เลี้ยงลูกอย่างไข่ในหิน.....ให้ยาพิษกับชีวิตลูกโดยไม่รู้ตัว

คุณพ่อคุณแม่ คนไหนเข้าข่าย "เลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน" หรือไม่
ลองฟังจาก ดร.ปรียาสิริ มานะสันต์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายฯ
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้พูดไว้ในรายการ Rama Kid D Live
เมื่อวันจันทร์ที่ 4 มี.ค.56
(ลิงค์รายการย้อนหลัง)
http://www.ramachannel.tv/detail.php?id=3017


อ.แพรี่ ได้ให้ขอบเขตไว้ว่า พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบไข่ในหิน ก็คือ
หากเกิดเรื่องอะไรสักอย่างแล้วคุณปกป้องลูกมากจนเกินไป
เช่น ลูกสะดุดพรม คุณพ่อคุณแม่ปลอบลูกด้วยการโทษว่าเป็นความผิด
ของพรมที่มาเกะกะแทนที่จะมาสอนลูกให้รู้จักเดินให้ระมัดระวัง
ซึ่งการทำพฤติกรรมแบบนี้ เมื่อลูกโตขึ้นจะกลายเป็นคนที่มักจะโทษคนอื่น
แทนการมองย้อนกลับมาดูข้อผิดพลาดของตนเอง ซึ่งในสังคมเรามักจะเห็น
คนประเภทแบบนี้ ที่เมื่อเกิดข้อผิดพลาด ก็มักจะโทษคนนู้นคนนี้แทนว่า
ทำให้เค้าเป็นแบบนี้

การเลี้ยงลูกแบบไข่ในหินวันนี้ ในสายตาของพ่อแม่แล้ว ไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรง
แต่แท้ที่จริงแล้ว คุณกำลังให้ยาพิษกับชีวิตของลูกในอนาคต
อ.แพรี่ เปรียบ "ลูก" เหมือน "ดินน้ำมัน"ของพ่อแม่ ที่จะปั้นให้เป็นอะไร
ถ้าปั้นแบบไข่ในหิน เวลากระเทาะหินออกมา มันก็จะกลายเป็น freeform
คือ ไม่มีรูปแบบที่แท้จริง เด็กไม่สามารถยืนได้ด้วยตนเอง ซึ่งการสั่งสอนและอบรม
ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามลูกในช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ 0 - 6 ขวบ และหลังจาก 6ขวบ
เค้าจะเริ่มมีความคิดเป็นของตนเอง โดยเอาสิ่งที่พ่อแม่สอนมารวมๆ
กับBackground ซึ่งถ้าคุณไม่เคยสอนหรือป้อนข้อมูล เมื่อ 7 ขวบก็จะคิดว่า
ความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ ตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาลตลอด



อ.แพรี่  ได้ยกตัวอย่างเรื่อง สามก๊ก ในตอนหนึ่งว่า
ตัวละคร ชื่อ เล่าปี่ รู้สึกเหนื่อยหน่ายต่อการทำสงคราม เมื่อเวลาสั่งสอนบุตร
นั่นก็คือ เล่าเซี้ยน ให้ลูกอยู่ในวังไม่ต้องตามพ่อไปรบทัพจับศึก และให้เรียนรู้
วิชาจากขงเบ้ง พอแล้ว
ในขณะที่โจโฉ มีลูก คือ โจผี และมีหลานคือโจยอย ในเวลายามไปศึกสงคราม
โจโฉจะพาทั้งสองคนไปเพื่อให้เรียนรู้วิชาการศิลปะการสู้รบ

หลังจากเล่าเซี้ยน ขึ้นครองราชย์ ก็มีขงเบ้งดูแล และวางกลยุทธ์การรบ
และนำทหารออกไปรบ
ในขณะโจผี อยู่ได้ไม่นานก็ป่วยและเสียชีวิต ทำให้โจยอย อายุเพียงน้อยนิด
21ปี ก็ขึ้นมาครองราชย์แทน เมื่อทั้งสองฝั่งทำการรบกัน และขงเบ้งเสียชีวิต
ในระหว่างการทำศึก ฝ่ายเล่าเซี้ยนจึงประกาศยอมแพ้สงคราม  

สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงเรื่องการสั่งสอน ให้ลูกได้รู้เห็นและเข้าใจในสิ่งต่างๆ
แตกต่างกัน เนื่องจากขงเบ้งเป็นผู้ที่วางกลยุทธ์นำทัพ ออกรบ ในขณะที่
เล่าเซี้ยนไม่มีความรู้เรื่องศึกสงคราม และไม่เคยออกรบ เมื่อหมดขงเบ้งก็
ไม่สามารถทำอะไรต่อไปได้อีก ในขณะที่โจโฉ พาลูกพาหลานออกไปเรียนรู้
และเมื่อเติบโตมาสามารถสร้างอาณาจักรเองได้

เช่นเดียวกันกับพ่อแม่ เมื่อเวลาทำกิจกรรมอะไรต่างๆภายในบ้าน เช่น ทำสวน
ปลูกต้นไม้ อาจจะมองว่าเดี๋ยวลูกสกปรก เลอะ ไม่เหมาะกับเด็กหรือเปล่า แต่
จริงๆแล้วเด็กมีวิธีการปรับตัวเองในการเรียนรู้ และเล่นผ่านกิจกรรมต่างๆ

หรือ พ่อแม่บางคนที่คอยป้อนข้าวลูกตลอดเวลา เพราะกลัวลูกจะทำสกปรก
แต่จริงๆแล้ว นี่จะเป็นการเรียนรู้ด้วยตนเองอีกแบบหนึ่ง โดยเด็กอาจจะ
ยกช้อนขึ้นมาแล้วไปชนจมูกตัวเอง เด็กก็จะขำๆ ในขณะที่พ่อแม่เห็นก็จะรีบ
เข้ามาแล้วบอกลูกว่าเดี๋ยวพ่อแม่ทำให้เอง ซึ่งมีหลายเคส ที่อ.แพรี่เคยพบว่า
อายุ 8-9 ขวบแล้วยังกินข้าวด้วยตัวเองไม่ได้เพราะพ่อแม่ป้อนข้าวให้อยู่
คำถามคือ หลังจากนี้แล้วเมื่อไหร่เค้าจะทำได้เอง และถ้าเค้าไปโรงเรียน
เค้าจะใช้ชีวิตในสังคมอย่างไร

กฎข้อแรกสำหรับการเข้าโรงเรียนสำหรับต่างประเทศคือ
1.กินเองและขับถ่ายเป็น  ไม่ใช่ว่าจะต้องมีคนมาคอยทำให้ตลอดเวลา
2.สามารถพูดออกเสียงได้ถูกต้อง หรือเขียนอะไรง่ายๆได้
เพราะถ้าหากเกิดอะไรขึ้น จะสามารถบอกสิ่งที่เกิดขึ้นได้

พ่อแม่มักคิดว่าเรื่องแบบนี้โตขึ้นค่อยสอนก็ได้ หรือเดี๋ยวเรื่องพวกนี้
โรงเรียนก็คงสอนเองแหละ ทั้งที่ความจริง ลูกอยู่โรงเรียนแค่ 8 ชม.
เวลาที่เหลือก็ต้องอยู่บ้าน กับพ่อแม่หรือครอบครัวคนอื่นๆ ตรงนี้
ควรจะเป็นปัจจัยหลักที่จะสอนลูกได้ดีกว่า

สำหรับสังคมไทย มักจะเลี้ยงดู กล่อมเกลาลูกผู้หญิงในเรื่องการเข้าสังคมมาก
ในขณะที่เลี้ยงดูลูกชายแบบไม่ทำอะไรเลย ซึ่งเมื่อแต่งงานไปแล้ว
ภรรยากลายเป็นคนที่จะต้องมาทำทุกอย่างให้สามีเพราะสามีไม่รู้จักว่า
จะต้องทำอะไรกันแน่ เพราะตอนอยู่ที่บ้านคุณแม่มักจะทำทุกอย่างให้ลูกชาย
แล้วบอกให้ลูกสาวมาช่วยแม่ แล้วให้ลูกชายอยู่เฉยๆ ด้วยคำพูดว่า
ไม่ต้องทำเพราะนี่เป็นงานผู้หญิง ...ทำให้ลูกชายไม่ต้องทำอะไรเลย ซึ่ง
เมื่อมีครอบครัวไป ทุกอย่างก็จะกลายเป็นวงจรในแบบเดิมๆ ต่อไป
ซึ่งจะพบมากในสังคมตะวันออก ในขณะที่สังคมตะวันตกทุกคนเท่าเทียมกัน
สังคมตะวันตก จะเลี้ยงลูกในตอนเล็กๆอย่างดี แต่เมื่ออายุ 18 คุณสามารถ
ออกไปใช้ชีวิตอย่างที่คุณอยากได้ ไปเรียนรู้การช่วยเหลือตัวเอง
ในขณะที่สังคมไทย มีความคิดว่าส่งลูกไปเรียนต่อเมืองนอกลูกจะได้
รู้จักช่วยเหลือตัวเองได้ ทำอะไรเองเป็น ซึ่งจริงๆ แล้วขึ้นอยู่กับการส่งสอน
ตั้งแต่เล็ก

พฤติกรรมของลูกในอนาคต จากการเลี้ยงลูกแบบไข่ในหินคือ
1."ความเห็นแก่ตัว"
2. "ไม่รู้จักโต"
ไม่รู้จักโต แบ่งได้สองอย่างใหญ่ๆคือ childish อะไรฉันก็ยอมเธอไม่ได้
ให้ไม่ได้ ทำตัวเหมือนเด็กอนุบาลว่านี่คือของฉัน ไม่รู้จักการแบ่งปัน
ไม่รู้จักรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย
และ childlike ทำตัวเหมือนเด็ก หรือ Young @heart ยิ้มร่าเริงเหมือนเด็ก
นอกเหนือจากนี้ยังมีพฤติกรรมอื่นๆที่จะตามมาเช่น ไม่รับผิดชอบตัวเอง,
กลัวแบบไม่มีเหตุผลได้แก่ กลัวคนไม่รัก


ตอนท้ายของรายการ อ.แพรี่ ได้ให้ข้อคิดไว้ว่า
ข้อแรกของการที่จะมีลูกคือ "มีเวลา"
อย่าคิดว่ามันคือผลพวงที่เกิดจากความรัก แต่ผลักภาระให้
"สังคม" เป็นคนเลี้ยงดู มันเป็นไปไม่ได้

เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นกับลูก พ่อแม่ก็ต้องเป็นคนรับผิดชอบ
เหมือนอย่างที่พูดกันว่า "ถ้าอยากจะขัดเกลาลูก ให้สอนพ่อแม่"
ถ้าอยากให้ลูกโตขึ้นไปแล้วเป็นเด็กดี รู้จักช่วยเหลือ แบ่งปันคนอื่น
มีมารยาทสังคม อย่างที่เราอยากได้ ก็ต้องสอนลูกตั้งแต่วันนี้


นั่งฟังจนจบพร้อมกับคนที่โทรมาถามจากทางบ้าน เราก็ยิ่งพบได้ว่า
บางทีคุณพ่อคุณแม่เองก็ไม่รู้ตัวว่า ลูกกำลังเฝ้ามองพฤติกรรมและเลียนแบบ
จากคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง ซึ่งถ้าบางพฤติกรรมไม่เหมาะสม ก็อาจจะทำให้
พ่อแม่กลุ้มใจว่าทำไมเป็นแบบนี้  อย่างที่อาจารย์แพรี่ พูดนั่นเอง
ว่า ลูกคือ ดินน้ำมัน ของพ่อแม่ ที่จะปั้นเป็นอย่างไรก็ได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่