ปรึกษาค่ะ หนูควรจะเรียนตรีใหม่หรือต่อโทดี ในเยอรมัน

เล่าประวัติคร่าวๆเพื่อช่วยในการตัดสินใจแล้วกันนะคะ
หนูจบนิติ มาจากจุฬาฯค่ะ ได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งด้วย แต่ก็ไม่เกินเกณฑ์มากหรอกนะคะ 3.66 ประมาณนั้น
แน่นอนค่ะ ที่เรียนๆมานั้น พูดเลย ไม่ชอบค่ะ (ชอบแค่ช่วงปีสูงๆ บางวิชาที่มันไม่เกี่ยวกับกฎหมายอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องเรียนศาสตร์อื่นด้วยเพื่อให้เข้าใจกฎหมาย เช่น รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ แล้วมันไม่ต้องมานั่งจำตัวบทกฎหมาย หรือแนวทางการพิพากษาอะไรวุ่นวายเยอะแยะไปหมดด้วย) แต่กระนั้นก็ขวยขวายเรียนมาได้จบจบด้วยเกียรนิยม เพราะไหนๆก็เรียนแล้วก็ทำเอาให้มันดีๆล่ะกัน (แต่ก็ดีได้เท่านี้แหละค่ะ เพลีย) เรียนมาสี่ปี ผมหงอกหลายเส้นเลยค่ะ (กรึ๊ดด) เครียดมากๆ ทุกครั้งก่อนสอบจะเกือบเหมือนคนบ้า ดิฉันสัมผัสได้ ขนลุกตลอด ห้าๆ (แต่หนูว่าก็คงเป็นปกติของทุกคณะอะนะ)

หลังเรียนจบได้มาอยู่ประเทศเยอรมันค่ะ พอได้มาอยู่เยอรมันแล้วมันทำให้ให้คิดนู่นนี่นั่นต่างไปจากสังคมไทยโดยสิ้นเชิงเลย ก่อนมาที่นี่ตอนแรกก็คิดว่าคงมาเรียนต่อด้วย เพราะตามกระแสสังคมค่ะ ในสังคมที่หนูอยู่มันแรงมาก คนส่วนมากก็ทำตามๆกันไป จะเรียนต่อกลับมาสวยๆหรือเรียนเนติ ใครไม่ได้ตั๋วก็เอาตั๋วให้ได้ (ตั๋วทนายค่ะ) ใจอยากทำอะไรจริงๆน้อยคนที่จะรู้หรือเลือกได้ แต่ที่นี่ได้อยู่กับตัวเองเต็มๆ ได้ผ่อนคลายตัวเอง (ดันมาอยู่เมืองไม่ใหญ่ด้วยแหละ) เริ่มคิดต่างไปว่า อยากจะทำงานด้านกฎหมายจริงๆเหรอ? คำตอบก็ชัดเจนขึ้นมา จากปมที่เคยเรียนๆมาตอนปริญญาตรีคือ ไม่เลยค่ะ หนูไม่ขอทำงานด้านกฎหมายดีกว่า ถ้าเลือกได้ หนูเคยฝึกงานค่ะ ในlaw firm ค่ะ ไม่ชอบค่ะ สายนี้บายๆตลอดชาติ

ต่อนะคะ ถ้าจะเรียนโท ข้ามศาสตร์ เท่าที่หนูพอหาคร่าวๆ หนูคงเรียนพวก ปริญญาเป็ดข้ามศาสตร์ข้ามชาติ อะไรสักอย่างที่มันกึ่งๆบริหาร หรือไม่ก็กึ่งๆการสื่อสาร กึ่งทั้งนั้นเลยค่ะ (แต่หนูว่ามันก็สนุกนะ) เพราะไปสายตรงแอบลำบากนะคะที่เยอรมัน เค้าไม่ชอบให้คนเรียนข้ามสายเท่าไร แต่เรียนไปแล้ว หนูจะกลับไปทำงานอะไร หนูมึดแปดด้าน สักตำแหน่งในบริษัทไรงี้อ่ะเหรอ จะดีเหรอ? มั่วๆไปไหม?

หนูคิดนะคะ หรือเราจะเรียนตรีใหม่ ด้านคอมพิวเตอร์หรือบริหารเก๋ๆไปเลยดีไหม แม้ว่าเลขเราจะทิ้งมาหลายปี แต่เราจะยังพอฟื้นได้นะ ตอนม.ต้น เราทำเลขได้อยู่ เคยสอบได้ที่หนึ่งของสายชั้นไรงี้ แต่ม.ปลายเรียนศิลป์ภาษา (มาถึงจุดนี้ ท่านผู้อ่านบางท่านอย่างเพิ่งหมั่นใส้อิฉันเลยนะคะ หนูเพียงต้องการให้ข้อมูลในการวิเคราะห์แก่ผู้มีสติปัญญาทั้งหลาย เพื่อที่พวกเค้าจะได้วิจารณ์ประเด็นอย่างมีประโยชน์ในตัวหนูถูกต้องค่ะ) แต่ก็ลองหาข้อมูลดู ว้ายด้านคอมนี่แอบโหดนะ อะกอลิทิ่มคืออะไร เป็นอะไรกับอกาลิโก ตรงนี้อยากรู้เหมือนกันว่าเค้าจะสอนใหม่เลยใหม่ ปูพื้นเลยป่าว(ใครเรียนด้านนี้ในเยอรมันหรือพอจะรู้ ช่วยบอกหน่อยนะคะ) จริงๆอยากเรียนด้านนี้นะ เพราะตอนเด็กๆชอบคอมพิวเตอร์มาก สร้างเว็บเป็นด้วยนะ แต่พอโตขึ้นเล่นเกมอย่างเดียว เคยเรียนเขียนโปรแกรมตอนป หก แต่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ไปนั่งเรียนทำไม (กระแดะไง) เพราะตอนนั้นสมการยังไม่รู้จักเลยว่าคืออะไร แล้วรู้สึกว่าด้านนี้อนาคตสดใสนะ(หนูไม่ได้โลกสวยคิดไปเองใช่ไหม เพราะด้านกฎหมายมองให้มองสดใสได้เหมือนกัน แต่บังเอิญหนูรู้สึกว่าด้านมึดมันดันมากกว่าสำหรับคนโง่ๆแบบหนู) ในเยอรมันแรงงานด้านนี้ยังขาดแคลนเลย เผื่อจบมาได้ทำงานที่นี่สวยๆอีก เออ เลิศเล่อ (ถ้ามันแค่ความฝัน ช่วยปลุกหนูที)  แต่กว่าจะจบ ตอนนี้ 23 ย่าง 24 อีกสามปีจบ = 27 ขวบ แก่ไปไหมสำหรับการเริ่มต้นชีวิตทำงาน (ถ้าเรียนโทต่ออีก กว่าจะจบก็สามสิบพอดี แก่ของจริงคราวนี้ ไม่ได้สวยเหมือนอั้มซะด้วยสิ จะได้สามสิบยังแจ๋ว)

สรุปประเด็น เรียนด้านคอมพิวเตอร์ที่เยอรมันระดับปริญญาตรีใหม่ดีไหมคะ หรือควรเรียนอะไรก็เรียนไปเหอะปริญญาโทด้านอื่น หรือเรียนถึงเอกไปเลยยิ่งดี แต่จบเอก กลับไปเมืองไทย สมมติไปเป็นอาจารย์ เงินเดือนเริ่มต้น สองหมื่น!!! เรียนเพื่อ?? (คนมีอุดมคติ อย่าว่ากันนะ เรื่องเงินสำหรับหลายคนไม่สำคัญ แต่สำหรับหนูมันสำคัญ)

ขอบคุณสำหรับคำตอบล่วงหน้านะคะ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 10
ปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Informatik) และสาขาบริหารธุรกิจ (Betriebswirtschaftslehre) เป็นคนละเรื่องกันเลยนะคะ แนะนำให้คุณลองเข้าไปเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยแล้วไปดูรายชื่อวิชาของป.ตรีสาขาบริหารธุรกิจ และรายชื่อวิชาของป.ตรีสาขา Informatik ทั้งสองสาขานี้เรียนโหดพอสมควร คุณไม่สามารถเรียนเพื่อความเก๋ไก๋ได้หากใจไม่รักจริง หากคุณจะเรียนป.ตรีใหม่ในทั้งสองคณะคุณอาจต้องไปเรียน Studienkolleg อีกหนึ่งปีก่อน เพราะป.ตรีที่คุณจบมาเป็นสาขากฎหมาย และวุฒิม.6 ของไทยไม่เทียบเท่ากับ Abitur ของเยอรมัน โดยหากจะเรียนสาขา Informatik ก็ต้องไปเรียน Studienkolleg T-Kurs และหากจะเข้าสาขา BWL ก็ต้องไปเรียน Studienkolleg W-Kurs เมื่อจบ Studienkolleg แล้วก็ต้องสอบ Feststellungsprüfung แนะนำให้สอบถาม Akademisches Auslandsamt ของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ว่าคุณต้องไปเรียน Studienkolleg ก่อนหรือเปล่า แต่เราแนะนำให้คุณเรียนดีกว่าเพราะคุณจะได้เรียนวิชาพื้นฐานของสาขานั้น ๆ เป็นการเตรียมตัวเพื่อเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่ดีกว่าไปนั่งลุยเอาเอง และอาจารย์ใน Studienkolleg คุ้นเคยกับนักเรียนต่างชาติและรู้ถึงจุดอ่อนของนักเรียนต่างชาติมากกว่าอาจารย์เยอรมันในมหาวิทยาลัย

วิชาพื้นฐานต่าง ๆ ที่คุณต้องเรียนในมหาวิทยาลัยที่นี่นั้น เขาไม่มานั่งสอนคุณใหม่ค่ะ แต่จะทบทวนเนื้อหาเก่า ๆ ที่นักเรียนเยอรมันเคยเรียนมาแล้วในระดับ Abitur เพียงชั่วโมงสองชั่วโมงแรก จากนั้นจะลงลึกไปมากกว่านั้น ซึ่งถ้าคุณเรียนม.ปลายสายศิลป์ที่เมืองไทยมาและไม่มีพื้นฐานคณิตศาสตร์และ Informatik ในระดับ gymnasiale Oberstufe (ชั้น 11-13 ของโรงเรียนประเภท Gymnasium) คุณจะไม่มีทางตามคนอื่นทันแน่นอน ตอนคุณเข้าไปเรียน Studienkolleg ก็คงต้องฝึกทำแบบฝึกหัดมาก ๆ ด้วย คุณต้องใจรักจริง ๆ ถึงจะเรียน Informatik หรือ BWL ที่เยอรมันรอด การเรียนในทั้งสองคณะไม่เหมือนที่เมืองไทย Informatik ไม่ใช่แค่เรียนเขียนโปรแกรม ส่วนสาขา BWL ไม่ใช่เรียนแค่วิชาบริหารธุรกิจ คุณต้องเรียนวิชาพื้นฐานเหมือนเศรษฐศาสตร์ซึ่งรวมถึงคณิตศาสตร์ และต้องเรียนวิชาเกี่ยวกับบัญชีด้วยเช่นกัน

ตอนนี้คุณยังไม่ได้สัมผัสกับการเรียน Informatik และ BWL เลยมองอะไรสวยงามเกินไป ในความเป็นจริงแล้วคุณไม่มีทางจบภายในสามปีได้เพราะเรียนข้ามสาขา คุณอาจต้องเข้า Studienkolleg ก่อนหนึ่งปี และการสอบเข้า Studienkolleg บางแห่งในสาย T- หรือ W-Kurs นอกจากวิชาภาษาเยอรมันแล้ว คุณอาจต้องสอบวิชาเลขด้วย ซึ่งก่อนสอบเข้าคุณอาจต้องเสียเวลาไปติววิชาเลขหรือต้องทำแบบฝึกหัดมากกว่าคนอื่นที่มีพื้นฐานมาแล้ว เด็กเยอรมันหรือเด็กไทยที่มีพื้นฐานมาแล้วยังไม่ค่อยจบป.ตรีทั้งสองคณะกันภายในสามปีเลยค่ะ แนะนำว่าให้คุณเรียนในสิ่งที่คุณชอบ ไม่ใช่เรียนเพราะสาขานั้น ๆ มีอนาคตที่สวยงาม การเรียนในมหาวิทยาลัยที่นี่ไม่มีใครมานั่งป้อนให้คุณ คุณต้องขวนขวายเองทุกอย่าง ถ้าไม่ได้ชอบสาขานั้น ๆ อย่างแท้จริง คุณเรียนไม่รอดหรอกค่ะ หรืออาจจบมาแค่พอผ่าน ซึ่งถ้าเกรดไม่ดีเวลาไปสมัครงานที่นี่ก็สู้เด็กเยอรมันที่เกรดดีกว่าไม่ได้อยู่ดี (เชื่อเราเถอะนะ เราก็จบป.โทในเยอรมัน แต่เป็นสาขาที่เราไม่ได้ชอบจริง ๆ กว่าจะรู้ตัวก็เปลี่ยนสาขาไม่ได้แล้ว จบมาด้วยคะแนนไม่ดีเท่าไหร่ เลยต้องทำงานด้านอื่นแทนซึ่งเป็นสิ่งที่เราชอบมากกว่าและมี niche ที่ไม่ต้องแข่งกับคนเยอรมัน) ข้อสอบในมหาวิทยาลัยที่นี่มักเป็นแบบ Klausur (ข้อสอบแบบเขียนบรรยาย) และไม่เน้นการตอบแบบท่องจำ และสาขา Informatik กับ BWL ไม่ใช่วิชาท่องจำ ถ้าคุณไม่ชอบจริง ๆ คุณจะไม่มีแรงจูงใจทำความเข้าใจกับเนื้อหา ไม่อยากทำแบบฝึกหัด ซึ่งทำให้สอบได้คะแนนไม่ดี

สำหรับเรื่องงานด้าน IT ในเยอรมัน จากที่เคยคุยกับสามีเรา (เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์แต่จบสาขาคณิตศาสตร์) เขาบอกว่างานด้านนี้มีคนที่จบสาขาอื่นมาทำกันเยอะ หากอยากได้งานที่ดีและเงินเดือนดี คุณต้องมีประสบการณ์การทำงานพอสมควรและมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง น้องชายแฟนเราก็ทำงานด้าน IT เช่นกัน จบ Informatik สายตรงด้วย แต่เคยมีปัญหากับการหางานมาก ๆ เคยตกงานเป็นปี ในขณะที่แฟนเราไปสมัครที่ไหนเขาก็รับ แฟนเราทำงานด้านนี้มา 20 กว่าปี แต่น้องเขาไปเรียนเอาวุฒิปริญญาเมื่ออายุมาก มีประสบการณ์น้อยกว่า ถ้าคุณจะเรียนสายนี้คุณควรมีใจรัก เป็นคนที่คิดอะไรแบบมีตรรกะ ละเอียดรอบคอบ และควรจะชอบวิชาคณิตศาสตร์ (เพราะ Informatik คือคณิตศาสตร์ประยุกต์ และคุณต้องเรียนคณิตศาสตร์ชั้นสูงในมหาวิทยาลัย) หากคุณอยากได้งานสาขานี้ในเยอรมันเมื่อเรียนจบ คุณต้องมีเกรดเฉลี่ยที่ดี ตอนเรียนอยู่ต้องไปฝึกงานตามบริษัทต่าง ๆ ช่วงปิดเทอม ซึ่งเป็นเรื่องที่เด็กเยอรมันทำกันเป็นปกติ ถ้าคุณจบมาแบบไม่มีประสบการณ์คุณจะสู้พวกเขาไม่ได้แน่นอน ส่วนสายบริหารธุรกิจนั้นเป็นสาขาที่นักศึกษาเยอรมันนิยมเรียนกันมากที่สุด (http://www.spiegel.de/fotostrecke/ranking-deutschlands-beliebteste-studienfaecher-fotostrecke-61084.html) ถ้าคุณจบมาคงหางานที่นี่ได้ยาก นอกจากนี้การจ้างงานคนสัญชาตินอก EU ในเยอรมันที่ยังไม่มี residence permit แบบที่สามารถทำงานได้ไม่จำกัด (เช่นได้จากการแต่งงานกับคนสัญชาติเยอรมัน) นายจ้างต้องแสดงให้กรมแรงงานเห็นว่าตำแหน่งงานนั้น ๆ ไม่สามารถหาคนสัญชาติเยอรมันหรือ EU มาทำงานได้ ดังนั้นหากคุณอยากได้งานที่นายจ้างขอ work permit ให้คุณได้ คุณก็ต้องมีความสามารถในสาขานั้น ๆ มากกว่าคนเยอรมันหรือ EU

ถ้าตอนนี้คุณอยู่ในเมืองที่มีมหาวิทยาลัย แนะนำว่าให้ลองเข้าไปห้องสมุดของมหาวิทยาลัย ไปยืมหนังสือวิชาพื้นฐานของสาขาที่คุณอยากเรียนมาอ่าน ไปฟัง Vorlesung วิชาพื้นฐานของสาขานั้น ๆ สักครั้งสองครั้ง (วิชาพื้นฐานส่วนใหญ่มีคนเรียนเป็นร้อย ไม่มีใครสังเกตหรอกว่าคุณไม่ใช่นักศึกษา) ไปคุยกับหน่วยให้คำปรึกษานักศึกษาของสาขา Informatik สาขา BWL หรือสาขาอื่น ๆ ที่คุณสนใจ ไปคุยกับ Akademisches Auslandsamt ของมหาวิทยาลัย จากนั้นค่อยพิจารณาดูอีกทีว่าจะเรียนสาขาใด อย่าเพิ่งคิดเรื่องชีวิตการทำงานหรือเงินเดือน เมื่อได้เรียนในสาขาที่คุณชอบ คุณจะมีความสุขกับมันและสนใจใฝ่หาความรู้ด้วยตัวเอง ทำให้มีผลการเรียนที่ดีและหางานได้ไม่ยากเท่าจบมาแบบไม่ได้ชอบสาขานั้นและเกรดไม่ดี นอกจากนี้หากฝืนทำงานในสาขาที่คุณไม่ชอบ คุณก็จะไม่มีความสุขแม้จะได้เงินเดือนมาก คิดดูดี ๆ ว่าคุณอยากจะใช้ชีวิตการทำงานซึ่งเป็นเวลาอย่างน้อย 30 ปีอยู่กับสิ่งที่คุณไม่ชอบเหรอคะ ส่วนเรื่องเงินเดือน หากอาชีพนั้น ๆ ได้เงินเดือนน้อยคุณก็หาช่องทางทำอาชีพเสริมหรือธุรกิจส่วนตัวสิคะ ถ้าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย เวลาว่างก็รับสอนพิเศษ เช่น สอนภาษาเยอรมัน (เช่นติวสอบ A1 สำหรับคนขอวีซ่าแต่งงาน หรือติวภาษาเยอรมันเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย) รับแปลภาษา หรือลาออกไปทำงานเอกชน เท่าที่เรารู้ นักเรียนเก่าเยอรมันส่วนใหญ่เมื่อกลับไปเมืองไทยก็ได้งานทำดี ๆ กันทุกคน คุณไม่จำเป็นต้องเป็นอาจารย์ บริษัทเยอรมันในประเทศไทยมีเยอะแยะ ไม่ต้องถึงกับจบจากเยอรมันหรอกนะคะ เราเคยคุยกับเด็กอักษรฯ เอกภาษาเยอรมัน เขาบอกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกันก็ได้งานดี ๆ ทำกันหมด ไม่ว่าจะเป็นงานบริษัทเยอรมัน เป็นแอร์ฯ ตัวน้องเขาพอจบป.ตรีแล้วก็มีงานทำทันที เป็นงานบริษัทเอกชน แล้วก็ลาออกมาทำงานสำนักงานแปล ซึ่งเสนอเงินเดือนให้สามหมื่น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่