มาเรียนรู้สัญญาณไฟจากรถบรรทุกดีกว่า [มีภาพประกอบ]

ผมomenasa ขอยกเอาบทความ "ไขความหมาย 'สัญญาณไฟสิบล้อ' ไม่ใช่ 'รหัสลับ' แต่เป็น 'รหัสรักและหวังดี'" จาก ไทยรัฐมาอ้างอิง โดยบทความนี้ผมได้โพสไว้ที่ http://www.thaibrioamazeclub.com นึกขึ้นได้ว่ามันมีประโยชน์ต่อผู้ใช้รถเวลาเดินทางไกลแน่ๆ เลยนำมาฝากเพื่อนๆชาวพันทิพทุกท่าน เพื่อให้กระจ่างและเห็นภาพได้ชัดยิ่งขึ้น ผมเลยจัดทำanimationขึ้นมาประกอบ เพื่อให้คุณผู้อ่านได้เข้าใจและเรียนรู้สัญญาณไฟเวลาขับบนท้องถนน จะได้ไม่งงและไม่ถูกผู้อื่นด่า


ภาพลักษณ์ของรถบรรทุกขนาดใหญ่มักติดอยู่กับ 'ยักษ์มาร' อย่างแยกกันไม่ออก ด้วยขนาดใหญ่โตมโหฬารเสียงกระหึ่มก้องสะท้านทั่วถนน ซ้ำร้ายภาพเหล่านั้นยังติดสอยห้อยตามคนขับสิบล้อเหมือนผีจู-ออน ขี่คอตามหลอกหลอนให้ใครที่พบเห็นตัดสินไปแล้วว่า เขาเหล่านั้นคือคนใจไม้ไส้ระกำไปเสียหมด....จบกัน      

แต่หากใครได้รู้จักมักคุ้นกับบรรดาสิงห์สิบล้ออย่างดิบดี ก็จะพบว่านอกจากส่วนใหญ่ที่ต้องสู้ชีวิตหาเลี้ยงครอบครัวแล้ว เขายังชอบเผื่อแผ่สิ่งดีๆ ให้ผู้ร่วมทางบนท้องถนนเส้นเดียวกันอีกด้วย   

ไทยรัฐออนไลน์ขอพาไปทำความรู้จักกับนิสัยน่าร๊ากกกอ่ะ...ของยักษ์ใหญ่เจ้าถนนกันหน่อยปะไร อาจทำให้ใครหลายคนหลงรักเจ้ายักษ์ตัวนี้ขึ้นมาอย่างเฉียบพลันก็เป็นได้ ความน่ารักที่ว่าก็คือ...การส่งสัญญาณด้วยไฟลักษณะต่างๆ เพื่อบอกถึงเหตุการณ์ข้างหน้า เพื่อให้เราเตรียมพร้อม...เป็นไงล่ะ แค่ฟังก็น่าร๊ากกกกซะ



ระวังนะ!!!
เมื่อไหร่ที่สังเกตเห็นรถบรรทุกคันหน้าสัญญาณเป็นลักษณะไฟเลี้ยวซ้ายที-ขวาที สลับกัน เป็นสัญญาณบอกว่าให้เราระวัง เพราะเขากำลังจะเบรก ด้านหน้าอาจมีด่านหรือเกิดอุบัติเหตุอยู่ เพราะฉะนั้นให้เราวิ่งด้วยความเร็วต่ำ และห้ามแซงขึ้นไปนะ





เชิญเลยจ้า
หากเราขับตามแล้วรู้สึกว่ารถบรรทุกคันหน้าวิ่งช้า เลยตัดสินใจจะแซง แล้วสังเกตเห็นว่าอยู่ดีๆ รถบรรทุกดันเปิดไฟเลี้ยวซ้ายทั้งๆ ที่ไม่มีซอกซอยหรือทีท่าจะเลี้ยวแต่อย่างใด นั่นแสดงว่าเขาบอกเราว่า ข้างหน้าปลอดภัยจ้า เชิญแซงออกขวาได้ตามอัธยาศัยเลยตัวเอง





ไม่ได้นะ ห้ามไป
แต่ถ้าเป็นเหตุการณ์เหมือนข้อที่แล้ว ที่เราคิดกำลังจะแซงรถบรรทุกเจ้ากรรมคันเดิม แล้วสายตาดันไปกระแทกกับไฟเลี้ยวขวาที่สว่างขึ้นมา นั่นแสดงว่าเขาจะบอกเราเป็นนัยๆ ว่าห้ามแซงนะ อาจมีโค้ง หรือมีรถสวนมา ถ้าแซงล่ะก็ไม่พ้นแน่ๆ ให้รอก่อน แล้วโดยส่วนมากเมื่อทุกอย่างคลี่คลาย คนขับรถเขาก็จะกลับมาเปิดไฟเลี้ยวซ้ายอีกที ส่งสัญญาณให้เราแซงได้อย่างสะดวกโยธิน





ของทางหน่อย จะตรงไป
เมื่ออยู่ตรงสี่แยก แล้วสังเกตเห็นรถบรรทุกเปิดสัญญาณไฟฉุกเฉิน นั่นแสดงว่าเขาจะบอกเราว่า เขากำลังจะตรงไปไม่เลี้ยวนะ หากคันหลังจะตรงก็ตามมาได้เลย ถ้าจะเลี้ยวเชิญตามสบาย (อันนี้ก็ไม่รู้ว่าไปได้มาจากไหน เห็นรถยนต์นำมาใช้อยู่บนท้องถนนในปัจจุบัน ขอเตือนไว้ว่าอย่าเปิดถ้าจะตรงไป เพราะถ้าคนเห็นแค่ข้างตัวรถ จะเข้าใจผิด นึกว่าเปิดไฟเลี้ยว ซึ่งอาจจะนำมาซึ่งอุบัติเหตุได้)





ช่วยส่องไฟ จะได้เห็นๆ
หากเวลากลางคืนบนทางอันมืดมิด เราขับตีขวาแซงขึ้นไป จะสังเกตว่ารถบรรทุกมักจะยกไฟสูงขึ้น สาเหตุก็เพื่อส่องทางข้างหน้าให้เราเห็นชัดเจน และถ้าไฟดับลงเมื่อไหร่ก็แสดงว่าให้เรากลับเข้าเลนได้ แสดงว่าแซงพ้นแล้ว ถ้าเราเจอคนขับน่ารักแบบนี้ เมื่อแซงพ้นแล้วก็บีบแตรสั้นๆ ขอบคุณสักหน่อย เดี๋ยวเขาก็จะบีบแตรตอบกลับมา...ใช้ถนนแบบนี้ น่ารักกันจริงเชียว





ข้างหน้ามีเหตุ
ในกรณีที่เราวิ่งสวนทางกับรถบรรทุก เขาก็มีสัญญาณไฟเช่นกัน ถ้าหากเห็นรถที่สวนมาดับไฟหน้าและเปิดขึ้น แสดงว่าเขาอยากบอกว่าทางข้างหน้ามีด่านหรือไม่ก็อุบัติเหตุรุนแรงให้เตรียมรับมือไว้เสียแต่เนิ่นๆ





เช็กเพื่อนร่วมทางข้างหน้ามีเหตุ
หากเห็นรถบรรทุกวิ่งสวนมา แล้วกะพริบไฟสูง 1 ครั้ง มี 2 กรณีคือ ต้องการตรวจสอบว่าเราง่วงนอนหรือเปล่า สติยังครบถ้วนใช่ไหม หรือเป็นการถามว่าทางที่เราผ่านมามีด่านหรืออุบัติเหตุอะไรหรือเปล่า ถ้าทุกอย่างปกติดี ก็กะพริบไฟหน้าตอบเขาไป 1 ครั้งก็แล้วกัน






ข้างหน้ามีด่าน
หากเห็นรถบรรทุกคันที่สวนมา อยู่ดีๆ กะพริบไฟหน้าพร้อมเปิดไฟเลี้ยวมาทางฝั่งเรา นั่นแสดงว่าข้างหน้ามีด่าน ให้เตรียมตัวและระมัดระวัง เตรียมชะลอรถได้แล้ว หากยังวิ่งด้วยความเร็วอาจเกิดอันตรายได้






ขอทางหน่อย
หากเห็นรถบรรทุกวิ่งกันมาเป็นแถวๆ แล้วจู่ๆ มีคันในแถวแฉลบหัวรถออกมาพร้อมกะพริบสูงไฟ 1 ครั้ง นั่นแสดงว่าเขากำลังขอทางและบอกกลายๆ ว่ากำลังจะเร่งเครื่องแซง ขอใช้ทางวิ่งในเลนของเราแล้วนะ ถ้าเราพร้อมจะเปิดทางก็กะพริบไฟ




แต่ที่สำคัญที่สุดคือตั้งสติ ก่อนสตาร์ท ไม่ประมาทเป็นปลอดภัย ใช้รถ ใช้ถนน ด้วยความระมัดระวังนะครับเพื่อนๆ อย่าเมาแล้วขับ อย่าขับแล้วโทรนะจ๊ะอย่าลืม หากผิดพลาดประการใด ขออภัยมา ณ ที่นี้

Creditเนื้อหา : ไทยรัฐ
ภาพประกอบ : omenasa
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่