บทความ ลูกไม่ค่อยกินข้าว ทำอย่างไรดี

กระทู้คำถาม
นพ. กมล แสงทองศรีกมล กุมารแพทย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น แนะนำวิธีการแก้ไขและข้อควรปฏิบัติในเด็กที่มีอายุเกิน 1 ปีที่มีปัญหาการกิน 10 วิธีดังนี้ คุณแม่ลองนำไปใช้ดูนะคะ

1. ถ้าให้นมมากเกินไป ต้องลดนมลง oujgป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก เพราะคุณพ่อคุณแม่หลายคนยังเข้าใจผิดว่าให้ลูกนมมากๆ จะดี แท้ที่จริงแล้วอาหารหลักของเด็กที่อายุเกิน 1 ขวบไปแล้ว คือข้าว ( อาหาร 5 หมู่ ) ไม่ใช่นม ดังนั้น ในเด็กที่มีปัญหาการกินอาหารมากๆ อาจต้องจำกัดนมไม่ให้เกิน 16 ออนซ์ต่อวัน หรือเท่ากับนม 8 ออนซ์ 2 มื้อ ฟังดูเหมือนน้อยมาก แต่ย้ำว่าจำเป็น เพราะไม่เช่นนั้นแล้วเด็กที่มี ปัญหาการกินก็จะเลือกกินแต่นม อยู่ได้ด้วยนม ไม่ยอมกินข้าว ถึงแม้เด็กบางคนจะกินนมมาก ( เช่น เด็กอายุ 1-2 ขวบ บางคนอาจกินนมขวดละ8 ออนซ์ 5-6 มื้อต่อวัน) แต่น้ำหนักกลับไม่ค่อยขึ้น บางคนน้ำหนักตกเกณฑ์ด้วยซ้ำ การลดนมนั้นถ้าจำเป็นมักเหลือมื้อนมก่อนนอนกลางวัน และก่อนนอนกลางคืนไว้ เนื่องจากถ้าไม่ให้กินนมเด็กจะร้องกวนไม่ยอมนอน นอกจากนี้ในเด็กบางคนที่ตื่นมากินนมในเวลากลางคืนหลายครั้ง ก็ควรพยายามงดนมมื้อกลางคืนด้วย โดยเฉพาะนมช่วงเช้ามืด ซึ่งมักจะขวางอาหารมื้อเช้า ทำให้ไม่อยากกินอาหารมื้อเช้า นอกจากนี้ควรให้เด็กเลิกนมขวดเมื่ออายุ 1 ปี หรือก่อน 2 ปี เพราะเด็กที่ดูดขวดนมแล้วหลับคาปาก จะทำให้ฟันผุและมีปัญหาการเคี้ยวอาหารตามมาได้ ที่แนะนำให้ลดนมลง เฉพาะเด็กอายุเกิน 1 ขวบ ที่มีปัญหาการกินเท่านั้น เด็กหลายคนที่กินมากทั้งนม ทั้งข้าว (ไม่มีปัญหาการกิน ) ก็ไม่จำเป็นต้องไปลดนม แต่ระวังลูกจะเป็นโรคอ้วนแทน

2. ทิ้งช่วงห่างระหว่างมื้ออาหาร ( นมกับข้าว )อย่างน้อย 4 ชั่วโมง แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ทำตารางเวลาการให้อาหารไว้เพื่อสะดวกในการประเมินความเหมาะสมของอาหารและระยะห่างของอาหารแต่ละมื้อ

3. งดอาหารหวานทุกชนิด เช่น ขนมถุง ขนมซอง ไอศกรีม น้ำอัดลม น้ำหวาน ทอฟฟี่ ช็อกโกแลต ขนม อาหารเหล่านี้จะมีรสหวาน หลังกินจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดจะสูงขึ้น ซึ่งจะไปกดศูนย์การหิวซึ่งอยู่ในสมองของคนเรา ตรงนี้ล่ะที่เป็นสาเหตุทำให้เด็กอิ่ม ไม่อยากอาหาร ดูตัวเราเองก็ได้วันไหน ช่วงบ่ายๆ หลังจากอาหารเที่ยง ลองรับประทาน น้ำหวาน น้ำอัดลมไปเรื่อยๆ พอถึงมื้ออาหารเย็น เราอาจรู้สึกอิ่มๆ ไม่ค่อยอยากอาหารได้เช่นกัน

4. เวลากินอาหารควรเป็นบรรยากาศสบายๆ เหมือนเวลาเราไปเที่ยวชายทะเล วิวดี สบายใจก็มักจะทานอาหารได้มาก ดังนั้นในมื้ออาหารจึงไม่ควรคาดหวัง เข้มงวด หรือทำให้เด็กรู้สึกเครียด และไม่ควรวิพากษ์ วิจารณ์ปริมาณอาหารที่เด็กกิน

5. ไม่ควรดุว่าลงโทษ แสดงอารมณ์โกรธ ไม่พอใจ หรือพูดให้เด็กรู้สึกผิด

6. ฝึกให้เด็กช่วยเหลือตัวเองในการกิน อันนี้สำคัญมากเช่น เด็กอายุ1ปีก็เริ่มจะตักข้าวกินเองได้ โดยเราอาจยอมให้หกเลอะได้บ้าง ไม่ควรป้อน หรือพยายามบังคับให้เด็กกิน อีกวิธีหนึ่งคือการหาอาหารซึ่งเด็กสามารถใช้มือหยิบจับกินเองได้สะดวก เช่น น่องไก่ ข้าวเหนียวปั้น เด็กจะรู้สึกสนุกกับการกินมากขึ้น

7. ตักอาหารน้อยๆ ในถ้วยหรือจานสำหรับเด็ก ถ้าไม่พอจึงค่อยเติม คุณพ่อคุณแม่บางท่านโลภมาก อยากให้ลูกทานอาหารมากๆ ก็ตักข้าวพูนจาน ยิ่งทำให้ลูกไม่อยากกินอาหาร ( แค่เห็นจานข้าวก็ท้อแล้ว )

8. ถ้าเด็กไม่กินหรือเล่นอาหาร ให้เก็บอาหาร โดยไม่ให้นมหรือขนมอีกเลยจนกว่าจะถึงอาหารมื้อใหม่ ตรงนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องตัดใจ แต่วิธีนี้เท่านั้นที่อาจจะทำให้ลูกกินข้าวได้ ถ้าเด็กหิวก่อนถึงเวลาของมื้อต่อไป ก็อนุญาตให้กินอาหารเดิม คือมื้อที่เด็กปฏิเสธไปโดยอาจนำมาอุ่นให้ แต่ห้ามให้นมหรือขนมแทน ถ้ามื้อนี้กินน้อย มื้อหน้าเด็กจะกินมากขึ้นเอง เพราะมนุษย์เราทุกคนมีศูนย์ควบคุมการหิวอยู่ที่สมอง ดูตัวอย่าง เราเองก็ได้ สังเกตว่าถ้ามื้อเที่ยงเรากินน้อย หรือไม่ได้กิน พอถึงมื้อเย็นเราจะกินได้มากขึ้น เพราะศูนย์หิวทำงานนั่นเอง พอหิวแล้วพบว่าเด็กหลายๆ คนเลือกอาหารน้อยลง เดิมไม่กินผักหรือไม่เคี้ยวเนื้อหมูก็เริ่มกินได้

9. ให้เด็กกินอาหารพร้อมผู้ใหญ่ จะช่วยกระตุ้นให้เด็กอยากอาหารได้อย่างมาก วิธีนี้ไม่ลอง ไม่รู้ คุณพ่อคุณแม่หลายคนแปลกใจ กับการที่ลูกกินอาหารได้มากขึ้น เวลากินร่วมโต๊ะอาหารกับพ่อแม่ บรรยากาศในครอบครัวก็จะดี ขึ้นด้วย ดูดีกว่าภาพที่คุณพ่อคุณแม่วิ่งไล่ป้อน พยายามบังคับให้ลูกกินข้าวเป็นไหนๆ

10. สร้างระเบียบวินัยในการกินให้เด็ก การกินของเด็กก็มี เรื่องของระเบียบวินัย ซึ่งหมายถึงสุขลักษณะนิสัยที่ดีในการกินอาหาร ได้แก่

- เริ่มมื้ออาหารบนโต๊ะอาหารเสมอ ไม่ควรลุกออกไป เล่นไปกินไป ตรงนี้มีข้อผ่อนผันได้บ้างคือเริ่มมื้ออาหารบนโต๊ะก่อน แต่ถ้าเด็กไม่ยอมกิน ลงจากเก้าอี้ไป จะไปเล่น ก็ อนุโลมให้เดินตามไปป้อนได้บ้าง แต่ถ้าลูกเริ่มอมข้าว ป้วนข้าว หรือสะบัดหน้า (ไม่ยอมกิน) 2-3 ครั้งแล้ว ก็ควรเลิกป้อน แล้วเก็บอาหารไป ต้องตัดใจ
- เวลาในการกินอาหารไม่ควรเกิน 20-30นาที คุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจเดินตามป้อนข้าวลูกหรือลูกเล่นไปกินไปเป็นชั่วโมง ซึ่งจะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกเบื่อหน่ายการกินอาหาร
- ไม่เปิดโทรทัศน์ขณะกินอาหาร และไม่ควรเล่นของเล่นบนโต๊ะอาหาร เพราะจะดึงความสนใจเด็กจากอาหารที่อยู่ตรงหน้า และจะเกิดเงื่อนไขที่ไม่เหมาะสม ปัญหาการเปิดโทรทัศน์ขณะป้อนอาหารลูกนี้พบบ่อย และคุณพ่อคุณแม่บางคนอาจเถียงว่าวิธีทำให้ลูกกินได้มากขึ้นบ้าง แต่ได้ไม่คุ้มเสีย

เท่าที่ นพ. กมล มีประสบการณ์มา การที่ทำตามที่แนะนำมาเบื้องต้นจะได้ผลราวร้อยละ 60-70 ส่วนหนึ่งที่ไม่ได้ผล อาจเป็นเพราะผู้เลี้ยงดูทำไม่ได้ตามที่แนะนำ บางคนใจอ่อนเสียก่อน กลับไปใช้วิธีแบบเดิมๆ คุณแม่บางท่านมีความวิตกกังวลสูงมาก ห้ามใจตนเองไม่ได้ บางรายก็ทำไม่นานพอ เช่นทำได้ 2-3 วัน เห็นว่าลูกไม่ดีขึ้น ยังกินไม่มากขึ้น ก็เลิกล้มกลางคันเสียก่อน อย่าลืมนะคะว่าการปรับเปลี่ยนทุกอย่างต้องใช้เวลาคล้ายกับการเปลี่ยนนิสัยหรือความเคยชินของคน ( ผู้ใหญ่) ก็ยังต้องใช้เวลานาน แต่ก็มีบางราย ที่ทำตามคำแนะนำที่ว่ามาทั้งหมดแล้ว เด็กก็ยังไม่ยอมกินข้าว กลุ่มนี้ต้องยอมรับว่ายากจริงๆ ทำยังไง น้ำหนักก็ไม่ขึ้น ตกเกณฑ์ไปตลอดช่วงอายุ 2-6 ปี ทั้งทั้งที่ไม่มีสาเหตุ หรือโรคทางกาย อื่นๆ ก็เหลือวิธีสุดท้าย คือต้องทำใจค่ะ เรื่องปัญหาการกินของเด็กนั้น จริงๆแล้วก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด ใครไม่เจอเองก็คงจะไม่รู้ เป็นกำลังใจให้ ลองทำตามที่แนะนำดูนะคะ

ที่มา http://www.enfababy.com/faq.php?id=394
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่