ขอนำบทสัมภาษณ์เก่าที่สัมภาษณ์ คุณโต้ง บรรจง ผกก. พี่มาก..พระโขนง มาให้อ่านครับ

หลังจากหลายท่านเห็นตัวอย่าง พี่มาก..พระโขนง แล้วอาจสงสัยว่า ผกก. ท่านนี้มีแนวความคิดอย่างไร
จึงขอนำบทสัมภาษณ์เก่าที่เคยสัมภาษณ์คุณโต้งไว้เมื่อกลางปีที่แล้ว มาให้อ่านกันครับ

“จิบกาแฟแลหนังไทย” ปักษ์นี้ พิเศษสุด กับการสัมภาษณ์ผู้กำกับหนังไทยที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้กำกับหนังผีระดับตำนานของประเทศไทย ทั้งเรื่อง “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” และ“แฝด” หนังผีแนวตลกร้ายอย่าง “คนกลาง” (ใน “4 แพร่ง”) และ “คนกอง” (ใน “5 แพร่ง”) และหนังโรแมนติกคอมมิดี้ชื่อดัง ที่ทำให้คนไทยฮิตไปเที่ยวเกาหลีกันทั่วบ้านทั่วเมืองอย่าง “กวนมึนโฮ” นั่นคือคุณโต้ง บรรจง ปิสัญธนะกูล มาพูดคุยกันแบบสบายๆ แต่เจาะลึกวงการหนังไทยในปัจจุบันแบบเข้มข้น เหมือนดั่งจิบกาแฟ Espresso

มีมุมมองอย่างไรกับการที่คนบ่นกันว่า หนังไทยมีวนเวียนกันอยู่แค่ 3 แบบคือ หนังผี หนังตลก และหนังรัก
จริงๆหนัง 3 แบบก็ถือว่ามีความหลากหลายประมาณนึงแล้ว เพราะหนัง Action ก็คงติดปัญหาเรื่องทุนสร้างและจะได้ทุนคืนค่อนข้างยาก ก่อนหน้านี้ในยุคก่อนหนังเรื่องเพื่อนสนิท ก็มีคนมองว่าหนังรักไม่ทำเงิน แต่พอทำแล้วเวิร์ค ก็มีคนทำเยอะ ซึ่งก็เป็นกันทั่วโลก แต่พอมีเยอะก็จะมีระบบคัดกรองจากคนดูเอง ซึ่งหนังทุกเรื่องก็ใช่ว่าจะได้เงิน จริงๆคนดูต้องการการเรียนรู้ เคยมีคำสัมภาษณ์ของคุณวรรณฤดี (หนึ่งในProducerของ GTH) ในหนังสือ a-day ได้กล่าวไว้ว่า “คนไทยไม่สามารถจับมือกันแล้วก้าวกระโดดไปพร้อมกัน เพราะถ้าทำแบบนั้นจะล้มกันทั้งหมด” ก็เหมือนวงการหนังไทย ที่ต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไป ซึ่งในปัจจุบันคนดูหนังก็ต้องการอะไรใหม่ๆ ให้มากกว่าที่เคยมีมาเสมอ ลองย้อนไปดูได้เลยหนังอะไรที่ตามรอยเดิม รายได้ก็ลดลงไปกว่าครึ่ง แต่อาจจะต้องใช้เวลาให้คนดูค่อยๆเริ่มรับความหลากหลายได้มากขึ้น

โอกาสของหนังประเภทอื่นเช่น หนังแนวชีวประวัติ หรือหนังแนวสืบสวนสอบสวน เป็นอย่างไรบ้าง
ถ้าผู้กำกับเก่ง ก็สามารถทำหนังได้ดีทุกประเภท เคยมีคนพูดไว้ว่า หนังแนวสืบสวนสอบสวนไม่เหมาะกับคนไทย ซึ่งจริงๆถ้าผู้กำกับเก่งก็ทำได้แต่ต้องให้เวลา หรืออย่าง Top Secret วัยรุ่นพันล้าน เป็นการทดลองหนังแนว Drama วัยรุ่น ซึ่งแทบไม่เคยมีมาก่อน หรืออย่าง "รักแห่งสยาม"จากเสียงตอบรับก็ถือว่าคนไทยเปิดใจกับหนังประเภทอื่นมากขึ้น

คนไทยไม่ได้ดูหนังไทยในโรง แต่พอมาได้ดูภายหลังจากสื่ออื่น ก็บ่นว่าเสียดายที่ไม่ได้ดูในโรงแต่พอมีหนังเรื่องใหม่ ก็เกิดเหตุการณ์แบบเดิม
ผมว่าหนังไทยอาภัพ หนังไทยเรื่องไหนที่คนดูเยอะ แปลว่าจะต้องดังจริงๆ ส่วนหนังฝรั่ง ถ้าไปถึงหน้าโรงดูแค่ชื่อ ดูโปสเตอร์ ว่าน่าจะพอดูได้ ก็ดูแล้ว และไม่กลัวว่าจะเสี่ยง ส่วนหนังไทย คนมองว่าเป็นการเสี่ยงขั้นสูง กลัวว่าจะพลาด แต่ผมก็ไม่ได้เรียกร้องอะไร เพราะมันก็มีหนังไทยแบบนั้นจริงๆ

ทำอย่างไรจะทำให้หนังไทยมีความสามารถในการแข่งขันกับหนังต่างประเทศที่เข้ามาฉาย
ผมว่าหนังไทยต้องใช้งบมากกว่าในการ PR หนังไทยคนจะรอว่าต้องมีคนที่ดูแล้วมายืนยันก่อนว่า ดีนะโดนนะ ถึงจะกล้าเข้าไปดู ส่วนหนังฝรั่งคนกล้าเสี่ยงมากกว่า เพราะยังไง Production ก็ดีอยู่แล้ว แต่ข้อดีของหนังไทยคือเป็นหนังของคนไทย เข้าใจคนไทย เวลาโดนจะโดนมาก ซึ่งผมก็ไม่ได้เรียกร้องว่าให้ไปดูหนังไทยกัน เพราะถ้าหนังดีจริง คนก็จะบอกกันปากต่อปาก

หรือปัญหาเกิดจากราคาตั๋วหนังในปัจจุบันที่สูงขึ้นมาก
มีส่วนมากครับ ทำให้คนที่จะเลือกดูหนัง ตัดสินใจยากขึ้น Target ที่สำคัญที่สุดของหนังคือวัยรุ่น เนื่องจากไม่ได้คิดเรื่องค่าของเงินมากนัก ยังเป็นเงินพ่อแม่อยู่

สมมติว่าหากมีการสร้างเงื่อนไขใหม่ขึ้นมา ทำให้ราคาตั๋วหนังไทยถูกกว่าหนังฝรั่ง
ระบบนี้เคยทำสำเร็จที่เกาหลีนะครับ แต่ผมอยากให้รัฐสนับสนุนในด้านอื่นมากกว่าเช่นเงินทุน เพราะผมมองว่าราคาตั๋วหนังมันควรจะเท่ากัน แต่คุณภาพของหนังไทยก็ต้องไม่แพ้หนังต่างประเทศ

การเริ่มต้นทำหนังหนึ่งเรื่อง จะเริ่มต้นจากอะไร
ประเด็นนี้ผมตอบได้แต่ในมุมมองของบริษัทผมนะครับ (GTH) เชื่อว่าคงมีคนหลายคนและแม้กระทั่งค่ายหนังค่ายอื่นๆ เชื่อว่า GTH ทำหนังโดยการใช้การตลาดนำ ซึ่งขอยืนยันว่า GTH ไม่เคยทำหนังโดยใช้การตลาดนำเลยนะครับ จะมีแค่ว่า Producer และผู้กำกับ อยากเล่าเรื่องอะไร แต่พอผ่านไประยะหนึ่งก็จะมีคำถามมาว่า หนังเรื่องนี้จะมีคนดูหรือไม่ อย่างเช่น กวนมึนโฮ แรกๆทุกคนก็คิดว่าเป็นหนังที่กลัวจะไม่ได้เงิน เนื่องจากพล็อตไม่ชัดเจน ไม่เหมือนรถไฟฟ้ามาหานะเธอ และจริงๆ GTH โปรโมตช้าด้วย ก่อนหนังฉายไม่นาน เนื่องจากบางทีฝ่าย Marketing จะรอดูหนังทั้งเรื่องก่อน และ GTH ไม่เคยทำหนังตามกระแสเนื่องจากใช้เวลากับการเขียนบทนานและแก้ไขบทมากเกิน 1 ปีแทบทุกเรื่อง GTH จึงไม่สามารถทำหนังเร็วๆได้

ดูเหมือนว่าสิ่งสำคัญที่สุดจะมาจากเรื่องของบทหนัง
ใช่ครับ บทเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของค่ายเรา (GTH) ใช้เวลานานมาก และขาดบุคลากรมาก

เคยคิดที่จะทำหนังจากนิยายหรืองานเขียนชื่อดังหรือไม่
เคยคิดแต่ยอมรับว่าหาได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากนิยายที่เหมาะสมกับหนังมีน้อย ถ้านิยายที่เหมาะสมกับละครจะมีเยอะกว่า

คิดว่าเรื่องของการเซ็นเซอร์ในเมืองไทยเป็นอย่างไร อย่างเช่นกรณีของ "เช็คสเปียร์ต้องตาย" ที่ถูกห้ามฉาย
จริงๆในเมื่อมีการจัดเรตหนังแล้ว จะมีเรต "ห" คือการห้ามฉายไปทำไม รวมทั้งยังมีการเซ็นเซอร์บางส่วนของหนังอยู่ แย่ยิ่งกว่าในสมัยก่อนที่จะมีการจัดเรตหนังอีก ถ้ายังเป็นอย่างนี้วงการหนังไทยคงไม่มีทางก้าวหน้า แต่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในหลายประเทศครับ

ขอคำแนะนำในการเลือกดูหนังไทย ว่าควรเลือกจากอะไร
ผมมองว่าอย่าไปซีเรียส แต่ก็เข้าใจว่าหนังไทย หากเลือกพลาดแล้วมันจะพลาดแรง จริงๆหนังตัวอย่างช่วยได้ หรือตามอ่านในสังคม Social Network ก็ช่วยได้ แต่ถ้าเป็นหนังที่อยากดูจริงๆ ก็ควรไปดู เพราะสุดท้ายก็ต้องตัดสินที่ตัวเราเองอยู่ดี แต่ถ้าในมุมส่วนตัว ผมเชื่อตามเพื่อนที่เราไว้ใจ ถ้ามันบอกว่าดี น่าดูผมก็จะไปดู แต่เครดิตผู้กำกับก็เกี่ยวอย่างเช่นถ้าเป็นหนังของพี่เรียว (กิตติกร เลียวศิริกุล) หรือพี่ต้อม (เป็นเอก รัตนเรือง) ผมดูทุกเรื่อง

บทบาทของ Social Network ที่มีต่อหนังไทย
ช่วยอย่างมากเลยครับ คือทำให้ความจริงปรากฏอย่างรวดเร็ว อย่างหนังบางเรื่องที่เปิดตัวแรงมากในวันแรก แต่ในวันที่ 2 รายได้ตกลงอย่างรวดเร็วมากกว่า 40% :ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยในยุคก่อนๆ เนื่องจากปกติกว่ารายได้จะตกลง ต้องสัปดาห์ที่ 2 เป็นต้นไป และช่วยทำให้หนังที่โปรโมตไม่ดี หรือโปรโมตในวงแคบๆ มีโอกาสมากขึ้น แต่หนังต้องดีจริงๆด้วย ตรงนี้ Twitter และ Facebook มีผลมาก แต่จริงๆ Facebook มีผลมากว่าเนื่องจากเป็นเพื่อนของเรา เพราะคนมีชื่อเสียงใน Twitter อาจน่าสงสัยว่าแอบโปรโมตหนังหรือไม่

บทวิจารณ์ภาพยนตร์ตาม Blog หนังสือและนิตยสารต่างๆ มีผลมากน้อยแค่ไหน
โดยส่วนตัวผมมองว่ามีผลน้อยมาก เนื่องจากในประเทศไทยยังไม่มีนักวิจารณ์ระดับที่เรียกว่าทรงอิทธิพล เหมือนอย่างที่ในอเมริกามี เช่น Roger Ebert ส่วนนักวิจารณ์ที่มีชื่อเสียงของไทย มักจะเป็นที่รู้จักแค่ในกลุ่มนักดูหนังเท่านั้น

คิดอย่างไรกับการทำหนังไทยที่มีเป้าหมายเพื่อเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ
มองว่าเป็นเรื่องปกติ เข้าใจได้ และเป็นสิ่งที่ดีที่ทำให้มีโอกาสมีหนังที่มีความหลากหลายมากขึ้น อย่างเช่นที่ จีน สิ่งที่เกิดกับหนังไทยอย่างYes or No อยากรักก็รักเลย ถือว่าน่าสนใจ แต่ดูเหมือนจะมาจากความคลั่งไคล้ในดารามากว่าตัวหนัง แต่ก็ยังไม่มั่นใจมากนัก แต่หนังไทยอย่างเช่นสิ่งเล็กๆที่เรียกว่ารัก กวนมึนโฮ และ Suckseed ห่วยขั้นเทพ ก็สามารถเข้าสู่ตลาดในกลุ่ม Southeast Asia ได้เป็นอย่างดีซึ่งก็ถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญของหนังไทย

อุปสรรคของหนังไทยในปัจจุบัน
แผ่นผี มีผลมากที่สุดต่อรายได้แน่นอน แต่ปัจจัยภายในมองว่าลำดับแรกประเทศไทยขาดคนเขียนบทหนังดีๆ เพราะเป็นความสามารถที่ต้องใช้เวลาฝึกฝนหลายปี ดูอย่างซีรีย์ทางโทรทัศน์ในต่างประเทศ จะเห็นว่าบทดีมากๆ บางครั้งดีกว่าหนังใหญ่ด้วยซ้ำ บทพูดก็ดีมาก ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้หนังไทยดีๆ ไม่ได้มีออกมาบ่อยๆ เพราะค่ายหนังต้องปั้นให้มีหนังทุกปี
แต่อย่างไรปัจจัยภายนอกเรื่องแผ่นผีก็มีผลกระทบมากๆ ลองเทียบกับประเทศอย่างไต้หวัน หนังเรื่อง You are the apple of my eye เป็นหนังที่ดังมากซึ่งลักษณะก็แทบจะเหมือนกับหนังอย่าง แฟนฉัน แต่สามารถทำรายได้ไปถึงระดับ 500 กว่าล้านบาท ซึ่งผมเชื่อว่าไม่มีแผ่นผี เนื่องจากผมเคยไปตามหาแผ่น Blu-ray 5 แพร่ง ที่ไต้หวัน ไปทุกตลาด ไม่เจอแผ่นผีขายเลย

การโหลดบิททอร์เรนต์ มีผลกระทบมากน้อยแค่ไหน
ปัจจุบันดูเหมือนจะมีผลกระทบมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน แต่แผ่นผีก็น่าจะยังมีผลกระทบมากที่สุดอยู่ดี เนื่องจากอยู่ในวงกว้างกว่า

ราคาตั๋วหนังในปัจจุบัน เหมาะสมหรือไม่
เมื่อก่อนผมเคยพูดได้ว่า ตั๋วหนังในบ้านเราราคาถูก แต่ในปัจจุบัน ราคาเริ่มขึ้นไปใกล้เคียงประเทศอื่นๆแล้ว ยิ่งเมื่อเทียบกับค่าครองชีพของเรา

การที่หนังเข้าสู่ระบบดิจิตอล และ 3D มีผลกระทบต่อคนทำหนังไทยอย่างไร
ผมไม่ซีเรียสมาก เพราะมันเป็นวัฐจักร ยังไงในอนาคตก็ต้องไปสู้ดิจิตอลอยู่ดี แต่ในแง่การถ่ายทำหนัง ศิลปะก็ยังคงเป็นศิลปะ การถ่ายภาพที่ดีก็ยังคงไม่ง่าย

ในแง่ของผู้กำกับ ดิจิตอลเหมือนจะไม่มีผลกระทบ
ผมแค่เสียดาย Magic ของการถ่ายด้วยฟิล์มบางอย่าง แต่ปัจจุบันระบบดิจิตอลก็ปรับปรุงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ ถือว่าไม่น่ากังวลแต่อย่างใด

ในเรื่องของ 3D กับหนังไทย
คงมีบทบาทเพิ่มขึ้น ถึงแม้ประเทศเราจะเริ่มช้ากว่าประเทศอื่นๆ และคงมีมากขึ้นเรื่อยๆแน่นอน กลุ่มที่เป็นหนัง ตลก Action หรือหนังผี คงเหมาะสม

การเข้ามาของ Blu-ray จะมีผลกระทบต่อหนังที่ฉายในโรงมากน้อยแค่ไหน
ในแง่ความคมชัดคงถือว่าแข่งขันได้ แต่ในแง่ของบรรยากาศในการชมโรงหนังก็ยังสร้างสมาธิในการชมได้ดีกว่า ทั้งไฟมืด จอใหญ่ และถ้าดูอยู่ที่บ้าน โอกาสที่สมาธิจะหลุดจะสูง เช่นเดี๋ยวก็หยิบมือถือมาดู ซึ่งหนังเรื่องไหนที่ทำให้เราดูได้ตลอด ต้องเป็นหนังที่ดีมากจริงๆเมื่อเทียบกับในการดูโรง

จะมีผลงานเรื่องต่อไปในอนาคตเมื่อไร
จะเป็นหนังผีตลก ที่จะต้องมีพัฒนาการก้าวข้ามผ่าน "คนกลาง" (ใน "4แพร่ง") และ "คนกอง" " (ใน "5 แพร่ง") ที่เคยทำไว้ ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการเขียนบท แต่ยอมรับว่ามีความกดดัน เนื่องจากว่าความคาดหวังสูงมากๆ บทเขียนมาเป็นปีแล้วก็ยังไม่เสร็จ

คิดอย่างไรกับหนังภาคต่อ
การทำหนังภาคต่อให้ดีเป็นเรื่องยากมากๆ ซึ่ง GTH จะไม่ค่อยยอมทำหนังภาคต่อ แต่จริงๆเรื่องที่เหมาะที่จะทำภาคต่อก็มี แต่บางเรื่องก็อาจไม่เหมาะ เช่น แฟนฉัน กวนมึนโฮ นี่ไม่เหมาะ แต่รถไฟฟ้า มาหานะเธอมีภาค 2 ไม่น่าเกลียด แต่ทำให้ดีกว่าเดิมยากมากจนไม่ทำดีกว่า

การเป็นผู้กำกับที่ทำหนังที่ประสบความสำเร็จมากๆมาแล้ว การทำหนังเรื่องต่อไปมีแรงกดดันมากน้อยแค่ไหน
ก็มีแรงกดดันครับ แต่ก็ไม่ได้เครียดมากมาย สิ่งที่ยากคือการเลือกเรื่องถัดไปที่จะมาทำ ว่ามันจะคุ้มหรือไม่ที่จะลงทุนทำ จะคุ้มกับเวลาที่เสียไปหรือไม่ จริงๆคนมักจะจำหนังเรื่องสุดท้ายที่ผู้กำกับคนนั้นทำ ซึ่งถ้าไม่ดีคนก็จะจำภาพนั้น การที่หนังจะออกมาดีได้ต้องยอมรับ GTH ได้เปรียบค่ายอื่นตรงที่ไม่โดนบีบเรื่องเวลา เขียนบทเป็นปีก็ทำได้ ค่ายอื่นจะถูกเรื่องของเวลามากำหนดมากกว่าทาง GTH

คติประจำใจในการทำหนังของคุณ
ผมทำหนังที่ตัวเองอยากดู และบังเอิญที่ผมเป็นคนโชคดี ที่รสนิยม ตรงกับคนส่วนใหญ่ เลยทำหนังที่คนส่วนใหญ่ชอบดู

จากการได้สัมภาษณ์คุณโต้ง บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับที่ผมเชื่อว่า เป็นหนึ่งในผู้กำกับหนังไทย ที่สร้างหนังไทยให้มีคุณภาพ สามารถแข่งขันกับหนังต่างประเทศได้อย่างสมศักดิ์ศรี และพาหนังไทยออกไปไกล เหมือนกับ “ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ” ซึ่งเคยมีค่ายหนังในHollywood มาขอซื้อไป Remake (และทำออกมาแย่กว่าต้นฉบับของไทยแบบห่างชั้น) ยิ่งทำผมยิ่งมีความมั่นใจว่า ไม่เพียงแค่คนไทยที่จะได้ดูหนังไทยที่ดีมีคุณภาพเพิ่มขึ้น ชาวต่างชาติก็จะได้ดูหนังไทยดีๆเช่นกัน

อมยิ้ม17
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่