หนึ่งในแรงบันดาลใจ ที่หลายๆคนกำลังหาอยู่

ก่อนอื่นผมต้องยกเครดิตจาก iBiz-Manager Online ก่อนครับ ที่มีบทความดีๆ..



ท่ามกลางพิษเศรษฐกิจระบาดไปทั่วมุมโลก แทบทุกภาคอุตสาหกรรมต่างได้รับผลกระทบตามๆ กัน ทว่า ในมุมมองของ “ดร.สมไทย วงษ์เจริญ”เจ้าของธุรกิจรีไซเคิลขยะผู้โด่งดังระดับทวีป กลับมองต่าง เชื่อว่า วิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาสให้ธุรกิจรีไซเคิลขยะโตอย่างก้าวกระโดด อีกทั้ง จะเป็นแสงสว่างปลายถ้ำสำหรับคนตกงานหลายราย ได้ฟื้นกลับมามีอาชีพใหม่ที่มั่นคงและยั่งยืนกว่าเดิม

ดร.สมไทย วงษ์เจริญ
       ดร.สมไทย ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวขณะนี้ จัดเป็นปัญหาระดับโคม่า เนื่องจากมีปัจจัยลบในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นรายได้ประชาชนลดลง ยอดการส่งออกต่ำกว่าเป้า บริษัทหลายแห่งต้องปิดกิจการ ฯลฯ ทั้งหมดล้วนนำไปสู่การเลิกจ้าง และมีคนตกงานจำนวนมาก
       อย่างไรก็ตาม สำหรับวงษ์พาณิชย์แล้ว วิกฤตครั้งนี้แทบไม่กระทบกับธุรกิจเลย ตรงกันข้าม กลับมีส่วนช่วยให้ธุรกิจรีไซเคิลเติบโตเป็นทวีคูณด้วยซ้ำ
       


      “ที่ผ่านมา วงษ์พาณิชย์ทำธุรกิจอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง เพราะเราขายทรัพยากรที่ตลาดโลกขาดแคลนตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก พลาสติก หรือกระดาษ โดยเก็บขยะมาทำ ช่วยให้ประหยัด อย่างกระดาษเดิมต้องตัดต้นไม้ แต่เราเก็บขยะมารีไซเคิล ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ทุกอุตสาหกรรม ต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับการลดต้นทุน ดังนั้น ธุรกิจขยะรีไซเคิลในปีนี้ (2552) จะเติบโตมากขึ้นกว่า 2 เท่าตัว”
       “นอกจากนั้น สำหรับคนตกงานที่กำลังขวัญหนีดีฝ่อ วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ จะสอนให้เขารู้ว่า แค่มือเปล่าๆ สองข้างก็เป็นต้นทุนเพียงพอแล้วที่จะสร้างรายได้ แค่การเก็บขยะมาขาย แต่สิ่งสำคัญต้องเก็บอย่างชาญฉลาด และมีความรู้ในการบริหารจัดการ”

มีผู้สนใจเข้ารับการอบรมอาชีพค้าขยะจำนวนมาก
       จากการวิเคราะห์สถานการณ์เช่นนี้ ดร.สมไทย เผยนโยบายของวงษ์พาณิชย์ในปีนี้ (2552) จะเน้นสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำในฐานะผู้นำธุรกิจรีไซเคิลขยะ ควบคู่กับการสร้างคน เพื่อมาเป็นเครือข่าย ซึ่งจะเกิดผลประโยชน์ทั้งแง่สังคม และธุรกิจ กล่าวคือ ด้านสังคมได้ช่วยสร้างงานให้แก่ผู้เดือดร้อน อีกทั้ง ช่วยลดปริมาณขยะ ส่วนด้านธุรกิจ บริษัทได้เพิ่มเครือข่ายในการป้อนวัตถุดิบขยะเข้าสู่โรงงานรีไซเคิล

       “เดิมคนทั่วไปจะมองอาชีพเก็บขยะว่าน่ารังเกียจ สกปรก แต่ตอนนี้ มันอาจเป็นทางเลือกสุดท้ายของใครหลายคนแล้ว โดยผู้สนใจมาทำอาชีพนี้ เราจะให้สิทธิ์เป็นเครือข่าย แต่ต้องผ่านการอบรมกับเราก่อน 5 วัน เพื่อจะคัดแยกขยะได้ตามมาตรฐาน หลังจากนั้น สามารถนำขยะมาขายกับวงษ์พาณิชย์ โดยจะรับซื้อทั้งหมด 100% ในปริมาณไม่จำกัด ให้ราคาเหมาะสมและคุ้มค่า ซึ่งขยะที่รับซื้อมีกว่า 1,400 ชนิด อย่างไรเสีย ก็ต้องมีขยะที่ขายได้ ดังนั้น หากมาเป็นเครือข่าย มีแค่สองมือ กับใจที่มุ่งมั่น ยังไงก็ไม่มีขาดทุน”

       เจ้าของอาณาจักรรีไซเคิล ระบุต่อว่า ปัจจุบัน มีผู้ผ่านการอบรมการคัดแยกขยะรีไซเคิลเพื่อเป็นเครือข่ายหลายพันคน รวมกว่า 40 รุ่น และยังมีคนรอเข้าอบรมอีกจำนวนมาก ซึ่งต้องจองคิวล่วงหน้าอย่างน้อย 2-3 เดือน นอกจากนั้น ล่าสุด วงษ์พาณิชย์ ยังเป็น 1 ใน 7 ของสาขาธุรกิจที่ได้รับคัดเลือกให้ร่วมโครงการเรนโบว์ โปรเจค ของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งตั้งขึ้นช่วยเหลือผู้ตกงาน เชื่อว่า จะทำให้ธุรกิจรีไซเคิลขยะได้รับความสนใจมากขึ้นไปอีก
       
       สำหรับโอกาสของธุรกิจรีไซเคิลขยะ มั่นใจว่า ยังมีโอกาสอีกมหาศาล เพราะปัจจุบัน ทุกฝ่ายตระหนักดีแล้วว่า การรีไซเคิลมีประโยชน์ ทั้งช่วยภาคอุตสาหกรรมลดต้นทุนการผลิต แก้ปัญหาสภาพแวดล้อม และลดปริมาณขยะ ซึ่งปริมาณเฉลี่ยเพิ่มปีละ 10-15% อย่างประเทศไทย อัตรา 1 คนจะทิ้งขยะ 1 กิโลกรัมต่อวัน โดยขยะเหล่านี้ 80% สามารถรีไซเคิลได้ คิดเป็นเงินประมาณ 8 บาท หากนำขยะเหล่านี้เปลี่ยนเป็นรายได้ เท่ากับหนึ่งวัน จะมีเงินที่จะหาได้จากกองขยะ 8 บาทคูณ 65 ล้านคน หรือกว่า 5 ร้อยล้านบาทต่อวัน
       
       ทว่า ต้องไม่ลืมว่า จะเก็บขยะให้กลายเป็นเงินได้ต้องอยู่บนพื้นฐานของความรู้ด้วย....

       นอกจากนั้น ดร.สมไทย แนะวิธีปรับตัวของผู้ประกอบการไทยว่า ต้องเลิกทัศนคติที่เห็นใครทำธุรกิจใดๆ สำเร็จก็แห่เลียนแบบทำตาม สุดท้ายไม่พ้นต้องแข่งขันกันเอง อีกทั้ง อยากให้พยายามสร้างธุรกิจใหม่ไม่เหมือนใคร และกล้าที่จะออกไปสู่ตลาดโลก
       
       “ทุกวันนี้ ธุรกิจในประเทศมันสู้กันเอง เราไม่ได้มองโลกภายนอกว่า มันใหญ่แค่ไหน ขาดความกล้าและขาดความรู้ ผมอยากให้มองตลาดที่กว้างใหญ่ แม้เศรษฐกิจจะแย่ แต่ในโลกนี้ยังมีช่องว่างการตลาดอีกมากมาย ธุรกิจแปลกๆที่ไม่ซ้ำ ขอแค่มีความคิดสร้างสรรค์ เตรียมตัวให้พร้อม และที่สำคัญมีความกล้าหาญจะไปให้ถึงจุดนั้นให้ได้”

       ********************
       
       เปิดเส้นทาง กว่าจะเป็นเจ้าพ่อรีไซเคิล
       
       ชื่อของ “วงษ์พาณิชย์” รู้จักกันดีในฐานะผู้นำธุรกิจโรงงานรีไซเคิลขยะ ซึ่งปฏิวัติวงการธุรกิจรับซื้อของเก่าด้วยรูปแบบการจัดการสมัยใหม่มากว่า 30 ปี ปัจจุบัน มีสาขาเครือข่ายและแฟรนไชส์ รวมกว่า 500 แห่ง แต่ละปี สามารถรีไซเคิลขยะกว่าได้1 แสนตัน
       
       จุดเริ่มต้นนั้น ย้อนกลับไปปี พ.ศ.2517 หลัง “สมไทย วงษ์เจริญ” ทำธุรกิจหลากหลายในจังหวัดพิษณุโลก แต่ไม่ประสบความสำเร็จสักอย่าง กระทั่ง วันหนึ่งเห็นรถซาเล้งเก็บขยะ เกิดความสงสัยจึงเข้าไปสอบถามว่า ขยะพวกนี้เก็บไปขายได้อย่างไร? ขายที่ไหน ? ราคาอย่างไร? ฯลฯ คำถามเหล่านี้ จุดประกายความคิดให้เห็นโอกาสว่า ขยะเป็นเหมืองแร่มหัศจรรย์ที่ไม่มีวันหมดสิ้น มีคนเอาแร่ใหม่ๆ มาเติมให้ทุกวัน โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อเลย มีมากเท่าใดก็ขายหมด และยังซื้อเป็นเงินสด แสดงถึงความต้องการและกำลังซื้อที่สูงมากอย่างแท้จริง

       สมไทยเริ่มเข้าไปเรียนรู้กระบวนการต่างๆ จากร้านรับซื้อของเก่าแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก เมื่อสะสมข้อมูลความรู้จนพร้อมครบถ้วน เขาใช้ทุนตั้งต้นแค่ 1 พันบาทพร้อมลูกอม 1 ถุง และรถกระบะอีก 1 คัน ตระเวนรับซื้อของเก่าแลกลูกอมไปทั่วทุกพื้นที่เมืองสองแคว
       
       ธุรกิจเป็นไปด้วยดี จากรถกระบะคันเดียว ขยายเป็น 2-3 คันในเวลาไม่ถึงปี ต่อจากนั้น เปิดร้านเล็กๆ และขยายมาเปิดห้องแถว ควบคู่กับปริมาณรับซื้อขยะที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่ง พ.ศ.2532 เติบโตขึ้นถึงขั้นสร้างโรงงานคัดแยกขยะเพื่อรีไซเคิลวงษ์พาณิชย์ บนเนื้อที่ 6 ไร่ครึ่ง ด้วยเงินลงทุนกว่า 50 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นโรงงานคัดแยกขยะที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ สามารถรองรับปริมาณขยะได้ถึง 80,000 – 100,000 กิโลกรัมต่อวัน

       จากนั้น วงษ์พาณิชย์ ขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ ไม่เฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่ก้าวไปสู่ต่างประเทศ เช่น ลาว ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม และโรมาเนีย เป็นต้น มีสาขารวมประมาณ 480 แห่งทั่วโลก
       
       ทุกวันนี้ สมไทย และธุรกิจวงษ์พาณิชย์ ยังคงเดินหน้าต่อไป นอกเหนือความสำเร็จด้านผลประกอบการแล้ว สิ่งสำคัญที่เป็นปณิธานหลักในการดำเนินธุรกิจ ต้องการให้อาชีพเก็บขยะ เป็นตัวอย่างหรือแรงบันดาลใจแก่ผู้ท้อแท้ ให้หันกลับมามองสิ่งของรอบๆ ตัว สามารถเปลี่ยนเป็นเงินทองได้ทั้งสิ้น หากมีพยายามและความคิดสร้างสรรค์ อย่างเช่นตัวเขาเอง แม้แต่ขยะเน่าเหม็นก็ยังเปลี่ยนเป็นเงินทองได้

ปล.ขอให้บทความนี้เป็นแรงบันดาลใจให้ประโยชน์กับหลายๆท่านนะครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่