ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี ดอยอินทนนท์

กระทู้ข่าว
......................นายพลากรสุวรรณรัฐ องคมนตรี เปิดเผยในระหว่างการตรวจเยี่ยมศูนย์อนุรักษ์พันธ์กล้วยไม้รองเท้านารี ดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่ ว่าศูนย์แห่งนี้เป็นแห่งเดียวของโลกที่เน้นการศึกษาวิจัยกล้วยไม้พันธ์รองเท้านารีอินทนนท์  ซึ่งเป็นพันธ์กล้วยไม้ที่ขึ้นเพียงแห่งเดียวคือดอยอินทนนท์ และเป็นแหล่งรวบรวมพันธ์รองเท้านารีจากทั่วประเทศด้วย ตั้งแต่พันธ์จากสตูลพันธ์จากกระบี่ และพันธ์จากกาญจนบุรี มารวมไว้แล้วขยายผลสู่ผู้นิยมเพาะเลี้ยงกล้วยไม้พันธ์รองเท้านารีต่อไป  แทนการปล่อยให้ชาวบ้านแอบเข้าป่าไปเก็บมาขายกัน ซึ่งผู้สนใจสามารถเข้ามาซื้อหาในศูนย์แห่งนี้ได้ นับเป็นการเผยแพร่ พันธ์กล้วยไม้โดยที่ไม่ต้องเข้าไปรบกวนกล้วยไม้ในป่าธรรมชาติ

                     “สถานที่แห่งนี้นอกจากจะทำการศึกษาวิจัยเพาะขยายพันธ์กล้วยไม้พันธ์รองเท้านารีแล้วก็ยังเป็นสถานที่สำหรับการเยี่ยมชมของประชาชนโดยทั่วไปอีกด้วย  เป็นสถานที่เผยแพร่พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการทรงงานด้านการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารี ที่ผ่านมาทางสถานีได้ถวายรายงานขึ้นไปและขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยในการดำเนินงาน อยู่เป็นระยะ เดินทางมาวันนี้ก็เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานและให้กำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ ที่ทำงานอยู่ในโครงการฯ แห่งนี้”นายพลากร สุวรรณรัฐ องคมนตรี กล่าว
          
                      ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารี ดอยอินทนนท์  ตั้งอยู่ในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ศูนย์แห่งนี้เป็นโครงการ อันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยและเพาะพันธุ์กล้วยไม้ รองเท้านารีอินทนนท์ ที่มีความสวยงามแต่ใกล้จะสูญพันธุ์เต็มทีแล้ว อีกทั้งยังจัดเป็นแหล่งให้ความรู้สำหรับผู้ที่มีความสนใจ พันธุ์กล้วยไม้ ทั้งนี้ภายในศูนย์มีการตกแต่งภูมิทัศน์อย่างสวยงามด้วยสวนดอกไม้และกล้วยไม้ ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมชม โดยเฉพาะในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี และนอกจากรองเท้านารีอินทนนท์แล้ว ยังจะได้ชมดอกนางพญาเสือโคร่งสีชมพูอีกด้วย
        
                      รองเท้านารีอินทนนท์ เป็นกล้วยไม้อยู่ในสกุลรองเท้านารี มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่รัฐอัสสัม สาธารณรัฐอินเดีย จนถึงทางตอนใต้ของประเทศจีน มีลักษณะ พุ่มต้นกว้างประมาณ 25-30 ซม. ใบกว้าง 3.5-4 ซม. ยาว 30-40 ซม. ใบด้านบนสีเขียวเป็นมัน ใต้ใบบริเวณโคนกาบใบ มีจุดประสีม่วง แตกหน่อได้ดี มักเจริญเติบโตเป็นกอใหญ่ ดอกเป็นดอกเดี่ยว ขนาดประมาณ 10-12 ซม. ก้านดอกตั้งตรงยาว 10-12 ซม. กลีบดอกหนาเป็นมันเงา พื้นดอกสีเหลืองปนน้ำตาล กลีบบนบริเวณขอบมีสีเหลืองหรือขาว โคนกลีบบนสีน้ำตาลเข้ม กลีบในมีเส้นสีน้ำตาลเข้มแบ่งกึ่งกลางตามความยาวกลีบ กระเป๋าสีน้ำตาลเป็นมันเงา มีเส้นร่างแหสีน้ำตาล
                
                      ออกดอกในช่วง มกราคม – มีนาคม ในธรรมชาติพบในทำเลที่เป็นป่าดิบภูเขา ปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่หนา โดยขึ้นอยู่สูงประมาณ 1200-1500 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นรองเท้านารีชนิดอิงอาศัย  โดยพบขึ้นอยู่บนต้นไม้ใหญ่ ที่มีลักษณะเปลือกหนา มีการผุพังของเปลือกไม้ง่าย ปกคลุมด้วย มอสส์ เฟิร์น ตะไคร่น้ำ อุ้มความชื้นได้ดี โดยหยั่งรากไปตามเปลือกไม้ ตามดอยสูงทางภาคเหนือ เช่น ดอยอินทนนท์ และดอยเชียงดาวจังหวัดเชียงใหม่ ดอยแม่อูคอจังหวัดแม่ฮ่องสอน และบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน บริเวณภูหลวงจังหวัดเลย พม่า อินเดีย ตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
                
                      โครงการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารีอินทนนท์ เป็นผลสืบเนื่องมาจากเมื่อเดือนมีนาคม 2536 สมเด็จพระนางเจ้า ฯพระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชกระแสรับสั่งกับ พลโทยิ่งยศ โชติพิมายแม่ทัพภาคที่ 3 สมัยนั้นให้พิจารณาหาหนทางในการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารีซึ่งเป็นกล้วยไม้ไทยที่หายากในปัจจุบัน เนื่องจากถูกลักลอบเก็บออกจากป่าส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศจนกระทั่งปัจจุบันนี้กล้วยไม้รองเท้านารีใกล้สูญพันธุ์ไปจากแผ่นดินไทย
            
                       กองทัพภาคที่ 3 รับสนองพระราชดำริโดยส่งเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและพลเรือนเข้าสำรวจแหล่งกำเนิดกล้วยไม้รองเท้านารีทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือและได้ตั้งคณะกรรมการอนุรักษ์กล้วยไม้รองเท้านารีขึ้นเพื่อรับผิดชอบโครงการตลอดจนอำนวยการโดยได้รวบรวมกล้วยไม้รองเท้านารีสายพันธุ์อินทนนท์ ที่พบในพื้นที่ทำการขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มปริมาณ โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทำการเพาะเมล็ดในสภาพปลอดเชื้อและทำการย้ายกล้าออกปลูกในโรงเรือนอนุบาลจนต้นกล้ามีขนาดใหญ่พอควรจึงย้ายออกปลูกในสภาพโรงเรือนและสภาพป่าธรรมชาติอย่างต่อเนื่องจวบจนทุกวันนี้

ที่มา  http://www.dailynews.co.th/agriculture/196704





แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่