[CR] ตะลุยเกาะเหนือนิวซีแลนด์เมื่อวัยใกล้ 60 - 3.แยก "แกะเขา" "แกะเรา"


ฟาร์มหน้าแล้ง แห้งมาก



ทุกเช้าเราจะขับฟาร์มไบค์ที่บ้านเราเขาเรียก ATV ไปที่ฟาร์ม เอาหญ้าแห้งให้แกะ ปกติจะปล่อยให้เขาหาหญ้ากินเอง แต่หน้าร้อนนี้แล้งมากหญ้าแห้งตายหมด ที่ปลูกก็โตไม่ทันเพราะขาดน้ำ พอให้หญ้าแกะเสร็จก็ตระเวนดูว่าแกะอยู่สุขสบายดีมั๊ย มีตัวไหนเจ็บป่วยหรือเปล่า มีรั้วตรงไหนพังมั๊ย  มีอะไรที่ผิดปกติมั่ง ถ้ามีก็จะกลับมารายงาน ลุง Rich แก...แกะป่วย รู้ได้ไงว่าป่วย..ไม่ยากค่ะดูที่ก้นแกะ หากขนเขาแฉะ มีอึติดนุงนัง แมงวันตอมหึ่ง...นั่นแหละ เขาป่วยค่ะ ต้องรีบโกนขนพ่นยาฆ่าเชื้อ...ไม่ได้ทำเองค่ะ กลับมารายงาน แล้วลุงแกก็ไปจัดการ เคยลองเอง...ลากเข้าแกะเข้าช่องโกนขนแกะ ถูกแกะถีบอ่ะ สู้แรงไม่ไหว...ถอย ดีก่า ไม่อาวดีก่า


ฟาร์มไบค์คู่ชีพ




สองสามวันก่อนสังเกตเห็นว่ามีแกะหน้าตาแปลกๆ แปลกปลอมเข้ามาอยุ่กับแกะเรา...แปลกยังไง แกะก็หน้าเหมือนกันทั้งนั้นแหละ...ค่ะใช่ แต่จริงๆ แล้วเขาไม่เหมือนกันนะ บางตัวแก้มป่อง บางตัวแก้มตอบ บางตัวหูเอียง แต่...แฮ่ะ แฮ่ะ เราไม่ได้ดูแบบนั้นหรอก ที่รู้ว่ามีแปลกปลอมก็เพราะว่าแกะบางตัวหูแหว่งๆ
แกะตามฟาร์มต่างๆ ที่นี่ เจ้าของเขาจะตัดริมหูเป็นสัญลักษณ์เพื่อให้จำได้ว่าเป็นแกะของตัวเอง บางคนก็ตัดเป็นรูปตัววีเล็กๆ บางคนก็ตัวยู บางคนก็วงกลม ลุงแกขี้เกียจค่ะ เห็นว่าคนอื่นเขาตัดกัน แกไม่ตัด ทุ่นแรงดี หูแกะเราก็เลยสมบูรณ์สวย สองสามวันนี้มองๆ ไป...เจ้าตัวนั้นทำไมหูแหว่งหว่า อ้าว โน่นก็แหว่ง...เราถึงรู้ว่ามีแกะแปลกปลอมเข้ามา แต่ไม่รู้ว่าเท่าไร ไม่ได้ต้องรีบไปรายงาน เอาผลงานซะหน่อย...แต่ต้องให้ข้อมูลแน่นหน่อย แกะคนอื่นเข้ามาได้ รั้วตรงไหนต้องพังสักแห่ง


ลำธารท้ายฟาร์ม



เราสำรวจรั้วทั้งหมดก็พบว่าตรงลำธารท้ายฟาร์มส่วนที่ต่อกับฟาร์มตาจอห์น รั้วเป็นตาข่ายห่างๆ ขาดเป็นช่องประมาณเมตรหนึ่ง อย่างนั้นแกะแปลกปลอมเนี่ยต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นแกะตาจอห์น ให้แน่ใจ...ด้อมๆ มองๆ แกะตัวอื่นของตาจอห์น...นั่นไง แหว่งแบบเดียวกันเลย...ชัวร์ แหม๋ แหม๋ พวกนี้ แอบมาให้เราเลี้ยงตั้งแต่เมื่อไรเนี่ย เปลืองแรง เปลืองหญ้าไปเท่าไรแล้ว ต้องไปตามตาจอห์นให้มาเอาแกะแกไป ว่าแล้วเราก็จะไปบ้านตาจอห์น ลุงแกเห็นพอดี...ไม่ต้องไป พรุ่งนี้ตื่นแต่เช้านะ เรามีงานต้องทำ..นั่นงัย งานเข้าเลย
เช้าวันต่อมา ลุงแกก็พามายืน ชี้ๆ ไปทางโน้น ชี้ทางนี้...เราจะแยกแกะ ไอจะต้อนแกะเข้าประตูโน้น ยูไปยืนตรงนั้น คอยกันไม่ให้แกะไปทางประตูนั้น พอไปถึงตรงนั้น ไอจะต้อนไปทางโน้น ยูไปยืนตรงนั้น..........ใครว่าชาวสวนชาวนาเขาทำงานตามสบาย ไม่จริงเลย ดูลุงแกมีการวางแผนงาน...ว่าแต่...เฮ้อ ทำไมต้องเป็นงานเรา ทำไมไม่ไปตามตาจอห์นมาจัดการ...ลุงแกขี้เกรงใจค่ะ แกกลัวตาจอห์นจะอายที่ละเลยต่อหน้าที่จนปล่อยแกะมาให้เราเลี้ยงอ่ะ  
ฟาร์มที่นี่เขาจะแบ่งเป็นล๊อค (paddock) โดยมีรั้วไฟฟ้ากั้น แล้วมีประตูลวดหนามบ้าง ไม้บ้าง เปิดเข้าออกล๊อคต่างๆ อย่างที่ฟาร์มมี  7 ล๊อค ใหญ่มั่งเล็กมั่ง อย่างที่วาดผังให้ดู เส้นทางที่เห็นในผังเป็นเส้นทางการต้อนแกะ อย่างต้อนครั้งที่ 1 เราเปิดประตูล๊อคนั่น ลุงแกก็จะขับฟาร์มไบค์ต้อนแกะที่อยู่บริเวณนั้นๆ ไปทางประตูนั่น เราต้องไปยืนตรงระหว่างแนวสนกับโรงเก็บแทรกเตอร์ เพื่อไม่ให้แกะมาทางประตูที่ไปบ้าน พอแกะเข้าไปอยู่ล๊อคที่ต้องการแล้วก็ปิดประตูนั้นเปิดประตูที่ 2 เราก็ต้องยืนที่ประตูที่ 1 ลุงแกก็จะต้อนแกะไปทางประตูที่ 2...ก็ทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ลุงแกสบายอ่ะ แกขับฟาร์มไบค์แต่เราเดิน...เฮ้อ



แผนผัง paddock ในฟาร์ม


เห็นลุง Rich เริ่มต้อนแกะอยู่ไกลๆ




แกะมากันแล้ว


เริ่มเข้าไปในล๊อค (paddock) ที่ต้องการ




ตอนนี้แกะเข้าไปอยู่หลังโรงโกนขนแกะ

ต้อน 6 ครั้งแกะก็มายืนสลอนรอแยกอยู่หลังโรงโกนขนแกะ ที่นี่เรามีทางเดินซึ่งช่วงต้นๆ จะกว้างหน่อย ปลายทางจะแคบเดินได้ตัวเดียว และมีประตูปิดเปิดสำหรับแยกแกะให้เข้าไปตามคอกที่ต้องการ...อธิบายยากค่ะ ต้องเห็นภาพ ดูแผนผังที่เราแนบมาประกอบด้วยแล้วกัน...เราเป็นคนต้อนแกะให้วิ่งไปตามทางเดินตรงกลาง ลุงแกจะคอยเปิดปิดประตูบังคับ ”แกะเรา” ให้เข้าคอกใหญ่ปลายทางเดิน ส่วน “แกะเขา” แกะตาจอห์นน่ะ เข้าคอกทางซ้ายมือ ถ้าดูตามผังที่เราแนบมาให้ดูจะเห็นตัวอย่างการเปิดประตูให้แกะวิ่งเข้าคอกทางขวามือของแกะ ลุงแกมือไว ตาไวมากเลย เพราะคุณแกะเธอไม่ได้เดินนวยนาดเข้าคอกนะ...วิ่งจี๋เลย


แผนผังโรงแยกขนแกะและทางบังคับแกะ


เป็นช่องบังคับแกะ มองจากด้านหลังโรงแยกแกะ




ประตูบังคับ แกะวิ่งตรงเข้ามาจะเลี้ยวเข้าล๊อคขวามือ


แกจะวิ่งตรงมาเข้าลีอคกลาง




แกะจะวิ่งมาแล้วเลี้ยงเข้าล๊อคซ้ายมือ


แกะกำลังเพลินกินหญ้า เรากำลังเริ่มต้อนแกะให้ไปตามทางบังคับ




เริ่มแล้วค่ะ


วิ่งไปแล้วค่ะ ฝีมือผู้ใหญ่เลี้ยงแกะ




"แกะเรา" ค่ะ

แยกหมดแล้วก็ปล่อย ”แกะเขา” ออกทางประตูรั้วหลังโรงโกนขนแกะซึ่งเป็นเขตต่อกับฟาร์มตาจอห์น ส่วน “แกะเรา” ลุงแกก็จะนับและปล่อยกลับเข้าฟาร์ม...ดูมาดลุงแกนับซะก่อน...ทำงานทั้งที ไม่ให้เสียเวลาเปล่า เช็คสต๊อคเสียเลย  


ต้อน "แกะเขา" กลับบ้าน




ปล่อย "แกะเรา" คืนทุ่ง นับสต๊อคเสียเลย

การต้อนแกะโดยทั่วไปเขาจะใช้ sheepdog ที่เจ้าของฝึกให้ต้อนแกะ พวกนี้เก่งมาก เขาจะวิ่งไปทางโน้น วิ่งมาทางนี้ ต้อนแกะจนแกะไปตามทางที่ต้องการ ลุงแกเคยมี sheepdog 5 ตัว เก่งมาก ตอนนี้แกทำฟาร์มเป็นงานอดิเรก แกะมีแค่ 150-200 ตัว...น้อย ไม่จำเป็นต้องใช้หมา เลยให้เพื่อนรุ่นน้องที่ทำฟาร์มข้างๆ ไป...น่าจะเหลือไว้ตัวเนอะ...แกบอก...เป็นภาระวุ๊ย จะขี่บิ๊กไบค์หายไป 3 วัน 3 คืนอย่างที่ชอบก็ไม่ได้...เอ๋ ตกลงเราทำงานแทนใครเนี่ยยยย
ตามหลักการบริหารค่ะ วางแผนงาน ลงมือปฏิบัติ ทำแล้วต้องมีการประเมินผลงาน...วันรุ่งขึ้นก็ซิ่งฟาร์มไบค์ไปเลย...ทุกตัวสุขกายสบายใจดี “แกะเรา” ก็เลียบๆ เคียง ข้างรั้วตาจอห์น “แกะเขา” ก็เกาะรั้วมองแกะเรา...หรือหญ้าแห้งเราหว่า...ตาละห้อย



เช้าวันต่อมา หมอกลง




ที่ประตูบังคับแกะ ชอบมาก...ภูมิปัญญาจริงๆ


รั้วไฟฟ้า ไม่แรง แค่ทำให้แกะกลัว




"แกะเรา" ดูมีความสุขจัง


"แกะเรา" บางส่วนนอนเล่นข้างรั้ว ที่ข้างๆ เป็นของตาจอห์น




"แกะเขา" ยังเลียบๆ มองๆ จะมาหา "แกะเรา" หรือหญ้าเราก็ไม่รู้


ไปรดน้ำต้นไม้ค่ะ แล้งจัด



กลับมาก็ขับแทรกเตอร์ขนน้ำไปรดต้นไม้...หน้าแล้งค่ะ
นั่นเป็นส่วนหนึ่งของงานเรา สบาย...สบาย อยู่กับทุ่งหญ้าโล่ง (แม้ตอนนี้จะแห้งไปหน่อย) อากาศโปร่ง สบายใจดี ตอนนี้ก็หางานใหม่เพิ่มเอง เราซื้อเป็ดมาเลี้ยง 8 ตัว ตัวละ 5 เหรียญ ตัวผู้ 2 ตัวเมีย 4 หวังกินไข่น่ะ...ประหยัดค่ากับข้าว...ตอนแรกซื้อแค่ 3 ตัว มองไปมองมากลัวเขาเหงาเลยซื้อเพิ่ม เมื่อเช้ามองไปทีสระ...เฮ้ย มี 9 ตัวแล้ว...เปล่า...ไม่ใช่ลูกเป็ด เป็ดเรายังเด็ก...เป็ดป่าน่ะ มาจากไหนไม่รู้ ตัวเล็กๆ สีดำๆ ที่เห็นในรูป อยู่ซ้ายมือนั่นแหละ


เป็ดที่เลี้ยงค่ะ น้ำในสระลดลงมาก


มี 8 ตัว แต่มีเป็ดป่ามาอยู่ด้วย ตัวสีดำเล็กๆ ซ้ายมือ เลยเป็น 9 ตัว



มีความสุขมากๆ กับการทำงานค่ะ...แล้วพบกันใหม่


ดอกไม้หัวใจดอกไม้

ชื่อสินค้า:   ฟาร์มแกะเล็กๆ ที่ Waipukurau, Hawke's Bay, New Zealand
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่