หาง่าย!? เผยผลศึกษาพบ ในคนไทย10คน จะมีปืน1กระบอก

สมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ศึกษาปัญหาอาวุธปืน หัวข้อ "มาเที่ยวแค่นี้ต้องพกปืนมาด้วยหรือ" พบประชากรไทยใน 10 คน จะมีปืน 1 กระบอก ขณะที่ยอดอาวุธปืนนอกระบบหรือปืนเถื่อน คาดว่าน่าจะมีจำนวนไม่แตกต่างกัน แนะแก้วัฒนาธรรม-ค่านิยม...

จากกรณีเหตุยิงกันตายในท้องที่ สน.ทองหล่อ แล้วญาติผู้ตายตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมสังคมทุกวันนี้จึงฆ่ากันตายง่ายนัก และสงสัยว่ามาเที่ยวแค่นี้ต้องพกปืนมาด้วยหรือ ด้านสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย จึงศึกษาถึงปัญหาอาวุธปืน หัวข้อ “มาเที่ยวแค่นี้ต้องพกปืนมาด้วยหรือ” พบว่าจากการรวบรวมข้อมูลเพื่อศึกษาปัญหาอาชญากรรม และสาเหตุที่ผ่านมานั้น ระบุสาเหตุการตาย คือตายตามธรรมชาติ เช่น ป่วยตาย ตายตามอายุขัย และตายผิดธรรมชาติ คือ ตายด้วยอุบัติเหตุและถูกฆาตกรรม ซึ่งการถูกยิงด้วยอาวุธปืนเป็นส่วนหนึ่ง ของสาเหตุการฆาตกรรมด้วย ซึ่งรูปแบบนั้นมีทั้งเอาปืนไปยิงผู้อื่น และเอาปืนยิงตัวเอง และเกี่ยวกับอาวุธปืนนั้นมี 2 ประเภท คือปืนในระบบเช่นปืนที่ใช้ในราชการทหารตำรวจกรมการปกครองเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และที่รัฐอนุญาตออกให้กับประชาชนเพื่อป้องกันทรัพย์สิน ที่เชื่อกันว่ามีฐานข้อมูลสามารถตรวจสอบความเป็นเจ้าของได้ และปืนนอกระบบคือปืนเถื่อน อย่างปืนไทยประดิษฐ์ปืนปากกาที่กลุ่มนักเรียนเอาไปยิงกัน หรือแม้กระทั่งปืนในระบบที่ถูกขโมยหรือปล้นออกไป ก็จะกลายเป็นปืนนอกระบบทันที อย่างการปล้นปืนจากค่ายทหาร เป็นต้น ซึ่งปืนนอกระบบ จะไม่สามารถตรวจสอบระบุความเป็นเจ้าของและผู้ใช้ได้



บทบาทของอาวุธปืน มีทั้งด้านบวกคือการป้องกัน และด้านลบคือการรุกราน อย่างสมัยล่าอาณานิคม อาวุธปืนถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแผ่ขยายปกป้องผลประโยชน์ของผู้ล่าอาณานิคม แต่ถูกมองเป็นเครื่องมือแห่งการรุกรานต่อชนพื้นเมือง ที่ใช้เพียงลูกดอกธนู ดังนั้นการมีอาวุธปืนจึงเปรียบเสมือนการมีอำนาจ การปกป้อง และการเป็นผู้อันธพาลในเวลาเดียวกัน โดยวิวัฒนาการของอาวุธปืนควบคู่สังคมอย่างสหรัฐอเมริกาที่ยิงกันบ่อยๆ ตามโรงเรียนส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวัฒนธรรมที่ก่อเกิดจากการต้องมีอาวุธปืนเพื่อก่อร่างสร้างประเทศต่อสู้กับชนพื้นเมือง ปลูกฝังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวัน หรือวัฒนธรรมเท็กซัส

ส่วนประเทศไทยมีความคุ้นเคยกับอาวุธปืน ในประวัติศาสตร์เป็นการปกป้องบ้านเมือง สมัยนั้นการรวบรวมปืนไว้มากๆ ถือเป็นสิ่งจำเป็น แต่เมื่อสังคมเปลี่ยนไป บทบาทของปืนก็เปลี่ยนไปปืนมีความจำเป็นเพื่อใช้ปกป้องทรัพย์สินจากโจรผู้ร้าย ซึ่งรูปแบบคือควรอยู่ในที่ตั้ง ไม่ควรพกพาออกมานอกบ้าน แต่ปืนกลับกลายเป็นสิ่งที่ถูกพกพาออกมา จึงเป็นการสร้างปัญหา ทั้งที่เอาไปยิงคนและเอาไปเป็นเครื่องมือในการชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ อีกอย่างคือความคุ้นเคยต่ออาวุธปืนที่แสดงออกอย่างในหนังในละครก่อนข่าว หลังข่าว ที่ยิงกันทั้งเรื่อง และความคุ้นเคยต่ออาวุธปืนในรูปแบบของเล่น ที่เด็กๆ สามารถหาซื้อได้ตามร้าน ขายของชำทั่วไป ส่วนข้อเสนอแนะการแก้ปัญหาอาวุธปืนนั้น หากเน้นแก้ระบบหรือแก้กฎหมาย ให้การขออนุญาตยุ่งยาก หรือเพิ่มโทษหนักเบา ก็จะช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจไม่ได้ช่วยให้ทุเลาเบาบางลง เพราะยังมีปืนนอกระบบอยู่ และคนก็จะหันไปหาปืนนอกระบบ หรือปืนเถื่อนมากขึ้น แต่ต้องแก้ที่วัฒนธรรม ค่านิยมความคิดว่า “วีรบุรุษกับฆาตกรนั้น มีเส้นแบ่งบางมากหากพกปืน”

ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธปืน ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติ อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 คือมีมาตั้งแต่สมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยุค 2475 และปรับปรุงแก้ไขประกอบกันมาเป็นระยะๆ ทั้งนี้ข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธปืนในระบบระบุปี 2535 กระทรวงมหาดไทย อนุญาตตั้งร้านค้าอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนนั้น มีจำนวนร้านค้าที่ได้รับใบอนุญาต จำนวน 335 ใบ อนุญาตปี 2552 มีจำนวนร้านค้าที่ขอออกใบอนุญาตเพิ่มขึ้น จำนวน 150 ใบอนุญาต รวมถึงปัจจุบันมีร้านค้าที่ได้รับใบอนุญาต จำนวนทั้งสิ้น 485 ใบอนุญาต แยกเป็นในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 367 ใบอนุญาต ในจังหวัดอื่น จำนวน 118 ใบอนุญาต ในปี พ.ศ. 2550-2553 ร้านจำหน่ายกระสุนปืนได้แจ้งจำนวนการจำหน่ายกระสุนปืนประเภทกระสุนปืนลูกโดด จำนวน 240,000 นัด กระสุนปืนลูกซอง จำนวน 1,067,664 นัด ข้อมูลในเมื่อปี 2554 อาวุธปืนที่อนุญาตให้บุคคลครอบครองทั่วประเทศมี 2 ประเภท คือ อาวุธปืนสั้น จำนวน 3,675,320 กระบอก อาวุธปืนยาว จำนวน 2,450,214 กระบอก รวมจำนวน 6,124,534 กระบอก ทั้งนี้คิดเป็นอัตราส่วนโดยประมาณ สำหรับประชากรไทยใน 10 คน จะมีปืน 1 กระบอก อย่างไรก็ตาม อาวุธปืนนอกระบบหรือปืนเถื่อน ที่ไม่สามารถระบุที่มาที่ไป และผู้ครอบครองได้ น่าจะมีในจำนวนที่ไม่แตกต่างกันนัก

โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

19 มกราคม 2556, 18:35 น.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่