Hands On : Seagate Free Agent XTreme

กระทู้สนทนา

 Seagate Free Agent Xtreme

     ความจริงหนึ่งอย่างเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์ของพวกเราก็คือไม่ว่าคุณจะใช้คอมพิวเตอร์ทำอะไร เมื่อเวลาผ่านไปจำนวนพื้นที่ในฮาร์ดดิสก์ของคุณมักจะไม่พออยู่เสมอๆ  คุณอาจจะเพิ่งซื้อฮาร์ดดิสก์ตัวใหม่ความจุกว่า 500 กิ๊กกะไบต์แล้วบอกกับตัวเองว่า “โอ้ ว้าว ใช้ทั้งชาติก็ยังไม่เต็มเลยนะนี่ !!” แต่เชื่อผมเถอะ 6 เดือนต่อมาเจ้าฮาร์ดดิสก์ตัวใหม่ก็จะเต็มไปด้วยรูปถ่ายไฟล์ RAW (หรือ Jpeg) ขนาดใหญ่เบิ้มจำนวนมาก ไฟล์หนังเรื่องโปรดที่ไม่อาจลบได้ ไฟล์เพลงของนักร้องคนโปรดครบทุกอัลบั้ม (ที่มีขนาดใหญ่โตเนื่องจาก Bitrate ระดับสูง) หรือ แม้แต่ไฟล์งานสำคัญๆ ของคุณที่จำเป็นจะต้องมีที่อยู่

    และความจริงอีกหนึ่งอย่างที่เราอยาก (และยาก) ที่จะปฎิเสธไม่ให้มันเกิดขึ้นจริงก็คือ ข้อมูลทุกอย่างที่ถูกจัดเก็บในรูปแบบดิจิตอล (หรือข้อมูลทุกชนิดข้างต้นอันมีค่าของพวกเรา) อาจมีการเสื่อมสลายแบบพริบตาได้ขึ้นอยู่กับดวงของเจ้าของเท่านั้น วันดีคืนดีเจ้าฮาร์ดดิสก์บรรจุข้อมูลมหาศาลของเราอาจจะอยากหยุดไปทำงานซะเฉยๆ วิธีแก้สำหรับผู้ที่ต้องการก็คือการติดตั้งฮาร์ดดิสก์เก็บข้อมูลหลายตัวด้วยระบบแบ๊คอัพที่แล้วแต่จะเลือกใช้ แต่ทุกวิธีก็เป็นวิธีที่มีราคาสูงและซับซ้อนมากกว่าผู้ใช้แบบธรรมดาสามัญ (ยกตัวอย่างเช่นตัวผม) จะเข้าถึงได้

ภาพ : 1 อาทิตย์กับ 160 GB...

     และในวันนี้ผมของนำเจ้าสิ่งที่อยู่บนโต้ะของผม ณ ขณะนี้สู่สายตาของพวกเราชาวเนตนักโหลดที่ประสบกับปัญหายุ่งยากดังที่กล่าวมาข้างต้น ด้วยขนาดจัดเก็บอันมหึมามหาศาลกว่า 1 TB และ User Interface ที่แสนจะเข้าใจง่ายบวกกับซอฟแวร์การจัดการข้อมูลที่แถมมา ทำให้ Seagate Free Agent Xtreme 1 TB เป็นอุปกรณ์ที่จะนำพาคุณผ่านวิกฤทางข้อมูลได้ง่ายๆ เปรียบเทียบได้กับการใส่แฟรชไดรฟ์เท่านั้นเอง

ภาพ : พระเอกของเราในวันนี้

Spec. Design and Dimension


     Seagate Free Agent Xtreme 1 TB ถือเป็นผลิตภัณฑ์แรกในสายการผลิตของ Free Agent ที่ใช้รูปลักษณ์ของกล่องสวมลักษณะนี้ และจากการวัดรูปแบบมิติทั้งหมดของ  Seagate Free Agent Xtreme จะมีขนาดและรูปทรงของมิติอยู่ที่ 175mm x 34mm x 172mm พร้อมด้วยฐานการตั้งแนวตั้ง (หรือแนวตะแคงเพื่อเข้าใจง่ายขึ้น) แถมมาในกล่องด้วย (ดูตามรูปได้เลยครับ)

     Seagate Free Agent ในซีรีย์ Xtreme ผลิตออกมาหลากหลายความจุให้เราได้เลือกใช้กัน ด้วยระดับความจุตั้งแต่ 500 GB ไปจนถึง 1.5 TB โดยเนื้อในไส้บรรจุของ Seagate Free Agent Xtreme คือฮาร์ดดิสก์ขนาด 3.5 นิ้วซีรีย์ Baracuda ของทาง Seagate เอง (Barracuda 7200.11 7,200RPM, Cache 32MB) และพ่วงด้วยการเชื่อมต่อแบบ eSATA, Fire Wire 400 (*2) และที่ขาดไม่ได้ก็คือพอร์ตการเชื่อต่อแบบ USB 2.0

ภาพ : eSATA และ Mini USB กับสายต่อ DC in

ภาพ : จะให้ FireWire มาทำไมตั้ง 2 พอร์ต - -*



    สิ่งที่เปลี่ยนแปลงจากอาร์ดดิสก์ซีรีย์ Free Agent รุ่นก่อนก็คือแถบสีส้มด้านข้างที่หายไป ซึ่งมันถูกแทนที่ใหม่ด้วยแถบข้างสีดำทำให้รูปลักษณ์ของมันคงจะถูกใจผู้ใช้ที่ชอบความเรียบง่ายหลายๆ คน (แต่ตัวผมเองกลับชอบแถบส้มๆ อันเดิมมากกว่า) ส่วนที่เตะตาอีกส่วนหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาคงจะเป็นไฟหน้ารูปสัญลักษณ์สีขาวที่เพิ่มเข้ามา ซึ่งเจ้าไฟสีขาวอันนี้จะเป็นไฟที่แสดงสถานะของฮาร์ดดิสก์นั่นเอง มันจะกระพริบเมื่อเจ้าฮาร์ดดิสก์กำลังทำงานหนัก และจะอยู่เฉยๆ เมื่อฮาร์สดิสก์อยู่ในสถานะ idle (นิ่งเฉย) และจะดับไปเองเมื่อคุณได้ถอดสายการเชื่อมต่อที่ติดอยู่กับเครื่องพีซีของคุณออกไป (ใช้ได้กับทั้ง 3 การเชื่อมต่อ) และในขณะมีมันอยู่ในสถานะนิ่งเฉยปราศจากการเชื่อมต่อเจ้า  Seagate Free Agent Xtreme จะกินไฟแต่เพียง 5 watt จากแหล่งพลังงานหลักเท่านั้นเพื่อการสแตนบายด์ และจากการที่มันเป็นฮาร์ดดิสก์ขาดปกติ 3.5 นิ้วจึงทำให้ความต้องการในการใช้พลังงานในการส่งผ่านข้อมูลสูงกว่าฮาร์ดิสก์แบบพกพาขนาด 2.5 นิ้ว พลังงานที่มันใช้สำหรับการทำงานมาจากสายชาร์ต DC 12V ที่แถมมาให้ภายในกล่องนั่นเอง


     สิ่งหนึ่งเกี่ยวกับการเชื่อมต่อที่น่าขัดใจที่สุดในการรีวิวครั้งนี้ก็คือ การที่ทาง Seagate ไม่ได้แถมสายเชื่อมต่อแบบ eSATA เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเพคเกจแบบมาตรฐานของเจ้าSeagate Free Agent Xtreme กล่องนี้ด้วย ทั้งๆ ที่การเชื่อมต่อแบบ eSATA ที่ว่าคือจุดเด่นที่สุดของผลิตภัณฑ์รูปแบบนี้ ทำให้ผู้ใช้ที่ซื้อมาแล้วต้องถูกบีบบังคับในการใช้การเชื่อมต่อแบบ USB หรือ Fire Wire อย่างกลายๆ (แม้มันจะมีราคาถูกก็เถอะเจ้าสายเชื่อมอันนั้น แต่มันก็เป็นสิ่งสมควรใส่มาให้เพื่อที่ผู้ใช้จะสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้อย่างเต็มรูปแบบ ไม่ใช่หรือครับ?)

    

ภาพ : หาตั้งนาน ไม่แถมก็ไม่บอก...

Software Bundle

Seagate Manager Software

     ซอฟท์แวร์การจัดการข้อมูลที่แถมมากับเจ้า Seagate Free Agent Xtreme กล่องนี้มีชื่อว่าโปรแกรม Seagate Manager Software ซึ่งตัวติดตั้งของโปรแกรมนั้นจะสิงสถิตอยู่ในฮาร์ดดิสก์ในกล่องตั้งแต่แรก ซึ่งก็เป็นผลมาจากการออกแบบผลิตภัณฑ์ ตามแนวคิดที่เป็นมิตรต่อสภาพแวดล้อมและลดปริมาณขยะของทาง Seagate จึงไม่มีแผ่น DVD อยู่ในเพคเกจ (เข้าท่าเหมือนกันแฮะ...) การใช้งานของโปรแกรม Seagate Manager ก็แสนง่าย เพียงแค่คุณเชื่อมต่อเจ้า Free Agent Xtreme  เข้ากับระบบของคุณและเลือกที่จะติดตั้งโปรแกรมเท่านั้นเอง

ภาพ : ติดตั้งง่ายๆ ใช้งานได้จริงๆ

    และหลังจากการติดตั้งระบบของคุณจะจดจำเจ้า Free Agent Xtreme ได้ทุกครั้งเมื่อมีการเชื่อมต่อหรือมีการส่งผ่านข้อมูลเกิดขึ้น และฟีเจอร์หลักของโปรแกรมนี้ก็มีอยู่ 3 อย่าง

     ฟีเจอร์อย่างแรกคือ ฟีเจอร์สำรองข้อมูล (Back Up) ซึ่งถ้าหากคุณไม่ได้ไปปรับค่าอะไร คุณก็แค่เลือกโฟลเดอร์หรือไดรฟ์ ที่คุณต้องการจะทำการสำรองข้อมูลไว้ เพียงเท่านี้ข้อมูลที่คุณเลือกเอาไว้ก็จะถูกสำรองไว้ใน Free Agent Xtreme ทุกๆ วันในเวลา 4 ทุ่มตรง แต่ถ้าหากคุณต้องการที่จะปรับแต่งรายละเอียดต่างๆ อาทิเช่นปรับเปลี่ยนเวลาและความถี่ในการสำรองข้อมูล หรือต้องการที่จะดูรายการย้อนหลังความเปลี่ยนแปลง (Log File) ก็สามารถทำได้ โดยมีฟีเจอร์พิเศษที่เรียกว่า Backup Restore ซึ่งสามารถทำการเลือกที่จะกู้คือไฟล์ที่สำรองเอา ไว้ได้มากกว่า 10 เวอร์ชั่นหลังสุด นับเป็นฟีเจอร์ที่ชาญฉลาดและน่าใช้มาสำหรับคนที่ผิดพลาดอะไรบ่อยๆ อย่างผม : )

     อย่างที่ 2 ก็คือฟีเจอร์ Sync หรือเรียกเป็นภาษาไทยว่าการสำรองข้อมูลแบบรีลไทม์นั่นเอง โดยมันจะทำให้แหล่งข้อมูล (โฟลเดอร์ หรือไดรฟ์) ที่เราเลือกมีการสำรองข้อมูลตลอดเวลาในทุกๆ การเปลี่ยนแปลง โดยสามารถที่จะกำหนดนามสกุลหรือชนิดของไฟล์ที่จะทำการ Sync ได้ตามใจชอบ

     ฟีเจอร์สุดท้ายที่แถมมากับซอฟท์แวร์ก็คือ คือฟีเจอร์การเข้ารหัสความปลอดภัย (Encrypted) ให้กับแหล่งข้อมูลที่คุณต้องการ ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่คุณเปิดโปรแกรมและลากข้อมูลที่ต้องการเข้ารหัสพร้อมกับตั้งรหัสผ่าน เพียงเท่านั้นข้อมูลที่คุณต้องการที่จะให้เป็นความลับก็จะไม่มีใครสามารถล่วงรู้ได้ (ตราบใดที่ไม่มีใครรู้รหัส...)

TEST PHASE


Test Setting

     การทดสอบอุปกรณ์จำพวกฮาร์ดดิสก์ถือเป็นประสบการณ์ใหม่ของผมเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกใช้ระบบปฎิบัติการณ์ตัวใหม่ที่ผมเพิ่งเปลี่ยนมาใช้อย่างเจ้า Windows 7 มาเป็นสนามแข่งขันของการทดสอบอุปกรณณ์จำพวกฮาร์ดดิสก์ในครั้งนี้ เพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจตรงกัน การทดสอบอุปกรณ์ในครั้งนี้ไม่มีผลประโยชน์ใดๆ มาเกี่ยวข้อง การทดสอบในครั้งไม่ใช่เป็นการโอ้อวดประสิทธิภาพของอุปกรณ์แต่อย่างใด บทความเรื่องนี้เป็นบทความที่บอกเล่าถึงประสบการณ์ในการทดสอบใช้อุปกรณ์ในสถานะการณ์จริงเสียมากกว่า และหน้าตาของระบบที่ผมใช้ทดสอบมีรายนามดังต่อไปนี้ครับ

ภาพ : Celeron พ่อ i7 ...

     และเพื่อความสนุกสนานที่เพิ่มขึ้นของบทความดังนั้นผมจึงงัดเจ้าฮาร์ดดิสก์พกพา 2.5 นิ้ว ความจุ 160 GB สีแดงแรงสามเท่าของผม ขึ้นมาเป็นคู่เปรียบเพื่อสร้างสีสันในบทความ โยการเปรียบเทียบFree Agent Xtreme กับน้องแดงแรงสามเท่าของผมมีจุดประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความเสถียรของอัตรการส่งผ่านข้อมูลผ่านการเชื่อมต่อแบบ USB 2.0 เท่านั้น มิได้มีจุดประสงค์ในการเปรียบเทียบราคาหรือความคุ้มค่าแต่อย่างใด

ภาพ : คู่เอกวันนี้...

     การทดสอบในครั้งนี้จะใช้โปรแกรมในการทดสอบจำนวนทั้งหมด 3 โปรแกรมก็คือ โปรแกรม HD Tune Pro, HD Tach และ PC Wizard 2008 ( 2 โปรแกรมหลังเป็นฟรีแวร์ขอรับ) โดยการทดสอบผมจะทดสอบแต่ละวิธีแต่ละโปรแกรมจำนวน 5 ครั้งและนำผลทดสอบที่มีค่าเฉลี่ยในระดับกลางของ 5 ผลนั้นมาทำการเปรียบเทียบ โดยจะเริ่มด้วยการทดสอบด้วยการเชื่อมต่อแบบ USB 2.0 (ของ HD ทั้งสองตัว)

เริ่มจากน้องแดงแรงสามเท่า

ต่อด้วยเจ้า Free Agent XTreme

     จากผลที่ได้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของทุกค่าเพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ทั้งนั้นอาจจะเป็นเพราะขีดจำกัดของความสามารถในการรับส่งข้อมูลของตัว Interface USB 2.0 และชิพเซตของระบบที่ผมใช้ทดสอบ แต่ถ้าหากเราสังเกตจากค่ากราฟที่แสดงผล จะเห็นได้ว่าน้องแดงแรงสามเท่าของผมมีอัตราการส่งผ่านข้อมูลในช่วงท้ายที่ไม่ค่อยเสถียรสักเท่าไร (กราฟดิ่งลงในช่วงหลัง 70 เปอร์เซ้นต์) และมีความร้อนที่มากกว่า Free Agent Xtreme อยู่มาก (ทดสอบอย่างลวกๆ ด้วยการสัมผัส) ดังนั้นถ้าหากใช้ในระยะยาวอาจจะเกิดปัญหาความร้อนสะสมซึ่งอาจจะทำให้เกิดความเสียหายต่อข้อมูลได้


    ต่อมาคือผลการทดสอบเจ้า  Free Agent Xtreme ด้วยอินเตอร์เฟซส่งผ่านข้อมูลแบบ eSATA (ที่ผมต้องออกไปหาซื้อเอาเองด้วยความยากลำบาก...) และใช้โปรแกรมในการทดสอบชุดเดิม

ภาพ : ของเค้าแรงจริงๆ

     จากการทดสอบเราจะเห็นประสิทธิภาพที่แท้จริงของเจ้า Free Agent Xtreme ด้วยการเชื่อมต่อแบบ eSATA นั้นจะทำให้อัตรการส่งผ่านของมูลเร็วขึ้นกว่าเดิมถึง 3 เท่าทั้งการเขียนและการอ่านข้อมูล (ทิ้งน้องแดงแรงสามเท่าของผมไปอย่างไม่เห็นฝุ่น) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Burst Speed ที่เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า (Burst Speed คือการจำลองอัตราการเคลื่อนย้ายตัวเองของไดร์ฟนั้นๆ เปรียบเทียบเหมือนกับการที่คนเราวิ่งจากจุด ก. ไปยังจุด ข. มีประโยชน์อย่างยิ่งถ้าหากมีการถ่ายโอนข้อมูลขนาดใหญ่เป็นพิเศษ) ด้วยแรมอันน้อยนิดเพียง 1 GB ของระบบทดสอบ

สรุปผลและความคุ้มค่า

     จากเวลาหลายต่อหลายวันที่ผมขลุกอยู่กับมัน ผมต้องยอมรับจริงๆ ว่าการใช้งานของเจ้า Free Agent Xtreme เป็นไปด้วยสะดวกสบายและรวดเร็วจริงๆ ผมสามารเสียบคามันไว้ได้ตลอดการใช้งานโดยที่ยังไม่พบเจอปัญหาความร้อนสะสมเหมือนกับที่เคยเห็นในผลิตภัณฑ์อื่นๆ การโอนถ่ายข้อมูลหนักๆ ขนาด 500 GB ขึ้นไปใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่นาทีหลังจากผมสามารถหาซื้อสาย eSATA มาใช้งานคู่กันได้ (ในทางกลับกันถ้าหากคุณคิดจะย้ายข้อมูลขนาด 500 GB ขึ้นไปในอินเตอร์เฟซแบบ USB 2.0 ละก็มันอาจจะยาวนานเป็นชั่วโมงเลยทีเดียว) แต่อย่างไรก็ตาม มันปฎิเสธไม่ได้ถ้าหากคุณคิดที่จะเปรียบเทียบราคาของมันกับการที่คุณจะไปซื้อฮาร์ดดิสก์และกล่องแยกในราคาค่าตัวที่ถูกกว่าเจ้า Free Agent Xtreme (Free Agent Xtreme มีค่าสินสอดประมาณ 5,200 บาท ) แต่สิ่งที่คุณจะไม่ได้นอกจากราคาถูกกว่าก็คือ กล่องกันกระแทกที่มีการออกแบบมาเป็นพิเศษมีความสวยงามและแข็งแรงทนทานเป็นอย่างยิ่ง (ผมมีความเชื่อที่ว่าถ้าหากผมพลาดทำเจ้า Free Agent Xtreme ตกลงพื้นไปสักครั้งมันอาจจะไม่พังก็เป็นได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมคงไม่มีโอกาสได้ลอง ;) )  นอกจากความแข็งแรงแล้วก็คือการระบายความร้อนที่น่าพอใจเป็นอย่างยิ่ง แถมยังมีขนาดบางเฉียบพกพาไปไหนมาไหนได้ค่อนข้างสะดวกเมื่อเปรียบเทียบกับ Ext HD ขนาด 3.5 นิ้วด้วยกัน และสิ่งสำคัญอันสุดท้ายที่คุณจะพลาดก็คือ ซอฟแวร์ Seagate Manager ที่ใช้งานง่ายและเต็มไปด้วยประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกับโปรแกรมลิขสิทธิ์ประเภทจัดการข้อมูลโปรแกรมอื่นๆ อย่างมากเลยทีเดียว


    ดังนั้นถ้าหากคุณเป็นคนหนึ่งที่ประสบปัญหาในการจัดเก็บข้อมูลในวาระต่างๆ แล้วล่ะก็ ผมคิดว่าเจ้า Seagate  Free Agent Xtreme เป็นตัวช่วยที่ดีในการแก้ปัญหาของคุณครับ (ยกเว้นเรื่องสาย eSATA...)

ภาพ : แล้วพบกันในรีวิวครั้งหน้าคร้าบบ...



 

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่