุดรถหรือหลบหลีกไปได้ ค. จึงขับรถยนต์บรรทุกหกล้อชนท้ายรถยนต์บรรทุกพ่วงดังกล่าวมีผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัสและได้รับอันตรายแก่กาย การที่ ค. ขับรถยนต์บรรทุกหกล้อชนท้ายรถยนต์บรรทุกพ่วงดังกล่าว จึงเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 291, 300, 390 แต่มิใช่ผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการขับรถโดยประมาทของจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157

            โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291, 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157
            จำเลยให้การปฏิเสธ
            ระหว่างพิจารณา นายรุ่งโรจน์ และนายนิกร ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต (ที่ถูกต้อง อนุญาตให้นายรุ่งโรจน์ซึ่งได้รับอันตรายแก่กายเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 และอนุญาตให้นายนิกรซึ่งได้รับอันตรายแก่กายสาหัสเข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300)
            ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 300, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 ปี และปรับ 20,000 บาทไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี คุมความประพฤติจำเลยมีกำหนด 1 ปี โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง ให้จำเลยทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
            จำเลยอุทธรณ์
            ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
            โจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฎีกา
            ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองว่า จำเลยมีส่วนร่วมกระทำโดยประมาทด้วยหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองมีน้ำหนักดีกว่าฟังเชื่อได้ว่า รถยนต์บรรทุกพ่วงของจำเลยจอดล้ำเข้ามาในช่องทางเดินรถช่องซ้ายโดยไม่มีการให้สัญญาณใด ๆ ในขณะที่ที่เกิดเหตุมืด จึงเป็นการประมาทในลักษณะการงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลเช่นนั้น แต่จำเลยมิได้กระทำคือการไม่เปิดสัญญาณไฟกระพริบหรือให้สัญญาณอื่นใด จึงฟังได้ว่าจำเลยมีส่วนร่วมกระทำโดยประมาทด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าที่เกิดเหตุมีแสงสว่างสามารถมองเห็นได้ในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร จำเลยจึงไม่ต้องเปิดสัญญาณไฟหรือใช้แสงสว่างตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 61 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะแสงสว่างในที่เกิดเหตุตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่าเห็นได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร จำเลยมิได้นำสืบให้ชัดเจน มีแต่ตัวจำเลยคนเดียวเบิกความลอย ๆ ส่วนบรรดาหลอดไฟที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยกมาวินิจฉัยก็ไม่มีการนำสืบให้เชื่อได้ว่าขณะเกิดเหตุได้เปิดอยู่ทุกดวงหรือไม่ และระยะทางของดวงไฟอยู่ห่างที่เกิดเหตุในลักษณะจะให้แสงสว่างได้ขนาดนั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 คาดหมายเอาเท่านั้น อีกทั้งขัดแย้งกับความสมด้วยเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฟังขึ้น
            เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเหตุที่นายคำมูลขับรถยนต์บรรทุกหกล้อพุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์บรรทุกพ่วงคันที่จำเลยขับ ซึ่งจอดอยู่ริมถนนมิตรภาพจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัส และได้รับอันตรายแก่กาย เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวังของจำเลยที่ไม่เปิดไฟหรือใช้แสงสว่างของรถให้นายคำมูลซึ่งขับรถยนต์บรรทุกหกล้อมาทางด้านหลังสามารถมองเห็นรถยนต์บรรทุกพ่วงคันที่จำเลยจอดไว้ในระยะห่างเพียงพอที่นายคำมูลจะหยุดรถหรือหลบหลีกไปได้ การที่นายคำมูลขับรถยนต์บรรทุกหกล้อชนท้ายรถยนต์บรรทุกพ่วงดังกล่าวจึงเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น หาใช่ผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการขับรถของจำเลยไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
          พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ให้ยกฟ้องสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157.


ถึงจะค่อนข้างยาวไปสักหน่อย แต่เราน่าจะได้ผลสรุปกันแล้วนะครับว่าจอดรถข้างทางในเวลากลางคืนเนี่ย ต้องเปิดไฟให้สัญญาณด้วย แม้ว่าจะเป็นการจอดบนไหล่ทางก็ตาม ไม่เช่นนั้นแล้วจะถือเป็นการงดเว้นการกระทำที่จะต้องทำเพื่อป้องกันผลร้ายที่จะเกิดขึ้น กลายเป็นว่าเราก็เป็นฝ่ายที่มีส่วนประมาทด้วย หรือที่เรียกว่าประมาทร่วมนั่นเอง

ใช้ถนนร่วมกันด้วยน้ำใจ ปฏิบัติตามกฎจราจร เราจะเดินทางปลอดภัยกันทุกคน

สวัสดีครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่