****คู่กรรม (ริชชี่ ณเดชน์) นี่ต่อให้หนังไม่ดีก็ต้องพยายามไปดู เหรอคะ****

กระทู้สนทนา
อ่านกระทู้และความเห็นที่พยายามเชียร์ อวย รวมถึงข้อความข้อความของ opinion leader ดังๆตาม Social network (ที่ทีมผู้สร้างอาจจะจ้างมาเชียร์ หรือดูเองแล้วชอบจริงๆเลยเขียนเชียร์ก็ตามแต่ )เกี่ยวกับหนังเรื่องคู่กรรม (เวอร์ชั่นริชชี่ ณเดชน์) มาเยอะมาก จนมีข้อสงสัยจริงๆค่ะ

ว่าการที่คนเราจะไปดูหนังสักเรื่อง เราต้อง"พยายาม" ขนาดนั้นเลยเหรอคะ

1. บอกว่าทำไมคนเราตัดสินว่าหนังห่วยง่ายจัง จริงๆควรดูหลายมิติ ถ้าเนื้อหาไม่สนุกก็ดูการถ่ายทำว่าภาพอาจจะสวย หรือไม่ก็เพลงเพราะ องค์ประกอบดี ฯลฯ จะได้ไม่ตัดสินว่าเขาห่วย

คำถาม: เราจะดูหนังสักเรื่องขอเลือกที่มัน "ดีจนเห็นได้สะดวกในหลายมิติ ไม่ต้องตะแคงดูจนเห็นข้อดี" ไม่คุ้มเงินกว่าเหรอคะ ทำไมต้องพยายามหาข้อดี

มันเป็นหน้าที่ของทีมสร้างนะคะ ที่ต้องพยายาม "สื่อข้อดี" ของหนังให้คนเห็นชัดเจน ไม่ใช่ทำอะไรไม่รู้ออกมาแล้วเชิญคนดูแลหาข้อดีเอาเอง

2.บอกว่ายังไม่รู้รู้ได้ไงว่าไม่ดี ซื้อตั๋วเข้าไปดูก่อนสิ ไม่งั้นจะรู้ได้ไง

คำถาม: โอ้โห อย่างนี้จะถ้าจะซื้อโทรศัพท์สักเครื่องหรือรถสักคันนี่เดินถือเงินเข้าไปซื้อเลยไหมคะ ไม่ต้องหาข้อมูล ไม่ต้องสอบถามคนมีประสบการณ์เคยใช้มาก่อน "จงเชื่อในโฆษณา" แล้วจ่ายเงินซื้อมาลองเลย (ทีมผู้สร้างจะได้ได้เงินง่ายๆ ใช่ป่ะ)

แนวทางการใช้เงินคงต่างกันค่ะ ในขณะที่คนส่วนใหญ่จะจ่ายอะไรก็ต้องพิจารณา ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่พร้อมโยนเงินเพื่อการทดลองโดยไม่ต้องหาข้อมูลก่อน ก็เป็นประโยชน์กับทีมผู้สร้างดีนะคะ หลักสิบหลักร้อยก็เงินค่ะ ค่าน้ำมันรถ ค่าเสียเวลาไปดู ถ้าความเสี่ยงว่าจะห่วยสูง ไม่เอาล่ะค่ะ เสียเวลา

3. ขอให้เปิดใจให้กว้าง ยอมรับในการสื่อสารเนื้อเรื่องในแนวใหม่ แม้การดำเนินเรื่องจะไม่น่าประทับใจแต่ก็จงคิดว่าเป็นการแหวกแนว แม้นางเอกจะเล่นไม่ดีก็จงยอมรับอังศุมาลินในภาพแบบนั้น จงลืมกวางกมลชนก หนูนา และอังศุมาลินที่น่าประทับใจเสีย แล้วเปิดใจรับอังซังแข็งทื่อแบบนี้ไป มันแนวดีออก แปลกดีออก

หากเราจะเสียเงินไปดูหนังสักเรื่อง เราต้อง "พยายาม" เปิดใจขนาดนั้นเหรอคะ

การดูหนังเป็นสิ่งบันเทิง หากเราต้องเตรียมใจ ลดความคาดหวัง ตั้งสติ ลบความทรงจำ ขนาดนั้นเราว่าเราไม่ดูดีกว่า รู้สึกเหมือนเตรียมไปเข้าคอร์สฝึกจิตยังไงไม่รู้

แล้วเป้าหมายที่จะไปดูนี่เพื่ออะไรล่ะคะ ไปดูเพราะต้องดู มันเป็นหนังไทย สงสารทีมงาน หรือดูเพื่อentertain?

เราว่ามันไม่ใช่หน้าที่คนดูเลยนะคะที่จะต้องมานั่งเตรียมใจนั่นนี่เพื่อจ่ายเงินซื้อตั๋วดูหนังสักเรื่อง ปรับจิตให้เข้ากับแนวทางที่ผู้สร้างผลิตออกมา

มันเป็นหน้าที่ของทีมผู้สร้างต่างหาก ที่ต้องทำหนังที่สามารถ "สื่อสาร" ให้คนดูแล้วชอบ แบบตรงใจ แล้วเอาไปบอกกันปากต่อปาก ถ้าทำไม่ได้ การที่หนังล้มเหลวก็คือผลลัพธ์ล่ะค่ะ ไม่ว่าจะตีความแนวใหม่หรือแหวกแนว ก็ต้องตอบโจทย์นี้ให้ได้ (หนัง re-make หลายเรื่องก็มีคนทำได้นะคะ)

จะมาให้คนดูปรับความคาดหวังแล้วซื้อตั๋ว คงไม่ใช่ล่ะค่ะ ดูดีๆเถอะมันหน้าที่ใคร

**4. ขอเพิ่มข้อนึงค่ะ  พอดีเห็นจากความคิดเห็นที่ 4น่าสนใจมาก กับแนวทางเชิญชวนว่า"ดูสองรอบดีกว่า จะเห็นและเข้าใจอะไรมากขึ้น"

คือว่าหนังดีๆนะคะ ดูรอบเดียวก็ประทับใจแล้วค่ะ ไม่ต้องเสียเงินเสียเวลาซ้ำซากเพื่อให้เข้าใจหนัง นอกจากหนังที่น่าประทับใจจนต้องไปดูซ้ำนะคะ มันคนละอย่างกัน

การที่ผู้สร้างทำหนังออกมาแล้วหวังให้คนไปดูสองรอบเพื่อให้เข้าใจ ก็เปรียบเหมือนคนพูดไม่รู้เรื่อง ต้องพูดซ้ำๆ ถือเป็นความล้มเหลวในการสื่อสารอย่างร้ายแรงนะคะ ยิ่งอยู่ในวงการ "สื่อ" จะมาสื่อไม่รู้เรื่องแบบนี้ ผิดพลาดมากค่ะ ไม่ใช่หน้าที่คนต้องมาดูสองรอบ ไม่งั้นก็ลดราคาตั๋วครึ่งราคานะคะ และเขียนกำกับว่า"เพื่อความเข้าใจโปรดชมภาพยนตร์เรื่องนี้ซ้ำ" และเปิดจองแบบสองรอบไปเลย

ป.ล. ไม่ได้ต่อต้านหนังเรื่องนี้นะคะ  ใครชอบก็ดีอยู่แล้วค่ะ ทุกอย่างมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ แต่แค่อยากบอกว่าหากทีมผู้สร้างอยากให้มีคนชอบเยอะๆ ก็ควรจะทำหน้าที่ให้ดีนะคะ การผลักภาระให้มองว่าหนังดี มาที่คนดู มันคงไม่ใช่ทางออกหรอกค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่