วิธีการทุจริตการสอบครูและปัญหาครูล้นตลาด

นายอดิศร เนาวนนท์ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มรภ.นครราชสีมา และประธานอนุกรรมการข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมา เขต 7 (สพป.นม.7) กล่าวถึงการแก้ปัญหาการทุจริตสอบบรรจุข้าราชการครูฯ ให้เป็นรูปธรรมว่า เมื่อช่วงปลายปี 2554 สพป.นม.7 ได้สอบบรรจุตำแหน่งเจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน พบขบวนการทุจริต โดยผู้สมัครสอบ 8 คน ได้เปลี่ยนชื่อตัวเองให้มีพยัญชนะนำหน้าชื่อขึ้นต้นด้วย 'ปรา' เหมือนกับชื่อผู้เข้าสอบ ซึ่งรับจ้างเป็นมือปืนส่งคำตอบ โดยตรวจกระดาษคำตอบภาค ก และ ข พบข้อสอบ 100 ข้อ ทั้ง 8 คน เลือกข้อถูกข้อผิดเหมือนกัน ที่สำคัญเป็นผู้ที่สอบได้ในลำดับ 1-8 อ.ก.ค.ศ.



สพป.นม.7 มีมติให้ทั้ง 8 คนสอบตก พร้อมแจ้งความเอาผิดกับขบวนการดังกล่าว ซึ่งมีที่มาเป็นกลุ่มติวเตอร์หน้ามหาวิทยาลัยรามคำแหง แต่ไม่มีพยานหลักฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตสอบ บัญญัติในกฎหมายฉบับใด อ.ก.ค.ศ. สพป.นม.7 ได้เรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องแก้ไขกฎหมายอาญา เพื่อบัญญัติฐานความผิดแต่ยังเพิกเฉย



นายอดิศรกล่าวว่า กรณีสอบบรรจุครูที่ สพฐ.ยังรวบอำนาจ จัดสอบโดยให้เขตพื้นที่การศึกษาทำหน้าที่เป็นเพียงสนามสอบ นอกจากจะแก้ปัญหาการทุจริตสอบไม่ได้แล้ว ยังเป็นการกระทำที่ผิดต่อพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 มาตรา 47 จึงขอให้ สพฐ.คืนอำนาจการจัดสอบให้อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา



หากพบการทุจริตในเขตพื้นที่การศึกษาใดให้ดำเนินการทั้งทางวินัย และทางอาญากับผู้เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง ซึ่งช่วงก่อนสอบ สพป.นครราชสีมา เขต 7 พบเบาะแสมีการเรียกเก็บเงินจากผู้สมัครรายละ 4-7 แสนบาท เมื่อข้อสอบที่ใช้เป็นชุดเดียวกันทั่วประเทศ พบทุจริตเกิดขึ้นที่จุดหนึ่ง จึงเป็นไปได้ที่จะมีการเผยแพร่คำตอบจากแก๊งทุจริตโดยออนไลน์ไปยังผู้เข้าสอบรายอื่นๆ ในสนามสอบทั่วประเทศ จึงขอเรียกร้องให้ สพฐ.และตำรวจกำจัดขบวนการเหล่านี้ให้สิ้นซาก โดยต้องประกาศยกเลิกผลการสอบทั้งหมดทั่วประเทศ


ห่วงครูล้นตลาด-ตกงาน



นายสุรวาท ทองบุ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาสารคาม ประธานที่ประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปค.มรภ.) และประธานสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) เปิดเผยถึงการผลิตครูของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ว่า มีข้อกังวลเกี่ยวกับการผลิตครูจนล้นตลาด เพราะทั่วประเทศมีนักศึกษาสายครูปริญญาตรีปีที่ 1 ถึง ปีที่ 5 ประมาณ 150,000 คน เพียงพอต่อความต้องการ แต่เมื่อสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ สำรวจแผนการรับนักศึกษาของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ปีการศึกษา 2556 ในสถาบันต่างๆ ปรากฏว่าเฉพาะนักศึกษาปีที่ 1 สูงเกือบ 50,000 คน จะทำให้การผลิตครูในอนาคตเกินกว่าความต้องการ ส่งผลให้บัณฑิตใหม่ตกงาน



"ฝากไปยังอธิการบดีทุกมหาวิทยาลัย ให้ระวังการรับนักศึกษาคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ปีུ จำนวนที่ประกาศรับก็สูงกว่า 40,000 คนแล้ว เมื่อรวมกับมหาวิทยาลัยเปิด ที่คุมจำนวนไม่ได้ ตัวเลขคงเขยิบสูงอีก จำเป็นต้องตระหนักถึงสิ่งที่ลูกศิษย์ต้องเผชิญเมื่อศึกษาจบไป มากกว่าประโยชน์ที่ได้รับจากจำนวนผู้เรียน ตัวเลขที่เหมาะสมอยู่ที่ปีละไม่เกิน 12,000 คน ทั้งนี้หากมีการแต่งตั้งคณะกรรมการครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งชาติ จะกำหนดแผนการรับนักศึกษาให้เพียงพอต่อความต้องการได้" นายสุรวาทกล่าว


ข่าวสด

เมื่อก่อนครูขาดแคลนตอนนี้กลายเป็นล้น ส่วนการทุจริตฝังรากมานานแล้ว เป็นเรื่องของการวางแผนระบบบริหารจัดการและคุณธรรมคุณภาพของประชากร  แก้กันไม่ตกสักทีคนจะโกงหาวิธีโกงได้ตลอด

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่