**"ครูตาย แผ่นดินแตก : เสถียร วิริยะพรรณพงศา" ความจริง? ที่อยากแบ่งปันและขอความเห็นคนในพื้นที่ค่ะ

ครูตาย แผ่นดินแตก" เมื่อสายสัมพันธ์พุทธ-มุสลิมกำลังกลายเป็นอดีต



บทความพิเศษของ เสถียร วิริยะพรรณพงศา
ผู้สื่อข่าวเนชั่นทีวีที่เคยใช้ชีวิตวัยเด็กอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เขามองปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นยาวนานเกือบ 1 ทศวรรษและผลกระทบของมันในมุมที่น่าวิตก โดยเฉพาะสายสัมพันธ์ของคนพุทธกับมุสลิมที่กำลังถูกทำให้ถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ จากเหตุการณ์ยิงครูที่สะเทือนถึงการจัดระบบการศึกษาในพื้นที่อย่างลึกซึ้ง


ครูตาย...แผ่นดินแตก

          นับแต่ปี 2500 ที่ประเทศไทยถือเอาวันที่ 16 ม.ค.ของทุกปีเป็น "วันครู" วันที่จะรำลึกถึงครูบาอาจารย์ผู้มอบวิชาความรู้ให้แก่ลูกศิษย์ได้นำไปใช้ในการดำเนินชีวิต

          วันครูปี 2556 น่าจะเป็นวันครูที่มีความหมายอย่างลึกซึ้งเพราะตลอดปี 2555 สังคมไทยต้องสูญเสียครูผู้เสียสละทำหน้าที่กลางไฟสงครามที่ลุกโชนหลายต่อหลายราย

          "ครู" คือเหยื่อผู้อ่อนแอของขบวนการก่อความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปรียบเหมือนลูกแกะกลางดงไฟ

          ตลอด 9 ปีที่เหตุการณ์ความรุนแรงคุกรุ่นในพื้นที่ ครูต้องสังเวยชีวิตไปแล้วเกือบ 160 ราย นับเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของครูที่เสียชีวิตทั่วประเทศ

          หลังจากที่ครูเสียชีวิตติดต่อกันหลายราย มีการจัดกำลังเพิ่มเติมเข้าไปดูแล ทหารเฝ้าเวรยาม 24 ชั่วโมง  รัฐบาลพยายามเพิ่มเบี้ยเลี้ยง ค่าเสี่ยงภัย สวัสดิการต่างๆ เพื่อปลุกขวัญให้มีกำลังใจทำหน้าที่เรือจ้างพายอยู่ในสายน้ำแห่งความรุนแรงต่อไป

          แน่นอนว่ามาตรการเฉพาะหน้าเหล่านี้สร้างความอุ่นใจให้ครูและนักเรียน...แต่ปัญหามันไม่ได้มีอยู่แค่นี้

          การตายของครูมันไม่ได้เป็นเหมือนแค่ที่เจ้าหน้าที่อ้าง คือความพยายามสร้างสถานการณ์ หรือการดิ้นเฮือกสุดท้ายของขบวนการที่อ่อนแอเต็มที่ แต่มันมีเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้นที่นับเป็นยุทธศาสตร์สำคัญอย่างหนึ่งของขบวนการแบ่งแยกดินแดนคือ "แยกคนพุทธและมุสลิมออกจากกัน"

          จุดชนวนความหวาดระแวงระหว่างคนไทยพุทธกับมุสลิม และตอกย้ำความขัดแย้งทางศาสนาให้เข้มข้นขึ้นไปอีก

          ข้อมูลที่น่าสนใจคือครูที่ตายแทบทั้งหมดเป็นครูจากโรงเรียนสายสามัญของรัฐบาล ซึ่งก็จะมีเด็กทั้งไทยพุทธและมุสลิมเรียนปะปนกันไป แต่ทันทีที่ครูในโรงเรียนถูกยิงหรือถูกสังหารไม่ว่าด้วยวิธีการใด สิ่งที่ตามมาคือความหวาดกลัวก็จะเกิดขึ้นในจิตใจของผู้ปกครอง โดยเฉพาะผู้ปกครองของเด็กมุสลิมที่ยังคงมีทางเลือก ไม่มีใครอยากให้ลูกของตัวเองต้องเสี่ยงกับคมกระสุนในฐานะลูกหลง นำไปสู่การตัดสินใจเอาลูกตัวเองออกจากโรงเรียนสายสามัญของรัฐเหล่านั้น ใครที่ลงไปในพื้นที่จะพบว่าจำนวนนักเรียนในโรงเรียนเหล่านี้เหลือน้อยจนน่าตกใจ

          ส่วนหลังจากเอาลูกออกไปแล้วไปเรียนที่ไหนยังไม่มีการสำรวจที่แน่ชัด แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่าจะเข้าสู่โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในพื้นที่ เพราะโรงเรียนเหล่านี้มียอดนักเรียนพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเทียบกับโรงเรียนสายสามัญของรัฐที่นับวันยิ่งซบเซา ทำให้โรงเรียนสายสามัญของรัฐมีจำนวนนักเรียนน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะนักเรียนมุสลิม

          ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ ความหวาดกลัวยังปกคลุมจิตใจพ่อแม่ผู้ปกครอง สิ่งที่เกิดขึ้นต่อไปคือเด็กนักเรียนไทยพุทธกับเด็กไทยมุสลิมจะแยกโรงเรียนกันเรียนอย่างสิ้นเชิง สายสัมพันธ์ที่เคยผูกกัน ความเป็นเพื่อนเป็นฝูงแม้จะอยู่ต่างศาสนาก็จะค่อยๆ ลดน้อยถอยลง เมื่อความห่างเข้ามาแทนที่

          เด็กสองศาสนาจะหันหลังให้แก่กัน...

          ในช่วงชีวิตวัยเด็กของผมช่วงหนึ่งเติบโตอยู่ใน จ.ปัตตานี บอกได้เลยว่าเมื่อ 20-30 ปีก่อนเด็กไทยพุทธกับมุสลิมไม่มีช่องว่างทางความรู้สึกแม้แต่น้อย ไม่มีเด็กคนไหนคิดว่าเป็นพุทธ กูมุสลิม แล้วจะอยู่ร่วมโลกกันไมได้ เด็กทั้งสองศาสนาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสนิทสนมกลมกลืนเหมือนกับเด็กในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย ไม่มีเส้นแบ่งทางศาสนามาขวางกั้น ให้ต้องแบ่งเขาแบ่งเราแม้แต่น้อย

          เด็กไทยพุทธและมุสลิมเรียนโรงเรียนเดียวกัน อยู่ห้องเดียวกัน เตะบอลด้วยกัน วิ่งไล่จับกัน เตะก้นกัน ลอกการบ้านกัน แย่งกันจีบผู้หญิงคนเดียวกัน เราอยู่ร่วมกันบนแผ่นดินเดียวกัน

          แผ่นดินที่ไม่ใช่ของข้าหรือของเอ็ง แต่เป็นแผ่นดินของเราทุกคน...

          การที่ได้ใช้ชีวิตแบบนี้ตั้งแต่เด็กๆ ทำให้เข้าใจเพื่อนต่างศาสนา วิ่งๆ กันอยู่เพื่อนขอตัวไปละหมาด แรกๆ อาจจะงง แต่อยู่ๆ ไปก็เข้าใจว่ามันเป็นวิถีของศาสนาเขา ฉะนั้นเมื่อเพื่อนละหมาดเราก็จะไม่กวน

          พอถึงวันเสาร์อาทิตย์ เด็กไทยพุทธก็ไปวัดกับพ่อกับแม่ เพื่อนมุสลิมก็ไม่ชวนไปเที่ยวเล่นหรือประณามหยามเหยียดว่าวัดหรือพระเป็นสิ่งแปลกปลอมในพื้นที่ ต้องกวาดล้างให้สิ้นซาก

          ต่างฝ่ายต่างเคารพซึ่งกันและกัน ไม่มีใครบอกให้เคารพแต่เป็นไปเพราะความเป็น "เพื่อน"

          บางทีคำพูดใหญ่ๆ ฟังยากๆ อย่างการยอมรับ "อัตลักษณ์" หรือความเป็นปัจเจกซึ่งกันและกัน มันทำง่ายๆ ถ้าคนสองศาสนาเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่เด็กๆ

          ไม่รู้หรอกว่า "อัตตลักษณ์" แปลว่าอะไร แต่คือเพื่อนกู เพื่อนเป็นอย่างไรกูรับได้ทั้งนั้น

          ความสงบสุข สันติภาพ มันเริ่มต้นจากตรงนี้แหละ


          แต่ถามว่าวันนี้บรรยากาศเหล่านี้ยังอยู่หรือไม่...วันนี้ความหวาดระแวงมันแผ่ปกคลุม โจรออกใบปลิวแผ่นเดียว ปิดร้านขายของกันทั้งจังหวัด เด็กสองศาสนาหันหลังให้กัน แยกกันเรียนคนละโรงเรียน เดินบนถนนคนละสาย อยู่ในโลกคนละใบ

          ไทยพุทธและมุสลิมไม่มีพื้นที่ของคำว่า "เพื่อน" ที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เด็กพุทธไม่รู้ละหมาดคืออะไร เด็กมุสลิมไม่รู้จักการทำบุญตักบาตร

          ความแตกต่างกลายเป็นความแตกแยก สองศาสนากลายเป็นสิ่งที่อยู่ร่วมกันไม่ได้

          เด็กสองศาสนาต่างคนต่างเติบโตในโลกคนละใบ อคติบวกกับมายาคติ พวกกู พวก ศาสนา ศาสนากู กูถูก ผิด กูจะฆ่า ฯบฯ โปรแกรมเหล่านี้ถูกปลูกฝังอยู่ในหัว พวกเขาเติบโตมากับชุดความเชื่อเหล่านี้ ยังจะหวังอีกหรือว่าสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะสงบ

          หลับตานึกภาพอีก 10 ปีข้างหน้า เมื่อเด็กรุ่นนี้เติบโตขึ้นไป แม้ดินแดนด้ามขวานจะยังไม่ถูกแบ่งแยกในเชิงกายภาพ แต่ผู้คนจะแตกแยกกันขนาดไหน

          16 ม.ค. "วันครู" นอกจากคำกล่าวยกย่องครู หรือแสดงความเสียใจกับครอบครัวคุณครูที่สูญเสีย แต่อยากให้สำนึกว่าการที่ครูตายเพียง 1 ศพ มันหมายถึงความแตกร้าวของผู้คนในแผ่นดินเดียวกัน

เครดิต สำนักข่าวอิศราค่ะ
-----------

กระทู้ด๋อย แคปไว้ได้เท่านี้นะคะ พออ่านไหวไม๊คะ ถ้าไม่ไหวจะพิมพ์ใหม่เลยค่ะ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่