ผ่าโมเดลการลงทุนของประธานเว็บ Thaivi สุทัศน์ ขันเจริญสุข

กระทู้สนทนา
ผ่าโมเดลการลงทุนของประธานเว็บ Thaivi สุทัศน์ ขันเจริญสุข

ผ่าโมเดลการลงทุนของประธานเว็บ Thaivi สุทัศน์ ขันเจริญสุข เจ้าของพอร์ตหุ้น 'หลายร้อยล้าน' เจอหุ้นดีตัวที่ 'ใช่' สำหรับเราต้อง 'ถือให้นาน'



วาทะของท่านขงจื๊อ กล่าวไว้ว่า "อยากไปเร็วๆ มักไปไม่ถึง ละโมบต่อผลประโยชน์เล็กๆ น้อยๆ มักทำการใหญ่ไม่สำเร็จ"  หุ้นดียิ่งบ่มนาน...ยิ่งกำไร กลยุทธ์การลงทุนที่ทำให้สุทัศน์ ขันเจริญสุข ประธานบอร์ดรุ่นที่ 4 www.thaivi.com  กลายเป็นเซียนหุ้นรายใหญ่ที่ประสบความสำเร็จมีพอร์ตลงทุน "หลายร้อยล้านบาท"  
นักลงทุนวัย 54 ปีรายนี้ เติบโตมาจากครอบครัวชนชั้นกลาง พ่อแม่มีกิจการค้าเสื้อผ้าเล็กๆ เพื่อส่งลูกๆ เรียนหนังสือ สุทัศน์เป็นเด็กเรียนดีจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นก็สอบเข้าเรียนคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคว้าปริญญาโท MBA จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นใบเบิกทาง

หลังจากเรียนจบ MBA ก็รู้สึกร้อนวิชา จึงลาออกจากงานประจำร่วมทุนกับพี่สาวและพี่เขย เปิดบริษัทเกี่ยวกับการนำเข้าเพชรจากต่างประเทศ ตอนนั้นปี 2530 เขาลงทุนไปประมาณ 250,000 บาท พอทำงานไปได้สักพักก็เริ่มรู้สึกว่าแนวทางการทำงานกับพี่สาวไปด้วยกันไม่ได้ จึงตัดสินใจถอนหุ้นออกมาทั้งหมดได้เงินคืนมาประมาณ 1.5 ล้านบาท
สุทัศน์ นำเงินก้อนนั้นไปซื้อหุ้น บริษัท เพทโทร-อินสตรูเมนท์ (PICO) ปัจจุบันบริษัทแห่งนี้ถือหุ้นใหญ่ RPC สัดส่วน 29.87% ขณะนั้นเป็นกิจการของครอบครัวภรรยา (ปริญญา ขันเจริญสุข) ทำธุรกิจเกี่ยวกับขายเครื่องมือตรวจวัดในโรงงานอุตสาหกรรม โดยช่วงแรกลงทุนไปราวๆ 30% สิ่งที่ได้คืนมาในแต่ละปีคือ "เงินปันผล" ที่ถือว่า "คุ้มค่ามาก"
ด้านหนึ่งบริษัท เพทโทร-อินสตรูเมนท์ ทำธุรกิจขายอุปกรณ์สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม มีรายได้เฉลี่ยปีละ 400-500 ล้านบาท เมื่อทำธุรกิจมีกำไรสุทัศน์ก็นำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นดีๆ เช่น หุ้น SCC, SCB, SMT และ RPC เป็นต้น ปีๆ หนึ่งได้ผลตอบแทนจากการลงทุน 10-15% อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทแห่งนี้มีพอร์ตการลงทุนที่ทรงพลังมากประมาณ 400-500 ล้านบาท ขณะที่สุทัศน์และปริญญา (ภรรยา) เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทดังกล่าวรวมกัน 80%
บริษัท เพทโทร-อินสตรูเมนท์  คือ จุดเริ่มต้นที่ทำให้ สุทัศน์ ล่วงรู้ความลับของการลงทุนว่า เราควรแบ่งเงินไปซื้อหุ้นดีๆ ในตลาดหุ้นแล้วถือให้นาน เพื่อรับส่วนต่างจากการลงทุนทั้งในแง่ของเงินปันผล และราคาหุ้น
แม้จะมีพอร์ตลงทุนขนาดใหญ่หลายร้อยล้านบาท ที่ถือหุ้น "ทางอ้อม" ผ่านบริษัท เพทโทร-อินสตรูเมนท์ แต่สุทัศน์ ยังนำส่วนแบ่งผลประโยชน์จากบริษัทดังกล่าวมาลงทุนโดยตรงในชื่อ "ภรรยา" ปัจจุบันพอร์ตส่วนตัวก็มีมูลค่า "หลายร้อยล้านบาท" เช่นเดียวกัน วิธีการลงทุนก็เหมือนกัน คือ "เลือกหุ้นดีที่ให้ผลตอบแทนเงินปันผลสม่ำเสมอ จากนั้นก็ถือลงทุนระยะยาว และนำดอกผลกลับมาซื้อหุ้นเพื่อลดต้นทุน"
เขาเล่าว่า ปัจจุบันพอร์ตลงทุนมีหุ้นอยู่ 35 บริษัท ตัวหลักมี 5 บริษัท หุ้นส่วนใหญ่ถือมานาน 5-10 ปี หากขายในตอนนี้จะได้กำไรค่อนข้างมาก เพราะหุ้นมีต้นทุนที่ต่ำมาก เมื่อได้รับเงินปันผลหรือกำไรจากการลงทุนก็จะนำไปลงทุนต่อ ทำให้ต้นทุนหุ้นในพอร์ตลดต่ำลงเรื่อยๆ
เขายกตัวอย่างหุ้น AJ ในพอร์ต 4.54 ล้านหุ้น คิดเป็น 1.15% มีต้นทุนแค่ 5 บาท ปัจจุบันซื้อขายเฉลี่ยที่ 27 บาท หุ้น BOL ในพอร์ต 22.68 ล้านหุ้น สัดส่วน 2.93% ต้นทุน 1.90 คิด (พาร์ 1 บาท) เมื่อแตกพาร์เหลือ 0.10 บาททำให้ต้นทุนเหลือ 0.19 บาท ปัจจุบันซื้อขายเฉลี่ย 1.38 บาท
หุ้น S&P ในพอร์ต 1.03 ล้านหุ้น คิดเป็น 0.99% ต้นทุน 18-20 บาท ตอนนี้ซื้อขาย 76-77 บาท หุ้น CHUO ในพอร์ต 146,100 หุ้น สัดส่วน 1.30% ต้นทุนเขา 7 บาท ช่วงนี้ซื้อขาย 9.60 บาท ส่วนหุ้น RPC ที่ครอบครัวถือหุ้นใหญ่ ซื้อมาตั้งแต่พาร์ 5 บาท ปัจจุบันแตกพาร์เหลือ 1 บาท ราคาซื้อขาย 3.78 บาท
เคล็ดลับความร่ำรวยของสุทัศน์ ไม่ใช่หลักการอะไรที่ลึกซึ้ง แต่เป็นหลักคิดที่ทรงพลัง "ถ้าเจอหุ้นที่ “ใช่” ผมจะกอดไว้นานๆ" เขาเล่าว่า จะไปประชุมผู้ถือหุ้นทุกปี ไปจนเข้าใจทุกซอกทุกมุมของบริษัท รู้จักพนักงาน รู้จุดเด่น จุดด้อยของบริษัท ก่อนจะสรุปว่า กลยุทธ์การลงทุนของผมก็คือ "เจาะลึกแบบถึงพริกถึงขิง"
เซียนหุ้นร้อยล้าน บอกว่า วิธีการลงทุนจริงๆ ไม่มีสูตรตายตัว ในระยะหลังๆ จะมี 2 วิธี ก่อนจะลงทุนหุ้นตัวไหนจะศึกษางบการเงินแบบละเอียด เน้นดูกระแสเงินสดของกิจการ เขาจะเอาไปทำอะไร ลงทุนอะไร จ่ายปันผลหรือเก็บไว้เป็นเงินสด ถ้าเอาไปลงทุนก็ถามต่อว่าเวลานี้จำเป็นหรือไม่
จากนั้นจะไปศึกษาสินค้าของเขาว่า กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร ลูกค้าใช้แล้วมีความสุขหรือเปล่า ใช้แล้วจะกลับมาใช้อีกมั้ย! อย่างตอนซื้อหุ้น S&P เพราะชอบโปรโมชั่นลด 20% ทุกวันพุธ เป็นกลยุทธ์เรียกลูกค้าที่ดีมาก ทุกวันพุธคนแน่นร้านตลอดแทบไม่มีที่ให้ยืนเลย
ขั้นตอนสุดท้าย เมื่อเข้าใจตัวธุรกิจแล้ว ก็จะเข้าไปดูราคาหุ้นสูงหรือต่ำ (แพงหรือถูก) มูลค่าหุ้นทางบัญชี หากราคาหุ้นถูกมากเมื่อเทียบกับ Book Value แต่บังเอิญบริษัทนิสัยไม่ดี ไม่โปร่งใส ก็ไม่เอานะ "ผมชอบดูนิสัยเจ้าของบริษัท นิสัยผู้บริหาร เรียกได้ว่าดูมันทุกมิติ"  
สุทัศน์ เน้นย้ำว่า "ซื้อหุ้นอย่ารีบร้อน" ดูทุกอย่างให้ครบถ้วน ส่วนตัวไม่ถนัดในการใช้กราฟเทคนิค ชอบดูพื้นฐานมากกว่า นอกจากนี้จะไม่เล่นเดย์เทรด มองว่าไม่เกิดประโยชน์อะไร เท่าที่เห็นเล่น 100 คน ได้ผลดีแค่ 2 คน คนที่เล่นหุ้นเก็งกำไรระยะสั้นเก่งๆ จะต้องมีวินัยสูง เราสู้เขาไม่ได้หรอก
"ผมอยากบอกนักลงทุนมือใหม่ว่า จงลงทุนในสิ่งที่ตัวเองรู้จัก อย่าลงทุนหุ้นทั้ง 100% ต้องรู้จักแบ่งออกมาบ้าง ยิ่งเป็นเงินร้อนแบบกระเป๋าซ้อนกระเป๋า (เงินกู้) ยิ่งต้องคิดให้ดี ขอให้ใช้สติในการลงทุน"
นอกจากนี้ อย่าพยายามยึดใครเป็นตัวอย่าง (อย่าเล่นหุ้นตามเขา) เพราะคนเล่นหุ้นมีหลายประเภท ลองคิดดูบางคนทำธุรกิจเล็กๆ มีเงินเหลือเก็บเอามาเล่นหุ้น ส่วนใหญ่ก็เล่นเดย์เทรด แล้วเกิดโชคดีได้กำไร แต่เราคิดว่าเขาเก่งก็ไปยึดเขาเป็นแบบอย่าง สุดท้ายโชคชะตาไม่เข้าข้างก็ขาดทุนเพราะวิธีการไม่เหมือนกัน
ทุกวันนี้ สุทัศน์ ยกหน้าที่ให้ ปริญญา ขันเจริญสุข ภรรยาเป็นคนดูแลเรื่องการเงินของครอบครัว ส่วนตัวได้เงินมาเท่าไรก็ให้ภรรยาเก็บหมด ขนาดจะสั่งซื้อหุ้นสักตัวยังต้องให้ภรรยาจัดการโอนเงินให้โบรกเกอร์ เพราะจะซื้อในนามภรรยาตลอด
"ลองไปดูดีๆ แทบไม่มีชื่อผมซื้อหุ้นเลย แม้จะเป็นชื่อภรรยาแต่การเลือกลงทุนหุ้นแต่ละตัวผมเป็นคนสรรหาเอง ภรรยามีหน้าที่จ่ายเงินเท่านั้น (หัวเราะ) ที่ให้เขาจัดการเพราะเขาเก่งเรื่องนี้ ไม่อยากไปแทรกแซง ผมว่าแบ่งหน้าที่กันแบบนี้มันสบายใจ"
สำหรับหุ้นที่ถือมานาน เขายกตัวอย่างหุ้น เอ.เจ.พลาสท์ (AJ) ลงทุนมาเกือบ 10 ปีแล้ว ตัวนี้ชอบผู้บริหารเขาทำธุรกิจยอดเยี่ยมมาก ขยายสินค้าครบวงจรและมีวินัยมาก ตอนนี้ยังไม่คิดซื้อหุ้น AJ เพิ่ม เท่าที่มีอยู่ก็มากพอแล้ว และยังไม่คิดขายในเร็วๆ นี้ด้วย แต่ละปีได้ผลตอบแทนจากการลงทุน 3-4% ต่อปี ถือว่าโอเคระดับหนึ่ง แถมมีเงินปันผล 33% ของกำไรสุทธิทุกปี
"เฉลี่ยแล้วปีหนึ่งผมได้รับเงินปันผลหุ้น AJ ปีละประมาณ 3-4 ล้านบาท อีกอย่างหุ้นขาลงผมก็ไม่ขาดทุน เพราะถือว่าต้นทุนต่ำมาก"
สำหรับหุ้น บิซิเนส ออนไลน์ (BOL) ตอนนั้นที่ซื้อเพราะบริษัท เพทโทร-อินสตรูเมนท์ ซื้อข้อมูลจาก BOL ซึ่งเราเห็นว่าธุรกิจเขาโอเค ไม่มีคู่แข่ง ซื้อมาตั้งแต่พาร์ 1 บาท ต้นทุนเฉลี่ย 1.90 บาท ตอนนี้แตกพาร์เหลือ 0.10 บาท ต้นทุนก็ 0.19 บาท ตั้งใจจะถือหุ้น BOL ประมาณ 3% ตอนนี้มีแล้ว 2.93%
หุ้น เอส แอนด์ พี ซินดิเคท (S&P) ตัวนี้ก็ถือมาเกิน 10 ปีแล้ว ต้นทุน 18-20 บาท ชอบบิซิเนส โมเดลของบริษัท “อาหารดี บริการเลิศ” ลูกค้าส่วนใหญ่ใช้บริการแล้วก็จะกลับมาอีก มีการบอกต่อด้วย ที่สำคัญบริษัทมีเงินสดไม่เยอะ เพราะเอาไปลงทุน และจ่ายเงินปันผลหมด
สำหรับหุ้น ระยองเพียวริฟายเออร์ (RPC) ตัวนี้ผูกพันมานานมากๆ รู้จักกันตั้งแต่บริษัทยังไม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ ต้นทุนจำไม่ได้ รู้แต่ว่าต่ำมากๆ เพราะลงทุนตั้งแต่บริษัทก่อตั้ง รักมากถึงขนาดญาติสั่งผมและภรรยาว่า “ห้ามขายเด็ดขาด”
สำหรับหุ้น ชูโอ เซ็นโก (ประเทศไทย)  หรือ CHUO ตัวนี้ต้นทุน 7 บาท ซื้อมาเมื่อ 4-5 ปีก่อน ตั้งใจซื้อให้ลูกสาววัย 24 ปี (พีระขวัญ ขันเจริญสุข) ที่ทำงานเกี่ยวกับครีเอทีฟ โฆษณาได้ศึกษาหาความรู้ แต่เอาเข้าจริงๆ ลูกสาวไม่สนใจก็เลยถือไว้เฉยๆ เพื่อรับเงินปันผล
สุทัศน์ กล่าวว่า ส่วนหุ้นตัวอื่นๆ ก็ไม่ค่อยได้สนใจเท่าไร เพราะบางตัวซื้อมาเพราะภรรยาออกแนวเกรงใจ ไม่กล้าปฏิเสธ พอจะขายก็ตัดไม่ขาด ใจไม่กล้าพอ ถือเป็นความผิดพลาดอย่างหนึ่ง บางตัวซื้อมาตอนราคาแพงๆ ศึกษารายละเอียดไม่ดีพอ สุดท้ายก็ดองอยู่ในพอร์ต ก่อนหน้านี้ก็ทยอยขายขาดทุนไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่หมด
"หุ้นเก่าๆ ที่ขาดทุนอยู่ในพอร์ต ผมเลยถือซะว่าเล่นสนุกๆ คิดแค่ว่า ก็ดีเหมือนกันเก็บไว้เป็นบทเรียนอันแสนเจ็บปวด จะได้ไม่ผิดพลาดอย่างนี้อีก"
สำหรับหุ้นที่เล็งว่าจะซื้อเพิ่ม สุทัศน์ บอกว่า สนใจหุ้นกันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) สนใจตัวธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ถ้าทำสำเร็จผลประกอบการจะโดดเด่นแน่นอน
ถึงแม้ว่าพอร์ตจะใหญ่หลักร้อยล้านบาท แต่สุทัศน์ ย้ำว่า ความสุขทุกวันนี้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของพอร์ตลงทุน สมัยก่อนอาจจะ "ใช่" แต่วันนี้ "ไม่ใช่" แล้ว ทุกวันนี้กินแค่ "เงินปันผล" ที่ลงทุนไว้ก็ใช้ไม่หมดแล้ว ความสุขทุกวันนี้คือการทำประโยชน์ให้สังคมมักจะแบ่งเงิน 5-10% ของดอกผลไปบริจาคให้กับศาสนา และการศึกษา
"มีเงินมากเหมือนมี "ยาพิษ" กลัวลูกหลงละเลิงกับเงินทองที่กองอยู่ตรงหน้า เพราะยิ่งมีเงินมากกิเลสก็ยิ่งหนา ที่ผ่านมาผมมักสอนให้ลูกรู้จักการแบ่งปัน และรู้จักคุณค่าของเงิน”
สุทัศน์ สรุปปิดท้ายว่า จุดเริ่มความร่ำรวยของตนเองเกิดขึ้นที่ บริษัท เพทโทร-อินสตรูเมนท์ เพราะบริษัทแห่งนี้ให้ผลตอบแทนปีละ 10-15% ทั้งๆ ที่เป็นเพียงบริษัทจำกัดไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์
"ผมอยากจะชี้ให้เห็นว่าความร่ำรวยจากการลงทุนไม่จำเป็นต้องลงทุนในตลาดหุ้นอย่างเดียว คนที่ลงทุนในตลาดหุ้นก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จทุกคน ทุกอย่างอยู่ที่ความตั้งใจจริง ไม่ว่าเราจะลงทุนอะไร ถ้าเรามีความจริงจังและจริงใจ คุณก็ประสบความสำเร็จและรวยได้เหมือนกัน"  

ปล. หลักการดีมากครับ สามารถนำมาประยุกต์ด้วยวิธีการ จะเหมาะกว่าการลอกหุ้นนะครับ เพราะ เวลาต่างกัน ตัวแปรในหุ้นย่อมเปลี่ยนไปครับ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่