ขอวิงวอนและกราบขอความเห็นใจ ถึง ธ.ไทยพานิชย์ หากผมต้องขึ้นศาล เพราะผมโดนขโมยข้อมูลบัตรเครดิตไปใช้งาน

หากผมต้องขึ้นศาล ต้องโดนยึดทรัพย์ ต้องโดนอายัดเงินเดือน เพราะผมโดนขโมยข้อมูลบัตรเครดิตไปใช้งาน

เรื่องนี้นานมาแล้วบางท่านอาจจะเคยอ่านกระทู้นี้กว่าสองปีมาแล้ว หากท่านใดยังไม่เคยลองดูในกระทู้นี้ครับ
http://topicstock.ppantip.com/sinthorn/topicstock/2011/05/I10592976/I10592976.html

เรื่องโดยรวมสั้นๆก็คือ ผมโดนขโมยข้อมูลบัตรเครดิตโดยบุคคลอื่น ซึ่งโจรเอาไปใช้จ่ายในอินเตอร์เน็ตในบางเว็บที่ไม่มีความรัดกุมในเรื่องการยันยืนความเป็นเจ้าของบัตร เช่นจองโรงแรม ซื้อตั๋วหนัง ซื้อมือถือฯลฯ และไม่มีการแจ้งการใข้งานจากธนาคารแต่อย่างใด จนกระทั่งปลายเดือนมีจดหมายยอดการใช้จ่ายเต็มวงเงิน (ดูภาพได้จากกระทู้เก่า) ต่อมาผมได้ไปตามหลักฐานด้วยตัวเองจนได้โฉมหน้าผู้ต้องหา และเข้าแจ้งดำเนินคดีกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อออกหมายจับ แต่ข้อกฎหมายได้กำหนดไว้ว่า กรณีนี้ทางธนาคารเป็นผู้เสียหายฉนั้นทางธนาคารต้องมาแจ้งความร่วมกับผม(ร้อยเวรกล่าว) ซึ่งแน่นอนเค้าไม่มา ทั้งๆที่บอกว่าจะมา อีกอย่างกฎหมายเกี่ยวกับบัตรอีเล็กทรอนิคก็เพิ่งออกมาได้ไม่กี่ปี แทบจะไม่คุ้มครองผู้ใช้งานซักเท่าไหร่ ซึ่งนั่นหมายความว่าตำรวจไม่สามารถออกหมายจับได้หากธนาคารไม่มาแจ้งความร่วม ผมจึงออกตามล่าคนร้ายด้วยตัวเอง ซึ่งไม่เจอแน่นอนตามที่อยู่ในบัตร ปปช จึงใช้เวลาตามหาอยู่พักใหญ่ จนในที่สุดเจอตัวก็ลากเข้าไปลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจ (ตรงนี้ก็ยังแจ้งความไม่ได้เพราะธนาคารเป็นผู้เสียหาย) มันน่าเจ็บใจจริงๆเจอโจรตัวเป็นๆแต่ทำไรไม่ได้ จะซ้อม ขู่เข็นให้จ่ายก็ใช้เรื่องที่ไหน ก็ได้แต่ใบบันทึกประจำวันของตำรวจที่คนร้ายสารภาพผิดว่าเป็นคนทำเองทั้งหมด แล้วก็ปล่อยมันไป และได้แต่นั่งรอถึงวันที่สัญญาแบบโจรๆสัญญาไว้ว่าจะมาจ่ายให้เราทั้งหมด แล้วก็ไม่มาตามระเบียบ หลังจากนั้นก็พยายามติดต่อกับทางธนาคารและจ่ายยอดขึ้นต่ำไปเรื่อยๆอยู่สองสามงวดรวมๆก็เกือบหมื่นเพราะไม่อยากเสียเครดิต ในที่สุดไม่มีความคืบหน้าผมจึงหยุดจ่าย ธนาคารก็ยังคอยติดตามทวงหนี้จนในที่สุดผมก็ติดแบกริสของเครดิตบูโร แต่การติดตามทวงหนี้ก็ดำเนินมาตลอด จนผมได้โพสลงpantipในที่สุดตามกระทู้เก่านั้น จนถึงวันนี้จดหมายล่าสุดที่ผมได้รับ ออกเมื่อวันที่ 3กพ56 แต่มาถึงมือผมประมาณวันที่ 20กพ56 รายละเอียดตามภาพด้านล่างนี้......นี่คือเรื่องย่อแล้วนะ จิงๆแล้วการติดตามโจร การติดต่อกับทางธนาคาร การเข้าแจ้งความ มีเรื่องอีกมากมายที่เกิดขึ้น

วันนี้ผมกำลังจะโดนฟ้องศาล ขึ้นศาล และผมต้องแพ้คดีเพราะเป็นมนุษย์เงินเดือนตัวเล็กๆ จะโดนยึดเงินเดือน ทรัพย์สิน ตามที่จดหมายได้กล่าวไว้หากผมไม่ไปจ่ายหนี้ดังกล่าว
ผมจึงขอประกาศจะจ่าย10000บาทถ้วนให้กับทางธนาคารหากจบเรื่องนี้และอีกสองปีเครดิตผมจะเป็นปกติตามหลักของเครดิตบูโร(หากธนาคารจะช่วยล้างเครดิตก็จะขอบพระคุณมาก)

ถึง ธนาคารไทยพานิขย์
ขอให้ผมได้ทำธุรกรรมด้านการเงินเหมือนคนอื่นด้วยเทิดแม้ต้องรออีกสองปี

ภาพแรก

จากภาพเมื่อสองสามวันก่อน ผมได้รับจดหมายนี้จากบริษัทติดตามทวงหนี้ที่ทางธนาคารไทยพานิชย์ว่าจ้าง จริงๆแล้วผมได้รับโทรศัทพ์จากบริษัทเหล่านี้มาตลอด และต้องเล่าสาเหตุของสาเหตุที่ผมไม่จ่ายทุกๆครั้ง


ภาพสอง

จากภาพนี่คือยอดหนี้ทั้งหมดของการสรุปรวมของข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ณ ตอนนี้ ซึ่งบวกดอกเบี้ยมาเรื่อยๆ จนยอดแตะสามหมื่น จากที่ผมเคยจ่ายช่วงที่โดนแรกๆไปแล้วเกือบหมื่น
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 23
เดาว่าเคสนี้เกิดจากความไม่รู้กฏหมายของ จขกท. บางส่วน เลยทำให้คดีมันพลิกล่ะมั้งครับ

ประเด็นแรก ตาม คคห.3-1 ที่ยกมาคือ ข้อหาฉ้อโกง
สรุปง่ายๆเป็น ภาษาชาวบ้าน คือโจรมันหลอกธนาคารว่าเป็นเจ้าของบัตร
เอกสารตามที่คุณยกมา อ้างฎีกาเรื่องลายเซ็นต์ในบัตร เพราะมันพิสูจน์ได้ว่าลายเซ็นต์มันแท้หรือปลอม
แต่เคสของคุณเป็นธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต และในเอกสารที่คุณเซ็นต์ตอนทำบัตรเครดิต(หรือเอกสารที่กดยอมรับตอนเปิดใช้บัตรจ่ายเงินทางอินเทอร์เน็ต)มันจะระบุไว้ว่า การยืนยันว่าเป็นตัวคุณทางอินเทอร์เน็ต จะใช้เพียงข้อมูลบนบัตรและเลขรหัสลับ 3 ตัวหลังบัตรเท่านั้น
และส่วนมากจะต้องมีข้อความระบุไว้ชัดว่า ถ้ามีการให้ข้อมูลบัตรที่ถูกต้องถึงแม้คนที่ให้ข้อมูลจะไม่ใช้คุณเองแต่เป็นคนอื่น คุณก็ยินดีรับผิดชอบในส่วนนั้นด้วย (แปลเป็นภาษาชาวบ้านว่า ถ้ามีคนบอกรหัสบนบัตรถูกต้องครบหมด ธนาคารก็ถือว่าคุณเป็นคนสั่งให้จ่ายเงิน ไม่ว่าคนที่บอกรหัสจะเป็นใครก็ตาม และถ้าคนบอกรหัสไม่ใช่คุณ คุณก็ต้องรับผิดชอบเอาเอง)

ประเด็นต่อมา คือ พนักงานสอบสวน(ตำรวจ) คงไม่มีความชำนาญในคดีบัตรเครดิต+อินเทอร์เน็ต(ต้องเข้าใจว่ามันเป็นของใหม่นะ คดีตัวอย่างก็ยังมีไม่เยอะ) จึงเข้าใจว่ามันเป็นเคสขโมยบัตรเครดิตปกติ  ส่วนทางธนาคารซึ่งฝ่ายกฏหมายเชี่ยวชาญเรื่องพวกนี้อยู่แล้วดูรูปการณ์ปุ๊ปก็เข้าใจว่าไม่เกี่ยวกับแบงค์ ฝ่ายกฏหมายเค้าก็เลยไม่ยุ่ง ทีนี้คงประสานงานกันไม่ดีเลยไม่มีการแจ้งผู้เสียหายให้ชัดเจน เลยเป็นงงๆ กันแบบนี้


ประเด็นที่ 3 คือ ถ้าคุณไม่ได้ใช้รายการตามบัตรเครดิตของคุณจริง สิ่งเดียวที่คุณต้องทำคือต้องปฏิเสธทุกทาง และห้ามจ่ายอะไรเลยแม้แต่ยอดขั้นต่ำ(ถ้ารายการค้างหลายรายการ มีทั้งที่คุณใช้และไม่ได้ใช้ให้จ่ายเฉพาะที่คุณใช้ และเว้นที่คุณไม่ใช้ไว้) เพราะการที่คุณจ่ายไปแม้แต่นิดเดียว ในทางกฏหมายถึอว่าคุณยอมรับไปแล้วว่าเป็นรายจ่ายของคุณ นอกไปจากเรื่องห้ามจ่ายแล้ว คุณต้องแจ้งธนาคารด้วยว่ารายการนั้นๆไม่ใช่ของคุณ โดยคุณอาจจะแจ้ง Callcenter ไว้ก่อน และไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน และส่งเอกสารเป็นหนังสือแจ้งไปยังธนาคารว่าคุณปฏิเสธการจ่ายเงินในรายการที่คุณไม่ได้ใช้
ถ้าคุณทำทั้งหมดที่ว่ามา เจ้าทุกข์ก็ยังอาจจะเป็นธนาคารอยู่ เพราะฝ่ายกฏหมายธนาคารต้องหาหลักฐานการใช้บัตรเครดิตมาเพื่อเอามาฟ้องร้องคุณให้คุณจ่าย ซึ่งถ้าไปค้นหลักฐาน ฝ่ายกฏหมายของธนาคารก็อาจจะเจอว่าคนที่ใช้บัตรจริงๆแล้วไม่ใช่คุณ และก็อาจดำเนินคดีกับคนร้ายได้
หรือถ้าธนาคารยังดื้อแพ่งตามตื้อเก็บเงินคุณไม่เลิก คุณก็ควรจะไปฟ้องศาล เพื่อรักษาสิทธิทางกฏหมายของคุณ ส่วนเรื่องเครดิตบูโรไม่ต้องไปสนครับ ถ้าคุณยอมจ่ายไปกลางคันคุณจะยิ่งแย่เพราะเท่ากับคุณยอมรับผิดไปหมดแล้ว และคุณก็ไม่มีทางลบประวัติเครดิตคุณได้
แต่ถ้าคุณยืนยันไม่จ่ายสถานเดียว ถ้าหาตัวคนร้ายได้ หรือคุณฟ้องธนาคารแล้วชนะในเรื่องที่คุณไม่ได้ใช้จ่ายตามที่ปฏิเสธจริง คุณสามารถเอาหมายศาลไปถอดข้อมูลออกจากเครดิตบูโรได้อย่างชนิดที่ว่าไม่เคยมีบันทึกมาก่อน

แต่ถ้าคุณไปจ่ายส่วนที่คุณไม่ได้ใช้ไปแล้ว แม้จะจ่ายขั้นต่ำ ก็ถือว่าคุณยอมรับธุรกรรมดังกล่าวไปในตัวแล้วว่ามันถูกต้อง คุณเป็นคนใช้มันเอง คดีมันเลยพลิกตรงนี้ จากที่ธนาคารจะต้องเป็นฝ่ายกระตือรือร้นหาคนผิด กลายเป็นว่าธนาคารไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้นแล้ว คุณไปรับจ่ายหนี้แทนโจรเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น คุณเลยต้องเป็นคนไปจับโจรเอง และเมื่อเจอโจรแล้ว คุณก็ต้องตั้งข้อหากับโจรตามความผิดที่โจรได้กระทำ
เช่น
ข้อหาขโมยข้อมูลบัตรของคุณ แล้วนำไปใช้โดยมิชอบ อาญา ม.269/5+ม.269/7 (ตำรวจบางคนยังไม่รู้เลยว่ามีกฏหมายข้อนี้) ข้อหานี้คุณเป็นเจ้าทุกข์โดยตรงธนาคารไม่เกี่ยว
และก็ควรแถมข้อหาลักทรัพย์พื้นๆไปด้วย อาญา ม.334 (อันนี้คุณก็เจ้าทุกข์โดยตรง)

สรุป. ถ้ามองในแง่กฏหมายล้วนๆ งานนี้เจ้าทุกข์(จขกท.) พลาดไปแล้วหลายจุด และทางตำรวจเจ้าของคดีก็พลาดตรงที่ไม่ทราบถึงข้อกฏหมายอันเป็นประโยชน์ของเจ้าทุกข์(อันนี้ก็ไปโทษตำรวจอย่างเดียวไม่ได้ ตำรวจต้องทำงานหลายด้านจะให้เชื่ยวชาญทุกด้านคงลำบาก)

ทางออกที่ดีและเป็นอุทาหรณ์สำหรับคนอื่นๆก็คือ อย่านิ่งเฉย และอย่ายอมรับในสิ่งที่เราไม่ได้ทำโดยเด็ดขาด ถ้าคุยกับธนาคารไม่รู้เรื่องให้หาทนาย หรือถ้าไม่มีทุนทรัพย์จ้างทนายให้ไปปรึกษาหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือได้ เช่น ศูนย์ช่วยเหลือของธปท. , สคบ. , สภาทนายความ ฯลฯ
อย่าปล่อยให้เรื่องบานปลายเพราะคุณอาจจะเสียสิทธิหลายอย่าง รวมทั้งคดีอาจจะพลิกได้หลายจุดจากการนิ่งเฉยหรือการตัดสินใจผิดของคุณเอง (และยังไม่นับรวมเรื่องอายุความทางกฏหมายอีก ความผิดบางมาตราปล่อยไว้ก็หมดอายุความ ฟ้องร้องเอาผิดไม่ได้อีก)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่