คนไทยเฮ! พบดาวหางสองดวง สว่างกว่าดวงจันทร์ รอชม 5 มีนา

คนไทยได้เฮ พบดาวหาง 2 ดวง สว่างกว่าดวงจันทร์ ดวงแรกใกล้โลก เคลื่อนมาให้เห็นวันที่ 5 มี.ค. 56 ชื่อ "แพนสตาร์ส" อีกดวงชื่อ "ไอซอล" เพิ่งถูกค้นพบใหม่ สว่างขนาดสามารถมองเห็นได้ในเวลากลางวัน...

เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 56 นายวรเชษฐ์ บุญปลอด กรรมการฝ่ายวิชาการสมาคมดาราศาสตร์ไทย เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 4-24 มี.ค.นี้ คนไทยจะมองเห็นดาวหางชื่อแพนสตาร์ส (Pan-STARRS-Panoramic Survey Telescope& Rapid Response System) โดยดาวหางดวงนี้จะเคลื่อนที่เข้าใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 5 มี.ค. และสามารถมองเห็นได้ชัดที่สุดในช่วงหัวค่ำ ระหว่างวันที่ 8-12 มี.ค. นี้

นายวรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.เป็นต้นไป หลังจากดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้า ควรจะเริ่มพยายามมองหาดาวหางบริเวณใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตก โอกาสมองเห็นดาวหาง จะเพิ่มขึ้นทุกวันหลังจากวันที่ 5 มี.ค. เนื่องจากดาวหางเคลื่อนห่างขอบฟ้ามากขึ้นทีละน้อย เมื่อเทียบตำแหน่งในเวลาเดียวกันของทุกวัน คาดว่าช่วงหัวค่ำของวันที่ 9-17 มี.ค. น่าจะเป็นช่วงที่สังเกตดาวหางดวงนี้ได้ดีที่สุด สำหรับประเทศไทยโดยเฉพาะวันที่ 8-12 มี.ค. เนื่องจากคาดว่าจะเป็นช่วงที่ดาวหางสว่างที่สุด และตกลับขอบฟ้าช้าที่สุด อย่างไรก็ตาม ดาวหางแพนสตาร์ส จะอยู่ในแสงสนธยา หากท้องฟ้าที่ไม่มืดสนิท และตำแหน่งดาวหางที่อยู่ใกล้ขอบฟ้า ทำให้การสังเกตดาวหางด้วยตาเปล่าค่อนข้างจะยากสำหรับประเทศไทย แต่หากมีการใช้กล้อง 2 ตา ก็จะมองเห็นได้

นายวรเชษฐ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยจะสังเกตได้ดีตั้งแต่หลังดวงอาทิตย์ตกไปแล้ว 30 นาที หรือเวลาประมาณ โดยหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ส่วนอุปสรรคสำคัญในการสังเกตดาวหางดวงนี้ในช่วงดังกล่าว คือดาวหางอยู่ห่างดวงอาทิตย์ 15° จึงมีเวลาสังเกตได้ไม่นาน และดาวหางจะอยู่ใกล้ขอบฟ้ามาก จึงต้องสังเกตจากสถานที่ที่ขอบฟ้าทิศตะวันตก เปิดโล่ง ไม่มีสิ่งใดบดบัง หรือสังเกตจากอาคารสูง และอาจต้องใช้กล้องสองตาช่วยกวาดหา

นายวรเชษ กล่าวว่า ดาวหางอีกดวงที่น่าสนใจอย่างมากสำหรับคนไทย ซึ่งคาดว่าจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ในช่วงเดือน พ.ย.นี้ คือ ดาวหางไอซอล ดาวหางดวงนี้น่าจะสว่างกว่าดาวหางแพนสตาร์ส โดยปรากฏบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดในช่วงฤดูหนาวของปลายปี 2556 ถึงต้นปี 2557 ดาวหางไอซอนถูกค้นพบเมื่อเดือน ก.ย.2555 ข่าวการค้นพบดาวหางดวงนี้ สร้างความตื่นเต้นในแวดวงนักดาราศาสตร์สมัครเล่นอย่างมาก โดยเฉพาะนักดาราศาสตร์ในซีกโลกเหนือ ซึ่งไม่มีโอกาสเห็นดาวหางสว่างมานานหลายปี ขณะค้นพบดาวหางอยู่ห่างดวงอาทิตย์ 6.3 หน่วยดาราศาสตร์ สว่างที่โชติมาตร 18.8 ดาวหางไอซอนจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดราววันที่ 28-29 พ.ย. 2556 ประมาณ 1.9 ล้านกิโลเมตร นับว่าเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์มาก ห่างผิวดวงอาทิตย์เพียง 1.2 ล้านกิโลเมตร เท่านั้น

"คาดว่าขณะดาวหางไอซอลนี้ จะสว่างที่สุดในวันที่ 28-29พ.ย. 2556 ความสว่างโดยรวมทั้งหัวและหางอาจสูงมากคาดว่าอยู่ในช่วงโชติมาตร-10 ถึง-16 ซึ่งใกล้เคียงหรือสว่างกว่าดวงจันทร์เต็มดวงเราสามารถเห็นดวงจันทร์ในเวลา กลางวันได้ดังนั้นความสว่างระดับนี้จึงเพียงพอที่จะเห็นได้ในเวลากลางวันหาก ความสว่างเป็นไปตามความคาดหมายผู้สังเกตในประเทศไทยจะเห็นดาวหางไอซอนด้วยตาเปล่าบนท้องฟ้าเวลากลางคืนได้ในช่วงต้นเดือน พ.ย. 2556 จนถึงต้นเดือน ม.ค. 2557 บนซีกฟ้าตะวันออกในเวลาเช้ามืด ยกเว้นปลายเดือน พ.ย.ถึงต้นเดือน ธ.ค. ที่ดาวหางจะขึ้น-ตกพร้อมดวงอาทิตย์ ดาวหางไอซอนจะใกล้โลกที่สุดราววันที่ 26-27 ธ.ค. 2556 ที่ระยะ 64 ล้านกิโลเมตร ช่วงนั้นดาวหางขึ้นเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงเหนือในเวลาประมาณตี 3 และอยู่สูงเหนือขอบฟ้าราว 20°-25° เมื่อท้องฟ้าเริ่มสว่าง" นายวรเชษฐ์ กล่าว

นายวรเชษฐ์ กล่าวด้วยว่า ดาวหางไอซอน อาจกลายเป็นดาวหางที่สว่างที่สุดในรอบหลายสิบปี หรืออาจเป็นดาวหางที่สร้างความผิดหวังก็ได้ นักดาราศาสตร์เตือนว่า อย่าเพิ่งตั้งความหวังไว้สูงเกินไปนัก ในอดีตมีตัวอย่างของดาวหางหลายดวงที่มีแนวโน้มว่าจะสว่าง เห็นได้ด้วยตาเปล่าแต่ เมื่อถึงเวลา กลับสว่างน้อยกว่าที่พยากรณ์ไว้หลายเท่า.


Credit: Thaorath Online
http://www.thairath.co.th/content/edu/329710
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่