ภารกิจบนดาวอังคารอาจมีปัญหา เพราะนักบินอวกาศ"นอนไม่หลับ"

ภารกิจบนดาวอังคารอาจมีปัญหา เพราะนักบินอวกาศ"นอนไม่หลับ"

วันที่ 08 มกราคม พ.ศ. 2556 เวลา 22:30:32 น.





    



ผลการทดสอบการปฏิบัติภารกิจจำลองบนดาวอังคารพบว่า นักบินอวกาศบางรายเกิดภาวะ"การแยกตัวจากสังคม"และ"ภาวะซึมเศร้า"อย่างอ่อนๆ









ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ชี้ว่ารูปแบบการนอนที่แตกต่างกันของนักบินอวกาศแต่ละรายเป็นตัวที่ก่อให้เกิดปัญหา ขณะที่โครงการ Mars500 เป็นโครงการทดสอบว่านักบินแต่ละรายจะสามารถรับมือกับภารกิจจริงได้อย่างไร



ปัจจุบัน ยังคงไม่มีนักบินอวกาศรายใดที่ปฏิบัติภารกิจที่สถานีอวกาศนานาชาตินานเกิน 6 เดือนมาก่อน เป้าประสงค์ของโครงการ  Mars500 ที่กินเวลานาน 17 เดือนก็คือ เพื่อศึกษาผลกระทบด้านร่างกายและจิตใจที่เกิดจากภารกิจบนดาวอังคารที่อาจยาวนานขึ้นในอนาคต



การทดลองดังกล่าวมีนักบินอวกาศเข้าร่วม 6 ราย เป็นชาวรัสเซีย 3 ราย ชาวยุโรป 2 ราย และชาวจีน 1 ราย โดยในช่วงที่ทำการทดลองเกือบ 100 ครั้งที่แตกต่างกันไป ทั้งหมดถูกจำกัดการติดต่อกับโลกภายนอก ยานอวกาศไมีหน้าต่าง ขณะที่การกำหนดความหมายและวิธีการในการสื่อสารถูกกำหนดไว้เช่นเดียวกับการปฏิบัติภารกิจจริงทุกประการ









นักวิจัยพบว่า หนึ่งในนักบินอวกาศสูญเสียช่วงจังหวะกลางวัน-กลางคืนไปโดยสิ้นเชิง แทนที่ 1 วันจะมี 24 ชม. กลับกลายเป็น 25 ชม./วัน หลังจากการทดลองด้านการนอนหลับ 12 วัน เขาไม่สามารถเชื่อมต่อกับผู้เข้าทดลองรายอื่นได้อีก ขณะที่รายอื่นกำลังปฏิบัติภารกิจทดลอง กลับกลายเป็นช่วงเวลากลางคืนสำหรับเขาไปแทน หรือเขาสามารถปฏิบัติงานร่วมกับนักบินรายอื่นได้เพียงร้อยละ 20 ของเวลาในการปฏิบัติภารกิจทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาหากต้องทำงานร่วมกันในอนาคต



นักบินส่วนใหญ่เริ่มนอนหลับมากขึ้นและกระตือรือร้นน้อยลง ขณะที่นักบินอีกรายเป็นไปในทางตรงกันข้าม เขาหลับน้อยลงและน้อยลงอีกในขณะปฏิบัติภารกิจ กระทั่งเขามีอาการหลับยากเรื้อรัง ทั้งนี้ ผู้เข้าทดลองทั้งหมดจะต้องเข้ารับการทดสอบหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ ขณะที่สมาชิกที่มีอาการหลับยาก เป็นผู้ที่ไม่ผ่านการทดสอบหลักมากที่สุด

มีเพียง 2 รายที่รับมือกับการทดสอบได้ดี ส่วนอีก 4 ราย แสดงอาการที่อาจกระทบต่อการปฏิบัติภารกิจ ซึ่งเริ่มแสดงออกหลังการทดลองผ่านไปราว 2-4 เดือน









อีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่นักวิจัยพบก็คือ การปรับแสงหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ ที่พบว่าไม่สว่างพอที่จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นแสงเดย์ไลท์ และการขาดเกณฑ์วิธีในการจำแนกความแตกต่างระหว่างกลางวันและกลางคืนในยานอวกาศจำลอง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผู้เข้าทดลองว่าต้องการเปิดและปิดไฟเมื่อใด นักวิจัยกล่าวว่า จำเป็นต้องมีแสงสว่างเพียงพอและเข้มพอที่จะสร้างให้เกิดความรู้สึกว่าเกิดวัฏจักรของกลางวัน-กลางคืน


ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ในอวกาศ เปิดเผยว่า การทดลองครั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า ภาวะขาดการนอนหลับเป็นปัญหาที่แท้จริงต่อการปฏิบัติภารกิจในอวกาศในอนาคต และจำเป็นต้องมีการศึกษาและพัฒนาจริงจัง เพราะการขาดการนอนหลับที่เพียงพออาจกระทบต่อความปลอดภัยในการปฏิบัติงานโดยตรง
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ดาราศาสตร์ ฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์ อวกาศ เทคโนโลยี
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่