สรรพากร เล็งดึงแท็กซี่-ข้าวแกง เข้าฐานภาษี ยันไม่ปรับเพิ่ม VAT เก็บ 7% ต่อ

กรมสรรพากรเดินหน้าขยายฐานภาษี เล็งดึงแท็กซี่-ข้าวแกง เข้าฐานภาษี ยันไม่ปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม เก็บ 7% ต่อ ชี้ยังไม่มีความจำเป็น

          วานนี้ (19 มีนาคม) นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยถึงการจัดรายได้ในปีนี้ว่า ทางกรรมสรรพากรยังมั่นใจว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ถึงแม้อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจะมีการปรับลดลง 20% ในปีนี้ ส่งผลให้ภาษีหายไปกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ก็ยังสามารถจัดเก็บภาษีอื่น ๆ มาทดแทนได้ โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่ม

          ในส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น ยังอยู่ในระดับปกติ เพราะการปรับโครงสร้างใหม่ลดอัตราจาก 37% เหลือ 35% อยู่ระหว่างการนำเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประมวลกฎหมายรัษฎากรเข้าสภา และจะมีผลในปีภาษี 2556 ที่จะมีการยื่นช่วงต้นปี 2557 แต่ที่มีผลกระทบทันทีคือ การแยกยื่นระหว่างสามีภรรยา เพราะการกระจายรายได้ ส่งผลให้อัตราภาษีที่จ่ายต่ำลงด้วย

          นายสาธิต กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในการยื่นเสียภาษีนิติบุคคลในกลางปีนี้ที่อาจจะลดลงจาก 23% เหลือ 20% ซึ่งตนได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตามดูรายได้และนำส่งภาษีซื้อขายปีก่อน เพื่อเทียบเคียงกับภาษีตามความเป็นจริงด้วย

          นอกจากนี้ ทางกรมฯ ยังอยู่ในระหว่างเร่งขยายฐานภาษี เพื่อปิดช่องโหว่ที่เลี่ยงภาษี และนำคนที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบ เช่น ผู้มีเงินได้ควรจะเสียภาษี แต่ยังไม่ได้เสีย อย่างคนขับแท็กซี่ พ่อค้า แม่ค้า ร้านอาหาร ซึ่งเมื่อมีการพัฒนาระบบไอที ก็น่าจะนำคนกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ในระบบได้ แต่ก็คงทำให้ฐานภาษี 10 ล้านคนและที่เสียจริง 3.5 ล้านคน ไม่ขยับขึ้นมากนัก

          อย่างไรก็ตาม ในเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บในอัตรา 7% นั้น ถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก เพราะในโลกนี้มีเพียง 2 ประเทศที่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำกว่าไทย คือ ไต้หวัน และญี่ปุ่น ที่เก็บเพียง 5% แต่ประเทศญี่ปุ่นก็กำลังจะปรับเป็น 8% ในเดือนเมษายนปีหน้า และเพิ่มเป็น 10% ในสิ้นปีดังกล่าว ส่วนประเทศไทยนั้น ยังไม่มีความจำเป็นที่จะปรับภาษีขึ้นในช่วงนี้

          ขณะที่ นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันเก็บภาษีได้ประมาณ 2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 20% ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น จึงมีความจำเป็นที่ไทยจะเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างภาษีต่อไป พร้อมกับหาแนวทางช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่รายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีเพื่อให้มีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีวิต โดยคนกลุ่มนี้อาจจะต้องมาขึ้นทะเบียนไว้

          นายรังสรรค์ กล่าวต่อว่า การปรับลดภาษีควรคำนึงถึงการจัดหารายได้มาใช้ในการพัฒนาประเทศด้วย เช่น หากปรับลดภาษีตัวหนึ่งก็ควรหารายได้เพิ่มจากภาษีอีกตัวหนึ่งแทน อย่างภาษีมูลค่าเพิ่มหากปรับขึ้นเพียง 1% จะมีรายได้เข้ามาถึง 8.4 หมื่นล้านบาท กระทบผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพียง 0.015% และทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเพียง 0.61% ขณะที่สินค้าจำเป็นในการดำรงชีวิตก็ไม่มีภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว แต่ทั้งนี้ การเพิ่มภาษีก็ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล

ที่มา http://hilight.kapook.com/view/83577
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ร้านอาหาร
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่