ธกส เสี่ยงล้มละลาย จากการจำนำข้าว หากไม่หยุดอาจฉุดระบบการเงินล้มทั้งประเทศ

“การจัดหาเงินเพื่อรับจำนำข้าว ฤดูกาลผลิต 2554/2555 รับจำนำ 21.69 ล้านตัน ใช้เงินจำนวน 330,000 ล้านบาท

ใช้เงินของ ธ.ก.ส.เอง 120,000 ล้านบาท

กู้โดยตรงจากธนาคารพาณิชย์ประมาณ 70,000 ล้านบาท

ออกตั๋วเงินโดยมี ก.คลังค้ำประกัน 20,000 ล้านบาท

ออกพันธบัตรโดยมี ก.คลังค้ำประกันประมาณ 120,000 ล้านบาท”

หนี้ของรัฐยังพัฒนาเพิ่มพูนอย่างไม่หยุดยั้ง ฤดูการผลิต 2555/2556 ธ.ก.ส.ได้เตรียมรับจำนำข้าวประมาณ 25-26 ล้านตัน ต้องเตรียมจัดหาเงินประมาณ 405,000 ล้านบาท และถ้ารับจำนำข้าวถึง 33 ล้านตัน ก็จะใช้เงินประมาณ 540,000 ล้านบาท

ปัญหาสำคัญอยู่ที่ ธ.ก.ส.ไม่มีเงิน แต่ถูกสั่งให้ต้องทำหน้าที่จัดหาเงิน และแก้ไขปัญหาหนี้สินที่น่าหนักใจ 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ใช้สำหรับรับจำนำข้าวในปีการผลิต 2555/2556 จำนวน 405,000-540,000 ล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งสำหรับใช้หนี้ตามตั๋วเงินและพันธบัตรที่ออกในฤดูการผลิต 2554/2555 และถึงกำหนดจะชำระในฤดูกาลนี้

ประเด็นที่ต้องจับตา ได้แก่ รัฐบาลใช้ ธ.ก.ส.สร้างหนี้และรับผิดชอบหนี้สินแทน จนน่าห่วงวิตกว่าหนี้สินที่กู้ทวีคูณล้นพ้นตัว กำลังทำให้ ธ.ก.ส. อ่อนเปราะมาก และมาถึงขั้นจะล้มลงเมื่อไรก็ได้ ซ้ำยังลากธนาคารอื่นๆ ของรัฐมาร่วมความล่มจมแบบโดมิโน อันได้แก่ การพึ่งพาธนาคารออมสินที่มีสภาพคล่องเหลืออยู่ 150,000 ล้านบาท ให้ ธ.ก.ส.เมื่อไหร่ ออมสินก็ขาดสภาพคล่องทันที และตกอยู่ในสภาพเสี่ยงภัย อีกทั้งจากธนาคารกรุงไทย ธนาคารทหารไทย รวมกันอีก 50,000 ล้านบาท รวม 2 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่าภายในปีนี้ หากธนาคารรัฐให้กู้ทั้งหมด ก็ถูกลากจูงไปสู่ความเสี่ยงภัยล่มจมพร้อมกัน ส่วนที่ขาดอีกราว 3 แสนล้าน ต้องออกตั๋วเงิน พันธบัตร กู้จากตลาดตั๋วเงิน หรือตลาดพันธบัตร สุดท้าย ธ.ก.ส.ก็จะตกในสภาพใกล้ตายด้วยหนี้สินและขาดสภาพคล่อง

ธนาคารรัฐล้มหนึ่งแห่ง หมายถึงเศรษฐกิจล่มจมทั้งประเทศ ประชาชนต้องเตรียมตัวล้มทั้งยืนแบบฉับพลัน นี่คงจะทำให้ผู้อ่านเห็นภาพชัดว่า จำนำข้าวล้มประเทศไทยได้อย่างไร?
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่