ภาพเก่าเล่าเรื่อง (๑๒)

กระทู้สนทนา


ดูเผินๆ แล้ว สองข้างทางสวยดีนะครับ ถ้าหากไม่คิดว่าเป็นเส้นทางรถไฟสายไทย - พม่า สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง

ทางรถไฟสายนี้ เริ่มต้นจากสถานีชุมทางหนองปลาดุก อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ผ่านจังหวัดกาญจนบุรีข้ามแม่น้ำแควใหญ่ โดยสะพานข้ามแม่น้ำแคว ไปทางทิศตะวันตกจนถึงด่านเจดีย์สามองค์ เพื่อให้ถึงปลายทางที่เมืองทันบูซายัด ประเทศพม่า

ทางรถไฟสายมรณะมีความยาวจากสถานีชุมทางหนองปลาดุก ถึงสถานีทันบูซายัด รวม ๔๑๕ กิโลเมตร เป็นทางรถไฟอยู่ในเขตประเทศไทยประมาณ ๓๐๓.๙๕ กิโลเมตร และอยู่ในเขตพม่า ๑๑๑.๐๕ กิโลเมตร มีสถานีจำนวน ๓๗ สถานี

ทางรถไฟสายนี้ สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ โดยรัฐบาลญี่ปุ่นขอยืมเงินจากรัฐบาลไทย จำนวน ๔ ล้านบาท การก่อสร้างใช้เวลาในการสร้างเสร็จเพียง ๑ ปี ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๕ ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๖ เพื่อใช้เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ผ่านประเทศพม่า

หลังสงคราม ทางรถไฟบางส่วนถูกรื้อทิ้ง บางส่วนจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำเขื่อนวชิราลงกรณ์ ทางรถไฟสายนี้ถือเป็นอนุสรณ์ให้รำลึกถึงเหตุการณ์สงครามในครั้งนั้น เนื่องจากน้ำพักน้ำแรงของการบุกเบิกก่อสร้าง เป็นของทหารเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตร ที่กองทัพญี่ปุ่นเกณฑ์มา

เหตุที่ทางรถไฟสายนี้ได้ชื่อว่า ทางรถไฟสายมรณะ ก็เพราะว่า ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพญี่ปุ่นได้เกณฑ์เชลยศึกฝ่ายพันธมิตร ได้แก่ ทหารอังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย ฮอลันดาและนิวซีแลนด์ ประมาณ ๖๑,๗๐๐ คน และกรรมกรชาวชาวจีน ญวน ชวา มลายู ไทย พม่า อินเดีย อีกจำนวนมากมาก่อสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์ เพื่อเป็นเส้นทางผ่านไปสู่ประเทศพม่า เพื่อลำเลียงอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งกำลังพล เพื่อจะไปโจมตีพม่าและอินเดีย ซึ่งขณะนั้นเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ

เส้นทางช่วงหนึ่งจะต้องข้ามแม่น้ำแควใหญ่ จึงต้องมีการสร้างสะพานขึ้น การสร้างสะพานและทางรถไฟสายนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก ความทารุณของสงคราม และโรคภัยตลอดจนการขาดแคลนอาหาร ทำให้เชลยศึกจำนวนหลายหมื่นคนต้องเสียชีวิตลง ทางรถไฟสายนี้สร้างเสร็จเมื่อวันที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๖ และเปิดใช้ เมื่อวันที่ ๒๕ ธันวาคม ปีเดียวกัน

หลังสิ้นสุดสงคราม  รัฐบาลไทยได้จ่ายเงินจำนวน ๕๐ ล้านบาท เพื่อซื้อทางรถไฟสายนี้จากอังกฤษ และทำการซ่อมบำรุงบางส่วนของเส้นทางดังกล่าว เพื่อเปิดการเดินรถตั้งแต่สถานีชุมทางหนองปลาดุกจนถึงสถานีน้ำตก โดยอยู่ในความดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทยจนถึงปัจจุบัน

เส้นทางรถไฟสายนี้เป็นอนุสรณ์ของโลก ที่จารึกความโหดร้ายทารุณของสงครามโลกครั้งที่ ๒ และเป็นอนุสรณ์แก่ผู้เสียชีวิตในสงครามด้วย

.........................

ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ วิกิพีเดีย ไทย มา ณ โอกาสนี้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่