JAS รุกก่อนถูกไล่ล่า

กระทู้สนทนา
ติดตามบทความด้านการลงทุนได้ที่ http://www.facebook.com/longtoondotcom

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ข่าวสารด้านนวัตกรรมของการลงทุนโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสื่อสาร สร้างสตอรี่ให้ราคาหุ้นได้เสมอ กรณีของบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ก็ไม่มียกเว้น

ข่าวเตรียมเปิดตัวโครงข่ายใยแก้วนำแสงความเร็ว 1Gbps ของอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ผ่านโครงข่ายใยแก้วนำแสง (Fiber To The Home) ที่มีความเร็วกว่าคู่แข่ง 100 เท่า จึงมีนักวิเคราะห์พากันปรับการคาดการณ์ใหม่ บางรายถึงขั้นที่ว่าการลงทุนในอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์จะดันกำไร 3 ปีจากนี้ไปโตปีละ 29% จากนั้นนักลงทุนก็เฮละโลกันเข้าดันราคาหุ้น JAS ให้วิ่งขึ้นไป โดยเชื่อมั่นตามที่นักวิเคราะห์แนะนำโดยเชื่อว่าราคาหุ้นจะวิ่งตามพื้นฐานไปที่ราคาเหมาะสม 8 บาทต่อหุ้น

การรุกทางการตลาดในธุรกิจอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ดังกล่าวของ JAS จะเกิดขึ้นจากการเปิดตัว FTTH ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2556 นี้ ด้วยกลยุทธ์ราคาและการตลาดเพื่อกระตุ้นความต้องการและสอดคล้องกับแนวโน้มอุตสาหกรรม โดยผู้บริหารของ JAS ประเมินว่า สมาชิกบรอดแบนด์จะอยู่ที่ 1.5 ล้านราย และในปี 2557 จะเพิ่มเป็น 1.7 ล้านราย และในปี 2558 เป็น 1.9 ล้านราย

สถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นจริงได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับพัฒนาการของเทคโนโลยีที่เคลื่อนตัวหากันทางด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศที่ชัดเจน

ปัจจุบันอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ หรืออินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (ไม่ว่าจะเป็นระบบ ADSL หรืออื่นๆ) ที่ให้บริการกันอยู่ในสังคมไทย มีระดับความเร็วสูงสุดแค่ 10 Mbps โดยมีผู้เข้าทำธุรกิจขนาดใหญ่แค่ 3 รายหลัก คือ การแข่งขันในการให้บริการบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตตอนนี้ยังไม่รุนแรง เพราะคู่แข่งหลัก คือ TOT ซึ่งเป็นองค์กรภาครัฐ และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ที่มีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนมาโดยตลอด ครองส่วนแบ่งการตลาดเกือบทั้งหมด ส่วนรายย่อยอีกนับสิบราย ไม่อยู่ในฐานะจะแข่งขันได้มาก

จากเกมแข่งขันของผู้ประกอบการในอดีต ที่เริ่มต้นกำหนดตลาดบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตเหมาจ่ายเดือนละ 590 บาท เล่นอินเทอร์เน็ตความเร็ว 256 Kbps. ของ ทรูเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ทำให้เกิดตลาดใหญ่โตมากขึ้นโดยผู้ที่ได้เปรียบในการแข่งขันคือผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน ซึ่งเป็นจุดได้เปรียบในด้านโครงข่ายการให้บริการ โดยเฉพาะเทคโนโลยี ADSL ที่เป็นการเชื่อมต่อผ่านสายโทรศัพท์พื้นฐาน ในขณะที่โครงข่ายไร้สายมีข้อจำกัดด้านความเร็วรับส่งข้อมูลที่ไม่คงที่

สถานการณ์ของอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ที่มีผู้เข้าแข่งขันแค่ 3 รายในช่วงที่ผ่านมา กำลังถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนไปเมื่อเทคโนโลยีโทรคมนาคมบรอดแบนด์หรือ 3G กำลังเร่งเคลื่อนเข้ามาช่วงชิงผลประโยชน์ในทางธุรกิจอย่างจริงจัง จากการออกใบอนุญาต 3G ของกสทช.ตั้งแต่ไตรมาสสองของปีนี้ ซึ่งหมายความว่า ตลาดอินเทอร์เน็ตไทยจะเข้าสู่ยุคโมบิลิตี้มากขึ้น ผ่านเทคโนโลยี 3Gที่จะเกิดขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้รับการพัฒนาเสียใหม่เรียกว่า LTE หรือเครือข่ายก่อน 4G ที่รู้จักกันดีในปัจจุบัน

แกนหลักสำคัญของพัฒนาของ LTE อยู่ที่ การส่งข้อมูลทั้งเสียง ข้อความ และรูปภาพในอัตราเร็ว ความหน่วงของเวลา (หมายถึงเวลาที่ใช้ไปในการเข้าถึงข้อมูลของหน่วยความจำ) และจำนวนความจุของข้อมูล ในกระบวนการสื่อสารผ่านเครือข่าย ซึ่งในปัจจุบันพบว่า เป็นปัญหาอย่างมากของเครือข่ายดิจิตอลทั่วโลก

กุญแจหลักของปัญหาอยู่ที่ความสัมพันธ์ที่เหลื่อมล้ำกันระหว่างการนำส่งข้อมูลต้นทาง (uplink) ที่ต่ำกว่าการส่งข้อมูลไปยังผู้รับปลายทาง (downlink) ซึ่งอย่างแรกมีอัตราที่ต่ำกว่าอย่างหลังมาก (ดูตารางประกอบที่จัดทำโดย NSM ของญี่ปุ่น) ซึ่งจะเห็นได้ว่า การลงทุนในเครือข่ายโทรคมนาคม 3G ขนาดใหญ่เพื่อส่งผ่านข้อมูลนั้น จะไม่คุ้มค่า หากช่องทางของการนำข้อมูลจากต้นทางต่ำเกินไป

ดังนั้น ประโยชน์ของการลงทุนอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ในฐานะเครื่องมือสำคัญในการนำข้อมูลจากต้นทาง ที่มีต้นทุนต่ำกว่า จึงเป็นกฎเหล็กที่ต่อพ่วงเข้ากับเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สาย 3G แล้วเรียกรวมกันว่า LTE ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในทุกตลาดทั่วโลกยามนี้ ก่อนที่จะเคลื่อนตัวไปที่ยุคของ 4G ที่ยังมาไม่ถึงในอนาคตอันใกล้

การตัดสินใจลงทุนยกระดับอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ ของ JAS จาก 1 Mbps เป็น 1 Gbps จึงเป็นการเปิดเกมรุกเพราะวิสัยทัศน์ที่ต้องการเร่งตัวเองขึ้นมาให้ทันกับยุค LTE เคียงข้างกับ 3G นั่นเอง เนื่องจากผู้ใช้เครือข่าย 3G ต้องเรียกร้องการเชื่อมต่อสื่อสารที่เสถียรกว่าเดิม และผู้ประกอบการเครือข่าย 3G ต้องการลงทุนที่ไม่แพงเกินไปนั่นเอง

ย่างก้าวเช่นนี้ มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ธุรกิจอย่างยิ่ง เพราะการยกระดับอินเตอร์เน็ตบรอดแบนด์ได้เร็วเท่าที่จะตอบโจทย์ของ LTE ได้เร็วเท่าใด การเป็นพันธมิตรในเครือข่ายให้บริการ 3G จะทำได้สะดวกรวดเร็วและมีผลบวกกับธุรกิจมากเพียงนั้น

หากช้าเกินไป โอกาสจะถูกกินรวบจากคู่แข่งในธุรกิจ 3G ก็เป็นไปได้เร็วเท่ากัน

เดิมพันเช่นนี้เป็นเกมที่ JAS ต้องเสี่ยง เพราะอย่างที่ทราบกันดี นอกจากคู่ปรับสำคัญที่ตอนนี้ยังเหนือกว่า เช่น TRUE แล้ว คำประกาศของผู้เข้าสู่ตลาดแข่งขันรายใหม่อย่าง บริษัท เคเบิล ไทย โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ CTH ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่คือนายวิชัย ทองแตง และกลุ่มไทยรัฐเป็นแกนหลัก ก็มีแผนจะตัวเองกลายเป็นบริษัทเคเบิลและให้บริการบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ตนั้น จะต้องเริ่มต้นที่ CTH ลงทุนถ่ายทอดพรีเมียร์ลีกผ่านเคเบิลทีวีก่อน ต่อมาจึงจะมาทำธุรกิจบรอดแบนด์อินเตอร์เน็ต 1Gb ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า

การก้าวก่อนคู่แข่งในธุรกิจ จึงเป็นการช่วงชิงโอกาสครั้งสำคัญที่ JAS จะพลาดไม่ได้ เพราะหากปล่อยเนิ่นช้าออกไป โอกาสที่จะถูกไล่ล่า แล้วล้มหายตายจากไปก็เป็นไปได้

การเปิดเกมรุกก่อน ในยามที่ TRUE ยังต้องลงทุนหนักในเครือข่าย 3G ก่อน และ CTH ยังต้องหมกมุ่นกับการลงทุนเคเบิลทีวีก่อน จึงเป็นการช่วงชิงโอกาสครั้งสำคัญเพื่อหาความได้เปรียบก่อน

เกมนี้ ผู้บริหารของ JAS มองได้ขาดอย่างแท้จริง แต่เป้าหมายที่วางไว้จะบรรลุแค่ไหน และราคาหุ้นจะขึ้นไปถึง 8 บาทหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าจะเชื่อคติเก่าแก่”คนบัญชา มิสู้ฟ้าลิขิต” หรือไม่


แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่