คนที่ค้านโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เค้าก็มีเหตุผลเหมือนกันนะ คิดเห็นอย่างไร

กระทู้สนทนา
อย่าให้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นคำตอบสุดท้าย

เดือนเมษายนที่จะถึงนี้ คนไทยอาจจะอยู่กันลำบากกว่าเดิม เนื่องจากเป็นไปได้ว่า เราจะมีพลังงานไม่พอใช้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

พอเจอวิกฤติพลังงานทีไร ก็ต้องมีเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์โผล่ขึ้นมาให้คนไทยได้ใจหายกันอยู่เรื่อย ผู้ที่เกี่ยวข้องกับทิศทางนโยบายพลังงานของชาติหลายท่านทยอยออกมาพูดถึงความสำคัญของความมั่นคงด้านพลังงาน และยืนยันว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นทางออกที่ต้องเลือก เหตุผลหลักหนีไม่พ้นเรื่องความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แหล่งพลังงานทางเลือกของเราเหลืออีกไม่มาก น้ำมันราคาแพง ทำให้ค่าไฟแพง สุดท้ายก็กระทบกับต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพของพ่อแม่พี่น้องชาวไทย จากนั้นก็จบลงด้วยการฟันธงว่า ทางออกแบบม้วนเดียวจบ คือประเทศไทยต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

หากเราไม่มองเรื่องที่คนบางกลุ่มจะได้ผลประโยชน์จากการอนุมัติให้มีการลงทุนจำนวนมหาศาลเพื่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ประเด็นที่น่าคิดคือ เราขาดพลังงานหรือว่าเราบริหารจัดการพลังงานไม่ดีกันแน่? ถ้าเราขาดพลังงานจริง จำเป็นด้วยหรือที่ต้องจบลงด้วยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ การยกเอาเหตุผลว่าประเทศพัฒนาแล้วเขามีกันมานานแล้ว ทำไมเราจะมีบ้างไม่ได้ สะท้อนให้เห็นถึงจิตสำนึกของการเป็นผู้ตาม อยากจะไปอยู่แนวหน้าทางเศรษฐกิจ แต่เดินตามเขาตลอด อีกกี่สิบกี่ร้อยปีก็ไม่มีทางจะเทียบชั้นกับใครได้ หากศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ และการเมืองโลกจะพบว่า ประเทศเหล่านี้เป็นใหญ่ขึ้นมาได้ด้วยการเลิกเดินตามก้น ไม่ยอมให้คนอื่นจูงจมูก รู้จักแสวงหาโอกาสด้วยตัวเอง



รูปที่แสดงไว้ เป็นข้อมูลรายได้ต่อหัวคิดเป็นดอลลาร์สหรัฐ และการใช้พลังงานต่อหัว มีหน่วยการวัดเป็น kilogrammes of oil equivalent หรือเรียกย่อๆ ว่า koe ซึ่งหมายถึงพลังงานที่ได้จากการเผาผลาญน้ำมันหนึ่งกิโลกรัม จะเห็นว่า ประเทศไทยมีทางเลือกในการเดินหน้าด้านพลังงานอยู่สองแนวทางด้วยกัน คือ 1) เดินตามมาเลเซีย เกาหลีใต้ และบรูไน ซึ่งเป็นแนวโน้มที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุด เพราะทิศทางของเราตอนนี้ก็ไปในทางเดียวกันกับประเทศเหล่านี้แล้ว หรือ 2) เลือกเดินตามฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ที่แม้ว่าจะร่ำรวยขึ้น แต่ก็ไม่ได้บริโภคพลังงานมากเหมือนสามประเทศในกลุ่มแรก

ข้อมูลชุดนี้ยังแสดงให้เห็นความเป็นไปได้เกี่ยวกับนโยบายพลังงานในบ้านเรา ว่าเศรษฐกิจไม่จำเป็นจะต้องเติบโตบนฐานของการบริโภคพลังงานอย่างตะกละตะกลามเสมอไป ดังนั้น การเลือกตอบสนองต่อความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับความด้อยประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน จึงไม่ควรใช้เป็นเหตุผลในการเลือกใช้เทคโนโลยีสะอาดที่สกปรกที่สุดอย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

หากมองในระดับองค์กรแล้ว ความด้อยประสิทธิภาพในการใช้พลังงานนั้น เกิดขึ้นจากปัจจัยหลายๆ อย่างด้วยกัน อาทิเช่น ความรู้ความสามารถของบุคลากร วินัยในการทำงาน วัฒนธรรมขององค์กร ความตั้งใจจริงของผู้บริหารหน่วยงาน เทคโนโลยีที่ใช้ในหน่วยงาน ตลอดจนถึงความเอาใจใส่ความคุมดูแลอย่างจริงจังของภาครัฐควบคู่ไปกับการมีนโยบายสร้างแรงจูงใจที่เหมาะสม

กลุ่มคนที่ใช้ไฟฟ้ามากที่สุด คือ ภาคธุรกิจและบ้านเรือนที่มีระดับรายได้ความเป็นอยู่ค่อนข้างดี บ้านคนจน อย่างดีก็มีไฟไม่กี่ดวง ทีวีสักเครื่อง พัดลม กาต้มน้ำ บ้านคนรวยที่มีทั้งแอร์ โทรทัศน์จอแบน อ่างอาบน้ำอุ่นราคาแพงระยับ คอนเสิร์ตพร้อมแสงสีเสียงที่ขายบัตรราคาเป็นพันบาท ต่างหากที่เป็นต้นตอของความฟุ่มเฟือยทางพลังงาน

รับรองได้เลยว่า ไม่ว่าจะเลือกสร้างโรงไฟฟ้าที่ไหน คนที่อยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้ามากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นคนจน ทำแบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการให้เขามาเสี่ยงเพื่อคนอื่น แค่นี้เขาก็แย่พอแล้ว ทำไมต้องหาเรื่องไปเพิ่มให้เขาอีก ทำไมต้องเอาเงินจำนวนมหาศาลที่ควรใช้ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนมาใช้กับการสร้างความสุขสบายให้กับคนเพียงกลุ่มเดียว โดยปล่อยให้คนส่วนที่เหลือของสังคมต้องมาคอยแบกรับภาระ

หรือว่าความมั่นคงทางพลังงาน สำคัญกว่าความมั่นคงของประเทศ หรือว่าการตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น มีความหมายมากกว่าการนอนตาหลับของคนในชาติ การเลือกเดินหน้าทำโครงการแบบไม่สนใจใคร มันสะท้อนอยู่ในตัวแล้วว่า ในมุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อะไรที่สำคัญกว่ากัน

ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/keatanun/20130222/491564/%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B8%9F%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%A2.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่