คุณชายปวรรุจ กับคำว่า "หมายกำหนดการ"

ไม่ทราบว่ามีใครตั้งกระทู้ไปแล้วหรือยังนะคะ

เมื่อคืนดูละครเรื่องคุณชายปวรรุจ ตอนช่วงที่นางเอกขอติดรถคณะทูตไปโลซาน
แล้วคุณชายปวรรุจพูดว่า "ไปไม่ได้เพราะจะทำให้หมายกำหนดการคลาดเคลื่อน"

ขอถามว่าเนื้อหาในเรื่อง กับการใช้คำว่า หมายกำหนดการ ถูกต้องหรือไม่คะ?

ขอบคุณค่ะ


สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 1
เราคิดตั้งแต่ได้ยินเมื่อคืนแล้ว คำว่า "หมายกำหนดการ"  ใช้ผิดค่ะ  ที่ถูกต้องต้องใช้  "กำหนดการ"  

ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๙ กันยายน ๒๕๓๒

กำหนดการ-หมายกำหนดการ

        คำว่า "กำหนดการ" และ "หมายกำหนดการ" นี้มักจะใช้กันผิดเสมอ หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าคำทั้ง ๒ คำนี้มีความหมายเหมือนกัน สามารถใช้แทนกันได้ จึงมักจะเห็นป้ายปิดประกาศงานทั่ว ๆ ไปที่จัดขึ้นใช้คำว่า "หมายกำหนดการ" เพื่อบอกกำหนดขั้นตอนของงานที่จะทำตามลำดับ ซึ่งไม่ถูกต้อง พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้ความหมายของคำทั้ง ๒ คำนี้ไว้อย่างชัดเจนเพื่อจะได้นำไปใช้ได้อย่างถูกต้อง ดังนี้

        "กำหนดการ น. ระเบียบการที่บอกถึงขั้นตอนของงานที่จะต้องทำตามลำดับ. (อ. programme)" (หน้า ๙๗)

        "หมายกำหนดการ น. เอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานพระราชพิธีที่จะต้องอ้างพระบรมราชโองการ คือขึ้นต้นด้วยข้อความว่า 'นายกรัฐมนตรีหรือเลขาธิการพระราชวัง รับสนองพระบรมราชโองการเหนือเกล้าฯ สั่งว่า' เสมอไป." (หน้า ๘๕๔)

        ดังนั้นคำว่า "หมายกำหนดการ" จึงใช้เป็นเอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานพระราชพิธีโดยเฉพาะ  ลักษณะของเอกสารจะต้องอ้างพระบรมราชโองการ และในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่จะต้องนำหมายกำหนดการดังกล่าวนี้เสนอนายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เพื่อให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เช่น หมายกำหนดการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ หมายกำหนดการวันขึ้นปีใหม่

        ส่วนคำว่า "กำหนดการ" ใช้เป็นเอกสารแจ้งกำหนดขั้นตอนของงานทั่ว ๆ ไปที่ทางราชการหรือส่วนเอกชนจัดขึ้นเอง แม้ว่างานนั้น ๆ จะเป็นงานที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนิน แต่ถ้างานนั้นมิได้เป็นงานพระราชพิธีซึ่งกำหนดขึ้นโดยพระบรมราชโองการแล้ว เรียกว่า กำหนดการ ทั้งสิ้น เช่น ขั้นตอนของงานสวนสนามของทหารรักษาพระองค์ก็ใช้ว่ากำหนดการเพราะงานนี้มิใช่งานพระราชพิธีที่มีพระบรมราชโองการให้จัดทำขึ้น หากแต่เป็นทางราชการทหารจัดขึ้นเพื่อแสดงความสวามิภักดิ์ต่อเบื้องพระยุคลบาท

        การกำหนดความหมายและวิธีใช้คำทั้ง ๒ คำนี้ มีอยู่ใน "รวมเรื่องและข้อปฏิบัติเกี่ยวกับราชสำนัก" ซึ่งสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ. ๒๕๑๘ และสำนักพระราชวังได้จัดพิมพ์ขึ้นอีกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ จึงสมควรอย่างยิ่งที่ผู้ที่ต้องการใช้คำดังกล่าวจะได้ศึกษาความหมายที่ถูกต้องก่อนที่จะนำไปใช้.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่