ทำไมพระถังซัมจั๋งจึงเลือกที่จะนำศาสนาพุทธมหายานกลับไปเผยแพร่ยังจีน

ทำไมถึงไม่เป็นเถรวาท เป็นเพราะ สมัยก่อน พุทธมหายาน ได้รับความนิยมมากกว่ารึเปล่า ในแถบอินเดียเหนือ

แต่ก็ต้องขอบคุณพระถังซัมจั๋ง ที่ทำให้ศาสนาพุทธมหายานยังคงมีผู้นับถือ

เพราะในอินเดีย สูญสิ้นไปหมดแล้ว ศาสนาพุทธกระจายไปเจริญที่อื่นแทน

แล้วมหายานจีน นี่เหมือนกับต้นฉบับในอินเดียทุกอย่างมั๊ยคะ พวกพระสูตร หลักคำสอน

เหมือนเถรวาท ในไทยที่ยังเหมือนกับศรีลังกา
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 4
.... พระถังซำจั๋งไม่ได้เอาพระพุทธศาสนามหายานไปเผยแผ่ในจีนนะครับ  พระพุทธศาสนามหายานมีอยู่ในจีนอยู่แล้ว  พระพุทธศาสนาเข้าสู่จีนตั้งแต่พ.ศ.๖๐๘ ในรัชสมัยของพระเจ้าฮั่นมิ่งตี่

อินเดียขณะนั้น เป็นช่วงที่พระพุทธศาสนามหายานรุ่งเรืองถึงขีดสุด เพราะพระเจ้าหรรษวรรธนะผู้ครองกันยากุพชะซึ่งมีอำนาจสูงสุดในอินเดียครั้งนั้น ทรงเลื่อมใส และให้ความอุปถัมภ์อยู่

พระถังซำจั๋งท่านเดินทางมาอินเดียก็เพราะว่า สมัยนั้นการแปลพระคัมภีร์พระไตรปิฎก สูตร และอรรถกถาหรือปกรณ์วิเสสของฝ่ายสาวกยานและมหายาน ซึ่งแพร่หลายในประเทศจีนขณะนั้น  มีปัญหาเรื่องความบกพร่องด้านภาษา เพราะพระที่แปลก็เป็นชาวอาเซียกลาง หรือชาวอินเดียที่เดินทางมาจีน แล้วท่านก็ไม่แตกฉานภาษาจีนเพียงพอ  ทำให้ปัญหาความถูกต้อง และอรรถรสทางภาษาเสียไป  บางคัมภีร์มีผู้แปลหลายสำนวนทำให้ยากจะรู้ว่าของใครถูกกว่ากัน  บางคัมภีร์ก็แปลแบบเก็บความ ทำให้สูญเสียเนื้อหาสาระบางส่วนไป   ยกตัวอย่างเช่นมหาปรัชญาปารมิตาสูตร (ไต้ปัวเยียกปอล่อมิกตอเก็ง)  ที่พระกุมารชีพ (คิวหมอล้อชิน) แปลเอาไว้ ก็แปลโดยอรรถ คือแปลแบบสรุปความเอา

พระถังซำจั๋งท่านเห็นข้อผิดพลาดและข้อบกพร่องในการแปลคัมภีร์ ก็เลยทำให้ท่านต้องการเดินทางมาอินเดียเพื่อศึกษาภาษาสันสกฤตให้แตกฉาน และนำคัมภีร์มหายานรวมถึงสาวกยานที่เกื้อกูลต่อการศึกษาพุทธปรัชญา ที่เป็นต้นฉบับสันสกฤตแท้ ๆ เพื่อนำกลับไปที่ประเทศจีน แล้วก็แปลเป็นภาษาจีน   โดยเฉพาะคัมภีร์โยคาจารภูมิศาสตร์ซึ่งเชื่อกันว่า เป็นผลงานของพระอริยเมตตรัยโพธิสัตว์ ได้เผยความนัยให้พระอสังคะได้เขียนขึ้น  

อีกจุดประสงค์หนึ่ง ก็เพื่อศึกษาพุทธปรัชญาโยคาจาร จากพระอาจารย์ศีลภัทรซึ่งเป็นอธิการบดีแห่งนาลันทาสมัยนั้น ท่านเป็นพระอาจารย์ใหญ่ของโยคาจารในสมัยนั้น

พระถังซำจั๋งนอกจากจะเรียนภาษาสันสกฤตจนแตกฉานแล้ว ยังเชี่ยวชาญจนถึงขั้นแต่งปกรณ์เป็นภาษาสันสกฤตจนเป็นที่ชื่นชมของพระอาจารย์ในนาลันทาและพุทธศาสนิกชนในอินเดียครั้งนั้น  คัมภีร์ที่ท่านแต่งเป็นภาษาสันสกฤตสองคัมภีร์ คือ  ชุมนุมวิถีธรรม  (ห้วยจงหลุง)- เป็นคัมภีร์ประมวลหลักธรรมในนิกายมาธยมิก หรือสุญญตวาท กับโยคาจารวิชญาณวาท เพื่อให้เห็นว่าสองนิกายนี้ไม่แตกต่างกัน   และอีกคัมภีร์หนึ่งคือ  กำจัดมิจฉาทิฏฐิ (ผั่วอั่กเกี๋ยนหลุน)  ซึ่งมีเนื้อหาอธิบายข้อโต้แย้งต่อบุคคลผู้กล่าวปรักปรำพุทธศาสนามหายาน

เมื่อท่านศึกษาในอินเดียจนจบแล้วจึงเดินทางกลับไปประเทสจีนพร้อมทั้งนำพระคัมภีร์พุทธศาสนามหายาน และสาวกยาน ไปประเทศจีนเพื่อกลับไปแปลเป็นภาษาจีน โดยได้รับพระบรมราชูปถัมภ์การแปลจากพระเจ้าถังไท่จง และพระเจ้าถังเกาจง  ท่านทำงานแปลจนสุดท้ายได้แปลคัมภีร์มหาปรัชญาปารมิตาสูตรที่พระกุมารชีพแปลแบบย่อความ  แต่พระถังซำจั๋งแปลแบบครบทุกเนื้อหา ไม่ตัดย่อความใด ๆ เลย  สำเร็จเป็นบุคคลแรก (ถ้าจำไม่ผิด มหาปรัชญาปารมิตาสูตร ผู้ที่แปลจนจบสมบูรณ์มีเพียงพระถังซำจั๋งเพียงรูปเดียว)

จึงสรุปว่า พระถังซำจั๋งไม่ได้นำพระพุทธศาสนามหายานไปเผยแผ่ในประเทศจีน (ประเทศจีนมีพุทธมหายานอยู่แล้ว) ที่ท่านนำกลับไปคือคัมภีร์ฉบับภาษาสันสกฤตเพื่อแปลเป็นภาษาจีนให้ถูกต้อง และนำแนวคิดเรื่องพระพุทธศาสนาแบบโยคาจารวิชญาณวาทไปเผยแผ่  ซึ่งต่อมาท่านก็ได้เป็นผู้ก่อตั้งพระพุทธศาสนานิกายโยคาจารที่พัฒนาแล้วในประเทศจีน เรียกว่า นิกายธรรมลักษณะ
ความคิดเห็นที่ 8
ถ้าให้เล่าจริง ๆ มันยาวครับ  ในเบื้องแรกพระพุทธศาสนาเข้าสู่จีนในสมัยพระเจ้าฮั่นมิ่งตี่ โดยเหตุที่พระองค์ทรงสุบินนิมิตเห็นพระพุทธรูปทองคำ  จึงให้โหรหลวงทำนาย โหรหลวงบอกว่านั่นคือรูปของพระศาสดาที่ประเทศตะวันตก (อินเดียอยู่ทางตะวันตกของจีน) พระเจ้าฮั่นมิ่งตี่ทรงสนพระทัยก็เลยให้ตั้งทูตส่งไปสืบพระศาสนาในตะวันตก  นัยว่าทูตเดินทางมาถึงแคว้นโขตาน ได้พบพระพุทธศาสนาที่โขตาน และ นิมนต์พระสงฆ์สองรูป คือพระธรรมรักษ์( เต๊กฮวบลั้ง) กับพระกัสสปมาตังคะ (เกียเฮียะม่อเท้ง)  พร้อมกับพระพุทธรูปและคัมภีร์พุทธศาสนาบางส่วนกลับไปยังจีน ที่เมืองลงเอี๋ยง หรือลั่วหยาง  พระเจ้าฮั่นมิ่งตี่ทรงให้สร้างวัดสำหรับพระสงฆ์จำพรรษา ชื่อว่าวัดไป๋หม่าซื่อ หรือแปะเบ๊ยี่ แปลว่าวัดม้าขาว  เพราะสัมภาระเช่นพระพุทธรูปและพระคัมภีร์ที่นำมาด้วย บรรทุกด้วยม้าขาวมา    (ปัจจุบันวัดม้าขาวก็ยังอยู่ที่ลั่วหยาง  มีคนไทยคือ คุณวัฒนา อัศวเหมได้รับอนุญาตให้สร้างวัดไทยขึ้นในอาณาบริเวณของวัดม้าขาว   ชื่อว่า วัดเหมอัศวาราม)

พระธรรมรักษ์กับพระกัสสปะมาตังคะได้ประมวลหลักธรรมในคัมภีร์ธรรมบท ๔๒ บท มาเป็นหนังสือสำหรับแสดงหลักธรรมพระพุทธศาสนาเบื้องต้น ในชื่อว่า ๔๒พระธรรมบท (สี่จับยี่เจียงเก็ง) โดยวิธีการแปล ต้องใช้แปลผ่านล่ามหลายปาก  คือ ท่านบอกเป็นภาษาอินเดียง่าย ๆ ให้คนเตอร์กที่ฟังออก แปลเป็นภาษาเตอร์ก แล้วบอกคนจีนที่ฟังภาษาเตอร์กออกฟัง  แล้วค่อยแปลเป็นจีนอีกทึหนึ่ง

ทีนี้พระพุทธศาสนาทีไปสู่จีนครั้งนั้นน่าจะเป็นสาวกยาน แต่ถ้าเป็นพระพุทธศาสนามหายานแท้ ๆ เข้าไปตอนไหนนี่ผมต้องขออภัย พอดีไม่มีข้อมูลอยู่ในมือ (หาหนังสือไม่เจอ ^^")

ส่วนพระโพธิธรรมนั้น ท่านไม่ใช่ผู้นำพระพุุทธศาสนามหายานไป  แต่ท่านนำพระพุทธศาสนามหายาน "นิกายฌาน" ไปเผยแผ่ ในรัชสมัยของพระเจ้าเหลียงบู่ตี่

เท่าที่ผมพอจะจำได้ลาง ๆ จากความจำที่มีอยู่ ก็คือ พระพุทธศาสนามหายานได้รับความสนใจนับถือ น่าจะไม่ได้มากจากตัวบุคคล แต่เป็นหลักธรรมในพระสูตรมหายานที่แปลเป็นจีน โดยในยุคแรก พระคัมภีร์ที่แปลเป็นจีน เป็นพระคัมภีร์ในฝ่ายสาวกยาน  ซึ่งผู้แปลคัมภีร์สาวกยานออกมามาก คือพระอันซื่อเกา ซึ่งเดิมเป็นเจ้าชายของอาณาจักรหนึ่งในอาเซียกลาง  เป็นผู้เชี่ยวชาญภาษาจีน อินเดีย สันสกฤต ได้แปลคัมภีร์สาวกยานนิกายสรวาสติวาทออกมามาก   ต่อมา พระโลกเสน (จือโหลวเจี่ยเสิ่น)   ก็ได้แปลคัมภีร์ฝ่ายมหายานออกมา และพระนักแปลคัมภีร์ที่แปลคัมภีร์มหายานมากมายจนได้รับขนานนามว่า ๔ นักแปลผู้ยิ่งใหญ่ (จตุรัคคปริวรรติกะ) คือพระกุมารชีพ และพระปรมารถ หรือพระปรมรรถะ เป็นต้น

พระพุทธศาสนามหายานยุคแรกสุดที่ก่อตัวขึ้นในจีน หรือมีการตั้งสำนักในจีน คือพระพุทธศาสนานิกายสุขาวดี ซึ่งได้แนวคิดการตั้งนิกายจากพระสูตรมหายานชื่อ สุขาวตีวยูหสูตร เป็นต้น  ซึ่งก่อตั้งในปลายพุทธศตวรรษที่ ๙ โดยพระสมณะฮุ้ยเหวี่ยน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่