กรรมการล้อมวงคุยอะไร ในโครงการประกวด Use Me Again ใส่ความคิด พิชิตขยะ

หลังจากที่พี่ A Touch of Friendship เก็บภาพบรรยากาศงานแถลงข่าว โครงการ Use Me Again ใส่ความคิด พิชิตขยะ ฝากเพื่อนๆ ไปแล้ว

วันนี้ ก็ถึงตาของน้องพาพันแล้วครับ ฮ่าๆ ... ช้าหน่อย แต่ไม่ซ้ำกันแน่นอน ในงานเค้าคุยอะไรกันบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเสวนากรีนโซน น้องพาพันว่าน่าสนใจมากๆ เลยล่ะ เพราะแต่ละท่านแลกเปลี่ยนความคิดและประสบการณ์กันในด้านต่างๆ ที่ตัวเองถนัด จนกลายเป็นชุดความรู้ชุดใหม่ที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้ฟัง



อาจารย์สิงห์เริ่มเล่าว่า ตอนนี้ขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-waste กำลังเป็นปัญหาและแก้ไขยาก โดยเมื่อ 6 ปีที่แล้ว มีการสำรวจพบว่า จำนวนคนที่สนใจสินค้าแนว eco คือ 0% และเพิ่มขึ้นเป็น 5% เมื่อปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 8-9% ซึ่งตอนนี้กำลังเก็บข้อมูลว่าในปีนี้จะเพิ่มขึ้นถึง 10% หรือไม่ โดยคิดว่าน่าจะได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นหลังจากจบโครงการ use me again นี้

ดร.ขวัญ ให้ความรู้เพิ่มเติมในด้านสิ่งแวดล้อมว่า จริงๆ แล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมเมืองไทยมี 2 เรื่อง คือ เรื่องมลพิษจากการจราจร และเรื่องขยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ขยะประเภท e-waste ลองนึกภาพง่ายๆ ว่า ทุกบ้านมีโทรทัศน์ มีคอมพิวเตอร์ และบางบ้านอาจจะมีอย่างอื่นเพิ่มเติมอีก ซึ่งของเหล่านี้อายุการใช้งานแค่ประมาณ 2 ปี แล้วในประเทศไทยมีคน 60 ล้านคน ลองคิดดูว่า ในช่วง 2 ปี จะมีขยะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ และวิธีที่จะนำ e-waste เหล่านี้กลับมาใช้อีก ต้องไม่ให้โดนความร้อน เพราะจะทำให้รังสีหรือสารต่างๆ ที่อยู่ในตัววัสดุหลอมละลายออกมา ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อทั้งตัวคนทำและคนที่นำไปใช้

พี่ดวงกมล ให้ความเห็นว่า โครงการนี้ เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยรณรงค์ ให้คนสำนึกว่า ตอนนี้ทั้งโลกกำลังมีปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งถึงแม้ผลงานที่ส่งเข้าประกวดอาจจะไม่ได้มีมากมาย แต่อย่างน้อยก็เป็นการช่วยสร้างค่านิยม กระตุกต่อมคิดว่า ถ้าเราบริโภคกันแบบทุกวันนี้ เราจะเหลืออะไรไว้ให้ลูกหลาน...

ด้านพี่ท็อป พิพัฒน์ ก็ถ่ายทอดประสบการณ์จากการทำธุรกิจด้าน Green Product ว่า ของที่จะขาย ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ ต้องเป็นของที่ดี คือ ออกแบบดีและใช้งานได้ดี ซึ่งทุกวันนี้จะเห็นได้ว่า มีสินค้าไอทีเกิดขึ้นมากมาย และจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แล้วเมื่อสินค้าเหล่านี้หมดอายุการใช้งาน แล้วมันจะไปไหน เราจะมีการจัดการอย่างไรต่อ ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายคนพูดถึงอยู่ และโครงการนี้ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

พี่ศิริพร กล่าวเสริมประเด็นสินค้ากรีนในเชิงพาณิชย์ว่า สินค้ากรีนมีกระแสนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จะมีผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแนวนี้มากขึ้น ด้านการโฆษณาก็จะเริ่มมีผลิตภัณฑ์ที่บอกว่ามีกระบวนการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานมากขึ้น แต่ในโลกออนไลน์ ยังไม่มีเว็บไซต์ที่เป็นตัวกลาง รวบรวมสินค้ากรีน แม้แต่ใน pantipmarket เองก็มีคนซื้อขายสินค้าแนวนี้อยู่บ้างประปราย กระจายอยู่ในห้องต่างๆ แต่ต่อไปทางเว็บจะมีหมวดสินค้ากรีนแยกออกมา เพื่อสร้างความโดดเด่นให้มากขึ้น คนก็จะเข้ามาเลือกซื้อง่ายขึ้น

พี่วันฉัตร พูดถึงโครงการ Use Me Again ว่า จริงๆ วัสดุไอทีเป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งจากการเรียนด้านอิเลกทรอนิกส์มาทำให้รู้ว่า วัสดุที่อยู่ในอุปกรณ์ไอทีแต่ละอย่างนั้น แพง มีสารพิษ และรีไซเคิลค่อนข้างลำบาก เพราะมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก วิธีที่จะสามารถทำได้คือ รียูส

ด้านพี่ยุทธนา กล่าวปิดท้ายว่า เศษวัสดุใกล้ตัว ที่บางครั้งเราอาจจะมองข้าม เมื่อรวมกับไอเดียและทักษะแล้ว อาจจะกลายเป็นผลงานดีๆ ขึ้นมาอีกชิ้นหนึ่งก็เป็นได้

นอกจากนี้ น้องพาพันก็มีโอกาสได้คุยกับพี่วันฉัตรด้วยครับ โดยพี่วันฉัตรเล่าว่า จากการอยู่ในวงการไอทีมากว่าสิบปี พบว่าวัสดุไอทีแต่ละชิ้นมีคุณสมบัติพิเศษอยู่ในตัว ซึ่งเราไม่ควรจะทิ้งมันไปง่ายๆ จึงอยากให้ทุกคนได้ตระหนักถึงคุณค่าและประโยชน์ที่แฝงอยู่ จนตกผลึกความคิดและริเริ่มเป็นโครงการนี้ขึ้นมา

ตอนนี้ workshop ก็ใกล้เข้ามาแล้วนะครับ พี่ๆ คนไหนยังไม่ได้ลงทะเบียน ตามน้องพาพันไป ที่นี่ เลยครับ

อมยิ้ม01อมยิ้ม01

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่