Market Panic บททดสอบสำคัญของนักลงทุน บลจ.บัวหลวง จำกัด

กระทู้สนทนา
Bualuang House View
บลจ.บัวหลวง จำกัด
27 มีนาคม 2556
ทีมงานจัดการกองทุนบัวหลวง โดย พิชา เลียงเจริญสิทธิ์

Market Panic บททดสอบสำคัญของนักลงทุน

ผ่านกลางเดือนมีนาคมไปได้ไม่เท่าไร ตลาดหุ้นไทยได้เกิดอาการแห่เทขายของนักลงทุน หรือที่เรียกกันว่า Market Panic ซึ่งอาจจะทำให้นักลงทุนที่เพิ่งเข้ามาเล่นหุ้นในระยะ 1 ปีนี้ตกใจมากเป็นพิเศษ เพราะนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว หุ้นไทยได้มีการปรับตัวขึ้นมาโดยตลอดโดยแทบจะไม่มีการปรับฐานลงอย่างมีนัยสำคัญเลย บางคนแทบจะจำบรรยากาศตอนที่หุ้นลงไม่ได้แล้วว่ามันเป็นยังไง อย่างไรก็ตาม ต้องจำไว้ว่า Market Panic เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เป็นระยะๆ ในตลาดหุ้น รวมไปถึงตลาดสินทรัพย์ลงทุนประเภทอื่นๆ ด้วย

ตัวอย่าง Market Panic ในตลาดหุ้นไทยครั้งก่อนหน้านี้ เช่น ตอนปลายปี 2554 ที่มีประเด็นความกังวลเรื่องปัญหาหนี้สาธารณยุโรป ปลายปี 2551 ที่เกิดวิกฤติ Lehman Brothers หรือ ตอนปลายปี 2549 ที่ทาง ธปท.มีแผนจะใช้มาตรการ Capital Control  จึงเห็นได้ว่า Market Panic อาจจะเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้ ทั้งช่วงตลาดกระทิง (Bull Market) หรือตลาดหมี (Bear Market) โดยมีเหตุการณ์ที่สร้างความกังวลให้นักลงทุนมากๆ หรือไม่มีเลยก็ได้ อย่างล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่3 ของเดือนมีนาคม การที่หุ้นไทยปรับตัวลงมากๆ นั้น ก็ไม่ได้มีเหตุการณ์อะไรที่น่ากังวลเป็นพิเศษ เพียงแต่ช่วงก่อนหน้าอาจจะมีการเก็งกำไรในหุ้นหลายๆ ตัวมากเกินไป

ที่น่าสนใจคือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ Market Panic จะมี “นักเล่นหุ้น” บางกลุ่มที่ผ่านพ้นเหตุการณ์นี้ไปได้ค่อนข้างดี ซึ่งมี 2 พวก ได้แก่

นักเก็งกำไรมืออาชีพ พวกนักเล่นหุ้นกลุ่มนี้เขาตัดขาดทุน (Cut loss) เสียแต่เนิ่นๆ ยอมขาดทุนนิดหน่อย ไม่ปล่อยให้ขาดทุนหนัก ในขณะที่บางคนก็ทำ Short Sell ได้กำไรกันไปด้วยซ้ำ

อีกประเภทคือ นักลงทุนระยะยาวที่มีความรู้จริง  คนกลุ่มนี้จะเลือกลงทุนในกิจการที่เขามีความเข้าใจดีจริงๆ  รู้ว่ากิจการนั้นจะสามารถดำเนินธุรกิจได้ดีต่อเนื่องและมีสามารถในการแข่งขันได้ดี โดยเขาจะหลีกเลี่ยงการถือหุ้นที่แพงกว่ามูลค่าตามพื้นฐานมากๆ  ทั้งนี้ หลังจากเหตุการณ์ Market Panic ผ่านพ้นไป ราคาหุ้นประเภทนี้ที่ร่วงลงไปมากก็จะฟื้นกลับขึ้นไปตามพื้นฐานที่ควรจะเป็น (หุ้นที่ดีมากๆ บางตัวราคาอาจจะลดลงเพียงเล็กน้อยก็ได้ตอนเกิดPanic) อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ตลาดหุ้นยังย่ำแย่อยู่ เขาอาจจะต้องอดทนดูตัวเลขขาดทุนในพอร์ตลงทุนอยู่ระยะหนึ่ง แต่ถ้าเขามั่นใจในความยั่งยืนและมูลค่าที่เหมาะสมของกิจการที่ลงทุน เขาก็ไม่ควรไปเดือดเนื้อร้อนใจอะไร

ส่วนกลุ่มนักเล่นหุ้นที่จะเสียหายหนักนั้นก็มี 2 ประเภทเช่นกัน

ประเภทแรกคือ นักเก็งกำไรที่ไม่ Cut loss ซึ่งอาจจะเกิดจากความไม่มีประสบการณ์มากพอ หรือ อาจจะไม่สามารถขายหุ้นได้ทัน เพราะเวลาเกิด Market Panic สภาพคล่องในตลาดมักจะลดน้อยลงไปมากโดยเฉพาะในหุ้นที่เจ้ามือทิ้งแล้ว ซึ่งถ้าขายก็จะต้องขาดทุนหนัก และจะน่ากลัวมากขึ้นไปอีกถ้าใช้บัญชีแบบมาร์จิ้นด้วย ที่น่าทึ่งก็คือ นักเก็งกำไรที่ไม่ Cut loss นี้ ในที่สุดก็จะกลายเป็นนักลงทุนระยะยาวที่ไม่สมัครใจ เพราะทำใจขายในราคาขาดทุนมากๆ ไม่ได้ และถึงทำใจได้ก็อาจไม่มีใครอยากซื้อ ก็เลยทนถือยาวไปเรื่อยๆ

อีกประเภทหนึ่งที่จะเสียหายหนักก็คือ นักลงทุนระยะยาวที่รู้ไม่จริง และไม่มีเหตุผลในการถือหุ้นที่ถูกต้องมากพอ เช่น คิดว่าหุ้นที่ถือเป็นกิจการที่ดีมาก เมื่อราคาหุ้นตกก็ไม่ต้องขาย ทั้งที่จริงแล้วมันเป็นกิจการที่ไม่ดี หรือกิจการดีจริงแต่ราคาหุ้นแพงมาก หรือดีแค่ชั่วคราว (เช่น หุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งธรรมชาติของธุรกิจมักมีผลกำไรแค่ในบางช่วงเท่านั้น แต่มันจะไม่ใช่กิจการที่ดีเลยในภาวะที่มีการผลิตสินค้าจากคู่แข่งมากเกินไป) หรือ หุ้นบางตัวที่มีรายได้จากงานประมูล แต่ก็เป็นเรื่องยากมากที่จะคาดการณ์กำไรของบริษัทในระยะยาวได้ เพราะมีโอกาสน้อยที่นักลงทุนจะรู้ได้ว่าบริษัทจะประมูลงานได้จริงหรือไม่ และงานที่ประมูลได้จะมีกำไรดีเท่าไหร่หากมีค่าใช้จ่ายที่มองไม่เห็น ดังนั้น การลงทุนในหุ้นแบบนี้จึงมักจะดูจาก Sentiment ของอุตสาหกรรมมากกว่า ซึ่งมันก็มีความเสี่ยงอยู่มาก

นอกจากนี้ ยังมีเหตุผลของนักลงทุนหน้าใหม่ที่จะถือหุ้นระยะยาว ซึ่งก็คือ ถือยาวเพียงเพราะได้ยิน “กูรู” (ไม่ว่า จะเป็นนักวิเคราะห์หรือนักลงทุนที่มีชื่อเสียงก็ตาม) บอกมาว่า หุ้นตัวนี้ดีนะ แล้วนักลงทุนกลุ่มนี้ก็เลยถือหุ้นไปแบบไม่ลืมหูลืมตา จนอาจมีสาเหตุของการขาดทุนที่คล้ายๆ กันก็คือ ไปลงทุนระยะยาวในหุ้นที่ไม่ดีจริง ซึ่งถ้าโชคดี หลัง Market Panic ผ่านไป หากราคาหุ้นสามารถฟื้นกลับขึ้นมาได้ก็นับว่ารอดตัว แต่ในบางครั้ง เหตุการณ์ Market Panic ก็เป็นจุดจบของการเก็งกำไรในหุ้นหลายๆ ตัว โดยที่ราคาหุ้นจะไม่กลับไปในระดับที่เคยเป็นอีกแล้ว เพราะมันไม่ดีจริง

เมื่อเหตุการณ์ Market Panic เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับการลงทุน นักลงทุนจึงควรจะเรียนรู้และเตรียมตัวเอาไว้เพื่อเอาตัวรอดให้ได้ดีจากการเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งแนวทางเตรียมตัวเบื้องต้นที่ว่านั้นก็เป็นหลักการพื้นฐานการลงทุนทั่วไป ยกตัวอย่างเช่น

1. รู้จักตัวเอง
นักลงทุนควรจะรู้ว่านิสัยใจคอของตัวเองเหมาะกับการลงทุนรูปแบบไหน เช่นในแง่ของความทนทานต่อการขาดทุนนั้นก็พอจะชี้ได้คร่าวๆ ว่า ...

ถ้าสามารถทนดูการขาดทุนทางบัญชีได้มาก คุณก็สามารถจะเป็นนักลงทุนหุ้นระยะยาวได้

ถ้าทนการขาดทุนได้บ้าง คุณก็เหมาะจะเป็นนักเก็งกำไรมากกว่า

แต่ถ้าทนการขาดทุนแม้เพียงเล็กน้อยยังไม่ได้เลย คุณก็ควรจะไปลงทุนพันธบัตรรัฐบาล ฝากเงิน (แต่แน่นอน ต้องไม่ใช่ฝากในธยาคารอย่างที่ไซปรัส) หรือกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์หลายๆอย่างให้เหมาะกับตัวเอง โดยจำกัดการลงทุนที่มีโอกาสขาดทุนไว้ด้วย
ฯลฯ

ตัวอย่างนักลงทุนต่างแนวกันที่รู้จักตัวเองดี แล้วจะรู้ว่าควรทำอะไรตอนที่เกิด Market Panic ก็ได้แก่นักลงทุนชื่อดัง 2 รายนี้ที่ไม่มีใครในแวดวงลงทุนจะไม่รู้จัก เขาคือ จอร์จ โซรอส กับ วอร์เรน บัฟเฟตต์

ตอนที่เกิดเหตุการณ์ Black Monday ช่วงเดือนตุลาคม 2530 นั้น จอร์จ โซรอส ขายหุ้นออกมาโดยไม่ได้มีท่าทางตกใจอะไร คาดว่าเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งของแผนที่วางไว้อยู่แล้ว ส่วน วอร์เรน บัฟเฟตต์ กลับใช้จังหวะ Market Panic เข้าซื้อหุ้นในราคาต่ำๆ  ซึ่งแม้ว่าทั้งสองคนจะมีแนวทางลงทุนที่ต่างกัน แต่ก็ประสบความสำเร็จในการลงทุนแบบของตนเองได้

แต่ต้องขอเตือนสำหรับเรื่องความทนทานในการขาดทุนว่า การทนทานการขาดทุนนั้นต้องมีความเข้าใจควบคู่กันไปด้วย  ทั้งนี้ นักลงทุนระยะยาวที่สามารถเพิกเฉยกับการขาดทุนในบางช่วงได้ก็เพราะว่าเขามีความรู้ในธุรกิจดีแล้ว จึงรู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ต่างกับการเพิกเฉยแบบมืดบอด เพราะอย่างหลังนี้คือขาดทุนแล้วไม่อยากรับรู้อะไร ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการลงทุนเลย

2. เตรียมความรู้และแผนการลงทุนไว้ให้พร้อม

เมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นนักลงทุนแบบไหน การจะซื้อหรือจะขายหุ้นก็ควรตัดสินใจด้วยเหตุผลที่สอดคลอ้งกัน เช่น ถ้าเป็นนักลงทุนระยะยาวที่ตัดสินใจซื้อหุ้นด้วยการดูธุรกิจ เวลาจะขายหุ้นก็ควรจะขายเมื่อธุรกิจมันไม่ได้ดีอย่างที่คิด หรือว่าขายเพราะราคาหุ้นมันสูงเกินมูลค่าไปมาก
ในขณะที่ถ้าเป็นนักเก็งกำไร เมื่อราคาหุ้นไม่ได้เคลื่อนไหวไปในแบบที่คาดคิด ถึงขาดทุนก็ควรจะขายออกไป
การมีสมมติฐานการลงทุนไว้ก่อนนั้น ถ้าเกิด Market Panic ก็จะรู้ว่าควรทำอะไร  ในทางตรงข้าม นักเก็งกำไรบางคนเพิ่งจะเริ่มต้องดูพื้นฐานหุ้นที่เล่นตอนเกิด Market Panic เพราะมีโอกาสจะต้องถือยาว ก็เลยปลอบใจตนเองด้วยการเริ่มดูปัจจัยพื้นฐาน ทั้งๆ ที่ควรทำเสียก่อนหน้าที่จะลงทุน

3. มีสติและไม่ประมาทในการลงทุน

ในเมื่อทราบว่า Market Panic นั้นมีโอกาสจะเกิดขึ้นได้เสมอ จึงไม่ควรจะทำอะไรที่เป็นการประมาทเกินไป ไม่ว่าจะเป็นเวลาใดก็ตาม เช่น การเล่นมาร์จิ้นหนักๆ หรือการเก็งกำไรจำนวนมากในหุ้นที่ไม่มีพื้นฐานรองรับและมีสภาพคล่องน้อย เป็นต้น เพราะว่าเวลาเกิด Market Panic ขึ้นมา ระดับการขาดทุนอาจจะสูงมากเกินไป การเตรียมความพร้อมและรู้ในสิ่งที่จะลงทุนจะสามารถช่วยเรื่องความมีสติได้มาก

เราไม่สามารถบอกได้ว่า หุ้นจะลงไปถึงเท่าใด นานขนาดไหน สำหรับแต่ละช่วง Market Panic แต่สำหรับรอบนี้เราเชื่อว่าในที่สุดเหตุการณ์ก็จะผ่านพ้นไป ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานของหุ้นแต่ละตัวนั้นมันจะดีหรือไม่ดีอย่างไรก็จะยังคงเหมือนเดิม และเศรษฐกิจของประเทศไทยก็ยังมีแนวโน้มดีเหมือนเดิม คงไม่เปลี่ยนแปลงเพียงเพราะว่าดัชนีหุ้นปรับตัวลงมาก

สำหรับนักลงทุนหน้าใหม่ที่ขาดทุนจากช่วงที่ผ่านมาก็อย่าเพิ่งท้อแท้ใจไปเลย แม้จะขาดทุนไปบางส่วน เช่น 20% ขอให้มองแง่ดีว่ายังมีเหลืออีกตั้ง 80% โดย 20% ที่ขาดทุนนั้นถือเป็นค่าเล่าเรียนที่ยังไม่แพงเกินไป
ดังนั้น เราต้องตั้งสติกันใหม่ แก้ไขข้อผิดพลาด  จดจำ Market Panic ครั้งนี้เป็นกรณีศึกษา ซึ่งถ้ารู้จักขวนขวายหาความรู้เราก็เชื่อว่านักลงทุนหน้าใหม่ก็จะสามารถกลายเป็นนักลงทุนที่ดีได้ในที่สุด
อย่าลืมว่าความสามารถในการพัฒนาตัวเองนั้นมีอยู่ในตัวทุกคน

แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  หุ้น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่