สมุทรสงครามตั้งศูนย์อนุรักษ์แมวไทยก่อนสูญพันธุ์...ปัจจุบัญเหลือแค่เพียง 4 ชนิด

กระทู้ข่าว
ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม นอกจากจะเป็นแหล่งปลูกส้มโอดีลิ้นจี่หวานที่ขึ้นชื่อแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณ ที่ยังคงอนุรักษ์แมวไทยโบราณที่ยังเหลืออยู่และหาชมได้ยากถึง 4 ชนิด

นายปรีชา พุคคะบุตร ประธานศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณจังหวัดสมุทรสงคราม อดีตกำนันตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา ซึ่งคลุกคลีอยู่กับแมวมาตั้งแต่เกิดบอกว่า แมวเป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านที่ใกล้ชิดกับคนมาแต่โบราณกาล ลักษณะเด่นของแมวนอกจากจะดูน่ารักช่างประจบแล้วยังมีอุปนิสัยที่ชาญฉลาดรักอิสระซื่อสัตย์และรักเจ้าของโดยเฉพาะแมวไทย ซึ่งลำตัวมีลักษณะเพรียวบางและมีสีสันสวยงามกว่าแมวของประเทศอื่น ๆ จนได้รับการยอมรับจากผู้ที่รักแมวทั่วไปว่า แมวไทยมีลักษณะสวยสง่างามที่สุดในโลก นายปรีชา กล่าวว่าตามหลักฐาน

สมุดข่อยโบราณ ระบุว่าแมวไทยมีทั้งสิ้น 23 ชนิด แยกเป็นแมวมงคลนิยมนำมาเลี้ยงในบ้าน 17 ชนิด และแมวร้ายที่ไม่นิยมนำมาเลี้ยงในบ้านอีก 6 ชนิด แมวมงคล ได้แก่ นิลรัตน์, วิลาศ, ศุภลักษณ์, เก้าแต้ม, มาเลศ, แซมเศวต, รัตนกัมพล, วิเชียรมาศ, นิลจักร, มุลิลา, กรอบแว่นหรืออานม้า, ปัดเศวตรหรือปัดตลอด, กระจอก, สิงหเสพย์, การเวก, จตุบท และโกนจา ส่วนแมวร้ายให้โทษ ได้แก่ แมวทุพพลเพศ, พรรณพยัคฆ์, ปิศาจ, หินโทษ, กอบเพลิง และเหน็บเสนียด

สำหรับแมวร้ายให้โทษทั้ง 6 ชนิด นายปรีชา บอกว่าปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปแล้ว ส่วนแมวมงคลก็สูญหายไปแล้วถึง 13 ชนิด คงเหลือให้คนรุ่นหลังได้ชมเพียงแค่ 4 ชนิดเท่านั้น ได้แก่ วิเชียรมาศ, สีสวาด, ศุภลักษณ์ และโกนจา โดยแมววิเชียรมาศนั้น ตามหลักฐานในสมุดข่อยโบราณยังระบุด้วยว่าเป็นแมวที่นำโชคลาภมาให้อดีตมีเลี้ยงแต่เฉพาะในพระราชสำนัก ชาวบ้านไม่มีโอกาสได้เลี้ยง ลักษณะเด่นของแมววิเชียรมาศคือ มีตาสีฟ้าสดใส ขนลำตัวสีครีม มีแต้มสีเข้มที่เรียกว่า แต้มสีครั่งที่บริเวณหน้า, หูทั้งสองข้าง, ขาทั้งสี่ข้าง, หาง, และที่อวัยวะเพศ รวม 9 ตำแหน่ง อีกชนิดหนึ่งคือแมวสีสวาดหรือแมวโคราช โบราณเรียกว่า แมวมาเลศหรือแมวดอกเลา ที่เรียกว่าแมวโคราชก็เพราะเรียกตามถิ่นกำเนิด คือพบที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา สมัยโบราณเชื่อว่าเป็นแมวแห่งโชคลาภเช่นกัน มีสีขนคล้ายสีเมฆ ตาสีเหลืองอมเขียวเปรียบประดุจข้าวกล้า จึงมักจะถูกใช้ในพิธีแห่นางแมวขอฝนในสมัยโบราณ อีกชนิดหนึ่งคือแมวศุภลักษณ์ ปรากฏชื่อในสมุดข่อยโบราณ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แมวทองแดง เนื่องจากขนสีน้ำตาลเข้มเหมือนสีทองแดงเสมอกันทั้งตัว ตาสีเหลืองเป็นประกาย สุดท้ายคือแมวโกนจา ปรากฏชื่อในสมุดข่อยโบราณ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า แมวดำปลอดหรือดำมงคล เนื่องจากขนสีดำสนิททั้งตัวไม่มีสีอื่นแซม ตาสีเหลืองดอกบวบ และเดินทอดเท้าเหมือนสิงโต คนโบราณเชื่อว่า แมวโกนจาเป็นแมวมงคลให้คุณกับผู้เลี้ยง ส่วนแมวขาวมณี หรือแมวขาว

ปลอดนั้น นายปรีชาบอกว่าไม่ใช่แมวไทยโบราณ แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเกิดในสมัยรัตนโกสินทร์ จึงไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในสมุดข่อยโบราณที่รวบรวมลักษณะแมวมงคล 17 ชนิดไว้ โดยแมวขาวมณี รูปร่างขนาดกลาง ขนสีขาวสั้น อ่อนนุ่ม ศีรษะคล้ายรูปหัวใจ หน้าผากใหญ่แบน โดยทั่วไปมี 3 ลักษณะคือ ตาสีฟ้าสองข้าง, ตาสีเหลืองสองข้าง และตาสองสีคือข้างหนึ่งเป็นสีฟ้าอีกข้างหนึ่งเป็นสีเหลือง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติทางโครโมโซม อย่างไรก็ตามแม้แมวขาวมณีจะไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในสมุดข่อยว่าเป็นแมวไทยโบราณ แต่ก็เป็นที่นิยมเลี้ยงกันมากของคนไทย เนื่องจากเป็นแมวที่เชื่องกับคนมาก จึงเหมาะกับการเลี้ยงไว้ดูเล่นในบ้าน

สำหรับศูนย์อนุรักษ์แมวไทยโบราณจังหวัดสมุทรสงครามแห่งนี้ตั้งอยู่ภายในบริเวณบ้านเลขที่ 2/1 หมู่ 7 ตำบลแควอ้อม อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ปัจจุบันมีแมวไทยโบราณอยู่ในความดูแลถึง 113 ตัว ต้องใช้เงินเป็นค่าอาหารวันละไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท หรือเดือนละกว่า 30,000 บาท ผู้ที่ชอบแมวไทยโบราณหากจะมาชมแต่มาไม่ถูก ก็โทรศัพท์สอบถามเส้นทางกับนายปรีชา พุคคะบุตร ได้ที่ 0-3473-3284 หรือ 08-4003-4149 เขาเปิดให้ชมฟรีทุกวันโดยไม่มีวันหยุดใด ๆ ตั้งแต่เวลา 08.00–17.00 น.


http://www.dailynews.co.th/thailand/175952
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่