รวมกระทู้ " กระต่ายป่า " ( 8 กุมภาพันธ์ 2556 )

Premium/Discount


07 ก.พ. 2556 เวลา 10:30:12 น.
โดย ธันวา เลาหศิริวงศ์ www.facebook.com/18thanw
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์



หากพิจารณาตลาดหุ้นสำคัญและตลาดหุ้นภูมิภาค ณ สิ้นเดือนมกราคม จะพบว่ามีการเคลื่อนไหวในทิศทางบวกแทบทั้งสิ้น กล่าวคือ ตลาดหุ้นเวียดนาม +16% ฟิลิปปินส์ +7.4% ญี่ปุ่น +7.2% อเมริกา/ดาวโจนส์ +5.8% และจีน/เซี่ยงไฮ้ +5.1% มีเพียงตลาดหุ้นมาเลเซียเท่านั้นที่ให้ผลตอบแทนติดลบ -1.8%

ตลาดหุ้นไทยยังเต็มไปด้วยความความเชื่อมั่น จากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ การลงทุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน เงินบาทแข็งค่า เงินทุนไหลเข้าต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้น

โดยดัชนี SET ปิด ณ สิ้นมกราคมที่ 1,474 จุด หรือปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.9% โดยมีหมวดอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากที่สุดถึง 17.2% ตามด้วยหมวดปิโตรเคมี +11.9% และหมวดขนส่ง +11% ในเวลาเพียงหนึ่งเดือนแรกของปีเท่านั้น

การปรับตัวขึ้นของดัชนีและราคาหุ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำให้ตลาดหุ้นไทยเคยซื้อขายแบบมีส่วนลด (Discount) ที่ระดับ P/E ต่ำกว่าตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค หันมาซื้อขายในระดับ P/E ที่ใกล้เคียงกัน แต่เมื่อพิจารณาหุ้นรายตัวจะพบว่า มีหุ้นจำนวนไม่น้อยที่ได้รับ Price Premium (ส่วนเพิ่มของราคา) ในระดับที่สูงมาก แม้หุ้นเหล่านั้นมีปัจจัยบวกสนับสนุนราคา premium แต่นักลงทุนก็ควรตั้งคำถามตรวจสอบว่า หุ้นนั้นควรได้รับ Premium มากน้อยเพียงใด ตัวอย่างคำถามได้แก่

หนึ่ง มูลค่าทั้งหมดของกิจการ (Market Capitalization) มีขนาดเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับขนาดอุตสาหกรรมหรือโอกาสทางธุรกิจโดยรวม และตำแหน่งทางการตลาด (Market Share) ของบริษัท การเลือกลงทุนกิจการที่มีโอกาสธุรกิจระดับพันล้านบาท แต่มูลค่ากิจการสูงหลายหมื่นล้านบาท หรือเปรียบเทียบกับในเชิงรายได้ เช่น หุ้นที่มียอดขายไม่กี่ร้อยล้านบาท แต่กลับมีมูลค่ากิจการสูงหลายพันล้านบาท แม้จะเป็นกิจการที่โดดเด่นและอยู่ในอุตสาหกรรมที่เติบโตสูง แต่หุ้นเหล่านั้นอาจได้รับ premium สูงมากจนไม่อาจคาดหวังผลตอบแทนที่ดีในการลงทุนเช่นในอดีต

สอง แม้กิจการมีความแข็งแกร่ง มีโอกาสการเติบโตของกำไรและ P/E to Growth (PEG) ที่ดีในอนาคต แต่ราคาซื้อขาย ณ ระดับ P/E สูงกว่า 40 - 50 เท่า สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม หรือสูงกว่าค่าเฉลี่ยตลาดโดยรวมที่ 14 -15 เท่า จะมีความเหมาะสมหรือไม่ นักลงทุนต้องคำนึงถึงความสมเหตุผลในการเข้าลงทุนในหุ้นที่ได้รับ premium ที่สูงมาก และต้องไม่ลืมว่า อาจยังมีกิจการที่แข็งแกร่งระดับใกล้เคียงกันแต่ซื้อขาย ณ ราคาที่มีส่วนต่างความปลอดภัย (Margin of Safety) มากกว่า

สาม ปริมาณมูลค่าการซื้อขายหุ้นเฉลี่ยต่อวันเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดของหุ้นนั้น อยู่ในระดับที่เหมาะสมหรือไม่ หุ้นที่มีปริมาณการซื้อขายมากผิดปกติ มีโอกาสที่ราคาและ Premium จะบิดเบือนจากระดับที่ควรเป็น ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะกระแสการแย่งเข้าซื้อหุ้น ภาวะอารมณ์ ความลำเอียงจากข้อมูลที่ได้รับ นอกจากนี้ Premium ที่ได้รับอาจจะเป็นเรื่องชั่วคราว เมื่อหุ้นได้รับความสนใจลดน้อยลง ปริมาณการซื้อขายกลับสู่ภาวะปกติ ราคาหุ้นอาจปรับตัวลดลงและสะท้อนจากผลประกอบการที่แท้จริงของกิจการ

นอกจากนี้ นักลงทุนยังต้องพิจารณาถึง Price Discount (ส่วนลดของราคา) ในกรณีที่กิจการนั้นต้องเผชิญกับความเสี่ยงหรือความท้าทายที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

หนึ่ง ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ภัยธรรมชาติ น้ำท่วม ไฟไหม้ แผ่นดินไหว ภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลง

กฎระเบียบจากภาครัฐ การเปลี่ยนแปลงและการทดแทนทางเทคโนโลยี การหยุดชะงักของ Supply Chain เป็นต้น นักลงทุนควรศึกษาโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยง และการบริหารจัดการของบริษัท แม้การประกันภัยจะช่วยป้องกันความเสี่ยงและช่วยบรรเทาความเสียหาย แต่การหยุดชะงักอาจทำให้สูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดและความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างถาวรได้

สองปัจจัยเสี่ยงจากการดำเนินงาน เช่น ต้นทุนวัตถุดิบและการขาดแคลน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย หนี้สูญ ค่าแรงและการขาดแคลน การพึ่งพาผู้ผลิตหรือผู้ซื้อน้อยราย การพึ่งพาผู้บริหารและบุคลากร เป็นต้น ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ล้วนขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้บริหาร ในภาวะตลาดกระทิง นักลงทุนทุกคนล้วนมีความสุขกับผลกำไรจากการลงทุน สำหรับ Value Investor

นี่คือช่วงเวลาพิสูจน์การมีวินัยในหลักการและแนวทางการลงทุนของตน ไม่โลภ และใช้สติพิจารณาความสมเหตุสมผลของ Premium หรือ Discount ของกิจการ และหากคงยังยึดมั่นในแนวทางของตน ทั้งนี้ก็เพราะ "เราจะไม่เล่นในเกมที่เราไม่ถนัดนั่นเอง"

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1360207254&grpid=no&catid=02&subcatid=0200
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่