นิทานชาวสวน ๒๔ มี.ค.๕๖

กระทู้สนทนา
นิทานชาวสวน ๒๔ มี.ค.๕๖

                           ผู้ชนะสิบทิศของพม่า

                                                          

                    บรรดานักอ่านในประเทศไทย คงจะไม่มีใครไม่รู้จัก ผู้ชนะสิบทิศ ของท่าน ยาขอบเพราะเป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๒  และยังคงมีชื่อเสียงเป็นที่ยกย่องกันอยู่ในวงวรรณกรรมจนถึงบัดนี้ เพราะได้มีการพิมพ์ซ้ำมาไม่ทราบว่าเป็นครั้งที่เท่าใด

                    และนักอ่านทั้งหลายตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน  ก็คงจะซาบซึ้งในสำนวนอันหาที่เปรียบมิได้ของท่านยาขอบ ด้วยกันทุกคนแล้วเป็นแน่                                                                          

                    แต่ในอีกมุมหนึ่งของพงศาวดารพม่าเช่นกันซึ่ง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงเรียบเรียงไว้  ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖   ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๐ นั้น ก็มีเรื่องราวของ บุเรงนอง หรือ ผู้ชนะสิบทิศ ที่น่าสนใจเช่นกัน      จึงขอคัดลอกเอามาเสนอท่านที่ยังไม่ได้อ่าน ในโอกาสนี้..............

                    เมื่อพระพุทธศักราชใกล้จะถึง ๒๐๘๐ ปี ประเทศพม่ารามัญยังเป็นเอกราชอยู่ด้วยกัน แต่กำลังเสื่อมอำนาจลงกว่าแต่ก่อนด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย เจ้าเมืองตองอูชื่อ มังกินโย เป็นเชื้อวงศ์กษัตริย์พม่าแต่ก่อน จึงตั้งตัวเป็นอิสระ ราชาภิเษกทรงนามว่า พระเจ้ามหาสิริไชยสุระ เมืองตองอูนั้นอยู่ริมแม่น้ำสะโตง ระหว่างประเทศพม่ากับรามัญ  ผู้คนพลเมืองมีทั้งมอญพม่าปะปนกัน ด้วยเมื่อครั้ง พระเจ้าราชาธิราช ทำสงครามขับเคี่ยวกับ พระเจ้าฝรั่งมังฆ้อง มอญและพม่าที่หลบลี้หนีภัยพากันเข้าไปอาศัยอยู่ในแดนเมืองตองอูเป็นอันมาก เมืองตองอูจึงมีกำลังมากขึ้นแต่นั้นมา

                    เมื่อมังกินโยตั้งตัวเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ไม่ช้าในประเทศพม่าก็เกิดเหตุวิบัติขึ้น ด้วยเจ้านายในราชวงศ์พม่าวิวาทกันเอง ต่างไปชวนพวกเจ้าฟ้าไทยใหญ่มาช่วยรบพุ่งกันและกัน ก็เลยถึงความพินาศด้วยกันทั้ง ๒ ฝ่าย  ในที่สุดเชื้อวงศ์เจ้าฟ้าไทยใหญ่ ได้เข้าครอบครองเมืองอังวะ  พวกขุนนางพม่าที่ไม่อยากอยู่ในอำนาจพวกไทยใหญ่   จึงพากันอพยพลงมาอยู่กับพระเจ้าตองอู  พระเจ้าตองอูได้กำลังมากขึ้น ก็ตั้งหน้าจัดการทำนุบำรุงบ้านเมืองและกำลังทหาร หมายจะขยายอำนาจใหญ่ยิ่งขึ้น แต่ยังไม่ทันจะได้แผ่อาณาเขตออกไป พระเจ้าตองอูมหาสิริไชยสุระก็สิ้น         พระชนม์เสียก่อน  มังตรา ราชบุตรอายุ ๑๖ ปี ได้รับราชสมบัติ  ราชาภิเษกทรงนามว่า พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ แปลว่า สุวรรณเอกฉัตร หนังสือเก่าเรียกว่า พระเจ้าฝรั่งมังตรา ก็มี

                    พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้มีอุปนิสัยกล้าหาญ  พอพระหฤทัยในการทำศึกสงคราม ได้รับราชสมบัติในเวลาบ้านเมืองมีกำลังบริบูรณ์  และได้คู่คิดการสงครามคนหนึ่งเป็นพระญาติวงศ์     พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ตั้งให้มีนามว่า บุเรงนอง  แปลว่าพระเชษฐาธิราช ช่วยกันคิดตระเตรียมกำลังที่จะทำสงครามแผ่อาณาจักรให้กว้างขวาง

                    ในขณะนั้นพระเจ้าหงสาวดีซึ่งมีนามเรียกว่า พระยาราญ เป็นราชโอรสของพระเจ้าธรรมเจดีย์ (คือพระมหาปิฎกธร ในเรื่องราชาธิราช) สิ้นพระชนม์ ราชสมบัติ ได้แก่ราชโอรสชนมายุได้ ๑๕ ปี พระเจ้าหงสาวดี องค์ใหม่ประพฤติเป็นพาล  กดขี่ข้าราชการ และสมณะอาณาประชาราษฎรให้ได้ความเดือดร้อนต่าง ๆ  พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เห็นว่ารามัญประเทศเกิดระส่ำระสาย  ก็ยกกองทัพเมืองตองอูมาตีเมืองหงสาวดี

        ครั้นตีได้แล้วจึงย้ายราชธานีมาตั้งที่เมืองหงสาวดี แล้วยกกองทัพลงมาตีเมืองเมาะตะมะ อันเป็นเมืองมีอุปราชของพระเจ้าหงสาวดีครอง เป็นมณฑลใหญ่อยู่ข้างฝ่ายใต้  เมื่อได้ เมืองเมาะตะมะแล้ว พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้จะจัดการรวบรวม หัวเมืองมอญในมณฑลนั้น  จึงยกกองทัพมาตีเมืองเชียงกราน ซึ่งเป็นหัวเมืองปลายแดนไทย เมื่อปีจอ พ.ศ.๒๐๘๑

                    เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้มาตีได้เมืองเชียงกราน สมเด็จพระไชยราชาธิราช ครองกรุงศรีอยุธยา  จึงเสด็จยกกองทัพหลวงไปรบพม่า  ได้รบพุ่งกันกับพม่าที่เมืองเชียงกรานเป็นสามารถ ไทยตีกองทัพพม่าแตกพ่ายไปได้เมืองเชียงกรานคืนมาเป็นของไทยดังแต่ก่อน......................

                    พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เอาเมืองหงสาวดีเป็นที่มั่น เที่ยวปราบปรามได้เมืองอังวะและหัวเมืองพม่า ทั้งบ้านเมืองไทยใหญ่ไว้ในอำนาจทั้งสิ้น  แล้วทำพิธีอภิเษกเป็นพระเจ้าราชาธิราชที่เมืองหงสาวดี จึงได้ปรากฎพระนามว่า พระเจ้าหงสาวดี  แต่นั้นมา..........

                    ในระยะเวลานี้เอง ที่กรุงศรีอยุธยาได้ผลัดเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดิน  เป็นพระแก้วฟ้า ขุนวรวงศาธิราช และ พระเฑียรราชา ซึ่งเป็นพระราชอนุชาต่างพระชนนีกับ   สมเด็จพระไชยราชา ธิราช ได้ขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ.๒๐๙๑ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

                    พระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชะเวตี้ จึงยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในสงครามครั้งนั้นได้เสียสมเด็จพระสุริโยทัย พระอัครมเหสีของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ไปในกลางศึก แต่กองทัพพม่าก็ต้องเลิกทัพกลับไปโดยมิได้ชัยชนะ

                    จำเดิมแต่พระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชะเวตี้ เข้ามาตีเมืองไทยไม่สำเร็จ  ในคราวที่กล่าวมาแล้ว  ครั้นกองทัพกลับไปถึงเมือง กิตติศัพท์ปรากฎว่าพระเจ้าหงสาวดีเข้ามาเสียทีไทย จนต้องล่าทัพกลับไป พวกมอญก็คลายความกลัวเกรงพม่า  หานับถือพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้เหมือนแต่ก่อนไม่  ซ้ำพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้นั้นเอง เมื่อกลับไปเมืองหงสาวดีแล้วไม่ช้าเท่าใด ก็ชอบเสวยสุราเมามายเป็นนิจ จนสติอารมณ์เลยฟั่นเฟือน ไม่สามารถจะว่าราชการบ้านเมืองได้ บุเรงนองผู้เป็นมหาอุปราชาต้องสำเร็จราชการแทน

                    พอข่าวเล่าลือแพร่หลายว่า พระเจ้าหงสาวดีเสียพระสติ พวกมอญก็พากันกระด้างกระเดื่องขึ้นตามหัวเมือง มีราชบุตรของพระยาราญ ซึ่งเป็นพระเจ้าหงสาวดีแต่ก่อนองค์หนึ่ง เรียกว่า สมิงธอราม  ออกหน้าตั้งตัวเป็นใหญ่ขึ้นที่เมืองเมาะตะมะ   บุเรงนองต้องยกกองทัพลงไปปราบปราม อยู่ทางนี้พระเจ้าหงสาวดีประพฤติร้ายกาจต่างต่าง ด้วยสัญญาวิปลาสไม่มีใครว่าได้ ขุนนาง เชื้อมอญคนหนึ่งชื่อ สมิงสอดวุต จึงทูลลวงพระเจ้าหงสาวดีว่ามีช้างเผือกเข้ามาอยู่ในป่า ที่ใกล้พระนคร พระเจ้าหงสาวดีเข้าใจว่าจริง ก็เสด็จออกไปจับช้าง  เมื่อไปประทับอยู่ที่พลับพลาในป่า พวกขุนนางช่วยกันจับพระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชะเวตี้ ปลงพระชนม์เสีย  

                    พอปรากฎว่า พระเจ้าหงสาวดีสิ้นพระชนม์  หัวเมืองพม่ามอญบรรดาที่เป็นเมืองใหญ่ ก็พากันตั้งเป็นอิสระกันหมด  ฝ่ายบุเรงนองซึ่งยกกองทัพขึ้นไป ยังมิทันจะได้ปราบปรามเมืองเมาะตะมะ  ทราบว่าหัวเมืองทั้งหลายพากันกำเริบ เห็นเหลือกำลังที่จะปราบปราม ก็พาพวกพ้องไปอาศัยอยู่ในแขวงเมืองตองอูอันเป็นเมืองเดิมของญาติวงศ์

                    แต่พวกมอญเมื่อชิงบ้านเมืองได้ออกจากพม่าแล้ว  หาเป็นสามัคคีกันไม่ ผู้ที่เป็น      หัวหน้าต่างพวกต่างจะชิงกันเป็นพระเจ้าหงสาวดี พวกมอญจึงเกิดรบพุ่งกันขึ้นเอง  จนบ้านเมืองเป็นจลาจล ครั้งนั้นผู้คนที่นับถือบุเรงนองยังมีมากทั้งในพวกพม่าและพวกมอญ   ด้วยได้เคยเห็นสติปัญญาสามารถ  แต่ครั้งเป็นแม่ทัพของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้มาแต่ก่อน   ครั้นบ้านเมืองเกิดเป็นจลาจล ก็มีผู้ไปเข้าเป็นสมัครพรรคพวกบุเรงนองมากขึ้นทุกที  จนบุเรงนองเห็นว่า มีกำลังพอจะทำสงครามได้  ก็ตั้งต้นปราบปรามเจ้าเมือง ที่ตั้งตัวเป็นอิสระตีได้เมืองตองอู เมืองแปร แล้วตีได้เมืองหงสาวดีและเมืองเมาะตะมะ เป็นลำดับมา จนได้อาณาเขตรามัญประเทศไว้ในอำนาจหมดแล้ว  บุเรงนองทำพิธีราชาภิเษกเป็น พระเจ้าหงสาวดี เมื่อ พ.ศ.๒๐๙๖ ................

                    พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองผู้นี้เอง ที่ได้ยกกองทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาอีกสองครั้ง เมื่อ  พ.ศ.๒๑๐๖ และ พ.ศ.๒๑๑๑ จึงได้ชัยชนะยึดครองกรุงศรีอยุธยาสำเร็จ  แต่นั้นเมืองไทยก็เป็นประเทศราช ขึ้นแก่เมืองหงสาวดีมาตลอดเวลา ๑๕ ปี

                    จนถึง พ.ศ.๒๑๒๔ พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง สิ้นพระชนม์ลง กรุงศรีอยุธยา จึงได้กลับไปเป็นอิสระด้วยพระบรมเดชานุภาพของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช  เมื่อ พ.ศ.๒๑๒๗

                    เป็นอันสิ้นสุดเรื่องราวของ ผู้ชนะสิบทิศ ในด้านประวัติศาสตร์ของพม่า ลงแต่เพียงนี้.  
                               
#########


วางเมื่อ เวลา ๐๗.๑๖
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่