ตอบ คุณปราณยิ่งดี ภรรยาขอสละ กรรมสิทธิ ในสินสมรส โดยขอรับเงินสดจากผม ทน

กระทู้สนทนา
จากที่มีผู้ตั้งกระทู้ ที่ U13063610... โดยตั้งกระทู้ว่า   ผมกับภรรยาเพิ่งหย่าจากกัน โดยไม่ได้บันทึกว่า สินสมรส ในที่นี่หมายถึงบ้านที่กำลังผ่อนส่งกับธนาคารอยู่ จะดำเนินการอย่างไร ต่อมาฝ่ายภรรยาประสงค์จะรับเงินสด ส่วนนึง โดยที่ ผมจะเป็นฝ่ายผ่อนบ้านต่อไปเพียงผู้เดียว โดยภรรยา จะไม่ขอรับกรรมสิทธิ์ ในตัวบ้าน ในฐานะ สินสมรส อยากจะถามว่า ผมจะต้องดำเนินการอย่างไรบ้างครับ เช่น ต้องทำสัญญา ว่าภรรยา ขอไม่รับกรรมสิทธิ์ในตัวบ้า่น หรือไม่อย่างไรครับ  

ผมได้ให้ความเห็นในกระทู้นี้ไปว่าทำไม่ได้ เพราะอาจจะตกเป็นโมฆะ  และมีผู้เข้ามาวิจารย์ความเห็นของผมว่าผมวิเคราะห์กฎหมายแบบแปลกๆ โดยเฉพาะความเห็นของคนที่ใช้นามแฝงว่า ปราณยิ่งดี  และถามผมว่าเป็นโมฆะเพราะเหตุใด

ดังนั้นผมขอโพสตอบโดยตั้งเป็นกระทู้ใหม่ ตามนี้ครับ

สรุปข้อเท็จจริงที่กระทู้เดิมตั้งไว้  คือ หลังจากที่เจ้าของกระทู้กับภรรยาจดทะเบียนหย่ากันแล้ว   จะทำสัญญา  สละกรรมสิทธิในทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสโดยจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ภรรยา  และในสัญญาให้มีข้อตกลงให้โอนหนี้สินให้เป็นภาระแก่เจ้าของกระทู้  ได้หรือไม่     จึงมีประเด็นว่า  ทำสัญญาตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินหลังจากที่จดทะเบียนหย่ากันแล้ว   จะบังคับกันได้หรือไม่

ประมวลกฎหมายแพ่งละพาณิชย์ บรรพ 5 ลักษณะ 1 หมวด 4 ได้บัญญัติ เรื่องทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาไว้โดยเฉพาะว่ากรณีที่อยู่ในระหว่างสมรสนั้น จะจัดการอย่างไร   ส่วนเรื่องการสิ้นสุดแห่งการสมรส มีอยู่ในหมวด 6  ซึ่งมาตรา 1532 บัญญัติว่า   เมื่อหย่ากันแล้วให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยาแต่ในระหว่างสามีภริยา
(ก) ถ้าเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย ให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของ
สามีภริยาตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า
(ข) ถ้าเป็นการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล คำพิพากษาส่วนที่บังคับทรัพย์สิน
ระหว่างสามีภริยานั้น มีผลย้อนหลังไปถึงวันฟ้องหย่า  
และมาตรา 1533 บัญญัติว่า  เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน

ดังนั้น จึงมีประเด็นเรื่องประเภทของทรัพย์สินว่า หลังจากจดทะเบียนหย่ากันแล้ว  ทรัพย์สินหลังจดทะเบียนหย่านั้น  ถือว่าเป็นทรัพย์สินประเภทใด  เป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัว

ประเด็นแรกหากถือว่าเป็นทรัพย์สินประเภทสินสมรส  

กฎหมายว่าด้วยครอบครัวนั้น  เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชน
(อ้างอิงหนังสือของ ศ.ศักดิ์  สนองชาติ)
ฉะนั้นการทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสโดยไม่มีบทบัญญัติ ห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5  ว่าด้วยครอบครัว รับรองไว้  ย่อมเป็นการแตกต่างจากกฎหมายดังกล่าว    ถ้าหากถือว่าเป็นทำสัญญากันเกี่ยวกับสินสมรส   ผมก็มีความเห็นว่า ตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 151  
ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 151  นั้น  บัญญัติไว้ว่า การใดเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมาย ถ้ามิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นไม่เป็นโมฆะ    เพราะฉะนั้น จึงตีความกลับว่า     การใดที่เป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นก็ต้องตกเป็นโมฆะ  

ประเด็นที่สอง  หากถือว่าเป็นทรัพย์สินประเภทสินส่วนตัว  

ประเด็นที่สองนี้มีนักกฎหมายหลายท่านรับรองไว้  ว่าทรัพย์สินที่เป็นสินสมรสนั้น เมื่อสิ้นสุดการสมรสแล้ว  ถ้าไม่ได้ตกลงกันไว้ก่อนหรือขณะจดทะเบียนหย่า  ก็ให้ตกเป็นสินส่วนตัว
โดยปกติ  การสิ้นสุดแห่งการสมรสจะเกิดขึ้นสองกรณีคือ  จดทะเบียนหย่ากันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ วิธีนี้เจ้าพนักงานจะบันทึกเรื่องทรัพย์สินไว้หลังใบหย่า  อีกวิธีหนึ่งคือ สิ้นสุดโดยคำพิพากของศาล  ในคำพิพากษาของศาลจะต้องมีคำสั่งในเรื่องทรัพย์สินไว้ทุกคดี

ดังนั้นเมื่อจดทะเบียนหย่ากันแล้วแต่ไม่ได้มีการบันทึกเกี่ยวกับทรัพย์สินไว้หลังใบหย่า  สินสมรสจึงเปลี่ยนมาเป็นสินส่วนตัวของทั้งสองฝ่าย ก็คือแบ่งคนลส่วนเท่าๆกันตาม มาตรา 1533  เมื่อยังไม่ได้มีการจดทะเบียนโอนกันโดยถูกต้อง ก็ให้ถือกรรมสิทธิร่วมกัน  
เมื่อเป็นเจ้าของทรัพย์สินร่วมกัน  ก็เรื่อง กรรมสิทธิรวม  ซึ่งลักษณะ 2  หมวด 3 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งละพาณิชย์ บรรพ 4    ในหมวด3  ไม่มีมาตราไหน บัญญัติเรื่อง เจ้าของรวมคนหนึ่งโอนกรรมสิทธิ ให้แก่เจ้าของรวมอีกคนหนึ่งโดยวิธีไหน อย่างไร  

ในกรณีที่เป็นกรรมสิทธิรวมนี้ ก็ยังมีประเด็นย่อยอีกสองกรณี

กรณีแรก
ถ้าจะแปลว่าเป็นการทำสัญญาสละกรรมสิทธิของเจ้าของรวม   ก็ไม่มีกฎหมายในหมวด 3 ว่าด้วยเรื่องกรรมสิทธิรวมบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ว่าสละกรรมสิทธิกันด้วยวิธีไหน   อย่างไร
แต่ในลักษณะ 3 มาตรา 1377 ได้บัญญัติไว้ว่า ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง  หรือไม่ยึดถือทรัพย์สินอีกต่อไป การครอบครองย่อมสิ้นสุดลง  ก็ไม่ได้หมายความว่า ทรัพย์สินจะตกไปเป็นของเจ้าของรวมอื่นทันที เพราะยังมีมาตรา 1382  บัญญัติไว้ในเรื่องการครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นอีกว่า  บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์
ลองเทียบเคียงฎีกานี้  น่าจะวินิจฉัยเรื่องการสละกรรมสิทธิได้ดี
ฎ.109/2506
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลว่าที่ดินโฉนดที่ 259 มีชื่อผู้ร้อง นายทองสามีผู้ร้องและนางชด เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน เมื่อ 20 ปีเศษมานี้ นางชดได้สละกรรมสิทธิ์ส่วนของตนโดยอพยพไปอยู่จังหวัดสระบุรีและมิได้กลับเข้าครอบครองที่ดินแปลงนี้อีก และวันที่ 20 ตุลาคม 2493 นายทองสามีผู้ร้องถึงแก่กรรม ผู้ร้องจึงได้ครอบครองที่แปลงนี้ทั้งหมดแต่ผู้เดียวโดยสงบเปิดเผยโดยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนของนางชดและส่วนของนายทองสามีผู้ร้อง จึงขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินส่วนของนางชดและของนายทองเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง คำร้องขอเช่นว่านี้เป็นการอ้างว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินด้วยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1382 ซึ่งผู้ร้องมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอฝ่ายเดียวเพื่อให้ศาลไต่สวนแสดงว่าตนมีกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 78 และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 188 (1) ได้

ถ้าลองเปิดตำรากฎหมายทรัพย์สิน  มีในหนังสือของท่าน ม.ร.ว.เสนีย์  ปราโมทย์  ที่เนติบัณฑิตยสภา พิมพ์ไว้ ปี 2551 เล่มปกสีเขียว  ท่านเขียนไว้นิดเดียวว่าเมื่อสละกรรมสิทธิรวมแล้วทรัพย์สินจะตกไปเป็นของใคร ในกฎหมายไทยยังเป็นปัญหากันอยู่   ก็มีแต่ในประมวลแพ่งญี่ปุ่นมาตรา 255  บัญญัติไว้ชัดเจนว่า ให้ตกเป็นของเจ้าของรวมคนอื่นๆ  แต่ในหนังสือที่ท่านเขียน ท่านไม่ได้บอกว่า  การสละกรรมสิทธิรวม สละโดยวิธีไหน อย่างไร
กฎหมายเรื่องกรรมสิทธิรวม หมวด 3  อยู่ในบรรพ 4 แห่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์   ว่าด้วยเรื่องทรัพย์  ดังนั้นเมื่อหมวด 3 ไม่ได้บัญญัติว่าในการสละกรรมสิทธิรวมนั้นจะต้องทำกันอย่างไร  ก็ต้องไปดูหลักทั่วไป คือลักษณะ 1 หมวด 1  บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
ซึ่งตาม มาตรา 1299 วรรคแรกบัญญัติว่า   ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่   ซึ่งเป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4    ฉะนั้นแม้จะถือว่าเจ้าของรวมคนอื่นได้ทรัพย์สินซึ่งอสังหาริมทรัพย์มาโดยนิติกรรม ก็ต้องบังคับตาม มาตรา 1299 วรรคแรกอยู่ดี

กรณีที่สอง  
ถ้าจะแปลสัญญาที่ทำกันนั้นว่าเป็นสัญญายกให้
ถ้าเป็นสัญญายกให้อสังหาริมทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 บัญญัติไว้ว่า  การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้ การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ  ถ้าไม่ทำก็บังคับกันไม่ได้

ปัญหานี้เคยมีนักกฎหมายท่านหนึ่งตอบไว้ในเว็บบอร์ดของเขา สามารถเข้าไปดูได้ที่ Link นี้ http://www.peesirilaw.com/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&WBntype=1&No=1303238


ผมจึงตอบข้อข้องใจของคุณปราณยิ่งดี  ตามที่คุณปราณยิ่งดี ถามผมว่าเป็นโมฆะเพราะเหตุใด ตามเหตุผลที่กว่าวมาข้างต้น

และผมขอถามคุณกลับนะครับ..ว่า
สมมุติว่า  ถ้าคุณเป็นทนายของของเจ้าของกระทู้เดิม และคุณแนะนำให้ลูกความทำสัญญาตามความเห็นของคุณ    หลังจากที่ทำสัญญากันมาแล้ว  9 ปีที่ดินพร้อมบ้านมีราคาสูงขึ้นมาก    อดีตภรรยาของเจ้าของกระทู้เดิม นำเรื่องมาปรึกษาผมว่า เขาอยากได้ที่ดินและบ้านคืน   ผมนำคดีมาฟ้องว่าสัญญาที่ทำกันนั้นเป็นโมฆะ บังคับกันไม่ได้  ขอเรียกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสินสมรสเดิมของอดีตภรรยาคืน  โดยขอแบ่งกันคนละครึ่ง
และยกข้อกฎหมายทั้งหมดที่ผมอ้างมาข้างบนนี้ต่อสู้คุณ
คุณจะยกกฎหมายมาตราไหนมาสู้ผมครับ  
ถ้าจะต่อสู้เรื่องอายุความ  กรรมสิทธิในทรัพย์สินนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1336 บัญญัติว่า ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  การติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนเองนั้น ไม่มีอายุความครับ
แต่ถ้าคุณจะอ้างการครอบครองปรปักษ์ตาม มาตรา 1382  ก็เป็นการครอบครองไม่ครบสิบปี

ที่ผมโพสในกระทู้นี้ เพื่อไขข้อข้องใจของคุณ ปราณยิ่งดี  และเพื่อลบคำสบประมาทที่คุณปราณยิ่งดี
ได้ดูถูกความเห็นของผมว่า  ผมแสดงความคิดเห็นมั่วๆ และผมอ้างกฎหมายแปลกๆ
ผมไม่รู้จักคุณปราณยิ่งดี มาก่อน  และถึงตอนนี้ผมก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร ชื่อจริงว่าอะไร   คุณปราณยิ่งดี ยังอาฆาตผมอีกว่า จะขุดคุ้ย ความเห็นในกระทู้อื่นที่ผมตอบนำมาวิเคราะห์อีก    ผมขอบอกว่า เชิญตามสบายครับ  แต่ผมขอถามกลับนะครับว่า  คุณจะได้ประโยชน์อะไร  แสดงถึงวุฒิภาวะคุณว่ามีแค่ไหน
ในความเห็นของผม ผมจะไม่ก้าวก่ายความเห็นของคนอื่น ถ้าไม่มีใครดูถูกความเห็นผมก่อน  

คุณปราณยิ่งดี มีความรู้กฎหมายแค่ไหนที่จะตัดสินความเห็นของคนอื่น ว่าผิดหรือถูก  ศาลฎีกาตัดสินหรือยัง

ในเว็บบอร์ดที่ถกเถียงกันเรื่องกฎหมายมีมากมาย  ถ้าใครไม่เห็นด้วยหรือค้านความ  ส่วนมากจะมีมารยาทในการถาม เช่น ใช้คำขึ้นต้นด้วยคำว่า ด้วยความเคารพท่าน... ก่อน ส่วนมากจะค้นคว้ากฎหมายมาตอบกัน คนอ่านก็ได้ข้อคิดทางกฎหมาย  แต่จะไม่ค่อยออกความเห็นเชิงฟันธง  เพราะถ้าตอบผิดอาจจะทำให้เจ้าของกระทู้เขาเดือดร้อนซ้ำเข้าไปอีก

.......และผมจะไม่ออกความเห็นใดๆอีกในเว็บนี้   เพราะรู้สึกไม่ดีกับความเห็นประเภทที่กล่าวมานี้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่