"กลางใจราษฎร์" หนังสือที่คนไทยทุกคนควรอ่าน ทุกบ้านควรมี

ข่าวจาก http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9560000046853

"กลางใจราษฎร์" ภารกิจใหญ่ที่ภาคภูมิใจของ ตรัสวิน จิตติเดชารักษ์



เมื่อปรากฏการณ์หนังสือเล่มหนา King Bhumibol Adulyadej: A Life's Work เนื้อหาภาษาอังกฤษ ผลงานของนักเขียนต่างชาติที่นำเสนอเรื่องราวพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ วางแผงได้เพียงปีเศษก็ได้รับความสนใจจากนักอ่านทั่วโลกอย่างกว้างขวาง
       
       ...แน่นอนว่าเรื่องราวของพระมหากษัตริย์ไทยที่ถ่ายทอดผ่านสายตาฝรั่ง ย่อมไม่ใช่พระราชประวัติหรือพระราชกรณียกิจในมุมมองที่คนไทยคุ้นเคยเป็นแน่ เสียงเรียกร้องให้มีการแปลเป็นภาษาไทยมากมาย เอเซียบุคส์ จึงตัดสินใจซื้อลิขสิทธิ์แปลเป็นภาษาไทยให้คนไทยได้อ่าน โดยมอบหมายให้ นักเขียนสาวใหญ่ ตรัสวิน จิตติเดชารักษ์ มารับผิดชอบดูแลหนังสือประวัติศาสตร์เล่มนี้ ที่ใช้ชื่อภาษาไทยว่า “กลางใจราษฎร์”
  ตรัสวิน จิตติเดชารักษ์ บรรณาธิการการหนังสือ “กลางใจราษฏร์” เป็นทั้งนักเขียนและประธานบริหาร สำนักพิมพ์ ซิลค์เวอร์ม บุคส์ ที่คุ้นเคยกับเรื่องพระมหากษัตริย์ไทยในอดีตเป็นอย่างดี อีกทั้งยังเคยเขียนหนังสือเรื่องเจ้านายเล็กๆ - ยุวกษัตริย์ เล่าว่าได้รับการติดต่อจากสำนักพิมพ์เอเชียบุ๊คก็รู้สึกภาคภูมิใจ ตื่นเต้น และรู้สึกประม่า แต่ด้วยความท้าทายของเนื้อหาหลายๆอย่างทำให้เธอตัดสินใจรับปากดำเนินการทันที
       ด้วยความที่หนังสือเล่มนี้เขียนโดยนักเขียนต่างชาติชื่อดังที่คุ้นเคยกับเมืองไทยหลายคน อาทิ ดร.คริส เบเกอร์ อาจารย์ประวัติศาสตร์เอเชีย มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และเป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยหลายเล่ม, เดวิด สเตร็คฟัสส์ ผู้เขียน Truth on Trial in Thailand รวมถึงนักหนังสือพิมพ์ชาวต่างประเทศ ได้แก่ จูเลียน เกียริ่ง อดีตผู้สื่อข่าวประจำกรุงเทพฯ ของนิตยสารเอเชียวีค เนื้อหาภายใน King Bhumibol Adulyadej: A Life's Work เป็นภาษาอังกฤษ แบ่งเป็น 3 ภาค ภาคแรกเป็นพระราชประวัติ ภาค 2 พระราชกรณียกิจ และภาค 3 เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์

ความท้าทายของ King Bhumibol Adulyadej: A Life's Work อยู่ที่หนังสือเล่มใหญ่หนา 384 หน้า บางคนเห็นรูปเล่มก็ตัดสินแล้วว่าต้องน่าเบื่อ เพราะเรื่องเกี่ยวกับในหลวงได้รับการถ่ายทอดลงบนหน้ากระดาษ และจอโทรทัศน์นับครั้งไม่ถ้วน แต่ละครั้งก็แทบจะซ้ำเดิม
       
       ตรัสวิน จึงตั้งโจทย์ ต้องทำให้ King Bhumibol Adulyadej: A Life's Work ภาคภาษาไทยกลายเป็นหนังสือที่อ่านสนุก อ่านแล้วไม่อยากวาง อยากให้รู้สึกเหมือนได้อยู่ใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เธอจึงต้องวางแผนทั้งในเรื่องการแปล และคัดนักแปลมืออาชีพเพื่อมาร้อยเรียงเนื้อหาเป็นภาษาไทยให้งดงาม น่าอ่าน
       
       “ ดิฉันเลือก “มนันยา” มาแปลในภาคแรก เพราะเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงในเรื่องของการใช้สำนวนสนุก ทั้งเรื่องแปลและนวนิยายที่เขียนเองด้วย อีกอย่างคือด้วยวัยที่เหมาะสม สามารถเขียนจากมุมมองของตัวเองได้ พอติดต่อไปเธอก็ยินดี เราก็สบายใจ ส่วนภาค 2-3 ให้คุณพรรษพร ชโลธร นักเขียน นักแปลอิสระมาช่วยแปลเพราะเป็นเรื่องของพระราชกรณียกิจตลอดหกทศวรรษของพระองค์ท่าน 2 ภาคหลังนี่หนักมาก เพราะเริ่มเนื้อหาเป็นวิชาการคือฝรั่งเขาเขียนดีแล้ว ข้อมูลชัดเจนแต่พอมาแปลเป็นภาษาไทยก็ต้องระมัดระวังเพราะมีคำราชาศัพท์เข้ามาเกี่ยวข้อง พวกเราต้องละเอียดมากเป็นพิเศษ”
ตลอดเวลาเกือบจะ 1 ปีเต็ม เธอและทีมงานทุ่มเทให้กับหนังสือเล่มนี้อย่างเต็มที่และเต็มใจ เมื่อได้แม้จะกังวลแต่ก็สนุกและศรัทธาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมากขึ้น
       
       “บางเรื่องนี่เราคนไทยแท้ๆไม่เคยรู้ ก็เพิ่งได้รู้ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตรักของพระองค์ท่านเมื่อครั้งพบกัน อ่านแล้วเรารู้สึกน่ารักประทับใจ เหมือนนวนิยายที่ถูกแต่งขึ้น พอมาถึงภาค 2 พระราชกรณียกิจของพระองค์ท่าน จากภาพที่ท่านเสด็จเยี่ยมราษฏร์หลายจังหวัดก็มากมายแล้ว เรียกว่าถ้าเป็นคนกรุงเทพฯคงน้อยใจ(หัวเราะ) ถ้าได้อ่านภาคสองนี่จะรู้ว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่จริงๆ มีหลายเรื่องที่เราไม่เคยรู้ แต่ฝรั่งเขาศึกษาค้นคว้าจนรู้ว่าท่านรักประชาชนจริงๆ มีเรื่องหนึ่งที่ดิฉันอ่านแล้วประทับใจมากคือ เมื่อครั้งเสด็จไปให้กำลังใจหมอที่รักษาผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ต่างจังหวัด ใครจะเชื่อว่าท่านจะยื่นพระหัตถ์ไปสัมผัสมือผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อนอย่างไม่รังเกียจ”

ตรัสวินยังบอกอีกว่า แม้การทำงานทุกอย่างจะราบรื่น อิ่มใจที่ได้ทำงานชิ้นพิเศษ แต่แรงกดดันในตัวเองก็มีมากเช่นกัน ยิ่งเมื่อต้นฉบับถูกส่งเข้าโรงพิมพ์แล้วยิ่งกังวล “นอนไม่ได้เลย ทรมานมากคือเอามาอ่านซ้ำเจอประโยคหนึ่ง ก็เก็บมาคิดกังวลว่าถูกต้องหรือไม่ ใช้ได้หรือเปล่า เหมาะสมหรือไม่ ต้องอดทนรอถึงเช้าก็ตัดสินใจโทรบอกโรงพิมพ์ที่สิงคโปร์ ขอแก้อีกนิดปรับปรุงอีกหน่อยเป็นแบบนี้หลายวันจนทุกอย่างโอเค คือถ้าเป็นโรงพิมพ์ในไทยคงโดนด่าแล้ว”
       
       เมื่อถามถึงชื่อเรื่อง เธอบอกว่าเลือกใช้ชื่อ “กลางใจราษฎร์” เพราะหากได้อ่านหนังสือที่ฝรั่งเขียนจะพบว่ารักและศรัทธาที่ประชาชนมีให้ในหลวงของเราไม่ใช่เพียงแค่พสกนิกรชาวไทยเท่านั้น หากแต่พระองค์ท่านยังเป็นพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในใจของฝรั่งอีกด้วย

    ก่อนจากกัน ตรัสวิน หยิบยกบทแปลตอนหนึ่งให้เราได้อ่าน คอลัมน์ Interview สัปดาห์นี้จึงขอเป็นสื่อส่งต่อให้ผู้อ่านถือเป็นการปิดท้าย เพราะเพียงแค่ปฐมบท "เรื่องรักของเจ้าฟ้า ไม่ใช่เทพนิยาย" ซึ่งเป็นบทหนึ่งในหนังสือ “กลางใจราษฎร์” ที่ได้รับการแปลจาก A Life's Work ก็ทำให้รู้สึกอยากอ่านเรื่องราวของพ่อหลวงขึ้นมาจับใจ ....เชื่อว่าหากใครได้อ่านแล้วคงมีความรู้สึกเช่นนี้จริงๆ

     หมายเหตุ : ความตอนหนึ่งจาก "เรื่องรักของเจ้าฟ้า ไม่ใช่เทพนิยาย" ปฐมบท หนังสือ “กลางใจราษฎร์” ที่ได้รับการแปลจาก A Life's Work
       
       “ การลืมตาขึ้นดูโลกของทารกน้อยบุตรมิสเตอร์ มหิดล สงขลานั้นดูธรรมดาเรียบง่าย ไม่บ่งบอกเลยว่าเจ็ดรอบนักษัตรหรือ 84 ปี ต่อจากนั้นจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่ง .... ทารกเพศชายผู้นี้เกิดที่เคมบริดจ์ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับเมืองบอสตัน โดยมีแม่น้ำชาร์ลส์คั่น เวลาเกิดคือ 8.45 น. ของวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2470 ( 1927 ) น้ำหนักตัวของทารกเป็นที่น่าพอใจคือ 6 ปอนด์ (ประมาณ 2,722 กรัม) เด็กเป็นน้องสุดท้อง มีพี่สาวอายุ 4 ขวบ ชื่อกัลยาณิวัฒนา และพี่ชายอายุ 2 ขวบ ชื่ออานันทมหิดล ”
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่