~o~o~O..รสก..O~o~o~ ..... " ชีวิต ความคิด และนวนิยาย " ...... ~o~o~O..รสก..O~o~o~

กระทู้สนทนา

ทว่าในทางปฏิบัติ ผู้ที่เห็นว่าควรตามก้นอเมริกามากกว่าตามก้นคอมมิวนิสต์นั้น มีมากกว่า
โดยเฉพาะมีอำนาจในทางปฏิบัติเป็นสำคัญ



อเมริกาจึงได้ตั้งฐานทัพดังกล่าว ใครจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วยไม่รู้ล่ะ  ทว่า อเมริกาเข้ามาคราวนั้น ขนเงินทองเข้ามาทุ่มเทใช้จ่าย
ในเมืองไทยมากมาย เวลานั้น อเมริกากำลังรวย ทหารของเขาอยู่ที่ไหน เขาก็ขนเครื่องอุปโภคบริโภคตามมาประเคน จนกินไม่
หมด ใช้ไม่หมด ต้องนำเอาออกมาจำหน่ายกันอย่างเปิดเผย

สถานที่จำหน่ายของกินของใช้ (เหลือ) ของทหารอเมริกาเวลานั้นอยู่ที่บ้านฉาง  ผู้ชายไทยหิ้วกระเป๋าเจมส์บอนด์กันเกร่อ ซื้อจาก
บ้านฉาง ก็ไม่รู้ว่าทำไมทหารอเมริกัน เขาถึงต้องหิ้วกระเป๋าเจมส์บอนด์กันด้วย ทางการจึงได้ตามใจส่งมาให้เป็นพันๆ

ก่อนนี้คนไทยยังไม่รู้จักแก้วทนไฟ ที่เข้าเตาอบได้ มารู้จักกันที่บ้านฉางนี้แหละ มีขายเป็นชุดเป็นเถา  ว่าส่งให้ครอบครัวทหารที่มา
มีบ้านพักประจำการอยู่ในฐานทัพ ตลาดบ้านฉางมีของใช้ของกินเมคอิน ยู.เอส.เอ แทบทุกชนิด เรียกกันว่าสินค้าพี.เอ๊กซ์. ( P. X.)
มาจากคำว่าอะไรไม่ทราบ

สินค้า พี.เอ๊กซ์. ที่ส่งมาเป็นตู้ๆ รถคันมหึมานั้น วันไม่ดีคืนไม่ดี ว่ากันว่า หายไปเป็นคันๆ รถ คือคนขับขับรถไม่ถึงจุดหมาย หลงเข้า
ป่าเข้าดง หายจ้อยไปเลย

             ช่วงระยะเวลานี้ เกิดคำ " ฮิต " ขึ้นมาคำหนึ่ง คือ " อนุ " หดมาจากคำว่า "อนุภรรยา" มักเรียกสั้นๆ ว่า อนุ เท่านั้นเป็นที่รู้กัน
คำนี้เกิดจากหัวหน้าคณะรัฐบาลในช่วงเวลานั้น ท่านมีภรรยาหลายคน นอกไปจากท่านผู้หญิง


                                                                                  ส่วนหนึ่งจาก อัตสารัตถคดี ตอนที่ ๗๕ นิตยสารสกุลไทย
                                                                                                     หม่อมหลวง ศรีฟ้า มหาวรรณ

หม่อมหลวงศรีฟ้า (ลดาวัลย์) มหาวรรณ ท่านเกิดมาในช่วงเปลี่ยนแปลงการปกครอง ( วันที่ ๒๖ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๗๓ ที่วัง
มหาสวัสดิ์ เป็นธิดาของหม่อมราชวงศ์สนั่น ลดาวัลย์ กับนางบัวจันทร์ ลดาวัลย์ ณ อยุธยา ท่านมีน้องสาวเป็นนักเขียนนวนิยายที่มีชื่อ
เสียงอีกท่านคือ  "ข.อักขราพันธ์"  เป็นผู้เขียนนวนิยายเรื่อง "ภาพอาถรรพณ์", "ดาวพระศุกร์" และ "ดอกโศก" )

ท่านได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า วี่แววการเป็นนักเขียนของท่าน เริ่มจากการเป็นนักอ่าน โดยได้รับอิทธิพลมาจากคุณย่าของท่าน ที่มักจะ
ให้ท่านอ่านหนังสือให้ฟัง กอรปทั้งคุณย่ามีห้องสมุดอยู่ในเรือน  เรื่องที่อ่านจะเป็นเรื่อง พระราชนิพนธ์ประพาสไทรโยค จดหมายเหตุ
เงาะป่า ขุนช้างขุนแผน อิเหนา ท่านคุ้นเคยกับหนังสือเหล่านี้อย่างดี  ส่วนเรื่องการเขียนนั้น ก็เข้าใจว่า คงเกิดจากความชอบส่วนตัว
                                      
ครั้งแรกที่เริ่มเขียน เป็นเรื่องสั้น ตอนประมาณอายุ ๑๖ ปี ได้รับเลือกลงในหนังสือพิมพ์ไทยใหม่วันจันทร์ ในครั้งนั้น แม้ไม่ได้รับค่าเรื่อง
แต่สิ่งที่ได้รับกลับมา คือความชื่นใจ

    " เป็นการเริ่มต้นที่ชื่นใจ ดิฉันซื้อหนังสือพิมพ์ไทยใหม่วันจันทร์ แจกเพื่อนๆ ตอนนั้น ใช้นามปากกาว่า ภัฏฏินวดี
       ภัฏฏิน มาจาก บทพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ ส่วนคำว่า วดี ดิฉันเติมลงไปเองค่ะ "

นักอ่านที่ติดตามงานเขียนของท่าน จะทราบกันดีว่า นามปากกาที่ใช้ จะใช้ในแนวเขียนที่แตกต่างกันออกไป  

"จุลลดา ภักดีภูมินทร์ " ใช้เขียนนวนิยายชีวิตครอบครัว เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กๆ วัยเยาว์  เป็นนามปากกาที่ใช้เขียนเรื่องปราสาทมืด ที่ท่าน
เริ่มเขียนตั้งแต่สมัยยังเรียนเตรียมวิทยาศาสตร์ปีที่ ๑ ท่านเล่าว่า ในสมัยนั้นเป็นช่วงของแนวโรแมนติค อย่างเรื่อง เจนเมอร์ รีเบกก้า
ทำให้เกิดอิทธิพลต่อนักเขียนผู้หญิงเป็นอย่างมาก ท่านก็หนึ่งในจำนวนนั้น แต่มีจุดหนึ่งที่เป็นตัวของตัวเอง คือ เรื่องปราสาทมืด มีเรื่อง
การล้มละลายของระบบศักดินาในตอนเริ่มเรื่อง นางเอกในเรื่องเธอเป็นเจ้า


ในระยะหลังได้ใช้นามปากกา "จุลลดา ภักดีภูมินทร์ " นี้ นำมาใช้เขียนสารคดีเกี่ยวกับชีวิตของเชื้อพระวงศ์ในวัง
ตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย คอลัมม์ เลาะวัง และเวียงวัง
นวนิยายชีวิตครอบครัว เช่นเรื่อง "ขมิ้นกับปูน" "เรือนแรม" "บ่วง"  " ริษยา" "แม่ม่าย"
เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กๆ เช่น "เพื่อนรัก"  "อรุณสวัสดิ์" เป็นต้น

"สีฟ้า" เป็นนามปากกาที่สร้างชื่อเสียง มีผลงานได้รับรางวัล แนวเรื่องนวนิยายสะท้อนสังคม เช่น "ข้าวนอกนา"  " กิ่งไผ่"
          "หลง" "แผ่นดินนี้ยังรื่นรมย์"  "ใต้ฟ้าสีคราม" "โอ้มาดา" "พิกุลแกมเกดแก้ว"

"ศรีฟ้า ลดาวัลย์" เป็นนามปากกาที่ใช้ เขียนเรื่องสั้น และนวนิยาย "บุญบรรพ์" "กนกลายโบตั๋น" "คนกลางเมือง" "ชลาลัย"
                        "ครอบ(บ้าน) ครัว(เดียว)" "เศรษฐินี "    

ผลงานเขียนของท่านได้รับความนิยมจากนักอ่าน และผู้ประกอบการภาพยนต์และโทรทัศน์ โดยเฉพาะเรื่องข้าวนอกนา และ ใต้ฟ้าสีคราม
ได้รับการแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นโดยมูลนิธิโตโยต้า พร้อมถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนต์ด้วย

"ดิฉันคิดว่า คนอ่านในสมัยก่อนกับในสมัยนี้ไม่เหมือนกันนะ เมื่อก่อนคนอ่านจะตั้งใจติดตาม เดี๋ยวนี้สื่ออื่นมาแย่งไปคือโทรทัศน์  แต่ดิฉัน
มีข้อคิดอย่างหนึ่งคือ โทรทัศน์มองดูด้วยตาแล้วก็ผ่านไป ส่วนหนังสือซึมเข้าไป ได้มากกว่า"

ม.ล. ศรีฟ้า เกิดและเติบโตมาในช่วงระยะเวลาการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดังนั้นผลงานหลายชิ้นจึงได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม
โดยตรง นวนิยายหลายเรื่องมักเกี่ยวข้องกับการเมือง

"ดิฉันคิดว่า ปัจจุบันการเมืองเป็นปัจจัยหนึ่งในชีวิตคนที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตย เมื่อก่อนอาจไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องการปกครอง
บางคนบอกว่า นักเขียนไม่ควรเขียนเรื่องเกี่ยวกับการเมือง เพราะการเมืองเป็นสิ่งไม่แน่นอน แต่ดิฉันคิดว่า อะไรๆ ก็ไม่แน่นอนทั้งนั้น
ทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เรื่องการเมืองที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตคนและสังคม มีเรื่องน่าเขียนอยู่มาก แต่ที่ดิฉันเขียนให้
ชาวบ้านอ่าน เป็นการเมืองในสายตาของชาวบ้านที่สนใจเรื่องการเมือง ไม่ได้เขียนลึกซึ้งถึงขนาด ขุดตื้นลึกหนาบาง
หรือเชียร์คนใดกลุ่มใด"

ท่านบอกไว้ว่า การเขียนเรื่องการเมือง ถ้าเขียนเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จะเขียนได้ง่าย แต่หากเขียนแนวเป็นกลาง เขียนได้ยาก
เพราะเป็นการนำตัวละครทั้งสองฝ่ายมาถกเถียงกัน มีปัญหาที่ขัดแย้งกัน ผู้เขียนไม่ชี้ชัดว่า ฝ่ายไหนถูกหรือผิด

"ดิฉันรักเรื่อง พิกุลแกมเกดแก้ว เป็นนวนิยายที่แสดงความขัดแย้งของตัวละคร ซึ่งดิฉันจะไม่เข้าข้างฝ่ายใด ทุกฝ่ายมีเหตุผล
ของเขา มีทั้งผิดทั้งถูก"







รางวัลแห่งความที่ท่านได้รับจากการทำงานมากกว่า ๕๐ ปี คือได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินแห่งชาติ ในสาขาวรรณศิลป์ ประจำปี
พ.ศ. 2539 ท่านกล่าวว่า เป็นรางวัลสูงสุดในชีวิตของนักเขียน หนทางเส้นนี้ไม่ได้ราบเรียบอย่างที่ใครๆ คิด หากขรุขระบ้างเป็นบางครั้ง
แต่ท่านก็มิได้เคยท้อ เพราะมีใจรักในการเขียน

"ความจริงแล้วคิดจะพักงานเขียนตั้งแต่ อายุ ๖๐ แล้ว เพราะอายุมากขึ้น ๆ แล้วรู้ว่าไฟมอดลงด้วย พักสักทีคงดี แต่ในช่วงที่สามีเสียชีวิต
เกิดการผันแปรบางอย่าง เพราะรู้สึกว่า ไม่มีอะไรยึดเหนี่ยวแล้ว ก็ต้องยึดเหนี่ยวงาน กลับมาเขียนใหม่ ตอนนี้ตั้งใจจะเขียนไปเรื่อยๆ คิดว่า
อายุสัก ๗๐ ปี คงหมดกำลังจริงๆ "

หม่อมหลวงศรีฟ้า (ลดาวัลย์) มหาวรรณ ถึงแก่กรรมเมื่อเวลา 17.45 น. ของวันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2556 ด้วยอาการเส้นเลือด
ในสมองตีบ  ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า สิริอายุได้ 83 ปี 2 เดือน 21 วัน

น้อมอาลัย บรมครูวรรณศิลป์   หม่อมหลวงศรีฟ้า (ลดาวัลย์) มหาวรรณ

คว้างคว้างใบไม้ปลิว             ละลิ่วหล่นลงสู่ดิน
เอื่อยเอื่อยธารไหลริน           มิรู้สิ้น ณ แห่งใด
เปรียบดังชีวิตนี้                  มิมีที่จะพักใจ
อ้างว้างร้างฤทัย                     จวบชีพดับลงลับสูญ  





  


ขอขอบคุณ ข้อความบทสัมภาษณ์จากสมาชิกพันทิป นามแฝง คุณหญิงอบเชย ที่กรุณานำมาลงไว้ในกระทู้
ห้องเฉลิมไทย
คัดลอกบางส่วนจากบทประพันธ์อัตสารัตถคดี นิตยสารสกุลไทย
ขอบคุณเพลงร่มฉัตร จากคุณChotipunyo52
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่