" AIMPOINT " : นวัตกรรมเพื่อความแม่นยำของอาวุธ

กระทู้คำถาม
... ใครที่รู้จักปืนย่อมต้องรู้ว่าการเล็งให้ถูกเป้าต้องให้จุดสามจุดเรียงตัวเป็นเส้นตรง ยิ่งตรงก็ยิ่งมีโอกาสถูกเป้ามาก ไม่ว่าจะเป็นปืนเล็กยาวหรือปืนสั้นก็ใช้หลักการเดียวกันหมด

... ทั้งสามจุดนั้นประกอบด้วยเป้า ศูนย์หน้าและศูนย์หลัง การเล็งศูนย์เปิดปราศจากเครื่องช่วยใดๆ นั้นถ้าจะว่ากันจริงๆแล้วค่อนข้างยาก ต้องใช้เวลา ยิ่งในยามคับขันแล้วการเล็งประณีตแทบเป็นไปไม่ได้เลย แม้จะจ้องให้ศูนย์หน้าและศูนย์หลังเป็นเส้นตรงเดียวกันแล้วก็ตาม เมื่อต้องเล็งอย่างเร่งด่วนเช่นในการรบระยะประชิด (CQB : Close Quarter Battle) โอกาสที่เป้าจะหลุดศูนย์ย่อมมีมาก





... โดยในเวลากลางวันที่แสงสว่างมีมากพอยังหลุดง่าย ยิ่งถ้าเป็นตอนกลางคืนคงไม่ต้องพูดถึงเพราะทั้งศูนย์และตัวเป้าคงจะกลืนกันไปกับความมืด ยิ่งทำให้เล็งได้ยากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะเมื่อเข้าอาคารซึ่งมีแสงน้อยกว่ากลางแจ้ง

... เมื่อหลักนิยมในการรบและการรักษากฎหมายเปลี่ยนไป แล้วอะไรเล่าจะเป็นตัวช่วยให้ผู้ใช้ปืนสามารถเล็งและยิงได้เร็วที่สุด???คำตอบนั้นคือ มีหลักการง่ายๆ โดยต้องทำให้ศูนย์เล็งเหลือแค่จุดเดียวซึ่งต้องเที่ยงตรง เมื่อมองจากมุมไหนก็ต้องไม่หลุดจากแนวระนาบและต้องสว่างให้เห็นถนัดทั้งสภาพมีแสงจ้าและแสงน้อย

... โดยที่สำคัญคือ ต้องไม่เปิดเผยตำแหน่งของผู้ใช้ปืน เมื่อจะใช้งานก็เพียงแค่เอาจุดนั้นไปทาบเป้าซึ่งจะลดเวลาการเล็งลงได้ถึง 1 ใน 10 ทั้งยังเพิ่มอัตราการอยู่รอดได้ในช่วงเวลาคับขัน



... โจทย์เหล่านี้ได้ถูกตอบแล้วโดยกลุ่มนักธุรกิจสวีดิชกลุ่มเล็กๆซึ่งนิยมการเข้าป่าล่าสัตว์ ซึ่งรวมตัวกันสร้างผลิตภัณฑ์ที่ในขณะนั้นยังไม่มีใครคิดในปี1974 ด้วยเป้าหมายง่ายๆคือสร้างเทคโนโลยีการเล็งปืนให้ผู้ใช้ปืนเล็งได้เร็ว สามารถล็อคเป้าเคลื่อนที่ได้ง่ายๆโดยไม่ต้องใช้ความพยายามมากไม่ว่าจะอยู่ในสภาพแสงใด

... ผลก็คือการตั้งบริษัทเพื่อผลิตศูนย์เล็งจุดแดง Aimpoint ขึ้นในเมืองมัลโม ประเทศสวีเดน จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ นั้นได้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่แตกรุ่นออกไปหลากหลาย เพื่อใช้งานทั้งในกิจการทหารและพลเรือน

... โดยกลุ่มผู้ก่อตั้งช่วงแรกนั้น ไม่เคยคาดคิดเลยว่าสิ่งนี้จะกลายเป็นนวัตกรรมที่มาปฏิวัติระบบการเล็งปืนโดยสิ้นเชิง ด้วยหลักการง่ายๆ คือ ใช้เลนส์สะท้อนแสงจากหลอดไฟ LED ขนาดเล็กมายังตาผู้เล็ง โดยมีควงปรับละเอียดทั้งแนวตั้งและแนวนอน ให้ได้ศูนย์หลังจากการปรับศูนย์ครั้งแรกแล้ว

... ทั้งนี้คุณสมบัติที่ทำให้ศูนย์เล็งจุดแดงแตกต่างไปจากแสงเลเซอร์จุดแดงก็คือ ไม่มีจุดสีแดงทาบเป้าให้เห็น จุดแดงนั้นจะปรากฎอยู่ภายในกระบอกศูนย์เล็งวางตัวเป็นแนวเดียวกับศูนย์หน้าและหลังของปืนอยู่แล้ว เพียงแค่เบนจุดแดงไปทาบเป้าในช่วง 5 ถึง 100 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่การสู้รบมีโอกาสเกิดได้สูงสุด



... โดยเฉพาะเมื่อปฏิบัติการนั้นอยู่ในเขตเมือง (MOUT :Military Operation on Urban Terrain) การเล็งได้เร็วกว่าแม้เป็นเศษเสี้ยววินาทีย่อมหมายถึงอัตราการอยู่รอดย่อมสูงกว่า

... ข้อได้เปรียบของเอมพอยท์ เมื่อเทียบกับศูนย์เล็งอื่นๆ โดยเฉพาะที่เป็นระบบ holographic คือ มันกินไฟน้อยมาก น้อยอย่างแทบไม่น่าเชื่อ ศูนย์เล็งจุดแดงในซีรี่ส์ M68 รุ่น Comp M3 ได้กำลังไฟจากแบตเตอรี่ AA ก้อนเดียว สามารถเปิดทิ้งไว้ตลอดเวลาเป็นเวลา 50,000 ชั่วโมง หรือประมาณ 5 ปี

... โดยมีรุ่นที่ถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นคือ Comp M4 ยิ่งกินไฟน้อยกว่าคือ เปิดต่อเนื่องได้นาน 80,000 ชั่วโมง หรือ 8 ปี จึงไม่ต้องห่วงว่าแบตเตอรี่จะหมดในยามคับขัน ถ้าใช้แล้วปิดสวิทช์ไม่เปิดต่อเนื่อง อายุของแบตเตอรี่จะยิ่งนานขึ้นไปอีก จะเรียกว่าใส่แบตเตอรี่ก้อนเดียวแล้วใช้งานจนลืมก็ยังได้

สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 1
... เมื่อเทียบกับระบบโฮโลกราฟิกที่ดูผ่านๆเหมือนว่าจะไม่ต่างกันแล้ว ระบบ ACET (Advanced Circuit Efficiency Technology) ที่ใช้กับศูนย์เล็งของเอมพอยท์ถือว่าทิ้งกันไม่เห็นฝุ่น เพราะศูนย์เล็งระบบโฮโลกราฟิกใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ขนาดเท่ากันถึงสองก้อนแต่อยู่ได้นานแค่ 6 ชั่วโมงต่อเนื่องเท่านั้น หมายความว่า หากลืมเปิดสวิทช์ไว้เพียงข้ามคืน วันรุ่งขึ้นก็ต้องหาแบตเตอรี่ใหม่มาใช้เพราะของเก่าไฟหมด

... ทั้งนี้เพราะระบบการทำงานของเอมพอยท์ง่ายต่อการใช้งาน สว่างไสวให้ผู้เล็งปืนมองเห็นได้ชัดทั้งกลางป่าดงดิบเขตร้อนชื้น ในอาคารมืดทึบ และกลางแดดสว่างจ้าของทะเลทรายแถบตะวันออกกลาง มันจึงได้รับความไว้วางใจจากกองทัพ และหน่วยงานรักษากฎหมายของสหรัฐ ให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐานประจำการมาตั้งแต่ปี 1997

... โดยเฉพาะ Comp M4 ซึ่งเป็นศูนย์เล็งจุดแดงที่ดีที่สุดเท่าที่เอมพอยท์ผลิตมานั้นปัจจุบันประจำการในกองทัพและหน่วยงานรักษากฎหมายของสหรัฐฯแล้วกว่าล้านชิ้น และยังคงมียอดสั่งผลิตต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

... นอกจากแม่นยำใช้เวลาเล็งยิงได้รวดเร็วแล้วมันยังทนทายาท ศูนย์เล็งจุดแดง Comp M4 ที่ได้มาทดสอบนั้น ทนจริงสมคำโฆษณาของเอมพอยท์ เมื่อใช้ติดกับปืนเล็กสั้น M4 บนรางติดอุปกรณ์เหนือโครงปืน แล้วเล็งยิงแบบกึ่งอัตโนมัติติดต่อกันเป็นร้อยนัด ศูนย์ที่ตั้งไว้แต่แรกไม่คลาดเคลื่อน ลองยิงแบบอัตโนมัติต่อเนื่องอีกเป็นร้อยนัดก็ไม่เคลื่อน





... อีกทั้งถอดออกมาขว้างบนพื้นคอนกรีตแล้วเตะลงน้ำ งมขึ้นมาใช้ใหม่ก็ยังทำงานได้เป็นปกติ ที่ดีกว่านั้นคือใช้งานร่วมกับอุปกรณ์มองกลางคืน (NVD : Night Vision Devices) ได้โดยไม่ต้องดัดแปลง เพราะการเอาแค่จุดแดงไปทาบเป้าไม่ต้องเรียงศูนย์หน้าและหลังให้ได้แนว ผู้ใช้อาวุธจึงลดเวลาการเล็งเป้าเร่งด่วนลงได้มากกว่าครึ่งของเวลาเดิม แค่ทาบเป้าแล้วเหนี่ยวไก...ทาบแล้วเหนี่ยว...

... นี่จึงเป็นอีกผลิตภัณฑ์จากประเทศสวีเดนสำหรับกองทัพทั่วโลกนอกจากเครื่องบินรบและเรือดำน้ำ ที่เชื่อมั่นในประสิทธิภาพได้สนิทใจ โดยผู้ทดสอบและใช้งานรายใหญ่ คือ กองทัพสหรัฐฯ ที่นำศูนย์เล็งจุดแดงไปใช้ทั้งในอิรัก อัฟกานิสถาน และทุกที่ที่ทหารอเมริกันประจำการอยู่



.. นอกจากสหรัฐฯ และกองทัพสวีเดน จะไว้วางใจในผลิตภัณฑ์ของเอมพอยท์แล้ว ยังมีอีกหลายประเทศที่บรรจุอุปกรณ์ช่วยเล็งจุดแดงชิ้นนี้ไว้ประจำการ อาทิ กองทัพบกฝรั่งเศส, กองทัพบกเดนมาร์ก, กองทัพบกฟินแลนด์, กองทัพบกนอร์เวย์, กองทัพบกแลตเวีย, กองทัพบกสโลเวเนีย และกองทัพบกอิตาลี ฯลฯ

... แม้ในบางประเทศที่ไม่ได้บรรจุเอมพอยท์เข้าประจำการ แต่ก็มีกำลังพลที่พอมีทุนทรัพย์ก็มีการจัดหามาไว้ใช้เองอีกด้วย ทั้งนี้เพราะการเห็นถึงความสำคัญในเรื่องของการเล็งยิงที่เร็วกว่า ซึ่งจะทำให้ช่วยรักษาชีวิตของตนเองไว้ได้ในทุกสถานการณ์ในเวลาที่คับขัน ไม่ว่าจะเล็งยิงด้วยมุมไหน ในสภาพแสงอย่างไรจุดแดงจะสว่างคงที่และคงตำแหน่งไม่เคยเปลี่ยนแปลงนั่นเอง

... จากทดสอบแล้ว ทำให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ของเอมพอยท์ มีคุณภาพสมคำโฆษณาจริงๆ ถึงไม่ต้องทดสอบก็พอจะมั่นใจได้จากรายชื่อประเทศที่ใช้อุปกรณ์แบรนด์นี้ในกองทัพ ราคาของมันไม่แพงเลย ถ้าจะเทียบกับชีวิตของเจ้าหน้าที่ซึ่งอาจถึงกับเสียชีวิตหรือบาดเจ็บ การลงทุนกับศูนย์เล็งดีๆ สักอันหนึ่งจึงไม่แตกต่างจากการลงทุนเพื่อซื้อชีวิตเช่นเดียวกับเสื้อเกราะกันกระสุน

ทั้งนี้ก็เพื่อความอยู่รอด และสร้างกำลังใจให้กำลังพลเพื่อที่จะได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้อีก และเพื่อให้มีการสูญเสียน้อยที่สุด ไม่เป็นที่เศร้าเสียใจสำหรับคนใกล้ชิด




เครดิต : https://www.facebook.com/photo.php?fbid=491242814274183&set=a.424714767593655.101108.424674147597717&type=1&theater
รูปภาพ  จาก Google
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่