ครั้งหนึ่งที่ศิริราช - บทนำ

บทนำ

ผู้อ่านคงเคยได้ยินบ่อยๆใช่ไหมครับว่า ผู้ชายนี่สบายจริงๆ เวลาที่ผู้หญิงตั้งครรภ์ต้องอุ้มท้องลูกไว้ 9 เดือน เหนื่อยอยู่ฝ่ายเดียว ผู้ชายไม่เห็นต้องทำอะไรเลย ........... ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมเองก็มีความคิดแบบนี้เหมือนกัน แต่มันเป็นความคิดที่ไม่ค่อยจะถูกเท่าไรนัก เพราะในความเป็นจริงแล้วผู้หญิงไม่ได้เหนื่อยคนเดียวหรอกครับ ผู้ชายหรือสามีของคุณนะหล่ะครับ อยู่เคียงข้างคุณเสมอ เขาอาจจะไม่สามารถอุ้มท้องเองได้ แต่เขาจะอยู่เคียงข้างคุณ คอยดูแลคุณ และให้กำลังใจคุณเสมอ ไม่ว่าคุณจะมองเห็นสิ่งที่เขาทำหรือไม่ก็ตาม

เรื่องราวของผมอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร มันก็แค่เรื่องที่ผู้ชายคนหนึ่งแต่งงานกับผู้หญิงคนหนึ่ง เวลาผ่านไปสามปี ผู้หญิงคนนั้นก็เริ่มตั้งท้อง ผู้ชายคนนั้นก็เริ่มรู้ตัวว่ากำลังจะกลายเป็นคุณพ่อมือใหม่ เรื่องราวที่คุณจะได้อ่านต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ตรงของผม เป็นมุมมองของผู้ชายคนหนึ่งในฐานะของคุณพ่อมือใหม่ โดยก่อนที่ครอบครัวของเราจะได้ต้อนรับสมาชิกใหม่  จู่ๆภรรยาผมก็ต้องเข้าห้องคลอดฉุกเฉินกระทันหันที่โรงพยาบาลศิริราช ขณะที่เด็กในท้องมีอายุครรภ์แค่ 26 สัปดาห์ หรือประมาณหกเดือน และภรรยาก็ต้องนอนอยู่บนเตียงโรงพยาบาล ห้ามลงจากเตียง ให้อยู่เฉยๆ ไม่ให้ติดต่อกับใครๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ญาติพี่น้องหรือใครๆก็ตาม ห้ามใช้อุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดเป็นการชั่วคราว และภรรยาไม่เคยได้กลับบ้านอีกเลยจนกระทั่งคลอด เป็นระยะเวลาประมาณ 86 วันในโรงพยาบาล

มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง สภาพจิตใจของผู้หญิงที่ต้องอยู่แต่ในโรงพยาบาล  นอนอยู่แต่บนเตียง ห้ามลงจากเตียง ห้ามติดต่อกับโลกภายนอก เป็นระยะเวลาเกือบสามเดือน มันมีเรื่องราวอะไรเกิดขึ้น เราดูแลจิตใจซึ่งกันและกันอย่างไร เราผ่านช่วงเวลานั้นมาได้อย่างไร แล้วผลสุดท้ายลงเอยอย่างไร ติดตามเรื่องของผมดูครับ

เหตุการณ์ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ที่จะเล่าตั้งแต่วันแรกที่เข้าฉุกเฉินกะทันหันที่ศิริราช จนถึงวันที่ได้กลับบ้าน หวังว่าเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้จะดลใจให้ทั้งฝ่ายว่าที่คุณแม่และว่าที่คุณพ่อในอนาคตได้ตระหนักถึงภาระที่ต้องดูแลกันและกันรวมถึงลูกน้อยที่จะเกิดขึ้นมา และคงมีประโยชน์กับผู้อ่านไม่มากก็น้อยครับ

ก่อนจะเริ่มเข้าสู่บทที่หนึ่งของหนังสือเล่มนี้ ผมขอเท้าความเรื่องราวก่อนเข้าสู่สัปดาห์ที่ 26 ซึ่งเป็นวันแรกที่เข้าฉุกเฉินกะทันหันที่ศิริราชครับ

สัปดาห์ที่ 5:หน่อง (ภรรยาของผม) ไปฝากครรภ์กับคุณหมอเป็นครั้งแรก และได้รับการตรวจโดยละเอียดว่า ท้องนอกมดลูกหรือไม่ ผลคือ ทุกอย่างปกติดี

สัปดาห์ที่ 13:หน่องไปอัลตร้าซาวด์ที่โรงพยาบาล ลูกมีการเจริญเติบโตนี่ดีไม่น่าห่วงอะไร พวกเราตื่นเต้นกันมากเพราะเราได้ยินเสียงหัวใจลูกเต้นเป็นครั้งแรก

สัปดาห์ที่ 18:หน่องไปอัลตร้าซาวด์ที่โรงพยาบาลตามที่คุณหมอนัด พร้อมตรวจน้ำตาลในเลือดทุกอย่างอยู่ในเกณฑ์ปกติ ได้เห็นลูกมีการขยับตัวไปมา ได้เห็นพัฒนาการของลูกแล้ว ทำเอาคุณพ่อมือใหม่ยิ้มไม่หุบเลย

สัปดาห์ที่ 22:อยู่ดีๆหน่องมีอาการปวดท้องมากจนต้องไปเข้าโรงพยาบาลใกล้ๆที่ทำงาน หมอให้พักผ่อนอยู่ 2 -3 ชั่วโมงก็กลับบ้านได้

สัปดาห์ที่ 23:พาหน่องไปเดินเล่นที่สวนเบญจกิติ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและให้หน่องได้ผ่อนคลาย

สัปดาห์ที่ 24:หน่องไปอัลตร้าซาวด์ที่โรงพยาบาล และได้รู้ว่าเด็กที่อยู่ในท้องตอนนี้เป็นเพศชาย

สัปดาห์ที่ 25:หน่องไปเยี่ยมเพื่อนที่บ้าน เพื่อนคนนี้มีประสบการณ์คลอดลูกมาแล้ว หน่องมีบ่นว่าอาการแบบนี้เรียกว่าท้องแข็งหรือเปล่า พอเพื่อนหน่องจับท้องดู ก็ทำหน้าตื่นเล็กน้อยหร้อมบอกว่า “ปกติท้องไม่น่าแข็งแบบนี้นะ”

สัปดาห์ที่ 26:ในช่วงเย็น ณ ที่ทำงานของหน่องบนถนนอโศก เวลานั้นพนักงานกลับกันหมดแล้วหน่องเริ่มมีอาการเจ็บท้องรุนแรงจนทนไม่ไหว และเริ่มโทรศัพท์หาผม ...................................ติดตามต่อได้ในบทที่หนึ่งเลยครับ


+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ตอนที่ 1  “พาภรรยามาศิริราชเดี๋ยว” - http://ppantip.com/topic/30017844

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่