ประชาชน มั่นใจเศรษฐกิจ ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค พุ่งสูงสุดรอบ16เดือน

กระทู้ข่าว
"  ปชชมั่นใจเศรษฐกิจ ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค พุ่งสูงสุดรอบ16เดือน "

ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคพุ่ง 4 เดือนติด สูงสุดรอบ 16 เดือน หลังประชาชนมั่นใจเศรษฐกิจขาขึ้น แต่ยังจับตาไตรมาส 2 อาจสะดุด จากความวุ่นวายทางการเมือง-ปลดคนงานหลังนายจ้างขาดทุนจากการขึ้นค่าแรง

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือน ม.ค. 56 ว่า ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกรายการติดต่อกันเป็นเดือน 4 โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้อนาคตอยู่ที่ 100 เพิ่มขึ้นจาก 98.3 ในเดือน ธ.ค.55 ซึ่งสูงสุดในรอบ 16 เดือน ขณะที่ความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 72.9 เพิ่มจาก 71.7 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 72.1 เพิ่มจาก 70.6 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค.56 อยู่ที่ 81.7 เพิ่มจาก 80.2 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน 63.5 เพิ่มจาก 62.4 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต 87.7 เพิ่มจาก 86.1

สำหรับปัจจัยบวกที่ทำให้ดัชนีสูงขึ้น มาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปรับคาดการณ์จีดีพีปี 55-56 เพิ่มขึ้น หลังจากภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปี 55 ขยายตัวดีเกินคาด ประกอบกับ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.75% ต่อปี และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นในกรอบ 29.70-31.70 บาท/เหรียญสหรัฐฯ ตลาดหุ้นมีความคึกคัก รวมถึงนโยบายการเพิ่มรายได้ขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท และการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรในระดับสูง

“ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในช่วงขาขึ้น และยังจะปรับขึ้นได้ต่อเนื่องตลอดไตรมาสแรก เพราะได้รับผลดีจากจิตวิทยาเชิงบวกจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท ราคาพืชผลทางการเกษตรปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะราคายางพารา รวมถึงการส่งออกที่กลับมาฟื้นตัว และภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้อย่างดี ขณะที่ปัญหาค่าครองชีพมีแนวโน้มดีขึ้น หลังประชาชนมีรายได้เพิ่มจนเพียงพอในการซื้อสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่นเดียวกับภาคการเมืองในปัจจุบันที่เข้าสู่ช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ทำให้บรรยากาศของความแย้งบรรเทาลงชั่วคราว” นายธนวรรธน์ กล่าว

ขณะที่แนวโน้มความเชื่อมั่นในอนาคตจะต้องติดตามในช่วงไตรมาส 2 เพราะมีปัจจัยเสี่ยง 3 ปัจจัยเข้ามากระทบ ได้แก่ การปลดคนงาน ซึ่งจะเริ่มรับรู้ผลกระทบจากขึ้นค่าแรง 300 บาทตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมือง เพราะหลังจากการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ในเดือน มี.ค.ยังมีประเด็นที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นได้อีก เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการนิรโทษกรรม รวมทั้งปัญหาความผันผวนของค่าเงินบาท และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง แต่ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีแรกมีโอกาสเติบโตได้ 4-5% ขณะที่ไตรมาสแรกจะเติบโตได้ 4.5-5%.

http://www.thairath.co.th/content/eco/325254
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่