+++++++++++ จุดดับในดวงตะวัน ของ ว.วินิจฉัยกุล สนุกไหมคะ ++++

กระทู้คำถาม
กำลังตัดสินใจว่าจะซื้อดีไหม  จุดดับในดวงตะวัน สนุกไหมคะ

เป็นเรื่องราวสมัยปัจจุบันหรือสมัยก่อนคะ แล้วเพิ่งออกวางขายหรือเปล่าคะ

ถ้าให้คะแนน นี่จะให้เท่าไหร่คะ

ขอบคุณค่ะ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 1
อ่านไปประมาณครึ่งเล่มละ ถ้าให้คะแนนน่าจะประมาณ7 กลางๆ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 2
สำหรับผม ผมคิดว่าสนุกแบบแปลกๆครับ ให้คะแนนให้ 9 เต็ม 10 แล้วกัน บอกก่อนว่าสนุกแบบแปลกๆเพราะบังเอิญคนใกล้ตัวผม คือพ่อผมที่ตายไปแล้ว เป็นคนแบบเสกสุธา เลยทำให้ผมเก็บเรื่องนี้ไปคิดบ่อยๆ

สปอยล์บางส่วน

ดำเนินเรื่องแบบพีเรียดครับ แต่ผลสรุปมาจนถึงปัจจุบัน แต่พีเรียดไม่มาก ช่วงที่เกิดเรื่องราว ประมาณ พ.ศ.2500-2520 ถึง 2530 โดยประมาณ

สิ่งหนึ่งที่ผมชอบเรื่องนี้ คือ วิธีการเล่าเรื่อง เรื่องเดียวกัน แต่มีวิธีเล่าสองแบบ คือ แบบบวกกับแบบลบ กับเรื่องใหม่ซ้ำรอยกับเรื่องเดิม
วิธีเล่าแบบบวกกับแบบลบ คือ เรื่องเดียวกันแต่เล่าไม่เหมือนกัน จากมุมมองของคนสองคน เช่น ให้เสกพรเล่าตอนไปตั้งรกรากที่สุโขทัย จะไม่มีอะไร เห็นแต่ความชื่นมื่นของทุกฝ่าย แต่ถ้าให้ให้น้าจ้อนกับสมฤกษ์เล่า จะเป็นอีกรูปแบบนึงที่เสกพรได้ลูกสาวของคนใช้เก่าของพ่อมาเป็นเมีย และใช้งานพ่อตาจนสายตัวแทบขาด พ่อตาทำงานไม่ไหวก็ส่งน้าจ้อน ลูกชายอีกคนมารับใช้แทน อะไรแบบนี้ ซึ่งจะเห็นได้เรื่อยๆตลอดเรื่อง

ส่วนเรื่องใหม่ซ้ำรอยเรื่องเดิม เช่น เสกพรเป็นคนแบบไหน เสกสุธาก็เป็นคนแบบนั้น จุดจบแทบไม่ต่างกัน ,เสกพรได้ลูกคนรับใช้ของพ่อเป็นเมีย เสกสุธาก็ได้ลูกของทนายเก่าแก่(ทนายเก่าแก่ ก็คือคนรับใช้ดีๆนั่นแหละ)ของลุงตัวเองเป็นเมีย ซึ่งเมียทั้งสองคนของพ่อและลูก ตอนจบก็มีชีวิตดีขึ้นเพราะไปแต่งงานกับคนอื่น แต่ด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน เสกพรฆ่าตัวตาย ส่วนปัณณิกาขอหย่าจากเสกสุธา ตรงนี้ก็น่าสนใจเหมือนกัน

อีกอันที่น่าสนใจ คือ สัญญะต่างๆที่คนเขียนทิ้งไว้เรื่อยๆในเรื่อง เช่น งานแต่งงานที่ฝนฟ้าพายุคะนองพัดเข้างาน,ดวงตะวันที่เห็นเพียงครึ่งเดียวตอนเสกสุธากับปัณณิกาเห็นตอนเดินทางจากภูเก็ต,แม่ของเสกสุธาอ้วนท้วนสมบูรณ์เมื่อมาเป็นเมียน้อยนายหยี แต่ตอนที่เป็นเมียของเสกพร กลับสวยงามแฉล้มแช่มช้อย(ตรงนี้ทำให้คนอ่านฉุกคิดว่า ตอนที่แม่ของเสกสุธาเป็นเมียของเสกพรนั้น “แฉล้มแช่มช้อย” เป็นเพราะว่ากินอยู่อดๆอยากๆ บวกกับต้องทำงานเป็นขี้ข้ารับใช้สามีและลูกงกๆรึเปล่า เลยหุ่นสเลนเดอร์ แต่พอมาอยู่กะนายหยี มีความสุขขึ้น ข้าวปลาได้กินครบ ทั้งแม่และน้าจ้อนก็อ้วนท้วนสมบูรณ์ขึ้น),สระน้ำที่เสกสุธามาเห็นที่บ้านของปัณณิกาตอนกลางคืน ของวันแรกที่กลับจากอังกฤษ ที่มองไกลๆแล้วสวยงาม แต่เมื่อเดินเข้ามามองใกล้ๆ ก็รกรุงรัง ไม่สวยงามอย่างที่มองเห็นไกลๆ

และเทคนิคการเล่าเรื่อง ที่ บางตอน จะเล่าตอนเสกสุธาอายุ 70 กว่า และเห็นของอย่างนึง ก็จะ refer ความรู้สึกไปถึงของอย่างเดียวกันในอดีต เช่น เสกสุธาเห็นกับข้าวที่แม่ประจง(แม่บ้านที่จ้างมาทำงานบ้าน)ทำมาให้กิน เป็นข้าวต้ม ยำกุนเชียงมันและเลี่ยน ไข่เจียวแฟ่บๆเกรียมๆ ก็จะ refer ไปถึงช่วงอดีตที่ลลิสาทำไข่เจียวแบบฝรั่งเศสให้กิน, หรือเสกสุธาไปงานศพพ่อของแม่ประจง ก็จะ refer ไปถึงงานศพของสมฤกษ์ในอดีตด้วย เทคนิคการเล่าเรื่องนี้ผมชอบมาก นอกจากจะเล่าเรื่องเชื่อมโยงอดีต-ปัจจุบันได้แล้ว ยังสื่อถึงความตกต่ำของเสกสุธาในวัยปลายของชีวิตได้ดีมากอีกด้วย ระหว่าง ไข่เจียวแฟ่บ-ไข่เจียวแบบฝรั่งเศส,งานศพพ่อของประจงที่จัดงานแบบบ้านๆ-งานศพของสมฤกษ์

แนะนำว่า ใครที่อยากเขียนนวนิยาย น่าลองอ่านงานของนักเขียนเก่าๆแบบนี้ดู และลองสังเกตกลวิธีการเขียน เทคนิคการเล่าเรื่องที่นักเขียนเก่าๆใช้ เอามาประยุกต์ใช้กับงานเขียนของตัวเองได้ บ่องตง คืออยากแนะนำให้นักเขียนกลุ่ม “สุภาพบุรุษจุฑาเทพ” รีบซื้อจุดดับในดวงตะวันมาอ่านเพื่อศึกษาแนวทางการเขียนนวนิยายพีเรียดโดยไว

และถ้าอ่านจุดดับฯ ไป ฟังเพลงๆนี้ไปด้วย จะได้อารมณ์มากครับ http://www.youtube.com/watch?v=OvnVbNVfAUw
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่