ศ.ศิลป์ พีระศรี 120 ปี ไม่มีลืมเลือน

กระทู้สนทนา


"ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี 120 ปี...ไม่มีลืมเลือน"

การไปทำงานต่างบ้านต่างเมืองต่างประเทศโดยลำพัง อาจไม่ใช่เรื่องยากลำบากหรือโลดโผนนักในยุคนี้ แต่หากย้อนกลับไปในราวร้อยปีก่อนคงเป็นเรื่องที่ต้องใช้ทั้งความกล้า ความสามารถ และความอดทนไม่น้อยเลย
       
นั่นคือความคิดที่เกิดขึ้นเมื่อฉันได้ทราบประวัติชีวิตของ “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” หรือ คอร์ราโด เฟโรจี ศิลปินและอาจารย์สอนศิลปะชาวอิตาเลียนที่เดินทางมารับราชการในเมืองไทยเมื่อปี 2466 เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระราชประสงค์จะได้ช่างปั้นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างอนุสาวรีย์ นายคอร์ราโด จึงได้รับเลือกให้เข้ามารับราชการในตำแหน่งช่างปั้นประจำกรมศิลปากร และนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานของอาจารย์ศิลป์ในประเทศสยาม

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีนามเดิมว่า คอร์ราโด เฟโรจี ท่านเกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พุทธศักราช 2435 ที่ตำบลซานตายิโอวานนี่ แห่งนครฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี่ ซึ่งเป็นนครที่มีชื่อเสียงโด่งดังด้านศิลปกรรมและเป็นที่เกิดของอัจฉริยะทางด้านศิลปะของโลกอีกหลายท่าน บิดาชื่อ นาย Artudo Feroci และมารดาชื่อนาง Santina Feroci

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้เข้าศึกษาต่อที่สถาบันศิลปะแห่งฟลอเรนซ์ สำเร็จการศึกษาเมื่อ ปี พ.ศ. 2457 ผีมือด้านงานศิลปะของท่านดีเด่นเป็นที่ยอมรับกันในหมู่ศิลปิน โดยได้รับการแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ที่สถาบันศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์ อิตาลี และท่านสอนอยู่นานจนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งประเทศสยาม มีพระราชประสงค์จะได้ช่างปั้นผู้เชี่ยวชาญในการสร้างอนุสาวรีย์ ท่านศาสตราจารย์ศิลป์จึงได้รับเลือกจากรัฐบาลสยามพร้อมด้วยความสมัครใจของท่านด้วย

ท่านได้เดินทางเข้ามาเมืองไทยในปี พ.ศ. 2466 รับราชการในตำแหน่งช่างปั้นประจำกรมศิลปากร ต่อาเมื่อ พ.ศ. 2492 ศาสตราจารย์ศิลป์ได้เป็นผู้ริเริ่มให้มีการประกวดงานศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 1 โดยการให้รางวัลเกียรตินิยมเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง แก่ผู้ได้รับรางวัล ให้เป็นที่รู้จักและเผยแพร่ ช่วยส่งเสริมศิลปินไทยให้มีกำลังใจทำงานศิลปะ ท่านศาสตราจารย์ศิลป์ได้เขียนบทความเกี่ยวกับศิลปะสมัยใหม่ แบบอย่าง และวิวัฒนาการในการสร้างสรรค์งานศิลปะอื่น ๆ อีก การวิจัยศิลปโบราณ การปั้น หล่ออนุสาวรีย์รูปบุคคล ประติมากรรม อีกมากมายเกินกว่าจะกล่าวได้ ณ ที่นี้

ท่านศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้สนับสนุนการอนุรักษ์ศิลปะโบราณและเป็นผู้บุกเบิกการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย ศิลปะสมัยใหม่ของประเทศไทยมาตลอดเป็นเวลาเกือบสี่สิบปีจวบจนท่านได้ถึงแก่กรรมในขณะที่ท่านดำรงตำแหน่งคณบดี ปฎิมากรรมคนแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งท่านได้เป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านเปรียบเสมือนบิดาของวงการศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทย

ผลงานทางด้านศิลปะของท่านก็เป็นสิ่งที่รู้จักและได้รับการกล่าวขานกันอยู่เสมอ ในการสร้างสรรค์งานศิลปะที่เกี่ยวกับพระราชานุสาวรีย์ อนุสาวรีย์ และผลงานศิลปะอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น พระปฐมบรมราชานุสรณ์พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช กรุงเทพฯ, พระราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สวนลุมพินี กรุงเทพฯ, อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (คุณหญิงโม) นครราชสีมา, อนุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ดอนเจดีย์ สุพรรณบุรี, อนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ ธนบุรี, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ และอนุสาวรีย์อื่น ๆ อีกหลายแห่ง

พ.ศ. 2502 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้สมรสกับ น.ส.มาลินี เคนนี่ ซึ่งเป็นคนไทยผู้มีส่วนช่วยเหลือท่านมากทั้งชีวิตส่วนตัวและการงานของท่าน

พ.ศ. 2505 ท่านได้ร่างโครงการหอศิลปสมัยใหม่ไว้ให้กับเมืองไทยในอนาคตและได้ถึงแก่กรรมด้วยการผ่าตัดมะเร็งกระเพาะที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2505 ได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2506 เวลา 17.00 น.

ข้อมูลประกอบ : พิพิธภัณฑ์ศิลป์ พีระศรี
ภาพประกอบ : Facebook Silpakorn University
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ประวัติศาสตร์ศิลป์
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่