"ซีพีเอฟ"เปิดแนวรบลุย"ฟู้ดคอร์ต" ปูพรม30สาขาเจาะรพ.-สำนักงาน

12 ก.พ. 2556 เวลา 12:12:36 น.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์



"ซีพีเอฟ" รุกธุรกิจใหม่ "ฟู้ดคอร์ต" ปูพรม "ซีพี ฟู้ด เวิลด์" หลังสาขาต้นแบบศิริราชทำรายได้เกินคาด ลั่นทยอยเปิด 50 แห่งภายใน 3 ปี จับมือพันธมิตร "เซ็นทรัล-ไมเนอร์" เป็นแม่เหล็กดึงคน

นายวิ รัตน์ เตชะนิรัติศัย รองกรรมการผู้จัดการสายธุรกิจค้าปลีก บริษัท ซีพีเอฟ เทรดดิ้ง จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า หลังเปิดตัวซีพี ฟู้ด เวิลด์ (CP Food World) ธุรกิจฟู้ดเซอร์วิสหรือศูนย์อาหารที่รวบรวมแบรนด์ร้านอาหารหลัก อาหารทานเล่น ขนม นำร่องสาขาแรกที่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาการุณย์ เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา พบว่าได้รับการตอบรับที่ดีและมีความต้องการจากบรรดาเจ้าของพื้นที่ที่สนใจ ติดต่อให้ไปบริหารฟู้ดคอร์ต ทั้งในโรงพยาบาล ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน โรงงานผลิตรถยนต์

"ที่ศิริราช มีรายได้เฉลี่ย 7-8 หมื่นบาทต่อวัน มีผู้เข้ามาใช้บริการวันละ 600-700 คน จากช่วงเริ่มต้นที่มี 300 คน ยอดใช้จ่ายกว่า 100 บาทต่อคน และแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีโอกาสทำยอดขายไปได้ถึงแสนบาทต่อวัน ความสำเร็จหลัก ๆ มาจากการบริหารจัดการรวดเร็ว การหมุนเวียนโต๊ะได้เร็ว ยอดขายก็จะเยอะตาม"

นาย วิรัตน์กล่าวว่า จากนี้ไปจึงเป็นปีที่บริษัทจะขยายสาขาซีพี ฟู้ด เวิลด์ อย่างจริงจัง เบื้องต้นตั้งเป้าไม่ต่ำกว่า 5 สาขา ตามทำเลที่มีศักยภาพ อาทิ โรงพยาบาล ช็อปปิ้งเซ็นเตอร์ คอมมิวนิตี้มอลล์ สถานีบริการน้ำมัน โดยจะใช้พื้นที่ไม่ต่ำกว่า 300-500 ตร.ม. งบฯลงทุนเฉลี่ย 10-15 ล้านบาทต่อสาขา และเป้าหมายระยะ 3 ปี ต้องการจะขยายไม่ต่ำกว่า 50 สาขา รวมถึงในอนาคตก็ต้องการจะขยายไปยังประเทศที่ซีพีเข้าไปทำตลาดอยู่แล้ว อาทิ จีน เวียดนาม พม่า เป็นต้น

ตลาดนี้ยังมีช่องว่างทางการตลาดและมี โอกาสอีกมหาศาล ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะเจ้าของพื้นที่บริหารเอง หรือเจ้าของที่ลงทุนเปิดแล้วให้คนนอกเข้ามาบริหารพื้นที่ ซึ่งกลุ่มนี้ยังมีจำนวนไม่มาก นอกจากนี้เมื่อเออีซีเปิดในปี 2558 เชื่อว่าจะมีฟู้ดเชน อาทิ กลุ่มควิกเซอร์วิส เรสเตอรองต์ และฟู้ดเซ็นเตอร์ เข้ามาในประเทศอีกจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็จะเห็นแบรนด์ของคนไทยขยายตลาดออกไปในต่างประเทศ ซึ่งกลยุทธ์นี้ถือเป็นการต่อยอดแนวคิดท่านประธาน (ธนินท์ เจียรวนนท์) ที่ต้องการขยายธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ที่มีทั้งการผลิต แปรรูปอาหาร และช่องทางจำหน่ายในรูปแบบของค้าปลีก

"ฟู้ดคอร์ตเป็น ธุรกิจที่มีโอกาสเยอะมาก และตลาดนี้มีคู่แข่งน้อย ยังไม่มีใครลงมาทำอย่างจริง ๆ จัง ๆ ปีนี้เป็นปีที่เราจะเร่งขยายสาขา และมีผู้สนใจติดต่อเข้ามามาก เช่น โรงพยาบาลจุฬาฯ รามาธิบดี มหิดล รวมถึงห้างที่มีพื้นที่ใหญ่ ขนาดกว่า 1-2 พัน ตร.ม.ขึ้นไปก็มี ซึ่งเราได้ตั้งทีมงานขึ้นดูแลธุรกิจด้านนี้โดยเฉพาะ และเพิ่มบุคลากรเพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคต"

นายวิรัตน์ขยายความ ต่อไปว่า ความโดดเด่นของ "ซีพี ฟู้ด เวิลด์" จะอยู่ที่ความยืดหยุ่น ซึ่งสามารถเปิดทั้งร้านขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ตามขนาดพื้นที่ ทำเล และกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ภายใต้แนวคิด

"ไลฟ์สไตล์ ฟู้ด เซ็นเตอร์" ที่เป็นการรวบรวมแบรนด์ร้านอาหารไม่ต่ำกว่า 11-15 แบรนด์ ทั้งที่เป็นแบรนด์ในเครือซีพี และคู่ค้าที่เป็นแบรนด์ร้านอาหาร มีสัดส่วน 50 : 50 โดยปัจจุบันแบรนด์ในกลุ่มซีพีมี 6-7 แบรนด์ ประกอบด้วย ร้านสเต๊กเดอะกริลล์ "ทูโก" ร้านอาหารจานด่วน "ซีพี คิทเช่น", เชสเตอร์กริลล์, อีซีส์สแนค, ทรูคอฟฟี่ และร้านเครื่องดื่มมิลค์เบอรี่

จาก นี้มุ่งพัฒนาร้านค้าโมเดลใหม่ แบรนด์ใหม่ อย่างต่อเนื่อง โดยใช้ศักยภาพของกลุ่มธุรกิจในเครือซีพี อาทิ สนใจจะทำร้านข้าวไข่เจียวโอเมก้า การพัฒนาสินค้ากลุ่มขนมจีบซาลาเปาให้เป็นคีออสก์ ซึ่งซีพี ฟู้ด เวิลด์จะเป็นโมเดลที่รวบรวมร้านค้าปลีกของซีพีไว้ในที่เดียวกัน และในอนาคตถ้าแบรนด์เหล่านี้มีความแข็งแรงก็มีนโยบายที่จะขยายออกไปเป็นร้าน สแตนด์อะโลน

"พันธมิตรที่เป็นแบรนด์ร้านอาหารที่มีชื่อเสียงที่จะ เป็นแม็กเนตดึงลูกค้า ก็จะมีการร่วมกันพัฒนาโมเดลของร้านหรือเมนูที่เป็นเอ็กซ์คลูซีฟ เพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่และสร้างความแตกต่าง อาทิ สกายลาร์ค เอกซ์เพรส สลัดเพียวฟู้ด เพื่อทำเป็นเซต 15-20 เมนูให้เลือก หรือนมฮอกไกโด เอสแอนด์พี แบล็คแคนยอน ก็จะพัฒนาร้านภายใต้แบรนด์ใหม่ จำหน่ายข้าวแกงฟิวชั่น รวมถึงการดึงร้านอาหารแบรนด์ดังจากกลุ่มเซ็นทรัล และไมเนอร์เข้ามาเสริม"

แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  Value Investment หุ้น การลงทุน การออมเงิน
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่