เปิดผลสอบกรณีถอดละครเหนือเมฆ 2 ด้านผู้บริโภค – ชง 3 แนวทาง ฟัน ช่อง 3

เปิดผลสอบกรณีถอดละครเหนือเมฆ 2 ด้านผู้บริโภค – ชง 3 แนวทาง ฟัน ช่อง 3 “เปิดข้อเท็จจริง -รับผิดชอบผ่านสื่อ- ชดเชยผู้ชม ” ปรับแก้กฎหมาย ป้องกันผู้ประกอบการ ยกความกลัว ไม่ได้เหตุ อันควร ปิดกั้นตนเอง

http://bit.ly/Vlw9gR




หมายเหตุ: เป็นรายละเอียดในการตรวจสอบข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะ ต่อกสท. ของ คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ต่อกรณีสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3 ระงับการออกอากาศรายการละครเรื่อง “เหนือเมฆ 2 ”


ข้อเท็จจริง


สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๓ ได้ระงับการออกอากาศรายการละครเรื่อง “เหนือเมฆ ๒” โดยแสดงผังรายการระบุว่าช่วงเวลา ๒๐.๓๐ น. ของวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๖ จะเป็นการแพร่ภาพละครเรื่อง “แรงปรารถนา” แทน ซึ่งทำให้ผู้บริโภคจำนวนหนึ่งไม่เข้าใจ มีการวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆ อย่างกว้างขวาง

ความเห็น


คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ในคราวประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๕๖ เมื่อวันอังคารที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๖ ได้หยิบยกกรณีสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง ๓ ระงับการออกอากาศรายการละครเรื่อง “เหนือเมฆ ๒” ขึ้นพิจารณา ตามที่ได้รับทราบความเห็นของผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ผ่านทางช่องทางต่างๆ ทั้งนี้ เห็นว่ามีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ดังนี้

- สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๓ เป็นผู้รับสัมปทานจากรัฐในการทำหน้าที่ให้บริการสาธารณะในด้านข้อมูลข่าวสารและการบันเทิง ประชาชนในฐานะผู้บริโภคจึงมีสิทธิที่จะได้รับชมรายการที่มีคุณภาพครบถ้วนสมบูรณ์ตามประเภทและเนื้อหาของรายการ รายการละครจะต้องประกอบด้วยเนื้อเรื่องตั้งแต่ต้นจบจบ ตามปกติประเพณีของละคร แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าสถานีโทรทัศน์ช่อง ๓ ระงับการออกอากาศรายการละคร “เหนือเมฆ ๒” อย่างกะทันหัน โดยไม่มีการบอกกล่าวมาก่อน ทำให้ประชาชนผู้ชมทั่วประเทศที่ติดตามละครด้วยความสนใจอย่างใกล้ชิด ถูกลิดรอนสิทธิในบริการบันเทิงที่สถานีโทรทัศน์ช่อง ๓ มีหน้าที่จัดให้บริการแก่สาธารณะชนแทนรัฐ ในลักษณะฉับพลันทันที ทั้งที่คาดหมายได้ว่าผู้ชมจะตกอยู่ในอารมณ์ค้างคาอย่างไม่ คาดฝัน เป็นการระงับการออกอากาศโดยไม่เคารพสิทธิและไม่ให้ความสำคัญแก่ความรู้สึกของประชาชนผู้บริโภคสื่อตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยให้การรับรองไว้

- การกระทำของสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง ๓ มีลักษณะที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ตามหลักการของประกาศ กสทช. เรื่อง การกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ข้อ ๕ (๗) กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการให้บริการ หรือระงับหรือหยุดการให้บริการโดยไม่แจ้งให้ผู้บริโภคทราบเป็นการล่วงหน้า โดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ถือเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ซึ่งร่างประกาศดังกล่าวผ่านความเห็นชอบของที่ประชุม กสทช. แล้ว

อนึ่ง ความเสียหายของการไม่ได้รับบริการที่มีคุณภาพ หรือการได้รับชมรายการละครที่ไม่จบเรื่องเป็นความเสียหายทางสุนทรียะ อาจไม่สามารถประเมินค่าความเสียหายเป็นจำนวนเงินได้ แต่สามารถกำหนดให้มีการชดใช้ได้

- กสทช. มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการให้สถานีฯ จัดให้มีบริการที่มีคุณภาพได้ ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๒๗ (๖) พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรมและกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาต เงื่อนไข หรือค่าธรรมเนียมการอนุญาตดังกล่าว รวมทั้ง มีหน้าที่ตรวจสอบและสั่งระงับการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ตามมาตรา ๓๑ ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยมีอำนาจสั่งการให้มีการแก้ไขเยียวยาด้วยการออกคำสั่งทางปกครองให้สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง ๓ นำรายการละคร “เหนือเมฆ ๒” มาออกอากาศต่อไปจนจบบริบูรณ์


http://bit.ly/Vlx296

- สถานีฯ ได้กระทำการโดยไม่ได้คำนึงถึงผู้บริโภคดังนี้

(๑) สถานีฯ ควรแจ้งการระงับรายการละครล่วงหน้า และทำโดยกว้างขวาง อย่างน้อยในลักษณะการนำเสนอความถี่ที่ทัดเทียมกับการชักชวนผู้ชมให้ชมละคร ที่เป็นไปอย่างกว้างขวาง บ่อยครั้ง และน่าสนใจ โดยใช้เทคนิคต่างๆ ประกอบ รวมทั้ง คำนึงถึงการเข้าถึงการแจ้งระงับของคนทุกกลุ่ม เช่น คนพิการด้านการเห็น ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงตัววิ่งของสถานีฯ ได้

(๒) สถานีฯ ควรชี้แจงข้อเท็จจริงของการดำเนินการระงับรายการละครดังกล่าวให้สาธารณชนทราบอย่างกว้างขวาง หลังจากที่ได้มีการดำเนินการ

- การระงับการออกอากาศรายการละคร “เหนือเมฆ ๒” ได้สร้างกระแสการตื่นตัว ต่อต้าน และสนใจอย่างกว้างขวาง ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่ กสท. จะยกระดับความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค เช่น อาจออกแบบระบบการจัดระดับผู้ประกอบกิจการที่มีธรรมาภิบาลด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ให้ผู้บริโภคได้ร่วมแสดงความคิดเห็นหรือให้คะแนน อันเป็นการทำให้การกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ของ กสท. มีกลไกการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคอย่างแท้จริง

ข้อเสนอ

คณะอนุกรรมการฯ จึงขอเสนอ กสท. เพื่อโปรดพิจารณาดังต่อไปนี้

๑. กสท. ขอความร่วมมือสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง ๓ ดำเนินการ ดังนี้

๑.๑ ชี้แจงข้อเท็จจริงของเหตุแห่งการระงับรายการละครเรื่อง “เหนือเมฆ ๒” ทางสื่อต่างๆ ต่อสาธารณะ

๑.๒ แสดงความรับผิดต่อประชาชนในฐานะผู้ชม – ผู้บริโภคจากรณีที่ดำเนินการระงับละครเรื่อง “เหนือเมฆ ๒” ก่อนที่จะจบบริบูรณ์ โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้า ผ่านสื่อต่างๆ และให้เข้าถึงผู้ชมทุกกลุ่มเช่นเดียวกับวิธีการที่ได้ประกาศเชิญชวนให้รับชมรายการ

๑.๓ เสนอมาตรการชดเชยต่อประชาชนในฐานะผู้ชม – ผู้บริโภคอันเนื่องจากเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคเสียสิทธิในการได้รับบริการของกิจการฯ อย่างครบถ้วน

๒. กสท. กำหนดแนวนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค และปกป้องสิทธิ เสรีภาพของผู้ประกอบกิจการและผู้ประกอบวิชาชีพในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่สืบเนื่องจากกรณีนี้ โดยเร่งกำหนดแนวทางเกี่ยวกับการกำกับดูแลภายใต้กฎหมาย (พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๓๗) และการกำกับดูแลกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรมของวิชาชีพ เพื่อสร้างดุลยภาพระหว่างเสรีภาพและความรับผิดชอบให้ชัดเจน (พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๓๙ และ ๔๐)

เพื่อป้องกันมิให้ผู้ประกอบกิจการและผู้ประกอบวิชาชีพกล่าวอ้างและดำเนินการในลักษณะที่เป็นการปิดกั้นตนเองด้วยความกลัวโดยไม่มีเหตุอันควรมาใช้ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารสาธารณะของประชาชนและผู้บริโภค

คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

เครดิต : สำนักข่าวอิศรา http://bit.ly/Vlx296
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่