เสวนาสนุกๆ "มหัศจรรย์ความโน้มถ่วง" ที่จุฬาฯ 31 ม.ค. นี้

กระทู้สนทนา
อาจารย์อรรถกฤติ ที่ฟิสิกส์ จุฬาฯ (คนที่ออกมาเปิดโปงเรื่อง Torsion Field ลวงโลกน่ะ) ฝากผมมาประชาสัมพันธ์งานเสวนาสนุกๆ ที่จุฬาฯ นะครับ


ขอเชิญรับฟังเสวนาเรื่อง มหัศจรรย์ความโน้มถ่วง : How Does Gravity Work?

ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศทางฟิสิกส์ (THEP) และวิชาการดอทคอม ขอเชิญผู้สนใจวิทยาศาสตร์ มาร่วมไขความลับของธรรมชาติใน การเสวนาเรื่อง “มหัศจรรย์ความโน้มถ่วง : How Does Gravity Work?” โดย ผู้ค้นพบทฤษฎี “เบรน” ศาสตราจารย์ แอริก เบิร์กฮอฟฟ์ (Prof. Eric Bergshoeff) แห่งมหาวิทยาลัย โกรนิงเกน (Groningen University) ประเทศฮอลแลนด์ ซึ่งจะจัดขึ้นในเวลา 16:30 น. วันที่ 31 มกราคม พ.ศ .2556 ณ ห้อง 207 ชั้น 2 อาคารมหามกุฎ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ การบรรยายจะเป็นภาษาอังกฤษและออกแบบมาสำหรับผู้ฟังที่สนใจทั่วไป เหมาะสำหรับผู้ฟังที่มีความรู้พื้นฐานฟิสิกส์ในระดับมัธยมปลาย ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ฟิสิกส์ระดับมหาวิทยาลัย และเป็นการบรรยายที่ไม่เก็บค่าเข้าฟัง ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมโปรดติดต่อ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อรรถกฤต ฉัตรภูติ ภาควิชาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่อีเมล์ auttakit@sc.chula.ac.th หรือโทรศัพท์ 02-218-7550



มหัศจรรย์ความโน้มถ่วง!

ในบรรดาแรงธรรมชาติทั้งหมด แรงโน้มถ่วงดูจะเป็นแรงที่เราคุ้นเคยมากที่สุด มันเป็นแรงที่ดึงดูดตัวคุณไว้ให้ติดกับพื้นดิน และเป็นแรงที่ดึงลูกแอปเปิลให้หล่นใส่ศีรษะของเซอร์ ไอแซก นิวตัน ทุกคนที่เรียนฟิสิกส์ระดับมัธยมปลายมาย่อมจะรู้จักกฎความโน้มถ่วงของนิวตัน แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่าแท้จริงแล้ว เรื่องราวของแรงโน้มถ่วงไม่ได้จบแค่บทเรียนมัธยม ความโน้มถ่วงมีความซับซ้อนและมหัศจรรย์มากกว่าที่คุณคิด!! และ ยังไม่มีใครเข้าใจ!! มันทำไมจึงเป็นเช่นนั้น??
    ในการบรรยายครั้งนี้ ศาสตราจารย์ เบิร์กฮอฟฟ์ จะบอกเล่าถึงปริศนาอันแสนมหัศจรรย์ของความโน้มถ่วง รวมถึงความพยายามของนักฟิสิกส์ทั่วทุกมุมโลกในค้นหาคำตอบของความลี้ลับนี้ ไล่ตั้งแต่ยุคของไอน์สไตน์มาจนถึงยุคของทฤษฎีสตริง รวมถึงพัฒนาการล่าสุดในการแก้ไขปริศนาที่อาจกุมกุญแจสู่ความเข้าใจในเรื่องของการกำเนิดและวิวัฒนาการของเอกภพ



ประวัติผู้บรรยาย ศาสตราจารย์ แอริก เบิร์กฮอฟฟ์ (Prof. Eric Bergshoeff)

ศาสตราจารย์ เบิร์กฮอฟฟ์ เป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีซึ่งเชี่ยวชาญทางด้านทฤษฎีสตริง และ ซุปเปอร์กราวิตี้ ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในวงการฟิสิกส์ เขาได้สร้างการค้นพบที่สำคัญหลายต่อหลายอย่างในงานวิจัยสาขานี้ แต่ถ้าจะยกตัวอย่างผลงานของเขาซึ่งบรรดาแฟนๆ หนังสือ Popular Sciences หรือผู้ที่เคยอ่าน Universe in a nutshell ของสตีเฟน ฮอว์กิง อาจจะเคยได้อ่านผ่านตากันมาบ้างนั่นก็คือ เขาเป็นหนึ่งในผู้ค้นพบองค์ประกอบพื้นฐานที่เรียกว่า Brane ในทฤษฎีซุปเปอร์กราวิตี้  ในปี 1987 ศาสตราจารย์ เบิร์กฮอฟฟ์ และเพื่อนร่วมงานของเขา (ได้แก่ E. Sezgin  และ  P.K. Townsend ) ได้ตีพิมพ์บทความชื่อ “Supermembranes and eleven dimensional supergravity”ในวารสาร Physics Letters ซึ่งเป็นการพัฒนาทฤษฎีพื้นฐานอันใหม่ที่องค์ประกอบพื้นฐานของทฤษฎีมีลักษณะเป็น “เมมเบรน” (membrane) ซึ่งเป็นวัตถุที่มีลักษณะ 2 มิติ และ “เบรน” ซึ่งเป็นวัตถุที่มีจำนวนมิติมากขึ้นไปอีก และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา นักฟิสิกส์จึงได้ใช้ศัพท์คำว่า “เบรน” เพื่ออธิบายวัตถุที่มีจำนวนมิติต่างๆ กัน ซึ่งโดยปรกติแล้วเรามักจะคุ้นเคยกับอวกาศสามมิติ แต่แนวคิดของทฤษฎีซุปเปอร์กราวิตินั้นจำกัดจำนวนมิติของกาลอวกาศ (spacetime) ไว้ที่ 11 มิติเลยทีเดียว ผลงานบุกเบิกของเขาและเพื่อนร่วมงานนี้ได้ส่งผลกระทบอย่างมากมายในวงการฟิสิกส์ทฤษฎีอนุภาคพลังงานสูงและจักรวาลวิทยา
นอกจากศาสตราจารย์ เบิร์กฮอฟฟ์ จะเป็นนักวิจัยที่มีชื่อเสียงระดับโลกแล้ว ด้วยบุคลิกที่เป็นกันเอง และความมีอารมณ์ขันแบบชาวดัชต์ ทำให้เขามักจะได้รับเชิญไปบรรยายในการประชุมวิชาการ รวมถึงการบรรยายสำหรับผู้ที่สนใจอย่างสม่ำเสมอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่