Credit :
http://board.thaivi.org/viewtopic.php?f=7&t=54982
ขอบคุณ คุณ Thai VI Article และ ดร.นิเวศน์ครับ
__________________________________________________
โลกในมุมมองของ Value Investor 26 มกราคม 56
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ชีวิตที่เรียบง่าย
วอเร็น บัฟเฟตต์ เป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกคนหนึ่งติดต่อกันมานาน นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้บริหารของ เบิร์กไชร์ แฮทธาเวย์ ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ติดอันดับต้น ๆ ของอเมริกาและของโลก ดูจากโปรไฟล์แบบนี้คนก็ต้องคิดว่าชีวิตของเขาในแต่ละวันคงจะยุ่งเหยิงมากจนหาเวลาที่เป็นส่วนตัวได้ยาก แต่เปล่าเลย ในแต่ละวันเขาเดินทางไปทำงานอย่างสบาย ๆ ขับรถเองออกจากบ้านถึงที่ทำงานก็กินเวลาไม่กี่นาที เวลาทำงานของเขาส่วนใหญ่ก็คือการนั่งอ่านหนังสือซึ่งส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นเรื่องของบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ เช่นหนังสือรายงานประจำปี หรือไม่ก็อาจจะเป็นข้อเสนอขายหุ้นหรือกิจการให้เบิร์กไชร์ เวลาอีกส่วนหนึ่งก็คือการพูดคุยทางโทรศัพท์ที่น่าจะรวมถึงการสั่งซื้อหรือขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก็ไม่ได้บ่อยหรือใช้เวลามากนัก ที่น่าทึ่งก็คือ เขาไม่นั่งดูจอคอมพิวเตอร์เพื่อติดตามราคาหุ้นหรือทำงานกับคอมพิวเตอร์เลย ว่าที่จริงเขาไม่มีคอมพิวเตอร์บนโต๊ะทำงาน พูดกันว่าเขาไม่ใช้โทรศัพท์มือถือด้วย แต่เรื่องนี้ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจริงไหม ครั้งหนึ่ง ลูกชายของ นางแคทเธอรีน เกรแฮม เจ้าของบริษัทวอชิงตันโพสต์ที่บัฟเฟตต์ร่วมถือหุ้นและสนิทสนมด้วยต้องการมาพบบัฟเฟตต์และขอนัดเวลา บัฟเฟตต์ตอบว่า “มาได้เลย ผมไม่มีตารางเวลานัด”
บัฟเฟตต์ไม่อยู่ในที่ทำงานจนดึกดื่น เขากลับบ้านตามเวลาปกติ ช่วงหัวค่ำเขาอาจจะนั่งดูทีวีพร้อมกับข้าวโพดคั่ว บางวันก็เล่นบริดจ์ผ่านอินเตอร์เน็ตกับคู่ขา ลูกของบัฟเฟตต์เคยเล่าว่า ในช่วงวัยเด็กเขาไม่เคยเห็นพ่อทำงานบ้านอะไรเลย วัน ๆ เอาแต่อ่านหนังสือ เวลาที่บัฟเฟตต์กินอาหารนอกบ้าน เขาก็มักจะไปกินที่ร้านเดิม ๆ และอาหารก็น่าจะ “เดิม ๆ” เขาบอกว่า “ไม่รู้จะเสี่ยงไปทำไม อาหารร้านนี้อร่อยอยู่แล้ว” เวลาที่บัฟเฟตต์เดินทางโดยเครื่องบินนั้น เขาไปของเขาเองโดยไม่มีคนติดตาม ครั้งหนึ่งมีเรื่องเล่าว่ามีคนไปเจอบัฟเฟตต์ในสนามบิน อาจจะในร้านแม็คโดนัลด์ เขาเข้าไปทักและพูดทำนองว่า “คุณคือ วอเร็น บัฟเฟตต์ หรือเปล่า” ซึ่งบัฟเฟตต์ตอบว่า “ใช่” แต่เขากลับอุทานว่า “เป็นไปไม่ได้” เขาคงคิดว่าบัฟเฟตต์ที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้จะมาเดินลากกระเป๋าแบบนี้ได้อย่างไร ข้อสรุปของผมก็คือ ชีวิตของวอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น เป็นชีวิตที่เรียบง่ายที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสถานะของเขาในสังคม และนั่นนอกจากเป็นเพราะอาชีพนักลงทุนนั้น ไม่จำเป็นที่เราจะต้องมีความซับซ้อนที่จะทำให้ประสบความสำเร็จแล้ว ชีวิตที่เรียบง่ายยังเป็นสิ่งที่เขาเลือก ครั้งหนึ่ง เขาได้รับเชิญให้ไปร่วมรับประทานอาหารกับประธานาธิบดีของสหรัฐซึ่งในทางสังคมแล้วถือว่าเป็นเรื่องที่มีเกียรติอย่างสูงและทุกคนต่างแสวงหา แต่บัฟเฟตต์ปฏิเสธ เขาคงคิดว่า “ไม่รู้ไปทำไม”
ผมเองเคยผ่านชีวิตของการเป็นผู้บริหารของธุรกิจมานาน แม้ว่าจะไม่เคยเป็นผู้บริหารสูงสุดแต่ก็เป็นผู้บริหารระดับสูงในบริษัทที่ค่อนข้างใหญ่และเกี่ยวข้องกับสังคมในตลาดหลักทรัพย์ หลังจากลาออกมาเป็นนักลงทุนเต็มตัวประมาณสิบปีมาแล้วผมก็พบความแตกต่างระหว่างการเป็นพนักงานหรือผู้บริหารธุรกิจกับการเป็นนักลงทุนในด้านของการใช้ชีวิตและสังคมอย่างชัดเจน
ข้อแรกก็คือ ชีวิตของการเป็นผู้บริหารโดยเฉพาะในงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับสังคมหรือราชการนั้น เป็นชีวิตที่มีความเครียดสูงมาก ประเด็นก็คือ การที่เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับลูกน้องและจ้าวนายจำนวนมากนั้น ทำให้ชีวิตเรา “ซับซ้อน” มาก แต่ละวันเราจะมีเรื่องที่ต้องคิดและตัดสินใจแตกต่างกันออกไป เรื่องส่วนใหญ่ก็ไม่สำคัญอะไรนักต่อความสำเร็จขององค์กร แต่การตัดสินใจอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกใจคนอื่นก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งต่อหน้าและลับหลังทำให้เราเครียด เรื่องที่สำคัญมากจริง ๆ บางครั้งหรือบ่อยครั้งเราก็ไม่สามารถทำตามที่เราคิดได้เพราะเป็นเรื่องที่ต้องอาศัย “เสียงส่วนใหญ่” ที่คิดไปอีกทางหนึ่งหรือมี “แรงจูงใจ” บางอย่างที่ทำให้ตัดสินใจไปอย่างนั้น ประเด็นสำคัญก็คือ แม้ว่าเราจะคิดและตัดสินใจในทางตรงกันข้ามแต่เราก็ต้อง “รับผิดชอบ” กับการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่นั้น และนี่ก็ทำให้เกิดความเครียด เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดในอนาคต เราอาจจะต้องรับผิดไปด้วย
ในเมืองไทยเรานั้น ประเด็นที่ทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นอีกก็คือ กฎเกณฑ์และระบบกฎหมายและความยุติธรรมของเรานั้นยังไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร ดังนั้น ถ้าเราอยู่ในธุรกิจหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกับสังคมหรือรัฐมาก เช่น บริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือธุรกิจการเงินอย่างที่ผมเคยทำ “ความเสี่ยง” ของผู้บริหารก็จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ประเด็นก็คือ ในระบบของบ้านเรานั้น การ “กล่าวโทษ” ทำได้ง่าย และความผิดนั้น อาจจะไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเรื่องของการทุจริตหรือความผิดพลาดของการตัดสินใจแต่เป็นเรื่องของการทำผิด “กฎระเบียบ” ที่สุดจะ “ซับซ้อน” ซึ่งนั่นก็เพียงพอที่จะทำให้คุณต้องตกเข้าไปสู่ “วังวน” ของปัญหาที่จะทำให้ชีวิตของเราเครียดไปอีกนานถ้าถูกกล่าวโทษ
ข้อที่สองก็คือ การเป็นพนักงานหรือผู้บริหารขององค์กรที่ใหญ่โตนั้นทำให้เรามีสถานะทางสังคมสูงกว่าคนที่เป็นนักลงทุนในสายตาของคนทั่วไป นี่ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่ยังยึดถือในเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าค่อนข้างมากแม้ว่าจะค่อย ๆ ลดลงในช่วงหลังนี้ การมี “หัวโขน” นั้น แม้ว่าจะทำให้คนที่ “สวม” อยู่รู้สึกดี แต่มันก็ทำให้ชีวิตของเราซับซ้อนขึ้น เราถูกทำให้ต้องคิดคำนึงถึงการ “วางตัว” ให้เหมาะสมกับ “ชั้น” หรือสถานะที่เราอยู่อย่างเคร่งครัด เราจะทำตัว “มอซอ” หรือไม่ไปเคารพนบนอบ “ผู้ใหญ่” ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ไม่ได้ แม้แต่ชีวิตส่วนตัวของเราเอง เราก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรแบบสบาย ๆ ที่ดูแล้วอาจจะทำให้เรา “เสียลุค” ทำให้คน “ขาดความนับถือ” ได้ นอกจากนั้น การเป็น “คนสำคัญ” ยังหมายความว่าคุณจะต้องมีหรือทำกิจกรรม “เพื่อสังคม” หรือต้อง “เข้าสังคม” กับคนกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะที่อยู่ในระดับเดียวกันเป็นประจำซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ทำให้ชีวิตค่อนข้างที่จะเครียดโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีพื้นฐานนิสัยที่ค่อนข้างเป็นแบบ “เสรีชน”
ชีวิตของคนที่ทำงานหรือเป็นผู้บริหารในองค์กรขนาดใหญ่นั้นดูเหมือนว่าจะหลีกเลี่ยงการมีชีวิตที่ซับซ้อนไปได้ยากและหลายคนก็อาจจะชอบมัน ว่าที่จริงการมีชีวิตที่เรียบง่ายนั้นอาจจะไม่เหมาะกับคนที่ทำงานในองค์กรด้วยซ้ำ แต่ชีวิตของนักลงทุนนั้น ผมคิดว่าเราต้องการความเรียบง่ายมากกว่า เหตุผลก็คือ ความเรียบง่ายนั้น มักทำให้เราได้สัมผัสกับคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนทั่วไปที่เป็นลูกค้าของบริษัทจดทะเบียนทั้งหลายได้มากกว่าความซับซ้อน ว่าที่จริง ปีเตอร์ ลินช์ เองเคยพูดไว้ว่า “ถ้าคุณเป็นคนขับรถสิบล้อ คุณจะได้เปรียบในการลงทุน” ส่วนตัวผมเองนั้น สมัยที่ยังเป็นผู้บริหารบริษัทนั้น ผมเองก็ยังไม่ค่อยรู้สึกถึงความจำเป็นของการมีร้านสะดวกซื้อมากมายนัก เหตุผลก็เพราะผมมีคนคอยจัดการเรื่องกาแฟและใบเสร็จค่าน้ำไฟรวมถึงเรื่องจิปาถะต่าง ๆ แต่หลังจากออกมาเป็นนักลงทุนที่ต้องทำทุกอย่างเองเหมือนกับคนทั่วไป ผมถึงได้ค้นพบว่านี่คือสิ่งที่คนเกือบทั้งประเทศต้องการแทบจะขาดไม่ได้
ชีวิตที่เรียบง่ายนั้น ไม่ได้ช่วยแต่ในเรื่องของการลงทุน ส่วนตัวผมเองนั้น สามารถลดความเครียดลงได้น่าจะ 80-90% จากการที่เลิกทำงานที่มีความซับซ้อนและความเครียดสูงลง การที่พูดเรื่องนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าผมคิดว่าเราควรลาออกจากงานมาลงทุนเต็มตัวเพื่อใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ผมเพียงแต่ต้องการบอกว่า การทำชีวิตให้เรียบง่ายนั้น เป็นสิ่งที่ดีและทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้น และการลงทุนก็เป็นช่องทางหนึ่งที่อาจจะทำให้เราสามารถเลือกใช้ชีวิตที่เรียบง่ายได้
ชีวิตที่เรียบง่าย/ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ขอบคุณ คุณ Thai VI Article และ ดร.นิเวศน์ครับ
__________________________________________________
โลกในมุมมองของ Value Investor 26 มกราคม 56
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ชีวิตที่เรียบง่าย
วอเร็น บัฟเฟตต์ เป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกคนหนึ่งติดต่อกันมานาน นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้บริหารของ เบิร์กไชร์ แฮทธาเวย์ ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ติดอันดับต้น ๆ ของอเมริกาและของโลก ดูจากโปรไฟล์แบบนี้คนก็ต้องคิดว่าชีวิตของเขาในแต่ละวันคงจะยุ่งเหยิงมากจนหาเวลาที่เป็นส่วนตัวได้ยาก แต่เปล่าเลย ในแต่ละวันเขาเดินทางไปทำงานอย่างสบาย ๆ ขับรถเองออกจากบ้านถึงที่ทำงานก็กินเวลาไม่กี่นาที เวลาทำงานของเขาส่วนใหญ่ก็คือการนั่งอ่านหนังสือซึ่งส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นเรื่องของบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ เช่นหนังสือรายงานประจำปี หรือไม่ก็อาจจะเป็นข้อเสนอขายหุ้นหรือกิจการให้เบิร์กไชร์ เวลาอีกส่วนหนึ่งก็คือการพูดคุยทางโทรศัพท์ที่น่าจะรวมถึงการสั่งซื้อหรือขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งก็ไม่ได้บ่อยหรือใช้เวลามากนัก ที่น่าทึ่งก็คือ เขาไม่นั่งดูจอคอมพิวเตอร์เพื่อติดตามราคาหุ้นหรือทำงานกับคอมพิวเตอร์เลย ว่าที่จริงเขาไม่มีคอมพิวเตอร์บนโต๊ะทำงาน พูดกันว่าเขาไม่ใช้โทรศัพท์มือถือด้วย แต่เรื่องนี้ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจริงไหม ครั้งหนึ่ง ลูกชายของ นางแคทเธอรีน เกรแฮม เจ้าของบริษัทวอชิงตันโพสต์ที่บัฟเฟตต์ร่วมถือหุ้นและสนิทสนมด้วยต้องการมาพบบัฟเฟตต์และขอนัดเวลา บัฟเฟตต์ตอบว่า “มาได้เลย ผมไม่มีตารางเวลานัด”
บัฟเฟตต์ไม่อยู่ในที่ทำงานจนดึกดื่น เขากลับบ้านตามเวลาปกติ ช่วงหัวค่ำเขาอาจจะนั่งดูทีวีพร้อมกับข้าวโพดคั่ว บางวันก็เล่นบริดจ์ผ่านอินเตอร์เน็ตกับคู่ขา ลูกของบัฟเฟตต์เคยเล่าว่า ในช่วงวัยเด็กเขาไม่เคยเห็นพ่อทำงานบ้านอะไรเลย วัน ๆ เอาแต่อ่านหนังสือ เวลาที่บัฟเฟตต์กินอาหารนอกบ้าน เขาก็มักจะไปกินที่ร้านเดิม ๆ และอาหารก็น่าจะ “เดิม ๆ” เขาบอกว่า “ไม่รู้จะเสี่ยงไปทำไม อาหารร้านนี้อร่อยอยู่แล้ว” เวลาที่บัฟเฟตต์เดินทางโดยเครื่องบินนั้น เขาไปของเขาเองโดยไม่มีคนติดตาม ครั้งหนึ่งมีเรื่องเล่าว่ามีคนไปเจอบัฟเฟตต์ในสนามบิน อาจจะในร้านแม็คโดนัลด์ เขาเข้าไปทักและพูดทำนองว่า “คุณคือ วอเร็น บัฟเฟตต์ หรือเปล่า” ซึ่งบัฟเฟตต์ตอบว่า “ใช่” แต่เขากลับอุทานว่า “เป็นไปไม่ได้” เขาคงคิดว่าบัฟเฟตต์ที่ยิ่งใหญ่ขนาดนี้จะมาเดินลากกระเป๋าแบบนี้ได้อย่างไร ข้อสรุปของผมก็คือ ชีวิตของวอเร็น บัฟเฟตต์ นั้น เป็นชีวิตที่เรียบง่ายที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับสถานะของเขาในสังคม และนั่นนอกจากเป็นเพราะอาชีพนักลงทุนนั้น ไม่จำเป็นที่เราจะต้องมีความซับซ้อนที่จะทำให้ประสบความสำเร็จแล้ว ชีวิตที่เรียบง่ายยังเป็นสิ่งที่เขาเลือก ครั้งหนึ่ง เขาได้รับเชิญให้ไปร่วมรับประทานอาหารกับประธานาธิบดีของสหรัฐซึ่งในทางสังคมแล้วถือว่าเป็นเรื่องที่มีเกียรติอย่างสูงและทุกคนต่างแสวงหา แต่บัฟเฟตต์ปฏิเสธ เขาคงคิดว่า “ไม่รู้ไปทำไม”
ผมเองเคยผ่านชีวิตของการเป็นผู้บริหารของธุรกิจมานาน แม้ว่าจะไม่เคยเป็นผู้บริหารสูงสุดแต่ก็เป็นผู้บริหารระดับสูงในบริษัทที่ค่อนข้างใหญ่และเกี่ยวข้องกับสังคมในตลาดหลักทรัพย์ หลังจากลาออกมาเป็นนักลงทุนเต็มตัวประมาณสิบปีมาแล้วผมก็พบความแตกต่างระหว่างการเป็นพนักงานหรือผู้บริหารธุรกิจกับการเป็นนักลงทุนในด้านของการใช้ชีวิตและสังคมอย่างชัดเจน
ข้อแรกก็คือ ชีวิตของการเป็นผู้บริหารโดยเฉพาะในงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับสังคมหรือราชการนั้น เป็นชีวิตที่มีความเครียดสูงมาก ประเด็นก็คือ การที่เราต้องมีปฏิสัมพันธ์กับลูกน้องและจ้าวนายจำนวนมากนั้น ทำให้ชีวิตเรา “ซับซ้อน” มาก แต่ละวันเราจะมีเรื่องที่ต้องคิดและตัดสินใจแตกต่างกันออกไป เรื่องส่วนใหญ่ก็ไม่สำคัญอะไรนักต่อความสำเร็จขององค์กร แต่การตัดสินใจอะไรที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกใจคนอื่นก็จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ทั้งต่อหน้าและลับหลังทำให้เราเครียด เรื่องที่สำคัญมากจริง ๆ บางครั้งหรือบ่อยครั้งเราก็ไม่สามารถทำตามที่เราคิดได้เพราะเป็นเรื่องที่ต้องอาศัย “เสียงส่วนใหญ่” ที่คิดไปอีกทางหนึ่งหรือมี “แรงจูงใจ” บางอย่างที่ทำให้ตัดสินใจไปอย่างนั้น ประเด็นสำคัญก็คือ แม้ว่าเราจะคิดและตัดสินใจในทางตรงกันข้ามแต่เราก็ต้อง “รับผิดชอบ” กับการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่นั้น และนี่ก็ทำให้เกิดความเครียด เพราะถ้าเกิดความผิดพลาดในอนาคต เราอาจจะต้องรับผิดไปด้วย
ในเมืองไทยเรานั้น ประเด็นที่ทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นอีกก็คือ กฎเกณฑ์และระบบกฎหมายและความยุติธรรมของเรานั้นยังไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร ดังนั้น ถ้าเราอยู่ในธุรกิจหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกับสังคมหรือรัฐมาก เช่น บริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือธุรกิจการเงินอย่างที่ผมเคยทำ “ความเสี่ยง” ของผู้บริหารก็จะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ประเด็นก็คือ ในระบบของบ้านเรานั้น การ “กล่าวโทษ” ทำได้ง่าย และความผิดนั้น อาจจะไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเรื่องของการทุจริตหรือความผิดพลาดของการตัดสินใจแต่เป็นเรื่องของการทำผิด “กฎระเบียบ” ที่สุดจะ “ซับซ้อน” ซึ่งนั่นก็เพียงพอที่จะทำให้คุณต้องตกเข้าไปสู่ “วังวน” ของปัญหาที่จะทำให้ชีวิตของเราเครียดไปอีกนานถ้าถูกกล่าวโทษ
ข้อที่สองก็คือ การเป็นพนักงานหรือผู้บริหารขององค์กรที่ใหญ่โตนั้นทำให้เรามีสถานะทางสังคมสูงกว่าคนที่เป็นนักลงทุนในสายตาของคนทั่วไป นี่ก็เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยที่ยังยึดถือในเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าค่อนข้างมากแม้ว่าจะค่อย ๆ ลดลงในช่วงหลังนี้ การมี “หัวโขน” นั้น แม้ว่าจะทำให้คนที่ “สวม” อยู่รู้สึกดี แต่มันก็ทำให้ชีวิตของเราซับซ้อนขึ้น เราถูกทำให้ต้องคิดคำนึงถึงการ “วางตัว” ให้เหมาะสมกับ “ชั้น” หรือสถานะที่เราอยู่อย่างเคร่งครัด เราจะทำตัว “มอซอ” หรือไม่ไปเคารพนบนอบ “ผู้ใหญ่” ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ไม่ได้ แม้แต่ชีวิตส่วนตัวของเราเอง เราก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรแบบสบาย ๆ ที่ดูแล้วอาจจะทำให้เรา “เสียลุค” ทำให้คน “ขาดความนับถือ” ได้ นอกจากนั้น การเป็น “คนสำคัญ” ยังหมายความว่าคุณจะต้องมีหรือทำกิจกรรม “เพื่อสังคม” หรือต้อง “เข้าสังคม” กับคนกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะที่อยู่ในระดับเดียวกันเป็นประจำซึ่งทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ทำให้ชีวิตค่อนข้างที่จะเครียดโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีพื้นฐานนิสัยที่ค่อนข้างเป็นแบบ “เสรีชน”
ชีวิตของคนที่ทำงานหรือเป็นผู้บริหารในองค์กรขนาดใหญ่นั้นดูเหมือนว่าจะหลีกเลี่ยงการมีชีวิตที่ซับซ้อนไปได้ยากและหลายคนก็อาจจะชอบมัน ว่าที่จริงการมีชีวิตที่เรียบง่ายนั้นอาจจะไม่เหมาะกับคนที่ทำงานในองค์กรด้วยซ้ำ แต่ชีวิตของนักลงทุนนั้น ผมคิดว่าเราต้องการความเรียบง่ายมากกว่า เหตุผลก็คือ ความเรียบง่ายนั้น มักทำให้เราได้สัมผัสกับคนส่วนใหญ่ที่เป็นคนทั่วไปที่เป็นลูกค้าของบริษัทจดทะเบียนทั้งหลายได้มากกว่าความซับซ้อน ว่าที่จริง ปีเตอร์ ลินช์ เองเคยพูดไว้ว่า “ถ้าคุณเป็นคนขับรถสิบล้อ คุณจะได้เปรียบในการลงทุน” ส่วนตัวผมเองนั้น สมัยที่ยังเป็นผู้บริหารบริษัทนั้น ผมเองก็ยังไม่ค่อยรู้สึกถึงความจำเป็นของการมีร้านสะดวกซื้อมากมายนัก เหตุผลก็เพราะผมมีคนคอยจัดการเรื่องกาแฟและใบเสร็จค่าน้ำไฟรวมถึงเรื่องจิปาถะต่าง ๆ แต่หลังจากออกมาเป็นนักลงทุนที่ต้องทำทุกอย่างเองเหมือนกับคนทั่วไป ผมถึงได้ค้นพบว่านี่คือสิ่งที่คนเกือบทั้งประเทศต้องการแทบจะขาดไม่ได้
ชีวิตที่เรียบง่ายนั้น ไม่ได้ช่วยแต่ในเรื่องของการลงทุน ส่วนตัวผมเองนั้น สามารถลดความเครียดลงได้น่าจะ 80-90% จากการที่เลิกทำงานที่มีความซับซ้อนและความเครียดสูงลง การที่พูดเรื่องนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าผมคิดว่าเราควรลาออกจากงานมาลงทุนเต็มตัวเพื่อใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ผมเพียงแต่ต้องการบอกว่า การทำชีวิตให้เรียบง่ายนั้น เป็นสิ่งที่ดีและทำให้เรามีความสุขเพิ่มขึ้น และการลงทุนก็เป็นช่องทางหนึ่งที่อาจจะทำให้เราสามารถเลือกใช้ชีวิตที่เรียบง่ายได้