“ฟาวน์เทน ทรี”โรงแรมนี้ “หัวใจสีเขียว”

ธุรกิจ : BizWeek
วันที่ 9 พฤษภาคม 2556 01:00
โดย : จีราวัฒน์ คงแก้ว
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




ฟาวน์เทน ทรี รีสอร์ท โรงแรมสีเขียวในโครงการ TBLพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

สำหรับ“ฟาวน์เทน ทรี”ไม่เพียงต้นไม้และความร่มรื่นในรีสอร์ทที่ตอบโจทย์ความ Green ทว่าแม้แต่“หัวใจ”ของพวกเขาก็เปี่ยมล้นความรักในสิ่งแวดล้อม

บนพื้นที่นับ 400 ไร่ ใน อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เป็นที่ตั้งของ “ฟาวน์เทน ทรี รีสอร์ท” โรงแรมแห่งกิจกรรมแนวแอดเวนเจอร์ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว “ขาลุย” ให้มาเยี่ยมเยือน ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

ใครจะคิดว่าเมื่อ 20-30 ปีก่อน ผืนดินเดียวกันนี้ เคยเป็นที่เลี้ยงวัวนมนับ 400 ตัว ควบคู่ไปกับการทำสวนผลไม้ ทว่าในวันนี้ ฟาร์มวัวนมปิดกิจการ ด้วยเหตุผลที่คนก่อตั้งอย่าง “ชัชชัย สวธนไพบูลย์” ในวัยกว่า 70 ปี บอกเราว่า...ฃ

"เลี้ยงวัวก็มีกำไร แต่วัวจะเหยียบต้นไม้ตายหมด ต้นไม้ไม่เกิด ปลูกอะไรก็ไม่ได้ เลยตัดสินใจขายวัวทิ้ง”

นั่นคือเหตุผลที่คนรักต้นไม้ และชอบเห็นความชุ่มชื่นของผืนดิน ตัดสินใจแบ่งพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ มาทำรีสอร์ท เมื่อปี พ.ศ. 2538 ..รีสอร์ทเล็กๆ แต่ห้อมล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ ที่เขาค่อยๆ ปลูกขึ้นมาด้วยสองมือ แม้แต่ในวันนี้ ยังมีแปลงต้นไม้หายากสารพัด ที่ค่อยๆ งอกงามขึ้นบนพื้นดิน ฟาวน์เทน ทรี

รีสอร์ทประจำอำเภอ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปีวิกฤติ 2540 นี่อาจไม่ใช่สถานการณ์ที่ดีนักสำหรับคนทำธุรกิจ แต่กับคนที่ไม่ได้เอาธุรกิจเป็นตัวตั้ง พวกเขายังคงเดินหน้าอุดมการณ์ ทำรีสอร์ท ราคาไม่แพง เน้นลูกค้าคนไทย เที่ยวได้สบายกระเป๋า ..เขาว่า เอาแค่โรงแรมระดับ 1-2 ดาว ก็พอแล้ว

“เราเน้นกลุ่มล่างๆ ก็เหมือนกับฐานเจดีย์นั่นแหล่ะ กลุ่มบนคือ ลูกค้าไฮโซ หรูหรา ซึ่งอาจได้เงินเยอะก็จริง แต่นานๆ มาที แต่กับลูกค้ากลุ่มล่าง เขาจ่ายน้อย แต่ก็มาบ่อยๆ ทำให้เรามีลูกค้าต่อเนื่อง..คิดแค่ว่า เขาอยู่ได้ เราก็อยู่ได้”

เขาสะท้อนความคิดที่ก่อเกิดเป็นบริการแบบ “ฟาวน์เทน ทรี” ที่ผู้ก่อตั้งบอกเราว่า สบายๆ ไม่จุกจิก ห้องพักอยู่ได้ถึง 4 คน ไม่คิดค่าเตียงเสริม บริการเพิ่ม ไม่พอใจยินดีคืนเงิน ไม่ต้องกลัวเบื่อเพราะกิจกรรมมีให้ทำเพียบ เสียงดังได้ สนุกกันเต็มเหนี่ยว ยิ่งมาเป็นกลุ่ม เป็นแกงค์ เป็นองค์กร ก็มันสุดเหวี่ยงได้เต็มที่

“นี่เป็นนโยบายที่เราทำมาตั้งแต่แรก การทำธุรกิจเงินมันไม่ใช่สิ่งสำคัญหรอก แต่สิ่งสำคัญคือ “ลูกค้า” เขาอยู่ได้ เราอยู่ได้ แล้วโรงแรมอื่นๆ ก็อยู่ได้ด้วย อย่าไปแย่งแขกเขามามาก แบ่งๆ กันไป ได้ประโยชน์ทุกคน” เขาสะท้อนความคิด

ในวันที่ธุรกิจเริ่มเติบโต จากกระแสปากต่อปาก ทายาทเริ่มเข้ามาดูแลกิจการ หลายสิ่งพัฒนาขึ้น ลูกค้าเพิ่มจำนวนขึ้น รายได้เท่าทวี ทว่าสิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหายไปจากดีเอ็นเอ คน ฟาวน์เทน ทรี นั่นคือ หัวใจรักษ์สิ่งแวดล้อม

“เชิงชาย สวธนไพบูลย์” ลูกชายคนโต ที่วันนี้นั่งเป็น กรรมการผู้จัดการ ฟาวน์เทน ทรี รีสอร์ท บอกกับเราถึงการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมแบบ ฟาวน์เทน ทรี กิจกรรมมากมายเริ่มต้นขึ้น แบบลองผิดลองถูก อย่างการเลี้ยงหมูเพื่อช่วยกำจัดขยะเศษอาหาร การคัดแยกขยะในโรงแรม ลดการใช้พลาสติก จนเมื่อมีโอกาสเป็น 1 ใน 160 โรงแรมขนาดเล็ก ร่วมโครงการ Triple Bottom Line (TBL) หรือ โครงการ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ของ มูลนิธิซิตี้ และ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย การทำงานเพื่อโลกจึงชัดเจนขึ้น ที่สำคัญสามารถสร้างความสมดุลได้ทั้ง สิ่งแวดล้อม สังคม และแม้แต่ผลกำไรในธุรกิจ

เขายกตัวอย่างกิจกรรม อย่าง การเลี้ยงไส้เดือน เพื่อกำจัดขยะในโรงแรม ทำโครงการธนาคารขยะ เผาถ่าน ปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ สารพัดกิจกรรมที่ไม่เพียงลดขยะ ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ทว่ายังเป็นการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ ขณะที่บางส่วนสามารถนำมาขายสร้างรายได้ให้กับพวกเขาได้อีกทางด้วย

“เรามีการปลูกพืชสมุนไพร และพืชผักสวนครัว เพื่อใช้ในโรงแรม นำสมุนไพรที่ปลูกมาทำเป็น สบู่ แชมพู ไร้สารเคมี ให้ลูกค้าใช้ ขณะที่ขยะเหลือทิ้งก็มาทำน้ำหมักชีวภาพ ทำเป็นพวกน้ำยาทำความสะอาด รวมถึงลดการใช้ขวดพลาสติก ซึ่งเหล่านี้สามารถทดแทนการจัดซื้อได้เยอะมาก นับเป็นเงินหลายแสนบาทต่อปี” ตัวอย่างของวิถีกรีนที่ตีกลับมาเป็นเงินได้อย่างเยี่ยมยุทธ์

การทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในองค์กร ให้ประสบความสำเร็จ ไม่ได้เกิดจากสองมือของ “ผู้นำ” ทว่าต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของ “พนักงาน”

เขาบอกว่าหัวใจสำคัญคือ พนักงานต้องมีส่วนร่วมในทุกมิติ และทุกกิจกรรม โดยที่ผู้นำต้องให้การสนับสนุนและคำแนะนำ เขายกตัวอย่างศูนย์การเรียนรู้ ที่จัดเป็นฐานต่างๆ ให้กับผู้มาเยี่ยมชม ก็ล้วนเกิดจากความคิดและพลังของพนักงานทั้งนั้น และไม่ได้มาจากการบีบบังคับให้ทำ หรือกดดันให้สร้างผลงาน แต่พวกเขาบอกว่า ต้องเริ่มจากทำให้พนักงานเข้าใจเสียก่อน ว่าการทำเรื่องเหล่านี้จะส่งผลอย่างไรกับพวกเขา และเมื่อกิจการลดต้นทุนลง มีรายได้มากขึ้น ก็ต้องคืนกลับมาเป็นผลประโยชน์แก่พนักงานด้วย

การเปลี่ยนแปลงที่มาจากความร่วมแรงร่วมใจ ไม่ได้สร้างผลดีให้กับพวกเขาเท่านั้น ทว่ายังรวมถึงชุมชนรอบข้าง ทายาทฟาวน์เทน ทรี บอกเราว่า ที่ผ่านมา ฟาวน์เทน ทรี มีการแบ่งงบประมาณมาทำงานช่วยเหลือชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทว่าด้วยเม็ดเงินที่จำกัด ทำให้ยังทำอะไรไม่ได้มากเท่าที่ควร แต่เมื่อมาทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและประสบผลสำเร็จ จนมีเงินเหลือมากขึ้น ก็ตอบแทนสู่สังคมได้มากขึ้น

โจทย์เดียวกัน คือการทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม แต่สามารถตอบความสมดุลได้ทั้ง 3 มิติ คือ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ธุรกิจจึงยั่งยืนได้

“เมื่อรีสอร์ท ดีขึ้น เราก็แฮปปี้ พนักงานได้ผลตอบแทนกลับคืนไป ก็แฮปปี้ ลูกค้าเข้ามามีประสบการณ์ที่ดีร่วมกัน ก็แฮปปี้อีก กลายเป็นว่า ทุกคนแฮปปี้หมด” เขาสรุป

มาดูมุมมองขององค์กรสนับสนุนอย่าง มูลนิธิซิตี้ “มร. ดาเรน บัคลีย์” ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ บอกเราว่า ไม่ว่าองค์กรขนาดเล็กหรือใหญ่ ก็มีส่วนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยกันทั้งนั้น นั่นคือเหตุผลที่ กลุ่มซิตี้ซึ่งมีธุรกิจอยู่ทั่วโลก มุ่งมั่นมาทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อม อย่างการตั้งเป้าใช้งบประมาณถึง 5 หมื่นล้านเหรียญ ในเวลา 10 ปี เพื่อทำกิจกรรมที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ

เขาแสดงความเห็นว่า การทำซีเอสอาร์ให้ยั่งยืน ไม่ได้เกี่ยวกับขนาดของธุรกิจ แต่ปัจจัยสำคัญ คือ การมีส่วนร่วมของพนักงาน ขณะที่ทุกบริษัท คงไม่สามารถทำเพื่อสังคมได้ในทุกเรื่อง จึงขึ้นอยู่กับความสนใจ และพื้นฐานขององค์กร หรือแนวคิดของพนักงาน อะไรที่ทุกคนจะมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่ แล้วก็เชื่อในสิ่งนั้น และมุ่งมั่นไปในทิศทางเดียวกัน

“การทำซีเอสอาร์ ต้องมาจากความ “จริงใจ” ไม่ใช่ทำเพื่อสร้างภาพ หรือประชาสัมพันธ์ ต้องมาจากความตั้งใจจริง ความสนใจ และ Passion สำหรับผมการทำกิจกรรมเพื่อสังคมไม่ใช่ “การกุศล” ไม่ใช่การให้เงินบริจาค แต่คือการไปมีส่วนร่วม ศึกษาความต้องการของชุมชนจริงๆ จึงจะเกิดเป็นกิจกรรมที่มีความหมาย และตอบโจทย์ชุมชนได้” เขาบอก

คิดใหม่..เพื่อให้ภารกิจเพื่อสังคม สามารถสร้างความสมดุลได้ทั้งมิติ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่