ผลกระทบของการจำนำข้าวสูงเกินจริง ในสายตาต่างชาติ

รายงานของกระทรวงการเกษตรสหรัฐอเมริกา ระบุว่า เวียดนามซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งข้าวออกรายใหญ่ของโลก ได้ประกาศสงครามค้าข้าวโลก ด้วยการลดราคาข้าวลงต่ำกว่า 400 ดอลลาร์สหรัฐฯ สวนทางกับที่ประเทศไทยเคยขอร้องให้รวมหัวกันเพื่อขึ้นราคาข้าวในตลาดโลก

ข่าวที่สอง เป็นรายงานขององค์การอาหารและเกษตรสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) คาดว่าปีนี้ประเทศไทยจะมีสต๊อกข้าวสารเพิ่มขึ้นพรวดพราดเป็น 18.2 ล้านตัน จนอาจทำให้ไม่มีโกดังเก็บ เป็นผลจากโครงการรับจำนำข้าวในราคาแพงกว่าราคาตลาดโลก ซ้ำยังเอื้อเฟื้อต่อชาวนาประเทศเพื่อนบ้าน ให้ลักลอบนำข้าวเข้ามาสวมสิทธิ์จำนำในไทยกว่าล้านตัน

การที่เวียดนามลดราคาข้าวส่งออกต่ำกว่าตันละ 400 ดอลลาร์ ทำให้ราคาข้าวไทยตันละ 590 ดอลลาร์ สูงกว่าราคาข้าวเวียดนาม และข้าวอินเดีย (ตันละ 430 ดอลลาร์) มากขึ้น ไทยจึงมีปัญหาในการระบายข้าวสู่ตลาดโลกยิ่งขึ้น ต้องเก็บข้าวไว้มากเป็นประวัติการณ์ เพราะถ้านำออกขายในตลาดโลกจะขาดทุนมหาศาล รัฐบาลมีหวังโดนโจมตียับเยินแน่

แต่ถ้าเก็บข้าวไว้มหาศาลอย่างที่เป็นอยู่ ก็ต้องเสี่ยงต่อความเสียหายร้ายแรง เพราะจะต้องเสียค่าฝากเก็บรักษาข้าวให้โกดังหรือโรงสี และยังต้องถูกหักค่าเสื่อมคุณภาพ ถ้าข้าวรัฐบาลเสื่อมคุณภาพเป็นจำนวนมากกลายเป็น “ข้าวเน่า” ดังที่ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์นำไปประจานกลางสภา จนรัฐมนตรีชี้แจงไม่ออก รัฐบาลจะแก้ตัวว่าอย่างไร?

เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีผลกระทบจากโครงการยอดประชานิยมนี้ เพิ่งจะพ่นพิษในอีกด้านหนึ่ง นั่นก็คือ ผลกระทบต่อฐานะการเงินของ ธ.ก.ส. ซึ่งให้รัฐบาลกู้เงินไปรับจำนำข้าว ถ้ารัฐบาลขายข้าวไม่ได้ หรือระบายออกได้ช้า ก็จะไม่มีเงินคืนให้ ธ.ก.ส. ซึ่งเป็นธนาคารรัฐ ธ.ก.ส.จึงอาจมีปัญหาด้านการเงิน และจะต้องคอยทวงหนี้จากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งก็คือปัญหา

ตัดตอนบางส่วนจากไทยรัฐ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่